ข้ามไปเนื้อหา

ชาวเกาหลีในภูมิภาคไมโครนีเชีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวเกาหลีในภูมิภาคไมโครนีเชีย
ประชากรทั้งหมด
7,512 คน (ค.ศ. 2013)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 กวม5,016 คน[1]
 นอร์เทิร์นมาเรียนา2,281 คน[1]
 ปาเลา122 คน[2]
 สหพันธรัฐไมโครนีเชีย47 คน[3]
 หมู่เกาะมาร์แชลล์45 คน[4]
 คิริบาส1 คน[5]
ภาษา
เกาหลี ญี่ปุ่น[6]
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ชาวเกาหลีพลัดถิ่น

ชาวเกาหลีในภูมิภาคไมโครนีเชีย เป็นประชากรชาวเกาหลีที่มาตั้งถิ่นฐานในไมโครนีเชียตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในขณะนั้นภูมิภาคเป็นดินแดนในอาณัติของจักรวรรดิญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หลังจากภูมิภาคตกอยู่ในการควบคุมของสหรัฐในฐานะดินแดนในภาวะทรัสตี ชาวเกาหลีส่วนใหญ่จึงกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของตนเอง ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2013 ระบุว่ามีผู้อพยพและชาวเกาหลีใต้ราว 7 พันคน รวมถึงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะมาเรียนา (กวมและเครือรัฐหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา) ซึ่งอยู่ในการควบคุมของสหรัฐ ในขณะที่มีชาวเกาหลีใต้ประมาณ 2 ร้อยคนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศเอกราชในไมโครนีเชีย

ยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1914–1945)[แก้]

จากความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อสงครามอุบัติขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนคาบสมุทรเกาหลีเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก[7] แรงงานชาวเกาหลีกลุ่มแรกมายังไมโครนีเชียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1939 เป็นจำนวน 500 คน พวกเขาเหล่านี้ได้รับว่าจ้างจากบริษัท โฮนัน ซังโย (มหาชน) (豊南産業株式会社) เพื่อการแปรรูปมันสำปะหลัง นับตั้งแต่นั้นจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 คนงานชาวเกาหลีอีก 13 กลุ่ม ซึ่งรวมเป็น 1,266 คน ได้มายังปาเลา[8]

ตามการสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1943 ประชากรชาวเกาหลีในปาเลามีจำนวนทั้งสิ้น 2,458 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของจำนวนประชากรในเวลานั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในสิบของประชากรญี่ปุ่น มีผู้คนจำนวน 864 คนที่อาศัยอยู่ในบาเบลดาออบ ส่วนผู้คนอีก 721 คนอาศัยอยู่ในฐานทัพเรือบนเกาะมาลากัล สำหรับผู้คนจำนวน 539 คนอาศัยอยู่ที่รัฐอาเงาร์ และยังมีอีก 334 คนที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อื่น ๆ[9]

ต่อมาในช่วงการรบเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 มีชาวเกาหลีประมาณ 2,400 คน อาศัยอยู่บนเกาะทีเนียน ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในยุทธการและเกาะอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐ ชาวเกาหลีเหล่านี้ได้ต้อนรับทหารสหรัฐเป็นอย่างดีจากการปลดปล่อยพวกเขาจากการล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ตลอดจนบริจาคเงินจำนวน 666.35 ดอลลาร์สหรัฐที่ได้จากค่าจ้าง 35 เซ็นต์ต่อวันของพวกเขา เพื่อส่งเสริมความพยายามในการทําสงคราม[10]

ภายหลังการยอมจำนนของญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ชาวญี่ปุ่นและชาวเกาหลีทั้งหมดจึงถูกส่งตัวกลับประเทศ การดำเนินการส่งตัวเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 จนกระทั่งสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1946[11] โดยจำนวนทั้งหมดของผู้ที่ถูกส่งตัวจากปาเลากลับไปยังเกาหลีมีมากกว่า 3,000 คน[12] ส่วนในบันทึกของสหรัฐ ชาวเกาหลีจากหมู่เกาะทั้งหมดในไมโครนีเชียถูกส่งตัวกลับประเทศ 10,966 คน (พลเรือน 6,880 คน, ทหารเกณฑ์ 3,751 คน และทหาร 190 นาย) ในขณะที่ญี่ปุ่นบันทึกไว้เพียง 7,727 คนเท่านั้น[13]

ยุคร่วมสมัย (1945–ปัจจุบัน)[แก้]

ดินแดนของสหรัฐ[แก้]

การอพยพของชาวเกาหลีใต้สมัยใหม่มายังกวมเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1971[14] ตามสถิติของกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ระบุไว้ว่ามีชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในกวม 5,016 คน (ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี 1,933 คน, ผู้อพยพชาวเกาหลี 1,426 คน, นักเรียนต่างชาติ 133 คน และชาวเกาหลีใต้ต่างชาติที่มีวีซ่าประเภทอื่น 1,524 คน) ส่วนในหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนามีจำนวน 2,281 คน (ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี 159 คน, ผู้อพยพชาวเกาหลี 102 คน, นักเรียนต่างชาติ 214 คน และผู้ที่มีวีซ่าประเภทอื่น 1,806 คน)[1]

