ชัง ซ็อง-แท็ก
ชัง ซ็อง-แท็ก | |
โชซ็อนกึล | 장성택 |
---|---|
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Jang Seong-taek |
เอ็มอาร์ | Chang Sŏngt'aek |
ชัง ซ็อง-แท็ก (อักษรโรมัน: Jang Sung-taek; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 – 12 ธันวาคม ค.ศ. 2013) เป็นบุคคลสำคัญในการปกครองประเทศเกาหลีเหนือ และเป็นสามีของพลเอกหญิง คิม คย็อง-ฮี (Kim Kyong-hui) อาผู้หญิงของคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) ผู้นำสูงสุดของประเทศ[1][2]
ชัง ซ็อง-แท็ก เคยเป็นรองประธานคณะกรรมการกลาโหมแห่งชาติ (National Defence Commission) ตำแหน่งซึ่งถือกันว่าเป็นรองแต่เพียงผู้นำสูงสุด[3] แม้ว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของเขานั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในปี ค.ศ. 2008 ชาวเกาหลีใต้ซึ่งเป็นข้าราชการและนักวิชาการด้านเกาหลีเหนือสันนิษฐานว่า เขาอาจเคยเป็นผู้นำโดยพฤตินัยระหว่างที่คิม จ็อง-อิล (Kim Jong-il) ป่วยและหลังจากที่คิม จ็อง-อิล ตาย[4] เชื่อกันว่า เขาได้เลื่อนเป็นพลเอกชั้นจัตวาระหว่างที่คิม จ็อง-อิล ตาย ดังที่ปรากฏจากเครื่องยศซึ่งเขาสวมไปเคารพศพคิม จ็อง-อิล[5] ชัง ซ็อง-แท็ก ยังนับว่าเป็น "กุนซือมือฉกาจ" ของคิม จ็อง-อิล ด้วย[6]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 เขาถูกกล่าวหาอย่างปัจจุบันทันด่วนว่า คิดต่อต้านการปกครอง และถูกถอดจากยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหมด แล้วถูกอัปเปหิจากพรรคแรงงานเกาหลี (Workers' Party of Korea) นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ลบเขาออกจากความทรงจำ ทำลายภาพถ่ายในสื่อราชการของเขาเป็นการย้อนหลัง และใช้กรรมวิธีดิจัทัลลบภาพของเขาที่ปรากฏอยู่กับผู้นำเกาหลี[7] ครั้นวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2013 สื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือแถลงว่า เขาถูกประหารชีวิตแล้ว[8]
การปลด จับกุม และประหารชีวิต
[แก้]ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกขับจากพรรคแรงงานเกาหลีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ก่อนหน้านี้ ภาพของเขาในข่าวซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์เกาหลีเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ถูกทำให้มัวและตัดต่อทิ้งไปเมื่อนำมาฉายอีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2013[9] หน่วยสืบราชการลับแห่งชาติ (National Intelligence Service) รายงานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกถอดจากตำแหน่ง[10] เชื่อกันว่า อี ย็อง-ฮา (Lee Yong-ha) กับชัง ซู-กี (Jang Soo-kee) คนสนิทของเขา ถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 และนับแต่นั้นก็ไม่เห็นเขาในที่สาธารณะอีก[11] มีรายงานว่า อี ย็อง-ฮา ถูกประหารด้วยข้อกล่าวหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ทางมิชอบ ส่วนชัง ซู-กี นั้นเพราะถูกพิพากษาว่า มีความผิดฐานพยายามจัดตั้งฝ่ายการเมืองใหม่เพื่อล้มล้างระบอบปัจจุบัน[12][13]
ในเวลาที่เกาหลีเหนือแถลง ณ วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกขับนั้น ปรากฏว่า เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ในโอกาสนั้น เขายังถูกกล่าวหาว่า กระทำ "การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายการเมือง เป็นการต่อต้านพรรค" รวมถึง ลอบประเวณีกับสตรี มี "ใจมักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมือง" สร้างความอ่อนแอให้แก่ "แนวทางที่พรรคมีต่อองค์กรตุลาการ อัยการ และความมั่นคงของประชาชน" กับทั้งยังขัดขวาง "เศรษฐกิจของชาติ"[14]
ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกจับคาที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และการจับกุมนี้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย โดยมีการพรรณนาว่า เป็น "การปลดสมาชิกตระกูลคิมและพรรคพวกอันโจ่งแจ้งที่สุดในประวัติศาสตร์"[15][16] นี้ยังเป็นครั้งแรกนับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งข้าราชการการเมืองชั้นผู้ใหญ่ถูกจับกุมอย่างเปิดเผยท่ามกลางการประชุมพรรคการเมืองโดยถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์[9]
สื่อจีนตั้งข้อสังเกตว่า ความล่มจมของชัง ซ็อง-แท็ก สื่อว่า ความพยายามของเขาในอันที่จะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นถูกเพิกเฉย และนโยบายทหารนำได้รับการสนับสนุนขึ้นมาในเกาหลีใต้[17]
วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2013 สื่อราชการเกาหลีใต้รายงานว่า ชัง ซ็อง-แท็ก ถูกประหารชีวิตแล้ว โดยระบุว่า "นายชัง สวะสถุลไร้สกุล เลวทารุณยิ่งกว่าหมา ทำชั่วช้าสารพัดต้องถูกแช่งชักเป็นสามเท่า หน้าซื่อใจคดทรยศหักหลังความไว้วางใจอันลึกซึ้งและความรักประดุจบิดามารดาเปี่ยมด้วยไมตรีเป็นที่ยิ่งซึ่งพรรคและหัวหน้าพรรคได้มีให้" คำแถลงซึ่งมีเนื้อความ 2,700 คำนั้นร่ายรายละเอียดข้อกล่าวหาตลอดจนข้อหาอื่น ๆ เช่น เอารูปปั้นหินแกรนิตของผู้นำสูงสุดไปวางไว้ใน "หลืบมืด" และ "ปล่อยให้แบบแผนชีวิตแบบทุนนิยมอันถอยเข้าคลองของตนเองนั้นลุกลามมาถึงสังคมเราได้ โดยยังให้แพร่หลายในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายซึ่งสื่ออันลามกจกเปรตทุกประเภท" ทั้งในยามที่มีการอ่านถ้อยแถลงของคิม จ็อง-อึล นั้นก็ยัง "ไม่เต็มใจปรบมือ ถือเป็นการทำให้เราเหล่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องเจ็บท้องข้องใจ"[8][18][19]
ในเหตุการณ์นี้ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความกังวลและความสงสัยต่อปัญหาความระส่ำระสายของประเทศเกาหลีเหนือ[20]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "장성택(張成澤)" (ภาษาเกาหลี). Information Center on North Korea, Ministry of Unification, Republic of Korea. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-08. สืบค้นเมื่อ 20 August 2007.
- ↑ "North Korean media confirms promotion of Jang Song-thaek to senior post". Yonhap News. 13 December 2007. สืบค้นเมื่อ 3 January 2008.
- ↑ Choe, Sang-hun (7 June 2010). "N. Korea Reshuffle Seen as Part of Succession Plan". New York Times.
- ↑ Ben Webster (8 November 2008). "North Korea 'is being run by Kim Jong Il's brother-in-law'". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-08-30. สืบค้นเมื่อ 8 November 2008.
- ↑ Andrew Salmon; David Blair (28 December 2011). "Kim Jong-il funeral: Kim Jong-un steps up as nation mourns". Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 28 December 2011.
- ↑ "North Korea May Take Action to Jolt Economy, Analysts Say". The New York Times. 5 September 2012. สืบค้นเมื่อ 9 January 2013.
- ↑ "Der retuschierte Onkel". Der Spiegel. Hamburg. 10 December 2013. สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
- ↑ 8.0 8.1 "North Korea executes Kim Jong Un's uncle". Associated Press. 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 12 December 2013.
- ↑ 9.0 9.1 Foster-Carter, Aidan (9 December 2013). "Family affair: Kim Jong Un wipes his uncle from North Korea's history". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 10 December 2013.
- ↑ "North Korean leader's powerful uncle dismissed – Seoul media". Reuters. 3 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-07. สืบค้นเมื่อ 2013-12-14.
- ↑ "North Korean leader's uncle likely removed from power: spy agency". Yonhap. South Korea. 3 December 2013.
- ↑ Where Is Kim Jong-un? Chosun. 6 December 2013.
- ↑ N Korea film 'edits out dismissed uncle Chang Song-thaek' BBC. 7 December 2013. 13 December 2013.
- ↑ "Report on Enlarged Meeting of Political Bureau of Central Committee of WPK". Korean Central News Agency. North Korea. 8 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-04. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013.
- ↑ "Jang Song Thaek purge confirmed amid rumors of his execution". NK News. 9 December 2013. สืบค้นเมื่อ 9 December 2013.
- ↑ "Jang Arrested on State Television". Daily NK. South Korea. 9 December 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-13. สืบค้นเมื่อ 9 December 2013.
- ↑ Jang's fall won't exert significant influence on East Asian dynamics Global Times 9 December 2013
- ↑ North Korea Says Kim’s Uncle Executed The New York Times 12 December 2013
- ↑ Alastair Gale (12 December 2013), What North Korea Said About Jang Song Thaek The Wall Street Journal
- ↑ "International concern over N Korea execution". Al Jazeera. 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 14 December 2013.