ดังคัน เอดเวิดส์
ข้อมูลส่วนตัว | |||
---|---|---|---|
ชื่อเต็ม | ดันแคน เอดเวิดส์ | ||
วันเกิด | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479 | ||
สถานที่เกิด | ดัดลีย์, วุร์สเตอร์เชียร์, ประเทศอังกฤษ | ||
วันเสียชีวิต | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 (21 ปี) | ||
สถานที่เสียชีวิต | มิวนิก, รัฐบาวาเรีย, ประเทศเยอรมนีตะวันตก | ||
ส่วนสูง | 5 ft 11 in (1.80 m) | ||
ตำแหน่ง | กองกลาง | ||
สโมสรเยาวชน | |||
1952–1953 | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด | ||
สโมสรอาชีพ* | |||
ปี | ทีม | ลงเล่น | (ประตู) |
1953–1958 | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด | 151 | (20) |
ทีมชาติ | |||
1949–1952 | ฟุตบอลโรงเรียนอังกฤษ | 9 | (0) |
1954–1957 | อังกฤษ อายุไม่เกิน 23 ปี | 6 | (5) |
1953–1954 | อังกฤษชุดบี | 4 | (0) |
1955–1958 | อังกฤษ | 18 | (5) |
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น |
ดันแคน เอดเวิดส์ (อังกฤษ: Duncan Edwards; 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501) เป็นนักฟุตบอลชาวอังกฤษที่เล่นให้กับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ เขาเป็นหนึ่งในบัสบีเบบส์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดภายใต้การคุมทีมของแมตต์ บัสบีในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และยังเป็นหนึ่งในผู้เล่นแปดคนที่เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางอากาศมิวนิก
เอดเวิดส์เกิดในดัดลีย์ เทศมณฑลวุร์สเตอร์เชียร์ เขาทำสัญญากับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดตั้งแต่ยังวัยรุ่น และกลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่เล่นในฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันและผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ในอาชีพนักฟุตบอลของเขานั้น เขาช่วยให้ยูไนเต็ดชนะเลิศฟุตบอลลีก 2 ครั้ง และไปถึงรอบรองชนะเลิศยูโรเปียนคัพ
ประวัติ
[แก้]ช่วงต้นของชีวิต
[แก้]เอดเวิดส์เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ในบ้านของเขาที่เขตวูดไซด์ของดัดลีย์[1] ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของวุร์สเตอร์เชียร์[2] เขาเป็นลูกชายคนโตของแกลดสโตนและซาราห์ แอนน์ เอ็ดเวิร์ด และยังเป็นลูกคนเดียวของพวกเขาที่มีชีวิตรอดจากวัยเด็ก น้องสาวของเขา แคโรล แอนน์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2490 ด้วยอายุ 14 สัปดาห์[3] ต่อมาเขาและครอบครัวได้ย้ายบ้านมายัง 31 เอล์ม โรด ซึ่งอยู่ในดัดลีย์เหมือนกัน เอดเวิดส์เข้าศึกษาที่โรงเรียนประถมพรีออรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ถึง พ.ศ. 2491 และโรงเรียนมัธยมวุลเวอร์แฮมป์ตันสตรีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ถึง พ.ศ. 2495[4] เขายังเล่นฟุตบอลให้กับทีมฟุตบอลโรงเรียน วุร์สเตอร์เชียร์แอนด์เบอร์มิงแฮม และทีมฟุตบอลประจำเขต[5] เขายังเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการเต้นมอร์ริส[6] เขาได้ถูกเลือกให้ไปแสดงในงานเต้นมอร์ริสแห่งชาติ แต่ก็ได้รับข้อเสนอให้ลองไปคัดตัวกับทีมอายุไม่เกิน 14 ปีของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งส่งมาในวันเดียวกันและเขาเลือกที่จะเข้าคัดตัวทีหลัง[7]
ความสามารถในการเล่นฟุตบอลของเอดเวิดส์สร้างความประทับใจแก่ผู้คัดตัว ทำให้เขาได้ไปเล่นในทีมฟุตบอลโรงเรียนอังกฤษ และได้ลงเป็นนัดแรกพบกับเวลส์ที่สนามกีฬาเวมบลีย์ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 หลังจากนั้นเขาก็ได้ถูกเลือกให้เป็นกัปตันทีม และเป็นได้สองฤดูกาล[8][9] เพราะเขาถูกจับตามองจากสโมสรใหญ่ ๆ โดยแจ็ค โอไบรเอน แมวมองของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ได้รายงานกลับมายังแมตต์ บัสบี ผู้จัดการทีมในขณะนั้นว่า "วันนี้ได้เห็นเด็กนักเรียนวัย 12 ปีที่เขาจับตามองเป็นพิเศษ เขาชื่อดันแคน เอดเวิดส์จากดัดลีย์"[8]
