ข้ามไปเนื้อหา

ดรุณศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดรุณศึกษา
อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ
อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง
อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย
ผู้ประพันธ์ฟ. ฮีแลร์
ประเทศประเทศไทย
ภาษาไทย
ประเภทหนังสือแบบเรียนภาษาไทยสำหรับเด็ก
วันที่ตีพิมพ์พ.ศ. 2453, พ.ศ. 2463 และ พ.ศ. 2464
ประเภทสิ่งตีพิมพ์

ดรุณศึกษา หรืออัสสัมชัญ ดรุณศึกษา เป็นแบบเรียนภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษา แต่งโดยนักบวชคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ฟ. ฮีแลร์ หรือ เจษฎาธิการฮีแลร์ แบบเรียนอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ในยุคแรกมี 3 เล่ม คือ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) และอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ต่อมา ฟ.ฮีแลร์เห็นว่า อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ มีขนาดหนามาก อีกทั้งเด็กที่ใช้เรียนก็ยังเป็นเด็กเล็ก หากใช้เรียนจนจบก็จะเกิดการชำรุด เสียหายมาก ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 จึงได้แบ่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ออกเป็น 2 เล่ม คือ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ และอัสสัมชัม ดรุณศึกษา ตอน ต้น

ในปัจจุบันได้มีการเรียบเรียง และแบ่งพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษาออกเป็นทั้งหมด 5 เล่ม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบัน อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ได้รับการตีพิมพ์เพื่อเป็นพระราชกุศลในงานพระเมรุ รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2454[1]

ประวัติการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา

[แก้]

ในขณะที่ ฟ.ฮีแลร์ กำลังแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอยู่นั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ประทานคำแนะนำและทรงแก้ไขให้ด้วยพระองค์เอง จากการแนะนำของบาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ ทั้งยังประทานคำชมแก่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ในการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอีกด้วย หลักฐานเก่าแก่ที่สุดในเรื่องการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาอยู่ในจดหมายที่ ฟ.ฮีแบร์ส่งไปหาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ความว่า[2]

อนึ่ง ข้าพระเจ้ามีความยินดีที่จะทูลให้ทรงทราบว่าหนังสือดรุณศึกษาที่พระองค์ทรงโปรดแก้ไขนั้น บัดนี้ได้ลงมือพิมพ์แล้ว สิ้นศกนี้ คงแล้วเล่มต้นเปนแน่ แต่เล่มสองนั้นจะตัดแก้ไขอีกมาก ตามความที่ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ ซึงพระองค์ทรงพระเมตตาพระราชทาน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฟ.ฮีแลร์ได้เริ่มแต่งแบบเรียนที่จะสำเร็จออกมาเป็น อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง และ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายไว้แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ จะเสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนกลาง

[แก้]

ภายหลังตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ใน ปี พ.ศ. 2453 ( ค.ศ. 1910) ฟ.ฮีแลร์ยังคงดำเนินการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาเล่มที่สองต่อมาเรื่อย ๆ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) จนถึง พ.ศ. 2457 ( ค.ศ. 1914) หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ทั้งโลกก็เผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ ปะทุขึ้นเมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914)[3] ฝรั่งเศสกลายเป็นหนึ่งในสมภูมิรบหลัก ต้องทำสงครามเต็มรูปแบบกับเยอรมนี รัฐบาลฝรั่งเศสได้เรียกชาวฝรั่งเศสในต่างแดนให้กลับไปช่วยบ้านเมืองของตน ฟ.ฮีแลร์พร้อมด้วย ภราดาหลุยส์ ชาแนล ภราดาโอเซ และบาทหลวงอีก 13 คน ได้ลงเรือโปรดิวซ์ โดยสารกลับประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ฟ.ฮีแลร์ได้ประจำการในหน่วยเสนารักษ์ ณ โรงเรียนพยาบาลซูร์มือเอ เมืองปัวติเย[4] ภารกิจในการแต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาของท่าน จึงหยุดชะงักลงชั่วคราว

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ฟ.ฮีแลร์ได้เดินทางกลับเมืองไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) ฟ.ฮีแลร์ได้กลับมาสานงานแต่งแบบเรียนต่ออีกครั้ง ในคราวนี้เนื้อหาที่ท่านรวบรวม เรียบเรียงขึ้นมาคงมีความเพียบพร้อมมากขึ้นแล้ว เพียงพอที่จะรวมเล่มตีพิมพ์ได้ แต่ยังต้องการการตรวจสอบจากผู้อื่นอีกที เพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์มากขึ้น ฟ.ฮีแลร์จึงติดต่อกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอให้เป็นพระธุระ ซึ่งพระองค์ก็ทรงช่วยเหลือ ดังจะเห็นได้จากในจดหมายฉบับต่าง ๆ ที่ทรงโต้ตอบกับ ฟ.ฮีแลร์ สำหรับวิธีการตรวจนั้น ได้มีการติดต่อกันทางจดหมาย โดยส่งหนังสือต้นฉบับกลับไปกลับมา ฟ.ฮีแลร์ร้องขอให้พระองค์ทรงช่วยตรวจทานจนจบทั้งเล่ม พร้อมทั้งเสนอให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแก้ไขลงในเล่มเลย โดยไม่ต้องเขียนข้อแก้ไขแยกต่างหากในกระดาษอื่นเพื่อความสะดวก โดยมียอร์ช เซเดส์เป็นคนกลางในรับส่งเรื่อง เนื่องจากในบางครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ทรงประทานความคิดเห็น ข้อแก้ไข ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่การติดต่อกันผ่านทางจดหมายเพียงอย่างเดียวยังมีข้อจำกัดอยู่ ไม่อาจชี้แจงข้อแก้ไขบางประการให้กระจ่างได้ จึงได้มีการนัดพบกันเพื่อตรวจแก้ไขในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921) ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์เป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลาง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1921)

