ข้ามไปเนื้อหา

ดาส โบท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดาส โบท
กำกับวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน
เขียนบทวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน (บทภาพยนตร์)
โลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ (นวนิยาย)
อำนวยการสร้างกุนเทอร์ โรห์บาจ
นักแสดงนำเยือร์เกิน พร็อคโน
เฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์
เคลาซ์ เวนเนมานน์
ผู้บรรยายเฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์
กำกับภาพJost Vacano
ตัดต่อHannes Nikel
ดนตรีประกอบKlaus Doldinger
ผู้จัดจำหน่ายColumbia Pictures
วันฉาย17 กันยายน ค.ศ. 1981 (เยอรมนีตะวันตก)
ความยาว150 นาที (ฉบับฉายในโรง)
209 นาที (ฉบับผู้กำกับ)
293 นาที (ฉบับ original uncut)
330 นาที (ฉบับฉายทางโทรทัศน์ ปี 1985)
ประเทศเยอรมนีตะวันตก เยอรมนีตะวันตก
ภาษาภาษาเยอรมัน
ทุนสร้าง35 ล้านมาร์กเยอรมัน

ดาส บูท (เยอรมัน: Das Boot; อังกฤษ: The Boat; ฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2525 ใช้ชื่อว่า อู 96 นรกใต้สมุทร) เป็นภาพยนตร์ภาษาเยอรมันที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2524 กำกับโดยวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2520 เขียนโดยโลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ นักข่าวสงครามที่มีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายภาพและเขียนสารคดีสำหรับใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ บนเรือดำน้ำอู 96 ของเยอรมนี ในยุทธบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ภาพยนตร์กล่าวถึงภารกิจของเรืออู 96 ที่ปฏิบัติการทำลายขบวนเรือสินค้าของอังกฤษแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนจะถูกกองเรือของอังกฤษโจมตีจนเสียหายอย่างหนักระหว่างเล็ดลอดผ่านช่องแคบยิบรอลตา [1] เพื่อไปเทียบท่าเพื่อเติมน้ำมันและเสบียงอาหารที่ลา โรเชล ประเทศฝรั่งเศส [2] และถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรจมลงขณะจอดอยู่ที่ท่าเรือ ในวันคริสต์มาส พ.ศ. 2484 [3]

ปีเตอร์เซนนำเสนอภาพยนตร์ผ่านมุมมองของโลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ (รับบทโดย เฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์) โดยเน้นถึงความเป็นอยู่ของลูกเรือขณะใช้ชีวิตอยู่ในเรือดำน้ำ รวมไปถึงความเครียด ความอึดอัด ความหวาดกลัวขณะทำการรบใต้น้ำ ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงสองปี ใช้กล้องมือถือติดตามถ่ายทำนักแสดงที่ใช้ชีวิตอยู่ในฉากเป็นเวลานานหลายเดือน โดยไม่มีโอกาสได้ออกมาอยู่กลางแจ้ง หนวดเครา สีผิวที่ซีดเซียวเนื่องจากไม่ถูกแสงแดด รวมถึงอาการอิดโรยของนักแสดงในภาพยนตร์ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้การแต่งหน้าแต่อย่างใด

ภาพยนตร์สร้างด้วยงบประมาณสูงถึง 35 ล้านมาร์กเยอรมัน เนื่องจากผู้กำกับต้องการให้มีความสมจริงในทุกด้าน นับเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดเป็นอันดับสองของเยอรมนี รองจาก เมโทรโพลิส ภาพยนตร์ของฟริตซ์ แลงที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2470 ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ปีเตอร์เซนได้รับคำปรึกษาจากไฮน์ริช เลห์มาน-วิลเลนบร็อก อดีตกัปตันเรืออู 96 ลำเดียวกับที่กล่าวถึงในภาพยนตร์ [4] และฮานส์-โจอาคิม ครุก อดีตต้นเรือ อู 219

ภาพยนตร์ได้รับเสนอชื่อเข้าชิง 6 รางวัลออสการ์ ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลง ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม การถ่ายภาพ การตัดต่อ การตัดต่อเสียง และเทคนิคพิเศษด้านเสียง [5] ภาพยนตร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเรือดำน้ำที่ดีที่สุด [6][7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://uboat.net/boats/u96.htm
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-26. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
  3. ในความเป็นจริง เรืออู 96 ถูกปลดประจำการจากการรบในปี 1943 และใช้ในการฝึก และอับปางลงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากถูกระเบิดจากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา ที่โจมตีเมืองท่าวิลเฮล์มสฮาเฟน (Wilhelmshaven) นีเดอร์ซัคเซ่น ประเทศเยอรมนี [1]
  4. http://www.9thflottilla.de/flot9c.htm
  5. http://www.imdb.com/title/tt0082096/awards
  6. 10 With Great Depth!
  7. Ten Best Submarine films~~ {{{((DIVE....{{{(Dive... {{(dive

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]