โจ เมอร์เซอร์ ผู้ซึ่งในเวลานั้นเป็นโค้ชให้กับทีมฟุตบอลโรงเรียนอังกฤษ ได้กระตุ้นให้บัสบีทำข้อสัญญากับเอดเวิดส์ ผู้ซึ่งถูกจับตามองจากสโมสรฟุตบอลวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์และแอสตันวิลลา[10] เอดเวิดส์เซ็นสัญญากับยูไนเต็ดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2495[11] แต่ระยะเวลาที่เขาเซ็นสัญญาจริง ๆ นั้นไม่แน่นอน บางส่วนก็ว่าเขาเซ็นสัญญาในวันเกิดปีที่ 17 ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2496[12][13] บางส่วนก็ว่าเขาเซ็นสัญญาก่อนหน้านั้นปีนึงแล้ว[4][14] แต่วันที่ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้เป็นวันเซ็นสัญญาของเอดเวิดส์ที่ยืนยันจากทางสโมสรอย่างเป็นทางการ ซึ่งตัวบัสบีเอง หรือโค้ช เบิร์ต วาลลีย์ เดินทางไปยังบ้านของเอดเวิดส์เพื่อให้เขาเซ็นสัญญาโดยเร็วที่สุด แต่รายงานอื่น ๆ เชื่อว่านี่เกิดขึ้นเมื่อเขาเซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ[15] สแตน คุลลิส ผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่พลาดการเซ็นสัญญากับเยาวชนในบ้านของตัวเอง และยังแย้งอีกว่ายูไนเต็ดได้นำเงินมาเป็นตัวช่วยโน้มใจเอดเวิดส์และครอบครัวของเขา แต่ตัวเอดเวิดส์ยืนยันว่าเขาต้องการที่จะเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลในแลงคาเชอร์[16] นอกจากนี้ เขายังได้รับการประกันว่าหากไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักฟุตบอลจะยังคงมีงานทำ โดยได้ฝึกงานเป็นช่างไม้[17]
อาชีพนักฟุตบอล
[แก้]เอดเวิดส์เริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลที่ทีมเยาวชนของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และได้ลงเล่นเป็นครั้งคราวในการแข่งขันเอฟเอยูธคัพ ซึ่งพวกเขาชนะเลิศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496[18] แต่ในนัดชิงชนะเลิศนั้น เขาก็ได้ลงเป็นตัวจริงนัดแรก วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496 เขาได้เล่นในนัดฟุตบอลลีกเฟิสต์ดิวิชันที่พบกับคาร์ดิฟฟ์ซิตี ซึ่งยูไนเต็ดแพ้ 4–1[19] ด้วยอายุ 16 ปี 185 วัน ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดตลอดกาลที่เล่นในลีกสูงสุด[20] ด้วยความที่สโมสรในเวลานั้นเต็มไปด้วยผู้เล่นที่อายุมากเป็นจำนวนมาก บัสบี ผู้จัดการทีมในขณะนั้น จึงได้หาเยาวชนเข้ามาเสริมแทน และเอดเวิดส์ พร้อมกับเดนนิส ไวโอลเล็ต และแจ็กกี บลันช์ฟลาวเวอร์ เป็นหนึ่งในเยาวชนที่บัสบีได้ดึงขึ้นมาทดแทนผู้เล่นเก่าในช่วงปี พ.ศ. 2496 ซึ่งภายหลังได้เรียกเยาวชนชุดนี้ว่า "บัสบีเบบส์"[8] ด้วยความสามารถของเขาในนัดแรกที่ได้ลงเป็นตัวจริง หนังสือพิมพ์แมนเชสเตอร์การ์เดียน ให้ความเห็นไว้ว่า "เขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผ่านบอลและยิง แต่เขาจะต้องเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่านี้ ในฐานะที่เล่นในตำแหน่งปีก"[21]
ฤดูกาล 1953–54 เอดเวิดส์ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงแก่สโมสรบ่อยครั้ง จนเสมือนว่าเขาเป็นผู้เล่นตัวจริงของสโมสรไปแล้ว[12] หลังจากในนัดกระชับมิตรกับสโมสรฟุตบอลคิลมาร์นอก เขาแทนที่เฮนรี คอกเบิร์นที่บาดเจ็บ ในนัดเยือนที่พบกับสโมสรฟุตบอลฮัดเดอส์ฟิลด์ทาวน์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2496[22] และได้ลงเป็นตัวจริงทั้งหมด 24 นัดในลีก และในเอฟเอคัพซึ่งพ่ายแพ้ให้กับเบิร์นลีย์[23][24] ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของทีมเยาวชนและได้ชนะเลิศเอฟเอยูธคัพเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน เขาได้ลงเป็นตัวจริงครั้งแรกแก่ทีมชาติชุดอายุไม่เกิน 23 ปีในนัดที่พบกับอิตาลี[25] เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2497 หลังจากนั้นเขาก็ถูกพิจารณาให้ขึ้นไปเล่นในทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ แต่ในวันที่คณะผู้คัดเลือกเดินทางมาดูการเล่นของเขาในนัดการแข่งขันกับอาร์เซนอล ในวันที่ 27 มีนาคม เขาแสดงฟอร์มการเล่นที่ไม่ดี ทำให้เขาไม่ถูกพิจารณา[26]
