ข้ามไปเนื้อหา

ดอลบี แอทมอส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดอลบี แอทโมส (อังกฤษ: Dolby Atmos) เป็นชื่อของระบบเสียงสำหรับโรงภาพยนตร์ระบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นโดยดอลบี แลบอราทอรี่ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยภาพยนตร์เรื่องนักรบสาวหัวใจมหากาฬ ของค่ายดิสนีย์ และพิกซาร์ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ใช้ระบบเสียงนี้ โดยออกฉายที่โรงภาพยนตร์ดอลบี เธียเตอร์ ในเขตฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 โดยได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมและผู้ให้บริการอย่างมาก จนมีการขอซื้อลิขสิทธิ์ไปติดตั้งอย่างล้นหลาม โดยใน พ.ศ. 2556 มีโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมสเปิดใหม่ในปีเดียวกว่า 300 โรงภาพยนตร์

ระบบเสียงดอลบี แอทโมส เป็นระบบเสียงที่พัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของระบบเสียงดอลบี เซอร์ราวนด์ 7.1 ที่ใช้อยู่ในโรงภาพยนตร์ทั่วๆ ไป แต่ในระบบดอลบี แอทโมส จะเน้นการจำลองสภาพเสียงจากสามแกนหลักคือ หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา และด้านบน เพื่อให้เกิดสภาพเสียงโอบล้อมตัวผู้ชมแบบ 360 องศา อีกทั้งยังมีการประมวลผลด้านเสียงที่แยกจากกัน ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องใช้ความคิดในการแยกสภาพเสียงให้แตกต่างจากระบบปกติ ว่าเสียงจุดนี้จะเกิดขึ้นจากลำโพงชุดไหนเป็นต้น

อุปกรณ์ชุดแรกของดอลบี แอทโมส มีชื่อเรียกว่า "ดอลบี แอทโมส ซีเนม่า โปรเซสเซอร์" (Dolby Atmos Cinema Processor) เป็นชุดอุปกรณ์ที่สามารถรับสัญญาณได้กว่า 128 แชนแนล และสามารถแยกสัญญาณเสียงออกไปหาตัวลำโพงได้มากที่สุดถึง 64 ตัวต่อหนึ่งโรงภาพยนตร์ อีกทั้งตัวลำโพงมีความสามารถในการแยกประมวลผลแบบอิสระจากกัน จึงทำให้การฟังเสียงจากภาพยนตร์มีความเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงและสมบูรณ์แบบที่สุด อาทิ เสียงฝนตกจากเดิมที่มีเพียงเสียงรอบทิศทาง แต่ระบบเสียงดอลบี แอทโมส สามารถทำให้เกิดเสียงที่ตกลงมาจาก ฟ้าได้จริง หรือแม้กระทั่งฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์ ก็สามารถได้ยินเสียงใบพัดและเครื่องกำลังบินอยู่เหนือศีรษะเราได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

โรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมสในประเทศไทย

[แก้]

สำหรับประเทศไทย ระบบเสียงดอลบี แอทโมสเริ่มเข้ามามีบทบาทในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 โดยเอสเอฟ ซีเนม่าเป็นโรงภาพยนตร์ค่ายแรกที่นำระบบเสียงนี้มาใช้ โดยติดตั้งอยู่ในโรงภาพยนตร์ที่ 12 ของโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เน้นฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศในช่วงแรก ต่อมาเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ก็ได้เริ่มเปิดโรงภาพยนตร์ระบบเสียงนี้เพิ่มในสาขาต่างๆ ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยเริ่มจากโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เป็นสาขาแรก ปัจจุบัน เอสเอฟ ซีเนม่า เป็นผู้ที่มีโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมส มากที่สุดในประเทศไทย จากการพัฒนาโรงภาพยนตร์ซิกมา ซีเนสเตเดียม โรงภาพยนตร์แบบพรีเมียมขนาดใหญ่เพื่อกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนโดยเฉพาะ

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ระบบเสียงดอลบี แอทโมส มีสาขาที่เปิดให้บริการในประเทศไทยดังนี้

ชื่อสาขา โรงภาพยนตร์ วันที่เริ่มเปิดทำการ จังหวัดที่ตั้ง
เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ Zigma CineStadium (12) เมษายน พ.ศ. 2556 กรุงเทพมหานคร
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน 5 มกราคม พ.ศ. 2557 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟเอกซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ Zigma CineStadium (2) มกราคม พ.ศ. 2557 เชียงใหม่
เอ็มวีพี ทวีกิจ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บุรีรัมย์ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557 บุรีรัมย์
เอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ เอ็มโพเรียม 5 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร
ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์ 6 1 เมษายน พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา Zigma CineStadium (2) 29 มกราคม พ.ศ. 2559 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล ลาดพร้าว Zigma CineStadium (8) 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เซ็นทรัล พระราม 9 Zigma CineStadium (4) 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานคร
ไอคอน ซีเนคอนิค ไอคอนสยาม 7 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน Zigma CineStadium (10) 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 นนทบุรี
เอสเอฟ ซีเนม่า เทอร์มินอล 21 พระราม 3 Zigma CineStadium (1) 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟ ซีเนม่า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ Zigma CineStadium (3) 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566 กรุงเทพมหานคร
เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล นครสวรรค์ Zigma CineStadium (3) 31 มกราคม พ.ศ. 2567 นครสวรรค์
เมกา ซีนีเพล็กซ์ เซ็นทรัล เมกาบางนา LG Miraclass LED Cinema (6) 8 มีนาคม พ.ศ. 2567[1] สมุทรปราการ
เอสเอฟ ซีเนม่า แพชชั่น ระยอง Zigma CineStadium (5) 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ระยอง
เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัล ขอนแก่น Zigma CineStadium (8) 28 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ขอนแก่น

ส่วนตัวภาพยนตร์ในช่วงหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในระบบนี้ล้วนเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศทั้งหมด แต่สำหรับภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถีถือว่าเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ใช้ระบบเสียงนี้ โดยออกฉายในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และหลังจากนั้นก็เริ่มมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในระบบนี้มากขึ้น นั่นก็คือเรื่อง ฝากไว้..ในกายเธอที่ฉายในกรุงเทพมหานคร และเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสาที่ออกฉายในระบบดอลบี แอทโมสทั่วประเทศที่มีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และบุรีรัมย์)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ผนึก แอลจี เปิดตัวโรงภาพยนตร์ "LG Miraclass LED". ryt9.com.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]