ตรีอัครสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์
ตรีอัครสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ | |
---|---|
รูปเคารพของตรีอัครบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่โบสถ์ในเชอร์ลีกี เทศมณฑลนีมซ์ ประเทศโรมาเนีย ประกอบด้วยนักบุญบาซิลแห่งซีซารียา, นักบุญเกรกอรีแห่งนาซิอันซัส และ นักบุญยอห์นคริสซอสตอม จากซ้ายไปขวา | |
บิดาในบรรดานักบุญ บรรดาหมอแห่งคริสตจักร | |
เกิด | 330 (บาซิล) 349 (ยอห์น) 329 (เกรกอรี) |
เสียชีวิต | 379 (บาซิล) 407 (ยอห์น) 389 (เกรกอรี) |
นับถือ ใน | คาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ตะวันออก โอเรียนทอลออร์ทอดอกซ์ คริสตจักรอังกฤษ |
วันฉลอง | มกราคม 30 |
สัญลักษณ์ | ทรงอาภรณ์ดั่งพระมุขนายก, สวมโอโมฟอเรีย; ชูมือขวาขึ้นให้พร; ถือหนังสือคำสอนหรือม้วนกระดาษ |
ตรีอัครสงฆ์ หรือ ตรีอัครบิดร (อังกฤษ: Three Hierarchs; กรีกโบราณ: Οἱ Τρεῖς Ἱεράρχαι; กรีกใหม่: Οι Τρεις Ιεράρχες ) ในคริสต์ศาสนาตะวันออก ประกอบด้วยนักบุญบาซิลแห่งซีซารียา, นักบุญเกรกอรีแห่งนาซิอันซัส และ นักบุญยอห์นคริสซอสตอม ทั้งสามเป็นพระมุขนายกที่มีอิทธิพลมากในศาสนาคริสต์ยุคแรก และมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างของเทววิทยาศาสนาคริสต์ ในศาสนาคริสต์แบบตะวันออกเรียกขานทั้งสามว่าเป็นพระอัครบิดรผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสาม และเป็นอาจารย์ของคริสต์ชนทั่วโลก (Ecumenical Teachers) ส่วนในโรมันคาทอลิก เทิดเกียรติให้เป็นหมอแห่งคริสตจักร ทั้งสามได้รับการยกย่องในฐานะนักบุญในออร์ทอดอกซ์ตะวันออก, คาทอลิก, อังกลิคัน และคริสตจักรอื่น ๆ
ที่มาของตรีอัครสงฆ์สามารถย้อนไปถึงเรื่องเล่าว่าในคอนสแตนติโนเปิล สมัยศตวรรษที่ 11 ได้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่าในสามอัครสงฆ์นี้ ผู้ใดยิ่งใหญ่ที่สุด บ้างว่าเป็นนักบุญบาซิลเนื่องจากเป็นผู้อธิบายถึงความเชื่อและวิถีสงฆ์ บ้างว่าเป็นนักบุญยอห์นคริสซอสตอม "โอษฐ์ทอง" (กรีก: Χρυσόστομος) ผู้เป็นอัครมุขนายกแห่งคอนสแตนติโนเปิล ว่ามีทั้งวาจาที่คมคายและโดดเด่นในการพาคนบาปมากลับใจ ส่วนที่เหลือว่าเป็นนักบุญเกรกอรี ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่, บริสุทธิ์ และมีความชำนาญในการเทศนา รวมถึงยังเป็นผู้ปกป้องคริสต์ศาสนาจากพวกนอกรีตลัทธิอาเรียน ทั้งสามมีวันสมโภชคนละวัน แต่ล้วนอยู่ในเดือนมกราคม: นักบุญบาซิลตรงกับวันที่ 1 มกราคม, นักบุญเกรกอรีในวันที่ 25 มกราคม และ นกบุญคริสซอสตอมในวันที่ 27 มกราคม คริสต์จักรตะวันออกเชื่อว่าทั้งสามปรากฏร่วมกันในนิมิตของนักบุญยอห์น เมาโรเพาส์ มุขนายกแห่งยูชาอีตาในปี 1084 และได้กล่าวว่าพวกตนล้วนแล้วแต่เท่ากันต่อหน้าพระเป็นเจ้า โดย "ไม่มีซึ่งความแตกแยกระหว่างเรา และไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน" จักรพรรดิบีแซนทีน อาเล็กซีออสที่หนึ่ง คอมเนนอส จึงมีการให้วันที่ 30 มกราคมเป็นวันสมโภชทั้งสามขึ้นตั้งแต่ราวปี 1100 เรื่อยมา[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Parry (1999), pp. 491–492.
บรรณานุกรม
[แก้]- Parry, David; David Melling; และคณะ, บ.ก. (1999). The Blackwell Dictionary of Eastern Christianity. Oxford: Blackwell. ISBN 0-631-18966-1.