ฤดูกาลต่อมา เขาได้รับโอกาสลงเป็นตัวจริงทั้งหมด 36 ครั้งและสามารถทำประตูได้เป็นประตูแรก และสโมสรจบเป็นอันดับที่หกในฤดูกาลนั้น[23] ความสามารถของเขาทำให้เขาจะถูกคัดตัวไปร่วมทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่เป็นครั้งที่สอง และสมาชิกของคณะผู้คัดเลือกก็รีบรุดมาชมการแข่งขันกับฮัดเดอส์ฟิลด์ทาวน์ ที่มีขึ้นในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2497 แต่ความสามารถของเขาก็ไม่เข้าตาของคณะผู้คัดเลือกอีก[27] แม้ว่าเขาจะถูกเลือกให้ไปเล่นในทีมรวมฟุตบอลลีก ซึ่งจะแข่งขันในนัดกระชับมิตรกับทีมรวมฟุตบอลลีกสกอตแลนด์[28] ในเดือนมีนาคม เขาเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษชุดบี พบกับทีมที่อยู่ในระดับเดียวกันจากประเทศเยอรมนีและหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เขาก็ถูกเรียกติดทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ แม้ว่าเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเล่นที่ไม่ดี[29] เขาได้ลงเป็นตัวจริงครั้งแรกสำหรับทีมชาติเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ในนัดที่พบกับสกอตแลนด์ ในการแข่งขันบริติชโฮมแชมเปียนชิพ ด้วยอายุ 18 ปี 183 วัน ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงแก่ทีมชาติอังกฤษ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สถิตินี้ก็คงอยู่จนกระทั่ง ไมเคิล โอเวน ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541[8][14] สามสัปดาห์ต่อมา ยูไนเต็ดยังคงให้เขาติดทีมเยาวชนของสโมสร เพื่อจะได้ชนะเลิศเอฟเอยูธคัพเป็นสมัยที่สามติดต่อกัน แต่การที่นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษเล่นให้กับทีมเยาวชนนั้นจะไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง และถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แมตต์ บัสบี ผู้จัดการทีมก็ออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อปกป้องตัวเอดเวิดส์ที่ได้ตัดสินใจว่าจะลงเล่นให้กับทีมเยาวชน[30]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2498 เอดเวิดส์ถูกเลือกให้เล่นกับทีมชาติอังกฤษชุดที่จะไปแข่งกับฝรั่งเศส โปรตุเกส และสเปน ซึ่งเขาได้ลงเล่นเป็นตัวจริงทั้งสามนัด[31] หลังจากที่เขากลับมาจากยุโรปแผ่นดินใหญ่แล้ว เขาก็ได้เกณฑ์ทหารกับกองทัพบริติชเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นข้อบังคับสำหรับชายหนุ่มที่มีอายุเท่าเขาในเวลานั้น[32] ซึ่งเขาได้ประจำการอยู่ที่เนสส์คลิฟฟ์ ใกล้กับชูร์วสบรี ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม บ็อบบี ชาร์ลตัน แต่ทั้งสองของถูกอนุญาตให้กลับไปเล่นกับสโมสรได้ตามเวลา[33] เขายังได้ลงเล่นในนัดแข่งขันของทหาร และในหนึ่งฤดูกาล เขาก็ได้ลงไปกว่า 100 นัดทั้งหมด[34] ในฤดูกาล 1955–56 เอดเวิดส์ไม่ได้ลงเล่นให้กับสโมสรเป็นระยะเวลาเกือบสองเดือน เนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่[35] แต่ถึงอย่างนั้น เขายังสามารถลงเล่นให้กับยูไนเต็ดได้ 33 นัด จนกระทั่งยูไนเต็ดชนะเลิศฟุตบอลลีก โดยมีคะแนนห่างจากแบล็กพูล 11 คะแนน[23][36] ฤดูกาลต่อมา เขาลงเล่นในลีก 34 นัด ซึ่งยูไนเต็ดก็ได้ชนะในฟุตบอลลีกเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน[23][37] เขายังได้อยู่ในทีมชุดที่จะแข่งเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศ 1957 แต่ยูไนเต็ดก็พลาดคว้าสองแชมป์ โดยแพ้ให้กับแอสตันวิลลา 2–1[38] เขายังได้ลงเล่นให้กับยูไนเต็ดในการแข่งขันยูโรเปียนคัพทั้งหมด 7 นัด[23] รวมทั้งนัดที่ยูไนเต็ดชนะอันเดอร์เลชท์ 10–0 ซึ่งกลายเป็นสถิติของยูไนเต็ดที่ชนะด้วยประตูมากที่สุด[39] ตอนนี้เอดเวิดส์ก็กลายเป็นตัวจริงของทีมชาติอังกฤษไปแล้ว โดยได้ลงเล่นในรอบคัดเลือกของฟุตบอลโลก 1958 ทั้ง 4 นัด และทำประตูได้สองประตู ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นนัดที่ชนะเดนมาร์ก 5–2[31][40] เขาถูกคาดหมายไว้ว่าจะเป็นผู้เล่นอังกฤษคนหนึ่งที่จะได้เล่นในรอบแพ้ตัดเชือกของฟุตบอลโลก และยังหมายไว้อีกว่า เขาจะได้แทนที่ บิลลี ไรท์ เป็นกัปตันทีมชาติอังกฤษ[41][42]