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนปลาย

[แก้]

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายก็คงได้มีการจัดเตรียมพิมพ์ไว้แล้วเช่นกัน แต่พอดีกับช่วงเวลานั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ชำระอักขรบัญญัติขึ้นมาใหม่ อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนปลายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกด พยัญชนะ การันต์ คำศัพท์ต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามปทานุกรมใหม่นั้นด้วย[5] การพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายจึงได้ล่าช้าไปจากอัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอน กลาง เกือบ 1 ปี แต่เหตุที่ระยะเวลาไม่ห่างเท่ากับที่อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ และอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลางตีพิมพ์นั้น ก็เพราะเรื่องราวที่นำมาแต่งเป็นอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลายได้แต่งขึ้นมาพร้อมกับเนื้อหาในอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กลางนั้นเอง เพียงแต่นำมาเรียบเรียง แบ่งบท และจัดพิมพ์แยกเป็นอีกเล่มหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อสำเร็จเสร็จพร้อมดีแล้ว จึงได้ตีพิมพ์อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921)[6]

ความแตกต่างระหว่างแบบเรียนหลวง กับ ดรุณศึกษา

[แก้]

แบบเรียนหลวง

[แก้]

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดหน่วยงานราชการขึ้นมาบริหารงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ราชการต้องการบุคลากรเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ การปฏิรูปการศึกษาในสมัยนั้นจึงออกแบบแบบเรียนหลวง เช่น มูลบทบรรพกิจ และแบบเรียนเร็ว ให้ผลิตคนออกมารับราชการภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในแบบเรียนเร็วที่มีการสร้างค่านิยมให้ผู้เรียนมีความนิยมเป็นเสมียน[7] ซึ่งเป็นตำแหน่งอันเป็นที่ต้องการตัวเป็นอย่างมาก แบบเรียนหลวงจึงเน้นการสอนให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการโดยถือเป็นการทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อ[8]

ให้กุลบุตรศึกษาเรียนหนังสือไทย เปนเครื่องเรืองปัญญา ให้ได้ความรู้ ใช้อักษรแลไม้เอกโท ให้ถูก ถวันชำนาญชัดเจนกว้างขวาง เปนคุณแก่ราชการสืบไป

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา

[แก้]

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษานั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากสอนให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับราชการ หรือเป็นเสมียนก็สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้[9] โดยเปิดอิสระ ไม่ตัดสินให้นักเรียนเห็นว่าอาชีพใดดี มีเงินทอง หรือสบาย แต่สอนให้ขยันขันแข็งในการงาน และเน้นย้ำสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม นอกจากนี้อัสสัมชัญ ดรุณศึกษายังคงลักษณะคติในสังคมไทยไทยเอาไว้ เช่น การเคารพนับถือ เชื่อฟังคำสั่งสอนผู้ใหญ่[10] เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นโทษของการใช้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจ[11] รวมทั้งยังตอบรับกับการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในฐานะพลเมืองด้วยการอธิบายเหตุผลที่จะต้องเสียภาษี พร้อมนำเสนอชักชวนให้เสียภาษีด้วย[12] ในขณะที่คำอธิบายเดิม เรื่องของการที่แบบเรียนมูลบทบรรพกิจ มีบทอัศจรรย์เป็นบทสอนอ่านให้แก่เด็กนักเรียน ก็ยังคงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ฟ.ฮีแลร์แต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาขึ้นมาด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-29. สืบค้นเมื่อ 2010-03-04.
  2. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์ (F.Hilaire ) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)
  3. เรื่องเทียบดรุณศึกษาคณะศัพท์ 1911 – 1914. ต้นฉบับอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ลงวันที่วันสุดท้าย เมื่อ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1914
  4. อัสสัมชัญ, โรงเรียน. (2540). ประวัติเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์” ใน วรรณกรรม ฟ.ฮีแลร์, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
  5. ฟ.ฮีแลร์. (2464). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ปลาย, คำนำ.
  6. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.2.50/616 เอฟ ฮิลแลร์ (F.Hilaire ) (21 กุมภาพันธ์ 2461 – 6 ตุลาคม 2473)
  7. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2542). แบบเรียนเร็ว เล่ม 1,2,3, หน้า 98 – 101.
  8. ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยา. (2552). มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพนจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์, หน้า 2.
  9. ฟ.ฮีแลร์. (2462). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, หน้า 70.
  10. ฟ.ฮีแลร์. (2462). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, หน้า 57.
  11. ฟ.ฮีแลร์. (2462). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, หน้า 111 - 112.
  12. ฟ.ฮีแลร์. (2462). อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, หน้า 101 - 102.