ข้ามไปเนื้อหา

ตรีนิสิงเห

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยันต์ตรีนิสิงเห

ตรีนิสิงเห (แปลว่า ราชสีห์ 3 ตัว) เป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งในหมวดไสยศาสตร์ของไทย อยู่ในกลุ่มคัมภีร์ลบผงสำคัญ 5 เล่ม คัมภีร์ตรีนิสิงเหมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานในการทำเลขและกลเลขในระบบเลขยันต์ ที่มาของเลขและสัญลักษณ์บางประการที่ปรากฏอยู่ในยันต์อย่างถูกต้อง

คัมภีร์ตรีนิสิงเหประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วนคือ บทนมัสการครู การทำอัตราทวาทสมงคล ที่มาของอัตราทวาทสมงคล การคูณหารอัตราทวาทสมงคลและอุปเท่ห์วิธีการนำเอาผงตรีนิสิงเหและ ยันต์ที่ได้ไปใช้

ต้นฉบับของคัมภีร์ตรีนิสิงเหพบน้อยมากเมื่อเทียบกับคัมภีร์ลบผงเล่มอื่น ๆ ในหอสมุดแห่งชาติ[1] คือพบ 9 ฉบับ แต่มี 4 ฉบับที่แตกต่างกัน จึงนับเป็น 4 สำนวน

บทบาท

[แก้]

คัมภีร์ตรีนิสิงเหมีบทบาทต่อสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยเป็นองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาการโบราณหลายด้าน ได้แก่ คณิตศาสตร์ โหราศาสตร์และดาราศาสตร์ เวชศาสตร์ และพิชัยสงคราม ด้านคณิตศาสตร์โบราณ อธิบายการใช้ค่าคงตัวกล ในการสร้างยันต์ตัวเลข และการหารที่มี ลักษณะคล้ายกับการทำเลขฐาน ด้านโหราศาสตร์พื้นฐาน เลขที่ใช้แทนดวงดาวและเลขกำลังดาว นอกจากนี้ตารางยันต์ตรีนิสิงเหยังพัฒนามาจากรูปแบบดวง ลัคนา ซึ่งมีที่มาจากการเดินทางของดวงอาทิตย์ ตามแนวเส้นสุริยวิถี ด้านไสยศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการลงอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม และการสร้างเครื่องรางของขลัง[2] ตัวอย่างในการนำไปใช้เช่นใชัในการปลูกเรือน ตั้งศาลพระภูมิหรือแม้แต่ใช้ร่วมกับคัมภีร์เวชศาสตร์ในการรักษาโรค ต่าง ๆ

คนไทยทั่วไปรู้จักในลักษณะ ยันต์ตรีนิสิงเห มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองรูป ภายในมีเส้นแบ่งออกเป็นตาราง 12 ช่อง แต่ละช่องมีตัวเลขใส่ไว้ 1 ตัว ตรงกลางยันต์เป็นช่อง 4 ช่อง จะมีเลข 5 สี่ตัว ยันต์นี้ในปัจจุบันที่แพร่หลายมีเพียงรูปเดียว แต่จริง ๆ สามารถเขียนได้หลายรูปแบบ[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ณัฐธัญ มณีรัตน์, ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว. "องค์พระและสูญนิพพานในคัมภีร์ตรีนิสิงเห". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. ณัฐธัญ มณีรัตน์. "คัมภีร์ตรีนิสิงเห: การตรวจสอบชำระและบทบาทในสังคมไทย". คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. Natthan Maneeratana, Chanwit Tudkeao. "ความสําคัญของระบบ เลขในคัมภีร์ตรีนิสิงเห". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.