เอดเวิดส์เริ่มต้นฤดูกาล 1957–58 ด้วยฟอร์มที่ดีและมีข่าวลือว่าสโมสรใหญ่จากอิตาลีจะเซ็นสัญญากับเขา[43] นัดสุดท้ายของเขาในอังกฤษ มีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เมื่อเขาทำประตูให้กับยูไนเต็ดให้เอาชนะอาร์เซนอลไปได้ 5–4[44] การเล่นของเขาถูกวิจารณ์โดยสำนักข่าว เนื่องจากการเล่นที่ไม่ดีของเขา เป็นเหตุให้อาร์เซนอลได้ประตูที่ 4 แต่ก็ยังทำให้วอลเตอร์ วินเตอร์บอตทอม ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษประทับใจ[45] ห้าวันต่อมา เขาลงเล่นในนัดสุดท้ายตลอดกาลของเขา ซึ่งยูไนเต็ดเสมอกับเรดสตาร์เบลเกรด 3–3 ในนัดเยือนและได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบรองชนะเลิศยูโรเปียนคัพ ด้วยผลรวมประตู 5–4[46]
การเสียชีวิต
[แก้]ขณะที่เดินทางจากเบลเกรด เพื่อกลับบ้าน เครื่องบินที่เอดเวิดส์และเพื่อนร่วมทีมของเขาโดยสารอยู่ก็เกิดอุบัติเหตุระหว่างที่จะบินขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เครื่องบินลำนี้ได้ลงจอดเพื่อเติมเชื้อเพลิงในมิวนิก ประเทศเยอรมนี[47] ผู้เล่น 7 คนและผู้โดยสารคนอื่น 14 คนเสียชีวิตทันที[47] และเอดเวิดส์ถูกพามายังโรงพยาบาลเรชส์แดร์อีซาร์ในมิวนิก ด้วยอาการบาดเจ็บสาหัสที่ขา สะโพก และไต[48][49] แพทย์พยายามปลอบเขาด้วยโอกาสที่จะรอดชีวิต แต่เขาอาจไม่สามารถกลับไปเล่นฟุตบอลได้อีก[50]
แพทย์ได้ใช้ไตเทียม เพื่อให้เขามีชีวิตรอดต่อไป แต่อวัยวะเทียมนี้ทำให้ความสามารถในการแข็งตัวของเลือดลดลง และเริ่มมีเลือดออกภายในร่างกาย[51] อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงถามผู้ช่วยผู้จัดการทีม จิมมี เมอร์ฟี ว่า "กี่โมงที่เราจะลงเล่นกับวูฟส์ จิมมี? ฉันต้องไม่พลาดนัดนั้น"[52] วันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาการของเขาถูกรายงานว่า "ดีขึ้นอย่างมาก"[53] ถึงกระนั้น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ อาการของเขากลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้ไตเทียม ซึ่งทำให้สุขภาพของเขาย่ำแย่ลง[54] แพทย์ต่างประหลาดใจกับการสู้ชีวิตของเขา และวันต่อมา อาการของเขาก็ค่อย ๆ ดีขึ้น[49][51][55] แต่ท้ายที่สุดแล้วเอ็ดเวิร์ดได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เวลา 2 นาฬิกา 15 นาที[56] หนึ่งชั่วโมงก่อนการเสียชีวิตของเขา นิตยสาร Football Mouthly ของชาลส์ บูคัน ก็ถูกตีพิมพ์ ด้วยหน้าปกที่มีภาพถ่ายของเอ็ดเวิร์ดกำลังยิ้มอยู่[57]
ร่างของเอดเวิดส์ถูกฝังที่สุสานดัดลีย์ ใน 5 วันต่อมา[58] เขาถูกฝังข้าง ๆ หลุมศพของแคโรล แอนน์ น้องสาวของเขา[59] ประชาชนกว่า 5,000 คนออกมายืนเรียงกันตามถนนในดัดลีย์สำหรับงานศพของเขา[60] หลุมศพของเขาจารึกไว้ว่า "วันแห่งความทรงจำ เขาจากพวกเราไปโดยไม่มีการอำลาและเขาจะไม่กลับมาอีก"[61] และหลุมศพของเขาก็จะมีแฟนคลับมาเยือนที่นี่อยู่บ่อยๆ[62]
การระลึก
[แก้]เอดเวิดส์ได้ถูกทำเป็นอนุสรณ์หลายแห่งในดัดลีย์ บ้านเกิดของเขา ภาพวาดหน้าต่างกระจกสีของโบสถ์เซนต์ฟรานซิสซึ่งออกแบบโดยฟรานซิส สกีต[63] ถูกเปิดตัวโดยแมตต์ บัสบี ในปี พ.ศ. 2504[3] และรูปปั้นของเขาในใจกลางเมืองดัดลีย์ก็มอบให้จากแม่ของเอดเวิดส์และบ็อบบี ชาร์ลตัน ในปี พ.ศ. 2542[64] ปี พ.ศ. 2536 ตรอกตันของชุมชนหนึ่งใกล้กับสุสาน ที่ซึ่งเขาถูกฝังไว้ ได้ถูกตั้งชื่อว่า "ตรอกดันแคนเอดเวิดส์"[59] ผับเวร์นส์เนสต์ในพรีออรีเอสเทท ใกล้กับที่ที่เอดเวิดส์เติบโตมา ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ดิดันแคนเอดเวิดส์" เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในปี พ.ศ. 2544 แต่มันก็ปิดตัวลงในห้าปีต่อมา เนื่องจากมีผู้ลอบวางเพลิง[65] ในปี พ.