ดอเจแห่งเวนิส
ดอเจแห่งเวนิส | |
---|---|
ตราแผ่นดิน | |
จวน | ปาลัซโซดูกาเล |
ผู้ประเดิมตำแหน่ง | เปาโล ลูจิโอ อนาเฟสโต |
สถาปนา | ค.ศ. 697 |
คนสุดท้าย | ลูโดวิโก มานอิน |
ยกเลิก | 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1797 |
ดอเจแห่งเวนิส (อิตาลี: Doge di Venezia; เวนิส: Doxe de Venexia) มาจาก “Doge” (ภาษาเวนิส) หรือ “Doxe” ที่มาจากภาษาละติน “Dux” ที่หมายถึงผู้นำทางทหาร ภาษาอิตาลีใช้ “Duce” ดยุกแห่งเวนิสเป็นตำแหน่งประมุขของสาธารณรัฐเวนิส[1]ที่ใช้กันมากว่าหนึ่งพันปี เป็นตำแหน่งเลือกตั้งตลอดชีพโดยชนชั้นเจ้านายในนครรัฐ ผู้ที่ได้รับเลือกมักจะเป็นผู้มีอาวุโสสูงที่สุดและเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบดีที่สุด ความสามารถในการรักษาดุลยภาพระหว่างการมีพิธีรีตองอย่างเจ้านายและความเป็นสาธารณรัฐที่ทำให้เวนิสเป็นตัวอย่างที่ดีของ "สาธารณรัฐพาณิชยนาวี" (Maritime republics) หรือสาธารณรัฐที่เหล่าพ่อค้าและชนชั้นสูงมีอิทธิพลอย่างชัดเจน
ที่มา
[แก้]จากบทบันทึกของจอห์น ดีคอนแห่งเวนิส (John, deacon of Venice) ผู้ประพันธ์ “พงศาวดารเวนิส” (Chronicon Venetum) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1000 สำนักของดยุกก่อตั้งเป็นครั้งแรกในเวนิสราว ค.ศ. 700 แทนที่ระบบองค์กร (tribune) ที่ปกครองเวนิสในสมัยแรก แต่ไม่เป็นที่ทราบว่าดยุกองค์แรกๆ จะเป็นผู้ที่แทนของจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือไม่ ดยุกก็เช่นเดียวกับพระจักรพรรดิมีตำแหน่งตลอดชีพและเป็นประมุขทั้งทางด้านการเมือง การศาสนา และการสงคราม