ช็อกโกแลตมารยาท
ถุงใส่ช็อกโกแลตมารยาท | |
ประเภท | ช็อกโกแลต |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ญี่ปุ่น |
ส่วนผสมหลัก | ช็อกโกแลต |
ช็อกโกแลตมารยาท หรือ กิริโจโกะ (ญี่ปุ่น: 義理チョコ; โรมาจิ: Giri choko) เป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ในประเทศญี่ปุ่นในฐานะของขวัญตามธรรมเนียม ช็อกโกแลตมารยาทมีความแตกต่างจากช็อกโกแลตใจจริงหรือฮนเมโจโกะซึ่งมอบให้กันระหว่างคู่รัก เพราะช็อกโกแลตมารยาทเป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือคนรู้จักที่เป็นผู้ชายเพื่อแสดงความขอบคุณและความเคารพ ผู้ชายมักตอบแทนด้วยการให้ของขวัญแก่ผู้หญิงในวันไวต์เดย์ในวันที่ 14 มีนาคม
ประวัติ
[แก้]ในวันวาเลนไทน์ของประเทศญี่ปุ่น ช็อกโกแลตมารยาทเป็นช็อกโกแลตราคาไม่แพงที่ผู้หญิงมอบให้กับเพื่อนร่วมงานและเพื่อนที่เป็นผู้ชายเพื่อแสดงความขอบคุณและความเคารพ ตรงข้ามกับช็อกโกแลตใจจริงหรือฮนเมโจโกะที่เป็นช็อกโกแลตที่มอบให้ระหว่างคู่รัก[1] แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการให้ของขวัญที่โดดเด่น[1] แต่ต้นกำเนิดของการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์นั้นไม่ชัดเจน[2] คำอธิบายที่ได้รับความนิยมอย่างหนึ่งคือความนิยมดังกล่าวเริ่มต้นโดยเด็กผู้หญิงในโรงเรียนมัธยมต้นซึ่งให้ช็อกโกแลตทำมือกับเด็กผู้ชายเพื่อดูว่าพวกเขาจะตอบรับความรักหรือไม่[3] และต่อมาก็กลายเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงกลางทศวรรษ 1950[4] โดยมีการขายช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 ที่ร้านแมรีช็อกโกแลต[2]
ฮารูมิจิ ยามาดะจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเคไซกล่าวว่าการให้ช็อกโกแลตเกิดขึ้นเพราะการที่ผู้หญิงแสดงความรักต่อผู้ชายถือเป็นเรื่องน่าอาย ร้านขนมหวานจึงใช้ช็อกโกแลตเป็นช่องทางให้พวกเขาแสดงความรักต่อกัน ต่อมาเมื่อสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงดีขึ้น วันวาเลนไทน์ก็ถือเป็นวันที่ผู้หญิงให้ช็อกโกแลตแก่ผู้ชาย วัฒนธรรมการให้ช็อกโกแลตมารยาทจึงปรากฏขึ้นมา[5] ซาจิโกะ โฮริงูจิจากมหาวิทยาเทมเปิล วิทยาเขตญี่ปุ่น กล่าวว่าประเพณีช็อกโกแลตมารยาทเกิดขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ 1980 ซึ่งผู้หญิงวัยทำงานมีหน้าที่ต้องมอบช็อกโกแลตให้กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย เนื่องจากทั้งวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมการให้ของขวัญของญี่ปุ่นทำให้การแลกเปลี่ยนเช่นนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสม[6]
ร้านขนมช็อกโกแลตของญี่ปุ่นสร้างรายได้ถึงร้อยละ 70 ของธุรกิจจากวันวาเลนไทน์ทุกปี[1] สมาคมช็อกโกแลตและโกโก้แห่งประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า ในปี ค.ศ. 2005 มีการใช้จ่ายของช็อกโกแลตวาเลนไทน์ประมาณ 400,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 554,983,813 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021)[2] โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงใช้จ่ายไป 36 ดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 47.05 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021) ไปกับช็อกโกแลตมารยาทในปี ค.ศ. 2007[2] และลดลงเหลือ 1,033 เยนในปี ค.ศ. 2019[7]
ในช่วงทศวรรษ 1980 วันไวต์เดย์เริ่มมีประเพณีที่ผู้ชายจะตอบแทนช็อกโกแลตมารยาทด้วยของขวัญเพื่อกระตุ้นยอดขาย[4] ยอดขายของขวัญวันไวต์เดย์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากยอดขายในวันวาเลนไทน์[8][9]
คำวิจารณ์