ศ. 2549 มีเครื่องเล่นใหม่ๆ มูลค่ากว่า 100,000 ปอนด์ ในสวนสาธารณะพรีออรี ที่ซึ่งเอดเวิดส์มาเล่นตอนเด็กๆ[66] ในปี พ.ศ. 2551 ถนนเลี่ยงเมืองทางตอนใต้ของดัดลีย์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ดันแคนเอดเวิดส์เวย์" เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา[67] พิพิธภัณฑ์ศิลปะดัดลีย์ได้จัดแสดงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับเขา รวมถึงหมวกที่แทนถึงการลงเล่นของเขาให้กับอังกฤษ[68] บ้านจัดสรรในแมนเชสเตอร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นดันแคนเอดเวิดส์ รวมทั้งถนนที่ตัดผ่านบ้านเหล่านั้น ก็ได้นำชื่อของผู้เสียชีวิตในโศกนาฎกรรมมิวนิกมาตั้ง เช่น เอ็ดดี โคลแมน โรเจอร์ เบิร์น และทอมมี เทย์เลอร์[69] ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แผ่นฟ้าถูกเปิดตัวโดยบ็อบบี ชาร์ลตัน ที่ห้องพักของเขาในสเตทฟอร์ด[70]
ในปี พ.ศ. 2539 เอดเวิดส์เป็นหนึ่งในผู้เล่นห้าคนที่ถูกเลือกให้อยู่ในตราไปรษณียากรบริติช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ตำนานนักฟุตบอล" โดยได้เปิดตัวเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996[71] เขายังถูกแสดงโดยแซม แคลฟลิน ในภาพยนตร์บริติชเรื่อง ยูไนเต็ด ซึ่งมีโครงเรื่องมาจากโศกนาฎกรรมมิวนิก[72]
มีหลายคนที่ยกย่องความสามารถของเอดเวิดส์ บ็อบบี ชาร์ลตัน กล่าวถึงเอดเวิดส์ว่า "เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ทำให้เขารู้สึกด้อยกว่า" และกล่าวว่าการตายของเขาเป็น "โศกนาฎกรรมเดียวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและฟุตบอลอังกฤษ"[73] เทอร์รี เวนาเบิลส์ เชื่อว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ คนที่จะชูถ้วยฟุตบอลโลกในฐานะกัปตันทีมชาติอังกฤษ จะไม่ใช่บ็อบบี มัวร์ แต่เป็นดันแคน เอดเวิดส์[48] ทอมมี ดอเชอร์ตีกล่าวว่า "ไม่มีข้อกังขาใดๆ ที่จะทำให้ผมมั่นใจได้ว่าดันแคนเป็นนักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาล ไม่ใช่แค่เฉพาะยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษ แต่ยังดีที่สุดในโลก แม้ว่าจอร์จ เบสต์จะพิเศษ เช่นเดียวกับเปเล่ และมาราโดนา แต่สำหรับผมแล้ว ดันแคนดีกว่าพวกเขามากทั้งในด้านทักษะและความสามารถ"[74] การรับรู้ถึงความสามารถของเอดเวิดส์นั้น ทำให้มันเป็นอันดับแรกของฮอลล์ออฟเฟมของฟุตบอลอังกฤษในปี พ.ศ. 2545[75]
รูปแบบการเล่น
[แก้]ถึงแม้ว่าเขาจะเล่นอยู่ในตำแหน่งกองกลางตัวรับเป็นหลัก แต่เอดเวิดส์เคยกล่าวไว้ว่า เขาสามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งในสนาม[8] ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกส่งลงเป็นกองหน้าตัวเป้าแทนผู้เล่นที่เล่นตำแหน่งนี้ประจำ เนื่องจากบาดเจ็บ และในนัดเดียวกัน เขาก็ถูกเปลี่ยนไปเล่นเป็นกองหลังตำแหน่งกลาง ด้วยสาเหตุเดียวกัน[76] พรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ของเขา คือ ความแข็งแรงทางจิตใจของเขาและมีความเป็นผู้นำในสนาม ซึ่งเขามักจะถูกกล่าวไว้ว่า เป็นสิ่งที่น่าจดจำสำหรับนักเตะเยาวชนเช่นเขา[20] เขายังมีพละกำลังที่มาก[58] สแตนลีย์ แมตทิวบรรยายว่าเอดเวิดส์เปรียบเสมือนเป็น "ก้อนหินกลางทะเลอันโหดร้าย"[77] บ็อบบี มัวร์ยังเปรียบเทียบเขากับหินแห่งยิบรอลตาร์ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ นอกจากนี้เขายังถูกบรรยายไว้อีกว่าเป็น "กองหน้าที่คม"[48] จากร่างกายของเขาทำให้เขาได้ชื่อเล่นว่า "บิกดังก์" และ "ดิแทงก์"[62] และเขายังได้รับการขนานนามว่าเป็นนักเตะที่อึดที่สุดตลอดกาล[78]
เอดเวิดส์ยังถูกบรรยายเกี่ยวกับแรงและช่วงเวลาที่เขาใช้ในการสกัดลูกฟุตบอลและในการจ่ายบอลและยิงด้วยความสมดุลของเท้าทั้งสองข้าง[62] เขายังเป็นที่รู้จักในเรื่องของการวิ่งในสนาม ความสามารถในการโหม่งบอล และการยิงประตูจากระยะไกล[48][79] หลังจากที่เขาทำประตูได้เมือ่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ในนัดที่พบกับเยอรมนีตะวันตก เขาได้ชื่อเล่นใหม่ว่า "บูม บูม" โดยสำนักข่าวท้องถิ่นของเยอรมนี เพราะว่า "บิกเบอร์ธาได้ยิงในรองเท้าของเขา"[31][77]
