ซากยา
สาเกีย (ทิเบต. ས་སྐྱ་, Wyl. sa skya) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 นิกายหลักของพุทธศาสนาในทิเบต ได้ชื่อมาจากอารามสาเกีย ซึ่งก่อตั้งโดยเคิน คนชก เกียลโป (Khön Könchok Gyalpo) ในปีค.ศ. 1073 หลายคนเข้าใจผิดว่า สาเกีย หมายถึง ศากยะ แต่ในความเป็นจริงชื่อสาเกียมีความหมายตามตัวอักษรว่า "ดินสีเทา" เป็นการเอ่ยอ้างถึงสถานที่ที่มีดินเป็นสีซีดผิดปกติ ณ บริเวณนั้นอิทธิพลของนิกายสาเกียที่แพร่หลายของปรมาจารย์ในยุคแรกสุดของอาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบูรพาจารย์ที่สำคัญที่สุด 5 องค์ที่ขนานนามว่าเป็น พระสังฆปรินายกแห่งนิกายสาเกีย (Five Sakya Patriarchs) จึงได้พัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในสำนักหลักในพุทธศาสนาแบบทิเบตอย่างรวดเร็ว โดยพัฒนาชื่อเสียงพิเศษในด้านพระปริยัติธรรม และการตีความคำสอนที่สำคัญที่สุดในทิเบต
ประวัติ
[แก้]นิกายสาเกียมีต้นกำเนิดมาจากตระกูลเคิน (Khön) โบราณในทิเบต ในยุคสมัยที่คุรุปัทมสมภพยังประทับอยู่ในทิเบต ท่านมีอัครสาวกคนหนึ่งชื่อว่า เคิน ลูยี วังโม (Khön Luyi Wangpo) และเป็นหนึ่งในคณะกุลบุตรชาวทิเบต 7 คนแรกที่ได้รับการอุปสมบทเป็นพระสงฆ์จากพระศานตรักษิตเถระ สายตระกูลเคินได้สืบทอดคำสอนมาทางสายเลือดมาจนหลายรุ่นต่อมา จนถึงในปี ค.ศ. 1073 ท่านเคิน คนโชก เกียลโป (Khön Könchok Gyalpo) ได้สร้างอารามสาเกียขึ้นในแคว้นซัง (Tsang)
นิกายสาเกียถูกสถาปนาขึ้นและเป็นปึกแผ่นโดยปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ 5 คน ได้แก่ ซาเชน คุงก้า ญิงโป (1092-1158) และถ่ายทอดสู่บุตรชายของท่าน 2 คน คือ โซนัม เซโม (1142-1182) และดรักปา เกียลเซล (1147-1216) ต่อมาสืบทอดสู่รุ่นหลาน คือ สาเกีย บัณฑิต (1182-1251) และรุ่นเหลน คือ โชเกียล พักป้า (ค.ศ. 1235-1280)
คำสอน
[แก้]นิกายสาเกียมีการแบ่งเป็นสายธรรมย่อย ๆ เช่นเดียวกับนิกายอื่น ๆ คำสอนที่ถือเป็นแก่นของนิกาย คือ ลัมเดร (สันสกฤต. มรฺคผล; ทิเบต. ལམ་འབྲས་, Wyl. lam ‘bras) เป็นแนวทางที่กล่าวถึงมรรควิถีและผลที่ได้รับการสืบทอดมาจากท่านวิรูปะ กล่าวคือการเน้นให้เห็นถึงสภาวะอันไม่สามารถแยกสังสารวัฏและนิพพานออกจากกันได้ เพราะจิตมีรากฐานอยู่ทั้ง 2 อย่าง ดังนั้น ผู้ฝึกฝนจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ทั้ง 2 สภาวะ (ทวิภาวะ) ทำให้ผู้ที่จะศึกษาลัมเดรจึงประกอบด้วย 2 ส่วนที่ต้องศึกษาคือ
- นังซุม (Tib. སྣང་གསུམ་, Wyl. snang gsum) คือการศึกษาบนพื้นฐานพระสูตร
- กยูซุม (Tib. རྒྱུད་གསུམ་, Wyl. rgyud gsum) คือการศึกษาบนพื้นฐานพระตันตระ ซึ่งส่วนนี้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นหลักของนิกายนี้คือ การปฏิบัติที่เกี่ยวกับตันตระในระดับอนุตตรโยคตันตระ เช่น เหวัชรตันตระ[1]
บทบาททางการเมือง
[แก้]นิกายซากยาเคยมีบทบาทปกครองดินแดนแถบทิเบตอยู่ราว 100 ปี เยื่องจากในยุคของท่านโชเกียล พักป้า นิกายสาเกียได้รับการอุปถัมภ์โดยราชสำนักหยวน และในปี ค.ศ. 1253 พระจักรพรรดิกุบไลข่านได้มอบพระราชอำนาจการปกครองของทิเบตทั้งหมดให้กับท่านโชเกียล พักป้า และสถาปนาเป็นมหาราชครู มีอำนาจทางการเมืองของสาเกียนี้กินเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษ นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานการประดิษฐ์อักษรพักปาเพื่อใช้เขียนภาษามองโกเลีย พระจักรรพรรดิกุบไลข่านพอใจผลงานของพักปาจึงแต่งตั้งให้พักปามีอำนาจปกครองทิเบต 3 แคว้น ถือว่าพักปาเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ทิเบตที่มีอำนาจทั้งทางศาสนาและการเมือง
ในช่วงศตวรรษที่ 14 ทิชรี คุนก้า โลโดร เกียลเซล (Tishri Kunga Lodrö Gyaltsen ค.ศ.1299-1327) หลานชายคนโตของน้องชายท่านสาเกีย บัณฑิต ได้สร้างพระตำหนัก หรือ ลารัง (Tib. labrang) ขึ้นเพื่อแสดงถึงอำนาจการปกครองของสาเกียในการปกครองทิเบตอยู่ 4 หลัง ได้แก่ ซิงตก, รินเชน กัง, ลาคัง และดูโชะ โดยกระจากอำนาจการปกครองแก่ญาติ ๆ ในเชื้อสายตระกูลเคินไปประจำในพระตำหนักต่าง ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 18 พระตำหนักดูโชะ (Düchö Labrang) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายโดรลมา โพดรัง (Drolma Podrang) และฝ่ายพุนซก โพดรัง (Phuntsok Podrang) โดยสิทธิอำนาจความเป็นผู้นำในตระกูลเคินและการขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระสังฆราชของนิกายสาเกีย จะมาจากผู้มีสายเลือดตระกูลเคินและจะสลับสับเปลี่ยนระหว่าง คือ ฝ่ายโดรลมา โพดรัง และฝ่ายพุนซก โพดรัง[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://www.rigpawiki.org/index.php?title=Lamdr%C3%A9
- ↑ Chogay Trichen, The History of the Sakya Tradition, Ganesha Press, 1983, ISBN 978-0950911908
- ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พระพุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม. : ศูนย์ไทยทิเบต, 2538.