ข้ามไปเนื้อหา

ตะขบฝรั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตะขบฝรั่ง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malvales
วงศ์: Muntingiaceae
สกุล: Muntingia
L.
สปีชีส์: M.  calabura
ชื่อทวินาม
Muntingia calabura
L.
ต้นตะขบฝรั่งในไฮเดอราบัด อินเดีย
ใบและผลในไฮเดอราบัด อินเดีย

ตะขบฝรั่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Muntingia calabura) เป็นพืชเพียงสปีชีส์เดียวในสกุล Muntingia เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก, แคริบเบียน, ทวีปอเมริกากลาง และทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ไปจนถึงประเทศโบลิเวียและประเทศอาร์เจนตินา มีการนำเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นพืชประจำถิ่น พบกระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 5-7 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือหรือข้างหนึ่งมนส่วนอีกข้างหนึ่งแหลม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ใบกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเป็นสีนวล มีขนนุ่ม เหนียวมือเล็กน้อย

ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ ออกบริเวณเหนือซอกใบ ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกย่อยเป็นสีขาว มี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปไข่กลัลป้อมๆ ปลายกลีบมน มีขนาดกว้าประมาณ 9 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ไม่ติดกัน เป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลมเป็นหางยาว

ผลเป็นผลสด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลเป็นรสหวาน ภายในมีเมล็ดแบนขนาดเล็กจำนวนมาก[1]

การใช้ประโยชน์

[แก้]

ผลตะขบฝรั่งเป็นที่นิยมรับประทานในเม็กซิโก มีขายในตลาด ผลนำไปแปรรูปเป็นแยมและนำใบไปแปรรูปเป็นชา ในบราซิล นิยมปลูกไว้ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อผลร่วงลงในน้ำจะเป็นอาหารปลา ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รับประทานเป็นผลไม้สดแต่ไม่มีจำหน่าย ในไทย รับประทานเป็นผลไม้สด หรือแปรรูปเป็นไวน์ทางด้านสมุนไพร ใช้ดอกเป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ ไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน ใช้งานช่างไม้ได้ เปลือกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย

อ้างอิง

[แก้]
  • นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ตะขบฝรั่ง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 73

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. https://www.wisdomking.or.th/th/tree-knowledge/%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%9A