สถิติ
[แก้]สโมสร | ฤดูกาล | ฟุตบอลลีก เฟิสต์ดิวิชัน |
เอฟเอคัพ | ยูโรเปียนคัพ | ชาริตีชีลด์ | รวม | |||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ลงเล่น | ประตู | ลงเล่น | ประตู | ลงเล่น | ประตู | ลงเล่น | ประตู | ลงเล่น | ประตู | ||
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด[23] | 1952–53 | 1 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 1 | 0 |
1953–54 | 24 | 0 | 1 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 25 | 0 | |
1954–55 | 33 | 6 | 3 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 36 | 6 | |
1955–56 | 33 | 3 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 0 | 33 | 3 | |
1956–57 | 34 | 5 | 6 | 1 | 7 | 0 | 1 | 0 | 48 | 6 | |
1957–58 | 26 | 6 | 2 | 0 | 5 | 0 | 1 | 0 | 34 | 6 | |
รวมทั้งหมด | 151 | 20 | 12 | 1 | 12 | 0 | 2 | 0 | 177 | 21 |
ทีมชาติ | ฤดูกาล | ลงเล่น | ประตู |
---|---|---|---|
อังกฤษ[31] | 1954–55 | 4 | 0 |
1955–56 | 5 | 1 | |
1956–57 | 6 | 3 | |
1957–58 | 3 | 1 | |
รวมทั้งหมด | 18 | 5 |
ระดับชาติ
[แก้]- ผลประตูและคะแนนจะนำทีมชาติอังกฤษขึ้นก่อน[31]
# | วันที่ | สนาม | คู่แข่ง | คะแนน | ผล | การแข่งขัน |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 26 พฤษภาคม 2499 | โอลึมเพียชตาดิโยน, เบอร์ลิน | เยอรมนีตะวันตก | 1–0 | 3–1 | กระชับมิตร |
2 | 5 ธันวาคม 2499 | สนามกีฬาโมลีโน, วุลเวอร์แฮมป์ตัน | เดนมาร์ก | 4–2 | 5–2 | ฟุตบอลโลก 1958 รอบคัดเลือก |
3 | 5–2 | |||||
4 | 6 เมษายน 2500 | สนามกีฬาเวมบลีย์, ลอนดอน | สกอตแลนด์ | 2–1 | 2–1 | บริติชโฮมแชมเปียนชิพ ฤดูกาล 1957 |
5 | 6 พฤศจิกายน 2501 | สนามกีฬาเวมบลีย์, ลอนดอน | ไอร์แลนด์เหนือ | 2–3 | 2–3 | บริติชโฮมแชมเปียนชิพ 1958 |
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]เอดเวิดส์เป็นบุคคลที่ไม่นิยมของมึนเมา และชีวิตของเขานอกวงการฟุตบอลนั้น มีความส่วนตัวเป็นอย่างมาก เขามีความสนใจในการตกปลา เล่นไพ่ และไปโรงภาพยนตร์[80][81][82] แม้ว่าเขามักจะร่วมเต้นรำกับเพื่อนร่วมทีม แต่เขาก็ไม่เคยมีความมั่นใจต่อสภาพแวดล้อมของสังคม[83] จิมมี เมอร์ฟี ผู้ช่วยผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้บรรยายไว้ว่า เอดเวิดส์เป็น "เด็กบริสุทธิ์" และเขาสามารถพูดสำเนียงแบล็กคันทรีได้ ซึ่งเพื่อนร่วมทีมของเขายากที่จะเลียนแบบ[3] ครั้งหนึ่งเอดเวิดส์เคยถูกตำรวจจับในข้อหาขี่จักรยานที่ไม่มีไฟหน้า เขาถูกปรับเป็นเงิน 5 ชิลลิงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และค่าเหนื่อยสองสัปดาห์จากสโมสร[84]
ช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ เอดเวิดส์อาศัยอยู่ในห้องพัก บริเวณกอร์สอเวนิว สเตรตฟอร์ด[85] เวลานั้นเขาได้หมั้นกับมอลลี ลีช วัย 22 ปี ผู้ซึ่งเป็นพนักงานในโรงงานผลิตสิ่งทอ ในบริเวณอัลทรินคัม เขาและมอลลีพบกันที่โรงแรมในท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์ เมื่อหนึ่งปีก่อนที่ทั้งคู่จะหมั้นกัน ทั้งคู่ยังเป็นผู้ปกครองอุปถัมภ์ของลูกสาวของเพื่อนของลีช โจเซฟีน สตอทท์[80]
เอดเวิดส์มีผลงานการโฆษณาเม็ดกลูโคส และยังเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "แทคเกิลซอกเกอร์ดิสเวย์" การโฆษณาทำให้เขามีรายได้เพิ่ม 15 ปอนด์ต่อสัปดาห์ในแต่ละฤดู เว้นในฤดูร้อนซึ่งเขาจะได้ 12 ปอนด์ต่อสัปดาห์[3] หนังสือที่เขาเขียนนั้นถูกตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไม่นานด้วยความเห็นชอบจากครอบครัวของเขา และหลังจากที่ถูกตีพิมพ์นานหลายปี[86] หนังสือเล่มนี้ก็ถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552[87]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ McCartney, p. 1.