[แก้]ธรรมเนียมการให้ช็อกโกแลตมารยาทกำลังสูญเสียความนิยมในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2010 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกดดันให้ผู้หญิงซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนร่วมงานเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ไม่พอใจ[1][4] บริษัทบางแห่งได้สั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอำนาจ[4] ผู้หญิงเลือกที่จะมอบช็อกโกแลตมิตรภาพ (ญี่ปุ่น: 友チョコ; โรมาจิ: tomo choco) ให้กับเพื่อนแทน[1][10] การสำรวจในปี ค.ศ. 2017 โดยบริษัท 3M แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเพียงร้อยละ 40 ที่ทำแบบสำรวจวางแผนที่จะให้ช็อกโกแลตแก่เพื่อนร่วมงานผู้ชาย[1] เทียบกับค่าร้อยละ 80 ในการสำรวจในปี ค.ศ. 2007 ที่จัดทำโดยบริษัทอื่น[2] ในปี ค.ศ. 2018 บริษัทโกไดวา ช็อกโกแลตเทียร์ ยังวิพากษ์วิจารณ์การให้ช็อกโกแลตมารยาทด้วยโฆษณาเต็มหน้า เรียกร้องให้สถานที่ทำงานสั่งห้ามโดยสิ้นเชิง แม้ว่านักวิจารณ์บางคนจะกล่าวหาว่าพวกเขาทำการตลาดแบบซ่อนเร้นก็ตาม[5][8][11]
ช็อกโกแลตใจจริง
[แก้]ประเภท | ช็อกโกแลต |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ญี่ปุ่น |
ส่วนผสมหลัก | ช็อกโกแลต |
รูปแบบอื่น | ช็อกโกแลตมารยาท |
ช็อกโกแลตใจจริง หรือ ฮนเมโจโกะ (ญี่ปุ่น: 本命チョコ; โรมาจิ: Honmei choco) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้ผู้ชายที่ผู้หญิงมีความรู้สึกโรแมนติกด้วยในวันวาเลนไทน์ มักจะให้แก่สามี แฟน หรือคนรัก ช็อกโกแลตใจจริงมักจะมีคุณภาพสูงและมีราคาแพงกว่าช็อกโกแลตมารยาทซึ่งมอบให้เพื่อนร่วมงานชายหรือผู้ชายคนอื่นที่ผู้หญิงไม่มีความรู้สึกโรแมนติกด้วย[12]
ช็อกโกแลตใจจริงทำมือก็เป็นที่นิยม[13]
โดยทั่วไปจะมีการตอบแทนในวันไวต์เดย์ซึ่งเฉลิมฉลองในวันที่ 14 มีนาคม โดยผู้ชายซื้อขนมและของขวัญให้ผู้หญิง
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 McDonald, Tim (2019-02-13). "Valentine's Day: Japan falling out of love with 'obligation chocolates'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Sekiguchi, Toko (2007-02-14). "How Valentine's Day Conquered Japan". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-17. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Craft, Lucy (2010-02-12). "Japanese Embrace Valentine's Day". NPR. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 McCurry, Justin (2019-02-10). "Japanese women push back against Valentine's tradition of 'obligation chocolate'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ 5.0 5.1 Tanaka, Chisato (2018-02-06). "Godiva's dig at obligatory Valentine's chocolates stirs debate in Japan". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Yamane, Kumiko; Hasegawa, Ken (2020-02-12). "「義理チョコやめよう」賛否呼んだ広告、ゴディバの真意". Asahi Shimbun (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ "Majority of women to buy Valentine's chocolates for themselves, averaging ¥4,200, Japan survey shows". The Japan Times. 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ 8.0 8.1 Adelstein, Jake (2018-02-18). "Why Godiva Japan Took Out A Full Page Ad Asking People Not To Buy Valentine's Day Chocolate". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Lufkin, Brian (2019-03-14). "White Day: Japan's reverse Valentine's Day". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Nakamaru, Ryotaro (2019-02-13). "Not so much obliged: More Japanese women buying Valentine's chocolates for themselves, not colleagues". The Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-12. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Lewis, Leo (2018-02-07). "Bittersweet campaign to liberate Japan's office workers". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-24.
- ↑ Craft, Lucy (February 12, 2010). "Japanese Embrace Valentine's Day". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ February 14, 2010.
- ↑ Sekiguchi, Toko (February 14, 2007). "How Valentine's Day Conquered Japan". Time. สืบค้นเมื่อ April 23, 2016.