ในเกาะไซปัน หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา มีการสร้างอนุสรณ์สถานทหารเกาหลีในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในระหว่างยุทธการที่เกาะไซปัน ซึ่งแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1978[15] ชุมชนชาวเกาหลีในท้องถิ่นได้จัดพิธีรําลึกที่นั่นทุกปีตั้งแต่นั้นมา[16] และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 จักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นได้เสด็จพระราชดำเนินมายังอนุสรณ์สถานแห่งนี้ด้วยเช่นกัน[17]

ที่อื่น ๆ[แก้]

ในปาเลา มีชาวเกาหลีใต้อาศัยอยู่เพียง 120-130 คนเท่านั้น โดยประมาณ 80 คนทํางานในโครงการก่อสร้างที่บาเบลดาออบ[2][18] นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นอันดับที่สองของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมายังปาเลา รองจากไต้หวัน โดยนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,507 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005[19]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 MOFA 2013, p. 133 (Chapter 3)
  2. 2.0 2.1 MOFA 2013, p. 110 (Chapter 2)
  3. MOFA 2013, p. 82 (Chapter 2)
  4. MOFA 2013, p. 81 (Chapter 2)
  5. MOFA 2013, p. 102 (Chapter 2)
  6. Peattie 1988, p. 220
  7. ‘아이고다리’의 전설을 아십니까 [Do you know the legend of 'Aigotari'?], The Hankyoreh (ภาษาเกาหลี), no. 688, 2007-12-06, สืบค้นเมื่อ 2008-02-25
  8. Gim 2006, p. 9
  9. Mason et al. 1956, pp. 14–15
  10. "Koreans on Tinian Island, Grateful to U.S. For Liberation, Give $666 to War Effort", The New York Times, 1945-02-05, สืบค้นเมื่อ 2009-05-12
  11. Gim 2006, p. 17
  12. Gim 2006, p. 21
  13. "U.S. list of Korean laborers under Japan contradicts Tokyo's figures: Compiled by U.S. fleet, papers document those returned to Korea", The Hankyoreh, 2006-08-12, สืบค้นเมื่อ 2009-05-12
  14. Delgado, Nick (2011-10-01). "Korean community shares 40th anniversary of immigrants coming to Guam". KUAM News.
  15. Pangelinan-Brown, Rianne (2008-05-16), "Over 80 Koreans visit Peace Memorial", Saipan Tribune, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-26, สืบค้นเมื่อ 2009-05-12
  16. Eugenio, Haidee V. (2009-05-11), "'Remembering those who perished during the war'", Saipan Tribune, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14, สืบค้นเมื่อ 2009-05-12
  17. Donato, Agnes E. (2005-06-29), "Historic stop at Korean memorial", Saipan Tribune, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-12, สืบค้นเมื่อ 2009-05-12
  18. "팔라우는‥산호환초 거센 파도 막아줘", The Hankyoreh, 2004-10-28, สืบค้นเมื่อ 2008-02-25
  19. "More South Korean tourists visiting Palau", Radio New Zealand International, 2006-08-17, สืบค้นเมื่อ 2008-02-25

แหล่งที่มา[แก้]

  • Mason, A.C.; Corwin, G.; Rogers, C.L.; Elmquist, P.O.; Vessel, A.J.; McCracken, R.J. (1956), "Introduction", Military Geology of Palau Islands, Caroline Islands, Tokyo: Intelligence Division, Office of the Engineer, U.S. Army Forces Far East
  • Peattie, Mark (1988), Nan'Yo: The Rise and Fall of the Japanese in Micronesia, 1885-1945, Pacific Islands Monograph Series, University of Hawaii Press, ISBN 0-8248-1480-0
  • Gim, Do-hyeong (2006), 중부태평양 팔라우 군도 한인의 강제동원과 귀환 [Forced Mobilisation and Repatriation of Koreans in the Palauan Archipelago] (PDF), Collected Papers, vol. 26, Seoul: Korea Research Foundation, สืบค้นเมื่อ 2009-05-04
  • Petty, Bruce M., บ.ก. (2001), Saipan: Oral Histories of the Pacific War, Jefferson, North Carolina: McFarland, ISBN 978-0-7864-0991-4
  • 재외동포현황 [Status of Compatriots Abroad], Ministry of Foreign Affairs and Trade, 2013-09-30, สืบค้นเมื่อ 2015-04-30

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

  • Franklin, Rose Marie T. (1975), The United States' "guest workers": a case study of Korean temporary workers on Guam, Ph.D. thesis, Western Michigan University, OCLC 17756668