- ↑ "Staffordshire Boundary Changes". GENUKI. 26 March 2001. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Dickinson, Matt (1 February 2008). "Tragedy of the golden boy whose talent knew no bounds". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-01. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ 4.0 4.1 "Duncan Edwards- 50 years on". Dudley News. 30 January 2008. สืบค้นเมื่อ 20 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 4.
- ↑ "Your memories of Duncan". Dudley News. 30 January 2008. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 5.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Philip, Robert (6 February 2008). "Duncan Edwards could have been the greatest". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ "Edwards: The Black Country's greatest". Birmingham Post. 8 February 2008. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ Viner, Brian (1 October 2001). "Football: Enduring legend of indomitable Edwards". The Independent. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.[ลิงก์เสีย]
- ↑ McCartney, p. 12.
- ↑ 12.0 12.1 "Legends: Duncan Edwards". Manchester United F.C. สืบค้นเมื่อ 26 January 2011.
- ↑ McCartney, p. 25.
- ↑ 14.0 14.1 "Duncan Edwards tribute exhibition". Express and Star. 8 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-19. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 13.
- ↑ Meek, p. 100.
- ↑ McCartney, p. 16.
- ↑ Horne et al., p. 225.
- ↑ "Results/fixtures". Soccerbase. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ 20.0 20.1 Holt, Lloyd, p. 140.
- ↑ McCartney, p. 22.
- ↑ McCartney, pp. 25–26.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 23.5 "Duncan Edwards". stretfordend.co.uk. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ "Manchester United". The Football Club History Database. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 30.
- ↑ McCartney, pp. 34–36.
- ↑ McCartney, p. 41.
- ↑ McCartney, p. 52.
- ↑ McCartney, pp. 52–53.
- ↑ McCartney, pp. 56–57.
- ↑ 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 Courtney, Barry (8 June 2005). "England – International Results 1950–1959 – Details". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 16 September 2010.
- ↑ McCartney, p. 59.
- ↑ Greenhalgh, Simon (4 February 2008). "Charlton remembers his lost team mates". Messenger Newspapers. สืบค้นเมื่อ 21 February 2008.
- ↑ Meek, p. 102.
- ↑ McCartney, pp. 60–61.
- ↑ "Final 1955/1956 English Division 1 (old) Table". Soccerbase. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ "Final 1956/1957 English Division 1 (old) Table". Soccerbase. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ "Broken dreams: United and Villa in a game of two eras". The Independent. 2 January 2008. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ "Manchester United all time records". Soccerbase. 23 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-26. สืบค้นเมื่อ 21 February 2008.
- ↑ "World Cup 1958 qualifications". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 15 September 2010.
- ↑ 41.0 41.1 Charlton, Bobby (3 February 2008). "Charlton: Duncan Edwards was hard as nails". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-04. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ Meek, David (6 February 2008). "Busby Babes were destined for great things". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 105.
- ↑ "Pat Rice recalls United's last match in Britain before the Munich air disaster of 1958". Daily Mail. 5 February 2008. สืบค้นเมื่อ 20 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 113.
- ↑ "Old International" (6 February 1958). "United through: excitement aplenty in second half". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 20 February 2008.
- ↑ 47.0 47.1 "1958: United players killed in air disaster". BBC. 6 February 1958. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 48.3 "Charlton remembers 'greatest ever'". Sportsnet.ca. 1 February 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ 49.0 49.1 "Hodgy sheds a tear for mate". Bicester Advertiser. 5 February 2008. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 114.
- ↑ 51.0 51.1 McCartney, p. 117.
- ↑ Wagg et al., p. 22.
- ↑ "Manchester soccer star much improved". Calgary Herald. Google News. Reuters. 14 February 1958. สืบค้นเมื่อ 23 April 2011.
- ↑ Henderson, Gair (19 February 1958). "'Edwards is sinking rapidly'". Evening Times. สืบค้นเมื่อ 24 April 2011.
