การตราสัง
การตราสัง หมายความว่า การมัดศพ หรือการผูกศพให้เป็นเปลาะ ๆ ด้วยด้ายดิบเป็นต้น "ดอยใน" ก็เรียก
ศัพทมูล
[แก้]คำ "สัง" ใน "ตราสัง" นั้น นักปราชญ์บางคนสันนิษฐานว่ามาจากคำ "สังขาร" แต่ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำ "สาง" ซึ่งแปลว่า ผี หรือซากศพ
สำหรับคำว่า "ดอยใน" นั้น "ดอย" เป็นกริยา มีความหมายว่า ผูก มัด ตอก ชก ตี ปา หรือทอย "ดอยใน" จึงหมายว่า ผูกหรือมัดอยู่ข้างใน
ความเป็นมา
[แก้]การตราสังศพนี้ ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า
"...เห็นจะเป็นประเพณีเก่าแก่สืบมาแต่โบราณ ดังมีกล่าวถึงในเรื่องลิลิตพระลอแห่งหนึ่งว่า 'ธ ให้สามกษัตริย์ จัดสรรภูษา ตราสังทั้งสามองค์ ผจงโลงทองหนึ่งใหญ่ ใส่สามกษัตริย์แล้วไสร้'"
แต่ความโบราณเช่นว่านี้จะโบราณเพียงไรไม่อาจทราบได้
วิธีการตราสัง
[แก้]เมื่อมีคนตาย และทำพิธีเบื้องต้นให้แก่ศพ เช่น อาบน้ำศพ และแต่งตั้งศพ เสร็จแล้ว ก็จะตราสังศพ วิธีตราสังนี้มีต่าง ๆ กันในรายละเอียด แต่ตามหนังสือ "ประเพณีทำศพ" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่าไว้ดังต่อไปนี้
เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดี จะทำถุงผ้าขาวสวมศีรษะใบหนึ่ง สวมมือทั้งสองข้างซึ่งอยู่ในรูปประนมถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนใบหนึ่ง และสวมเท้าอีกใบหนึ่ง จากนั้น เอาด้ายดิบ กล่าวคือ ด้ายที่ยังไม่ได้ฟอกสี เส้นขนาดนิ้วก้อย ทำเป็นบ่วงสวมคอบ่วงหนึ่ง มัดรอบหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง และรัดรอบหัวแม่เท้ากับข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง เรียกว่า "ตราสัง" หรือ "ดอยใน"
เมื่อเสร็จแล้ว จะห่อศพด้วยผ้าขาวยาวสองทบ ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะและขมวดเป็นปมก้นหอย แล้วใช้ด้ายดิบขนาดนิ้วมือผูกจากเท้าขึ้นมาเป็นเปลาะ ๆ มารัดกับชายผ้าที่เป็นปมก้นหอยนั้นให้แน่น เหลือชายด้ายดิบไว้พอสมควรเพื่อเป็นสายยาวปล่อยออกมานอกโลงได้ แล้วยกศพที่มัดนั้นวางลงในโลงให้นอนตะแคง
เวลาตราสังช่วงทำบ่วงสวมคอ มือ และเท้านั้น ผู้ตราสังจะท่องบ่นคาถาไปด้วยว่า "ปุตฺโต คีเว ธนํปาเท ภริยาหตฺเถ" หรือ "ปุตฺโตคีวํ ธนํปาเท ภริยาหตฺเถ" มีความหมายดังในโคลงโลกนิติว่า
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้ ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ รึงรัด มือนา สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร
ราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า "ถ้าจะอธิบายไปทางปริศนาธรรมก็จะได้ความว่า ห่วงทั้งสามนี้ย่อมผูกมัดสัตว์โลกให้จมอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสารไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ต่อเมื่อตัดบ่วงนี้ขาดจึงจะพ้นทุกข์ได้"
ความแน่นหนาของการมัดศพ
[แก้]การมัดศพในการตราสังนี้จะแน่นหนาเพียงไร สาส์นสมเด็จมีอยู่ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งมีฝรั่งเข้ามาเล่นมายากลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังบางปะอิน ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งวโรภาสพิมานองค์เดิม ฝรั่งคนนั้นท้าให้คนดูเอาเชือกมัดตัวว่า ถึงมัดอย่างไรก็จะเอาตัวหลุดออกมาให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจสองสามนายเข้าไปมัดดู ตำรวจเข้าไปมัดในม่านซึ่งฝรั่งขอให้กั้นไว้ มัดไปครู่หนึ่งฝรั่งก็ร้องโวยวายออกมาว่าไม่ยอมให้มัดแล้ว แล้วโกรธเอาว่ามัดอย่างป่าเถื่อน ทนไม่ไหว เมื่อตำรวจออกมา คนดูข้างนอกก็พากันถามว่า ไปมัดอย่างไรฝรั่งจึงไม่ยอมให้มัด ตำรวจก็บอกว่า มัดอย่างตราสัง ฝรั่งเลยยอมแพ้
วัตถุประสงค์ของการตราสัง
[แก้]การตราสังศพนั้น ก็เพื่อไม่ให้ศพพองขึ้นจนดันโลงแตกเมื่อตอนขึ้นอืด จึงต้องมีการมัดให้แน่น และจัดให้ศพนอนตะแคงในโลง
ส่วนการปล่อยเชือกมัดออกมานอกโลงนั้น ก็เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสุกุล บุญจะได้แล่นเข้าถึงตัวศพ
นอกจากนี้ ราชบัณฑิตยสถานยังว่า "...การตราสังนั้นก็เพราะกลัวผีจะมารังควาน จึงมัดเสียแน่นหนา ไม่ต้องการให้ผีเดินมาได้..."
การตราสังในวัฒนธรรมอื่น
[แก้]การตราสังนี้ ชาติอื่นก็มีทำกัน เช่น ชาวอินเดียไม่เฉพาะแต่ชาวฮินดูก็ใช้เชือกมัดหัวแม่มือศพให้มืออยู่ในท่าพนม และมัดหัวแม่เท้าศพให้แน่น แล้วจึงเอาผ้าห่อมัดให้กระชับอีกที จะตัดเชือกออกต่อเมื่อฝังหรือเผา
ชาวทมิฬในกรุงเทพมหานครก็มีประเพณีทำนองเดียวกัน
อ้างอิง
[แก้]- เจริญ อินทรเกษตร. (2516-2517). "ตราสัง". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 12 : ดี.ดี.ที-ตั๋วแลกเงิน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 7435-7437.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
- สาส์นสมเด็จ, (เล่ม 25). (2505). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.