ข้ามไปเนื้อหา

ตปุสสะ ภัลลิกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตปุสสะ ภัลลิกะเป็นพ่อค้าสองพี่น้องชาวอุกกละชนบท เป็นบุตรของกฏุมพีในอสิตัญชนนคร ทั้งสองเป็นเทววาจิกอุบาสก (อ่านว่า ทฺ-เว-) ปฐมอุบาสกคู่แรกที่ยึดถือรัตนะ 2 คือถึงพระพุทธกับพระธรรม เป็นสรณะ ต่อพระพักตร์ของพระโคตมพุทธเจ้า เพราะช่วงนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสรู้ใหม่ๆ ยังไม่ได้ประกาศพระศาสนาและยังไม่มีพระภิกษุเลย และทรงกำลังเสวยวิมุติสุขหลังจากทรงตรัสรู้ตามที่ต่างๆในอุรุเวลาเสนานิคมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ ตปุสสะและภัลลิกะได้รับเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ถึงสรณะก่อนใคร

ประวัติ

[แก้]

ในตำนานพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุติสุขที่ต้นมุจลินท์เป็นเวลา 7 วันแล้ว ทรงออกจากสมาธิและเสด็จดำเนินไปยัง ณ ใต้ต้นเกดหรือต้นราชายตนะ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับเสวยวิมุติสุขที่ต้นราชายตนะ 7 วัน จากนั้นหลังจากพระพุทธองค์เสวยวิมุติสุขตามที่ต่างๆ ตลอด 7 สัปดาห์ เพราะการเสวยวิมุติสุขนั้นจึงมิต้องเสวยพระกระยาหารเลย ท้าวสักกะทรงเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหารมาเป็น 47 วันแล้ว จึงนำผลสมออันเป็นโอสถทิพย์จากเทวโลกลงมาถวาย พระพุทธองค์ก็ได้เสวยผลสมอพระโอสถ พอเสวยเสร็จ ท้าวสักกะได้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ ครั้นบ้วนพระโอษฐ์แล้วประทับนั่งที่โคนต้นราชายตนะ

ในขณะนั้นได้มีขบวนรถเกวียนพ่อค้าประมาณ 500 เล่มได้เดินทางผ่านมาใกล้ๆ ต้นราชายตนะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ผู้นำขบวนเกวียนพ่อค้ามีสองคน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้เดินทางจากอุกกลชนบท มายังมัชฌิมประเทศเพื่อค้าขาย มีเทวดาตนหนึ่งผู้ที่เคยเป็นมารดาของพ่อค้าสองพี่น้องมาแต่อดีตชาติ ได้เห็นบุตรทั้งสองได้อยู่สังสารวัฏมาช้านานจึงปรารถนาจะสงเคราะห์พวกเขา จึงได้อธิษฐานให้ขบวนรถเล่มเกวียนให้หยุดเคลื่อนที่ไม่ให้ไปไหน รถเล่มเกวียนจึงได้หยุดตามคำอธิษฐาน คนขับเล่มเกวียนก็ได้ตีวัวเพื่อให้ฉุดเล่มเกวียนให้เคลื่อนที่แต่ไม่เป็นผล ตปุสสะและภัลลิกะจึงพากันแปลกใจว่าทำไมเล่มเกวียนไม่ยอมเคลื่อนที่ไม่ไปไหนเหมือนถูกตรึงอยู่กับพื้น และแล้วเทวดาก็ได้มาปรากฏต่อหน้าพ่อค้าสองพี่น้องและบอกว่า บัดนี้ได้มีพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และประทับที่ต้นราชายตนะใกล้ๆ ถนนที่ขบวนเล่มเกวียนอยู่ และแนะนำพ่อค้าสองพี่น้องให้ไปเข้าเฝ้าเคารพและนำข้าวสัตตุก้อนและข้าวสัตตุผงที่อยู่ในเสบียงมาถวายแก่พระพุทธองค์ แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองตลอดไป

ตปุสสะและภัลลิกะก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ต้นราชายตนะ และทูลถวายสัตตุก้อนและข้าวสัตตุผงตามคำบอกของเทวดา พระพุทธองค์ก็ทรงพระปริวิตกว่า บาตรที่ทรงใช้ซึ่งได้มาเมื่อตอนออกผนวชได้อันตรธานหายไปหลังตรัสรู้ และพระองค์ก็ทรงคิดว่า เมื่อไม่มีบาตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เคยรับด้วยพระหัตถ์ แล้วจะรับด้วยอะไรดี ครั้งนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้ทราบว่าพระพุทธองค์กำลังทรงพระปริวิตกเรื่องบาตร จึงได้นำบาตรศิลาที่สีคล้ายถั่วเขียวทั้งสี่ใบลงมาถวาย พระพุทธองค์ทรงปรารภว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ใช้บาตรหลายใบ จึงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 รวมกันเป็นใบเดียว และรับภัตตาหารนั้น เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงแสดงธรรมแก่เขาทั้ง 2 จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาประกาศตนเป็นอุบาสกยึดเอาพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ 2 ที่เรียกว่า เทฺววาจิก แล้วสองพี่น้องได้ทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระพุทธองค์เพื่อนำไปบูชา พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเกศา พระเกศาก็ได้ตกลงมา 8 เส้น แล้วประทานให้ ตปุสสะและภัลลิกะได้นำพระเกศาทั้ง 8 เส้นกลับไปยังอุกกลชนบท แล้วบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ที่อสิตัญชนนคร ทำพิธีฉลองสมโภชเป็นหลายวันหลายคืน มีตำนานเล่าขานว่าในวันอุโบสถ สถูปเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาทั้ง 8 เส้นได้เปล่งรัศมีสีนิล (น้ำเงินเข้ม)

ตำนานพม่า

[แก้]

ในประเทศพม่า มีตำนานของเจดีย์ชเวดากองได้เล่าขานไว้ว่า ตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้าพี่น้องทั้งสองนั้นเป็นชาวมอญมาจากเมืองย่างกุ้ง ได้เดินทางไปค้าขายที่ประเทศอินเดีย ทั้งสองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ถวายภัตตาหารแด่พระองค์ หลังจากเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาให้ 8 เส้น เมื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางกลับ พระราชาแห่งอเชตตะได้ขอแบ่งพระเกศธาตุไป 2 เส้น พญานาคขอไปอีก 2 เส้น เมื่อเดินทางกลับถึงเมืองอสิตัญชนะ พระเจ้าโอกกลปะก็ได้ทรงประกอบพิธีต้อนรับพระเกศาธาตุอย่างยิ่งใหญ่ และได้ทรงคัดเลือกสถานที่บนเขาสิงฆุตตระ นอกประตูเมืองอสิตัญชนะให้เป็นที่สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระเกศธาตุ แต่ขณะที่กำลังทำการขุดดินก่อสร้างนั้น ก็ได้ค้นพบพระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ อีก 3 พระองค์ด้วย คือ ไม้ธารพระกร ภาชนะสำหรับใส่น้ำ และสบง จึงได้บรรจุของทั้งหมดนี้ในพระเจดีย์พร้อมกับพระเกศธาตุด้วย แต่ก่อนที่จะบรรจุก็ค้นพบด้วยว่า พระเกศธาตุกลับมี 8 เส้นดังเดิม พระเกศธาตุได้บรรจุไว้ภายในเจดีย์ทอง เงิน ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว หินอ่อน และเหล็กตามลำดับ เสร็จแล้วจึงสร้างเจดีย์อิฐสูง 9 เมตรทับไว้ในชั้นแรก

เอตทัคคะ

[แก้]

ในกาลต่อมา พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งในวัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้าทั้งสองนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ถึงสรณะก่อนแล

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านทั้งสองเสียชีวิตเมื่อใดและที่ใด แต่ท่านทั้งสองคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงละโลกนี้ไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. วินย. ๔/๕-๖; วินย. อ. ๓/๒๗-๒๘; อป.อ. ๘/๑/๑๕๘-๑๕๙;องฺ.อ. ๑/๒/๕๗-๕๙ ; พุทฺธ.อ. ๙/๒/๓๒; วินย.อ. ๔/๑/๒๖-๒๙ ปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า ๑๗๙-๑๘๒

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. เว็บไซต์ ลานธรรมจักร
  2. 5 มหาสถานของพม่า[ลิงก์เสีย]
  3. เว็บไซต์ประตูสู่ธรรม เก็บถาวร 2016-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน