ดาเตะ มาซามูเนะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ดาเตะ มาซามูเนะ | |
---|---|
ไดเมียวแห่ง แคว้นเซ็นได | |
1601-1636 | |
ถัดไป | ดาเตะ ทาดามูเนะ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1567 โยเนซาวะ ยามางาตะ บนเทมมารู |
อสัญกรรม | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1636 |
บิดา | ดาเตะ เทรูมูเนะ |
มารดา | โยชิฮิเมะ |
คู่สมรส | เมโงฮิเมะ (ภรรยาเอก) ชินโซ (ภรรยาน้อย) |
บุตร-ธิดา | ดาเตะ ฮิเดมูเนะ อิโรฮาฮิเมะ ดาเตะ ทาดามูเนะ |
ดาเตะ มาซามูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達政宗; โรมาจิ: Date Masamune 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1567 - 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1636) เป็นไดเมียวในยุคเซงโงะกุจนถึงยุคเอโดะซึ่งเรืองอำนาจอยู่ในภูมิภาคโทโฮกุ เป็นผู้ก่อตั้งเมืองเซ็นได มีฉายาว่า มังกรตาเดียวแห่งโอชู (ญี่ปุ่น: 独眼竜; โรมาจิ: Dokuganryū) และเป็นผู้ส่งคณะทูตปีเคโจ (ญี่ปุ่น: 慶長使節; โรมาจิ: Keichō shisetsu) ไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 ที่ยุโรป
ประวัติ
[แก้]ดาเตะ มาซามูเนะ เกิดในปี ค.ศ. 1567 ที่ปราสาทโยเนซาวะ เมืองโยเนซาวะ จังหวัดยามางาตะในปัจจุบัน เมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า บนเทมมารุ (ญี่ปุ่น: 梵天丸; โรมาจิ: Bontenmaru) เป็นบุตรชายคนโตของดาเตะ เทรูมูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達輝宗; โรมาจิ: Date Terumune) ไดเมียวเจ้าครองปราสาทโยเนซาวะในแคว้นมุตสึ (ญี่ปุ่น: 陸奥; โรมาจิ: Mutsu) กับนางโยชิฮิเมะ (ญี่ปุ่น: 義姫; โรมาจิ: Yoshihime) ซึ่งเป็นบุตรสาวของโมงามิ โยชิโมริ (ญี่ปุ่น: 最上義守; โรมาจิ: Mogami Yoshimori) ไดเมียวแห่งปราสาทยามางาตะ (ญี่ปุ่น: 山形; โรมาจิ: Yamagata) ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากปราสาทโยเนซาวะ บนเทมมารูมีน้องชายหนึ่งคนชื่อว่า โคจิโร่ ในค.ศ. 1578 เมื่ออายุสิบเอ็ดปีได้ผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า ดาเตะ โทจิโร่ มาซามูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達藤次郎政宗; โรมาจิ: Date Tojirō Masamune) และในปีเดียวกันได้สมรสกับนางเมโงฮิเมะ (ญี่ปุ่น: 愛姫; โรมาจิ: Megohime) บุตรสาวของทามูระ คิโยอากิ (ญี่ปุ่น: 田村清顕; โรมาจิ: Tamura Kiyoaki) แต่ทว่ามาซามูเนะเกิดความระแวงว่าตระกูลทามูระจะทำการลอบสังหารตนเอง จึงนำตัวคนรับใช้ของนางเมโงฮิเมะไปสังหาร ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดาเตะ มาซามูเนะ กับนางเมโงฮิเมะผู้เป็นภรรยาเอกไม่สู้ดีนัก
เมื่ออายุน้อยดาเตะ มาซามูเนะ ป่วยเป็นโรคฝีดาษ ทำให้สูญเสียลูกนัยตาข้างขวา บางตำนานกล่าวว่าดาเตะ มาซามูเนะ ทำการควักลูกตาของตนเองออกมาแล้วกินเข้าไป บางตำนานกล่าวว่ามาซามูเนะให้คนรับใช้คนสนิทคือ คาตากูระ คาเง็ตสึนะ (ญี่ปุ่น: 片倉景綱; โรมาจิ: Katakura Kagetsuna) เป็นผู้ควักลูกตาออกให้ หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้นางโยชิฮิเมะ มารดาของมาซามูเนะ มีความเห็นว่ามาซามูเนะไม่สมควรที่จะสืบทอดตำแหน่งไดเมียวแห่งโยเนซาวะเนื่องจากเป็นผู้มีลูกตาข้างเดียว และให้การสนับสนุนแก่โคจิโร่ หรือดาเตะ มาซามิจิ (ญี่ปุ่น: 伊達政道; โรมาจิ: Date Masamichi) ซึ่งเป็นน้องชายของมาซามูเนะให้เป็นไดเมียวคนต่อไป ในปีค.ศ. 1581 มาซามูเนะออกศึกครั้งแรกในการช่วยเหลือเทรูมูเนะผู้เป็นบิดาในการรบกับตระกูลโซมะ (ญี่ปุ่น: 相馬; โรมาจิ: Sōma)
รวบรวมภูมิภาคโทโฮกุ
[แก้]ในค.ศ. 1584 ดาเตะ เทรูมูเนะ ประกาศสละตำแหน่งไดเมียวแห่งโยเนซาวะให้แก่ดาเตะ มาซามูเนะ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโต มาซามูเนะจึงขึ้นเป็นไดเมียวตั้งแต่อายุสิบเจ็ดปี เมื่อมาซามูเนะขึ้นดำรงตำแหน่งไดเมียว โออูจิ ซาดัตสึนะ (ญี่ปุ่น: 大内定綱; โรมาจิ: Ōuchi Sadatsuna) ไดเมียวแห่งปราสาทโอบามะ (ญี่ปุ่น: 小浜; โรมาจิ: Ōbama เมืองนิฮมมัตสึ จังหวัดฟูกูชิมะ) ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อมาซามูเนะและตระกูลดาเตะ แต่ภายในปีเดียวกันโออูจิ ซาดัตสึนะแปรพักตร์ไปเข้ากับตระกูลอาชินะ (ญี่ปุ่น: 蘆名; โรมาจิ: Ashina) แห่งปราสาทคูโรกาวะ (ญี่ปุ่น: 黒川; โรมาจิ: Kurokawa ต่อมาคือปราสาทไอซุ) ซึ่งเป็นศัตรูกับตระกูลดาเตะ ทำให้มาซามูนะประกาศสงครามกับโออูจิ ซาดัตสึนะและตระกูลอาชินะเป็นการตอบโต้ มาซามูเนะยกทัพเข้ายึดปราสาทโอเตโมริ (ญี่ปุ่น: 小手森; โรมาจิ: Otemori) อย่างดุดัน สังหารข้าศึกศัตรูจนหมดสิ้น ทำให้โออูจิ ซาดัตสึนะเกิดความเกรงกลัวต่อความโหดร้ายของดาเตะ มาซามูเนะ จึงละทิ้งปราสาทโอบามะแล้วหลบหนีไป มาซามูเนะจึงเข้ายึดปราสาทโอบามะได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
ฮาตาเกยามะ โยชิตสึงุ (ญี่ปุ่น: 畠山義継; โรมาจิ: Hatakeyama Yoshitsugu) ไดเมียวแห่งปราสาทนิฮมมัตสึ (ญี่ปุ่น: 二本松; โรมาจิ: Nihonmatsu) มีความเกรงกลัวต่อฤทธิอำนาจของดาเตะ มาซามูเนะ จึงเจรจาขอเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับตระกูลดะเตะหลายครั้งแต่มาซามูเนะปฏิเสธทุกครั้ง ฮาตาเกยามะ โยชิตสึงุ จึงหันไปเจรจากับดาเตะ เทรูมูเนะ ผู้เป็นบิดาของมาซามูเนะแทนในค.ศ. 1585 โดยโยชึตสึงุได้เชิญให้เทรูมูเนะมาเข้าร่วมงานเลี้ยง แต่ทว่าในงานเลี้ยงนั้นโยชิตสึงุได้ใช้ดาบจี้เทรูมูเนะเป็นตัวประกัน มาซามูเนะเมื่อรู้เหตุการณ์ที่บิดาของตนถูกตระกูลฮาตาเกยามะจับเป็นตัวประกันจึงประกาศสงครามกับตระกูลฮาตาเกยามะและยกทัพติดตามไปช่วยเหลือบิดาของตน เมื่อพบกับทัพของฮาตาเกยามะที่แม่น้ำอาบูกูมะ (ญี่ปุ่น: 阿武隈; โรมาจิ: Abukuma) แล้วมาซามูเนะเกิดความลังเลที่จะเข้าโจมทีทัพของศัตรูเนื่องจากเกรงว่าบิดาของตนจะได้รับอันตราย เทรูมูเนะจึงบอกแก่มาซามูเนะบุตรชายของตนว่าให้ทำการสู้รบกับตระกูลฮาตาเกยามะอย่างเต็มทีไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของตน มาซามูเนะจึงยกทัพเจ้าโจมตีฮาตาเกยามะในระหว่างการสู้รบเทรูมูเนะผู้เป็นบิดาถูกสังหารเสียชีวิต ส่วนฮาตาเกยามะ โยชิตสึงุสามารถหลบหนีไปยังปราสาทนิฮมมัตสึอันเป็นฐานที่มั่นได้
เนื่องจากดาเตะ มาซามูเนะ เป็นที่เกรงขามไปทั่วภูมิภาคโทโฮกุ ฮาตาเกยามะ โยชิตสึงุ จึงสามารถเกลี้ยกล่อมไดเมียวต่างๆในภูมิภาคโทโฮกุให้ร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของตระกูลดาเตะ โดยทั้งตระกูลอาชินะ ตระกูลโซมะ ตระกูลซาตาเกะ และไดเมียวอื่นๆในภูมิภาคต่างส่งทัพเข้าร่วมกับฮาตาเกยามะในการต่อสู้กับมาซามูเนะ กองทัพผสมไดเมียวมีจำนวนมากกว่ากองกำลังของมาซามูเนะถึงสามเท่า เมื่อเสียเปรียบด้านกำลังพลมาซามูเนะจึงเข้าเป็นฝ่ายตั้งรับในปราสาทมิยะโมริ (ญี่ปุ่น: 宮森; โรมาจิ: Miyamori) ทัพผสมไดเมียวเข้าโจมตีทัพของตระกูลดาเตะในการรบที่สะพานฮิโตโตริ (ญี่ปุ่น: 人取橋の戦い; โรมาจิ: Hitotoribashi-no-tatakai) ทัพของดาเตะสูญเสียกำลังพลมากและสูญเสียแม่ทัพคนสำคัญ ทัพของดาเตะไม่สามาถต่อกรกับทัพผสมไดเมียวได้จึงถอยเข้าไปตั้งหลักในปราสาทมิยะโมริ ในขณะที่ทัพผสมกำลังจะเข้าโจมตีปราสาทนั้น ทัพของตระกูลซาตาเกะได้ถอนทัพออกจากสนามรบอย่างกระทันหันเนื่องจากที่ฐานที่มั่นของตนถูกไดเมียวตระกูลอื่นโจมตี ทำให้จำนวนกำลังของทัพผสมลดลงและทัพผสมต่างถอนทัพแยกย้ายสลายตัวไปในที่สุด
ในค.ศ. 1589 ดาเตะ มาซามูเนะ ยกทัพเข้ายึดปราสาทคูโรกาวะ อันเป็นฐานที่มั่นของตระกูลอาชินะได้สำเร็จ และสามารถเอาชนะกองทัพของตระกูลอาชินะในการรบที่ซูริอาเงฮาระ (ญี่ปุ่น: 摺上原の戦い; โรมาจิ: Suriagehara-no-tatakai) ทำให้ตระกูลอาชินะถึงกาลอวสาน ในปีเดียวกันนั้น นางโยชิฮิเมะมารดาของมาซามูเนะ หรือคือนางโบชุน-อิง (ญี่ปุ่น: 保春院; โรมาจิ: Bōshun-in) วางยาพิษลอบสังหารมาซามูเนะบุตรชายของตนเองเพื่อยกตำแหน่งไดเมียวให้แก่น้องชายของมาซามูเนะคือ ดาเตะ มาซามิจิ แต่ไม่สำเร็จ มาซามูเนะจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตมาซามิจิน้องชายของตน เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองและปิดฉากศึกสายเลือดระหว่างพี่น้อง ส่วนมารดาคือนางโบชุน-อิงหลบหนีกลับไปยังปราสาทยามากาตะบ้านเกิด
ไดเมียวแห่งอิวาเดยามะภายใต้การปกครองของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ
[แก้]ในค.ศ. 1590 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ แผ่ขยายอำนาจมาทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ยกทัพเข้าล้อมปราสาทโอดาวาระของตระกูลโฮโจ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ออกคำสั่งให้ไดเมียวในภูมิภาคโทโฮกุทั้งหมดเข้าสวามิภักดิ์ต่อตนเองและช่วยเหลือโทโยโตมิในการสู้รบกับตระกูลโฮโจ ดาเตะ มาซามูเนะ มีความลังเลที่จะเข้าสวามิภักดิ์ต่อโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ จนกระทั่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโทโยโตมิจะได้รับชัยชนะในสงครามกับตระกูลโฮโจ คาตากูระ คาเง็ตสึนะ ที่ปรึกษาคนสนิทของดาเตะ มาซามูเนะ จึงแนะนำให้มาซามูเนะเข้าสวามิภักดิ์ต่อโทโยโตมิ ฮิเดโยชิในที่สุด แม้ว่ามาซามูเนะจะมีความลังเลและล่าช้าในการสวามิภักดิ์กับฮิเดโยชิแสดงถึงความไม่จงรักภักดีแต่ฮิเดโยชิยังมีความเมตตาไว้ชีวิตดาเตะ มาซามูเนะ แต่ฮิเดโยชิยึดดินแดนในครอบครองของตระกูลดาเตะทั้งหมด ทั้งปราสาทโยเนซาวะและปราสาทคูโรกาวะ นำไปแจกจ่ายให้แก่ไดเมียวคนอื่นและปลดมาซามูเนะออกจากไดเมียวแห่งโยเนซาวะ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ มอบหมายให้ดาเตะ มาซามูเนะ ไปเป็นไดเมียวแห่งแคว้นอิวาเดยามะ (ญี่ปุ่น: 岩出山; โรมาจิ: Iwadeyama จังหวัดมิยางิในปัจจุบัน) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอาณาเขตเดิมที่เคยเป็นของมาซามูเนะ ในค.ศ. 1591 นางชินโซ (ญี่ปุ่น: 新造の方; โรมาจิ: Shinzō-no-kata) ภรรยาน้อยของมาซามูเนะให้กำเนิดบุตรชายคนแรกชื่อว่า เฮโกโร (ญี่ปุ่น: 兵五郎; โรมาจิ: Heigorō)
ในค.ศ. 1594 ดาเตะ มาซามูเนะ และครอบครัวย้ายไปอาศัยยังนครหลวงเกียวโต ดาเตะ มาซามูเนะ จำต้องส่งบุตรชายคนโตของตนคือเฮโกโรไปเป็นตัวประกันให้แก่โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ที่ปราสาทฟูชิมิ (ต่อมาเฮโกโรได้รับชื่อจากฮิเดโยชิว่า ดาเตะ ฮิเดมูเนะ ญี่ปุ่น: 伊達秀宗; โรมาจิ: Date Hidemune) ที่เมืองเกียวโตนี่เองซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างมาซามูเนะกับนางเมโงฮิเมะภรรยาเอกดีขึ้น จนนางเมโงฮิเมะให้กำเนิดบุตรสาวคนแรกคือ นางอิโรฮาฮิเมะ (ญี่ปุ่น: 五郎八姫; โรมาจิ: Iroha-hime) ในค.ศ. 1594 และให้กำเนิดบุตรชายคือโทรากิกูมารุ (ญี่ปุ่น: 虎菊丸; โรมาจิ: Torakiku-maru) ในค.ศ. 1600 ซึ่งต่อมาได้รับชื่อว่าดาเตะ ทาดามูเนะ (ญี่ปุ่น: 伊達忠宗; โรมาจิ: Date Tadamune) มาซามูเนะได้หมั้นหมายอิโรฮาฮิเมะบุตรสาวของตนให้แก่โทกูงาวะ ทาดาเตรุ (ญี่ปุ่น: 徳川忠輝; โรมาจิ: Tokugawa Tadateru) ซึ่งเป็นบุตรชายของโทกูงาวะ อิเอยาซุ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางการเมือง ในค.ศ. 1595 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ มีคำสั่งให้โทโยโตมิ ฮิเดตสึงุ (ญี่ปุ่น: 豊臣秀次; โรมาจิ: Toyotomi Hidetsugu) ซึ่งเป็นหลานชายของตนกระทำการเซปปุกุเสียชีวิต และนำภรรยาน้อยและบุตรทั้งหมดของโทโยโตมิ ฮิเดสึงุ มาประหารชีวิต หนึ่งในภรรยาน้อยของฮิเดสึงุคือ นางโคมาฮิเมะ (ญี่ปุ่น: 駒姫; โรมาจิ: Koma-hime) ซึ่งถูกประหารชีวิตไปในครั้งนี้เป็นบุตรสาวของโมงามิ โยชิอากิ (ญี่ปุ่น: 最上義光; โรมาจิ: Mogami Yoshiaki) ซึ่งเป็นลุงของมาซามูเนะ ทำให้มาซามูเนะติดร่างแหทางการเมือง แต่ด้วยความช่วยเหลือของโทกูงาวะ อิเอยาซุ ทำให้มาซามูเนะได้รับการลดโทษ โดยถูกเนรเทศไปยังแคว้นอิโยะ (ญี่ปุ่น: 伊予; โรมาจิ: Iyo) บนเกาะชิโกกุ
โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1598 ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างอิชิดะ มิตสึนาริ และโทกูงาวะ อิเอยาซุ ฝ่ายที่สนับสนุนอิชิดะ มิตสึนาริเรียกว่า ฝ่ายกองทัพตะวันตก ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนโทกูงาวะ อิเอยาซุเรียกว่า ฝ่ายกองทัพตะวันออก ดาเตะ มาซามูเนะเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายตะวันออกให้การสนับสนุนแก่โทกูงาวะ อิเอยาซุ แม้ว่ามาซามูเนะจะไม่ได้เข้าร่วมในยุทธการเซกิงาฮาระแต่ก็มีบทบาทในการสู้รบกับอูเอซูงิ คาเงคัตสึ (ญี่ปุ่น: 上杉景勝; โรมาจิ: Uesugi Kagkatsu) ไดเมียวแห่งไอซุซึ่งให้การสนับสนุนแก่กองทัพฝ่ายตะวันตก ดาเตะ มาซามูเนะ ร่วมกับโมงามิ โยชิอากิ ซึ่งเป็นลุงในการทำสงครามกับตระกูลอูเอซูงิ นาโอเอะ คาเนตสึงุ (ญี่ปุ่น: 直江兼続; โรมาจิ: Naoe Kanetsugu) ขุนพลเอกของตระกูลอูเอซูงิ นำทัพเข้าล้อมปราสาทฮาเซโด (ญี่ปุ่น: 長谷堂; โรมาจิ: Hasedō) ของตระกูลดาเตะแต่ไม่สำเร็จ มาซามูเนะและโยชิอากิตอบโต้ด้วยการนำทัพเข้ายึดปราสาทฟูกูชิมะของอูเอซูงิ การที่มาซามูเนะคอยป้องกันภูมิภาคโทโฮกุให้แก่อิเอยาซุ ทำให้อิเอยาซุสามารถต่อกรกับอิชิดะ มิตสึนาริในภาคตะวันตกได้อย่างเต็มที่
ก่อตั้งเมืองเซ็นได
[แก้]หลังจากสงครามเซกิงาฮาระ โทกูงาวะ อิเอยาซุ อนุญาตให้ดาเตะ มาซามูเนะ ย้ายฐานที่มั่นมาอยู่ที่เซนไดซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคโทโฮกุเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตรและอยู่ติดกับทะเล มาซามูเนะสร้างปราสาทขึ้นใหม่ที่เขาอาโอบะ (ญี่ปุ่น: 青葉; โรมาจิ: Aoba) ที่เซ็นไดในค.ศ. 1600 จากนั้นจึงเกิดชุมชนขึ้นรอบปราสาท เมืองเซนไดจึงถือกำเนิดขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านของชาวประมง ในค.ศ. 1604 ดาเตะ มาซามูเนะย้ายจากประสาทอิมาเดงาวะมาอยู่ที่ปราสาทอาโอบะ หรือ ปราสาทเซนได (ญี่ปุ่น: 仙台城; โรมาจิ: Sendai-jō) เป็นการถาวร รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะตั้งผลผลิตจากแคว้นเซนไดไว้สูงถึงหนึ่งล้านโกกุ แต่ผลผลิตที่ได้จริงมีเพียงแค่ 640,000 โกกุ อย่างไรก็ตามในสมัยเอโดะแคว้นเซนไดเป็นหนึ่งในแคว้นขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ตระกูลดาเตะปกครองแคว้นเซนไดอันยิ่งใหญ่ไปตลอดสมัยเอโดะเป็นเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี
ในค.ศ. 1614 ทั้งดาเตะ มาซามูเนะ และบุตรชายทั้งสองคือฮิเดมูเนะและทาดามูเนะ ต่างเข้าร่วมกับกองทัพของโอโงโชอิเอยาซุในการล้อมปราสาทโอซากะ แม้ว่าฮิเดมูเนะจะเป็นบุตรชายคนโตของซามูเนะแต่เป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาน้อย ทำให้มีสิทธิ์ในการสืบทอดแคว้นเซนไดน้อยกว่าทาดามูเนะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นบุตรชายคนรองแต่เป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาเอก หลังจากสงครามเสร็จสิ้นในค.ศ. 1615 อิเอยาซุได้มอบรางวัลให้แก่ตระกูลดาเตะด้วยการแต่งตั้งให้ดาเตะ ฮิเดมูเนะ บุตรชายคนโตของมาซามูเนะ เป็นไดเมียวแห่งแคว้นอูวาจิมะ (ญี่ปุ่น: 宇和島; โรมาจิ: Uwajima ปัจจุบันอยู๋ในจังหวัดเอฮิเมะ) บนเกาะชิโกกุ ทำให้ฮิเดมูเนะแม้ว่าจะไม่ได้สืบทอดแคว้นเซนไดแต่สามารถขึ้นเป็นไดเมียวในแคว้นของตนเองและจัดตั้งสาขาของตระกูลดาเตะขึ้นที่แคว้นอูวาจิมะบนเกาะชิโกกุ
การทูตปีเคโจ
[แก้]ในค.ศ. 1612 โชกุนโทกูงาวะ ฮิเดตาดะ ออกประกาศกฎหมายห้ามมิชชันนารีชาวตะวันตกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในค.ศ. 1613 บาทหลวงหลุยส์ โซเทโล (Luis Sotelo) ซึ่งเป็นบาทหลวงนิกายฟรังซิสกันชาวสเปน ถูกทางการของรัฐบาลโชกุนจับกุมขัง ไดเมียวดาเตะ มาซามูเนะ ช่วยเหลือบาทหลวงหลุยส์โซเทโลไม่ให้ถูกประหารชีวิตดังเช่นบาทหลวงคนอื่นๆ เนื่องจากบาทหลวงโซเทโลเคยช่วยรักษาภรรยาน้อยคนหนึ่งของมาซามูเนะให้หายจากความเจ็บป่วย บาทหลวงโซเทโลเข้ามาลี้ภัยยังเมืองเซนไดและเสนอโครงการให้ดาเตะ มาซามูเนะ ส่งตัวแทนไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสเปน ในปีเดียวกันนั้นมาซามูเนะส่งฮาเซกูระ สึเนนางะ (ญี่ปุ่น: 支倉常長; โรมาจิ: Hasekura Tsunenaga) เป็นตัวแทนของมาซามูเนะในการเข้าเฝ้ากษัตริย์แห่งสเปนและพระสันตะปาปา เรียกว่า คณะทูตปีเคโจ (ญี่ปุ่น: 慶長使節; โรมาจิ: Keichō shisetsu) เป็นคณะทูตคณะที่สองในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เดินทางไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศในยุโรป บาทหลวงโซเทโลบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า "ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เป็นทูตของอิดาเตะ มาซามูเนะ (Idate Masamune) ผู้มีอำนาจปกครองเหนืออาณาจักรแห่งโอซู (Kingdom of Oxu) ผู้ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ผ่านพิธีรับศีลจุ่ม แต่ก็มีความปรารถนาให้มีการเผยแพร่ศรัทธาของคริสตจักรในอาณาจักรของเขา..."
ฮาเซกูระ ซึเนนางะ นำคณะทูตเดินทางถึงนครเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณานิคมนิวสเปน (New Spain) ในค.ศ. 1614 เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain) ที่เมืองมาดริดในค.ศ. 1615 และเดินทางไปเข้าไปพระสันตะปาปาปอลที่ 5 (Paul V) ที่กรุงโรม ฮาเซกูระ ซึเนนากะ เดินทางกลับไปยังสเปนในค.ศ. 1616 แต่พระเจ้าฟิลิปทรงปฏิเสธที่จะทำสนธิสัญญาทางการค้า เนื่องจากทรงเห็นว่าคณะทูตนี้เป็นเพียงตัวแทนของแคว้นหนึ่งในญี่ปุ่น ไม่ใช่ตัวแทนของผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่นที่แท้จริง ฮาเซกูระ ซึเนนางะ เดินทางกลับถึงเมืองเซนไดในค.ศ. 1620 ค้นพบว่ารัฐบาลโชกุนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของศาสนาคริสต์และชาวตะวันตกอย่างมาก จนนำไปสู่การปิดประเทศในที่สุด
แม้ว่าคณะทูตปีเคโจจะไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป แต่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของไดเมียวดาเตะ มาซามูเนะ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงไดเมียวแต่มีนโยบายการต่างประเทศเป็นของตนเองสามารถแต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรปได้
วาระสุดท้าย
[แก้]ดาเตะ มาซามูเนะ ปกครองแคว้นเซนไดเป็นเวลาทั้งหมดสามสิบห้าปี และถึงแก่กรรมในค.ศ. 1636 ดาเตะ ทาดามูเนะ บุตรชายคนรองขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นไดเมียวแห่งเซนไดคนต่อมา
อ้างอิง
[แก้]- "Date Masamune". samurai-archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-11. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012.