ตรีทูต (แพทยศาสตร์)
ตรีทูต (อังกฤษ: moribundity, final stage, terminal stage หรือ in extremis) หมายถึง ลักษณะบอกอาการของคนใกล้ตาย[1] กริยาว่ามีลักษณะดังกล่าวเรียก "เข้าตรีทูต" หรือ "เข้าขั้นตรีทูต"
ลักษณาการของตรีทูต
[แก้]ผู้ป่วยขั้นตรีทูตมักมีอาการนอนราบอยู่กับที่ไม่ไหวติง ผิวหนังซีดคล้ำไม่สดใส ตาโบ๋แต่ลืมตาแจ๋ว ใบหน้าหมองมัว จมูกเสี้ยม ขมับหวำ คางแหลม ปากอ้า ขากรรไกรล่างตก ใบหูเย็นและหดฝ่อ แก้มตอบ ใบหน้าเช่นนี้ทางแพทยศาสตร์เรียกว่าใบหน้าแบบฮิปโปเครตีส นอกจากนี้ยังมีอาการหายใจรวยริน ชีพจรอ่อน และผู้ป่วยนั้นไม่รู้เรื่องรู้ราวอันใดอีก[2]
ลักษณาการข้างต้นนี้บ่งบอกว่าเป็นการหมดหวังในผู้ป่วยแล้ว การที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นกลับมาเป็นปรกติเป็นไปได้ยากยิ่ง และโรคจะดำเนินต่อไปเองจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยนั้นจะถึงแก่ความตายในที่สุด
ที่มาของคำ
[แก้]ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า คำว่า "ตรีทูต" นี้มีที่มาอยู่สองประการ ดังต่อไปนี้
1. เป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่ว่า คนเรามีเจตภูตอยู่สี่ภูต เวลาจะตายเจตภูตนี้จะออกจากร่างกายไปสามภูต เหลืออีกภูตหนึ่งแสดงว่าอาการร่อแร่ เรียกว่า "ตรีภูต" แต่ต่อมาเพี้ยนกลายเป็น "ตรีทูต"[3]
2. เป็นคำอุปมาของแพทย์แผนโบราณหรือของชาวบ้าน ตามความเชื่อที่ว่า เวลาคนใกล้จะตาย ยมบาลจะส่งทูตมาสามตนมาเอาวิญญาณไป ทูตมาแล้วสามตน ถ้ามาอีกหนึ่งตนก็ตายแน่แล้ว เรียกว่า "ตรีทูต"[2]
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ประเสริฐ กังสดาลย์ ยังกล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกว่า[3] ตามหลักฐานแล้วยังไม่พบคำอธิบายสำหรับข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ยังมีคำอธิบายสำหรับคำว่า "ตรีโทษ" ซึ่งหมายความว่า อาการไข้หนักจวนจะตาย[1] โดยคำว่า "ตรีโทษ" นี้อาจจะเพี้ยนมาเป็น "ตรีทูต" ก็ได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์).พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 16 กันยายน 2551).
- ↑ 2.0 2.1 ดำรง เพ็ชรพลาย. (2516-2517). "ตรีทูต 2 - อาการ". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 12 : ดี.ดี.ที-ตั๋วแลกเงิน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 868-869.
- ↑ 3.0 3.1 ประเสริฐ กังสดาลย์. (2503-2504). "เข้าตรีทูต". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 4 : ข่อย-คมนาคม). พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม. หน้า 2197-2200.