- ↑ "The lost Babes". The Guardian. 5 February 2008. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ Clarke, Roger (21 February 2008). "Football: Dudley's jewel in the crown... Busby Babe Duncan Edwards died 50 years ago today, aged just 21". Birmingham Mail. สืบค้นเมื่อ 18 November 2012.
- ↑ Inglis, Simon (2008). The Best of Charles Buchan's Football Monthly. Malavan Media. p. 57. ISBN 0-9547445-8-6.
- ↑ 58.0 58.1 Hassan, Nabil (6 February 2008). "Why Edwards was king". BBC. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ 59.0 59.1 Madeley, Peter (4 February 2008). "Born In Dudley, died at Munich". ESPN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-21. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 121.
- ↑ "The day decency died in our 'beautiful game'". Daily Mail. 1 February 2008. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ 62.0 62.1 62.2 Robson, James (6 February 2008). "A rock in a raging sea". Manchester Evening News. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ "A Tribute to Duncan Edwards" (PDF). Dudley Metropolitan Borough Council. สืบค้นเมื่อ 30 June 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Fans adorn statue of Duncan Edwards with a United shirt". Daily Mail. 5 February 2008. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ ""Eyesore" pub set for revamp". Dudley News. 16 November 2006. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ "c". Stourbridge News. 13 January 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-20. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ Bradley, Steve (29 December 2008). "New road signs have been installed to honour Dudley-born football hero Duncan Edwards". Birmingham Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-26. สืบค้นเมื่อ 18 June 2009.
- ↑ "Duncan Edwards & Local Sporting Heroes". Dudley Metropolitan Borough Council. 14 December 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-22. สืบค้นเมื่อ 15 November 2012.
- ↑ Conn, David (21 April 2010). "FC United homage to history as they prepare for future at Newton Heath". The Guardian. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 4 January 2011.
- ↑ Downes, Robert (26 May 2011). "Busby Babes players honoured in blue plaque scheme". Stretford and Altrincham Messenger. สืบค้นเมื่อ 31 May 2011.
- ↑ Wilson, Iain (27 March 1996). "English stamp their authority in football poll". The Herald. Glasgow. สืบค้นเมื่อ 9 February 2011.
- ↑ "Family so proud of film about Duncan Edwards". Express and Star. 15 November 2010. สืบค้นเมื่อ 27 April 2011.
- ↑ "Greatest England XI – Sir Bobby Charlton". The Football Association. 7 November 2003. สืบค้นเมื่อ 19 January 2011.
- ↑ Collett, Mike (1 February 2008). "Edwards had everything but time on his side". Reuters. สืบค้นเมื่อ 18 February 2008.
- ↑ "England Player Honours – National Football Museum Hall of Fame". England Football Online. 1 November 2004. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.
- ↑ Winter, Henry (9 February 2008). "Duncan Edwards: Blessed with majesty". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-16. สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
- ↑ 77.0 77.1 Galvin, Robert. "Duncan Edwards". The National Football Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-15. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ Murphy, Alex (18 February 2008). "Football's 50 greatest hard men". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ 7 August 2007.
- ↑ Northcroft, Jonathan (14 February 2008). "Lost in time – Manchester United's 1958 Busby Babes". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-13. สืบค้นเมื่อ 3 February 2008.
- ↑ 80.0 80.1 Greenhalgh, Simon (22 January 2008). "Remembering a legend". Messenger Newspapers. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ McCartney, p. 38.
- ↑ McCartney, p. 61.
- ↑ McCartney, p. 39.
- ↑ Mullock, Simon (10 February 2008). "Dietmar Hamann urges Man City fans to behave for minute's silence". Daily Mirror. สืบค้นเมื่อ 14 February 2008.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Kelly, Graham (7 April 2003). "Graham Kelly: Rooney's rise mirrored in simpler days of Edwards". The Independent. สืบค้นเมื่อ 22 February 2008.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Smith, Rory (3 February 2008). "Busby Babe Duncan Edwards exclusive". Sunday Mirror. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-06. สืบค้นเมื่อ 13 February 2008.
- ↑ "Tackle Soccer This Way". Kelmscott Press. สืบค้นเมื่อ 19 November 2009.
บรรณานุกรม
[แก้]- Holt, Nick; Lloyd, Guy (2006). Total British Football. Flame Tree Publishing. ISBN 1-84451-403-X.
- Horne, John; Tomlinson, Alan; Whannel, Garry (1999). Understanding Sport: An Introduction to the Sociological and Cultural Analysis of Sport. Taylor & Francis. ISBN 0-419-13640-1.
- Leighton, James (2002). Duncan Edwards: The Greatest. London: Simon & Schuster UK. ISBN 978-0-85720-781-4.
- McCartney, Iain (2001). Duncan Edwards: The Full Report. Britespot Publishing Solutions. ISBN 0-9539288-5-3.
- Meek, David (2006). Legends of United: The Heroes of the Busby Years. Orion Books. ISBN 0-7528-7558-2.
- Wagg, Stephen (2004). Andrews, David L. (บ.ก.). Manchester United: A Thematic Study. Routledge. ISBN 0-415-33333-4.