ข้ามไปเนื้อหา

ชมพูสิริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชมพูสิริน
พรรณไม้เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: แอสเทอริด
Asterids
อันดับ: อันดับกุหลาบป่า
Ericales
วงศ์: วงศ์เทียนดอก
Balsaminaceae
สกุล: สกุลเทียนดอก
Impatiens
Triboun & Suksathan
สปีชีส์: Impatiens sirindhorniae
ชื่อทวินาม
Impatiens sirindhorniae
Triboun & Suksathan

ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan) เป็นพรรณไม้ในวงศ์เทียนดอกที่ค้นพบเป็นชนิดใหม่ของโลกในปี พ.ศ. 2552 เป็นพืชถิ่นเดียวพบในประเทศไทย[2] พบเฉพาะทางภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามหน้าผาหินปูน ระดับความสูง 20–150 เมตร ค้นพบโดย ปราโมทย์ ไตรบุญ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย[3]

ประวัติ

[แก้]

ชมพูสิริน สำรวจพบโดย ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการจากกรมวิชาการเกษตร และปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 55 พรรษา 2 เมษายน พ.ศ. 2553[4] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ชมพูสิริน”[5][6]ตามสีชมพูของดอกไม้[7] ได้ลงพิมพ์เป็นบทความในวารสารวิชาการ Garden's Bullitin Singapore[8] เป็นการยืนยันว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่ของโลก ข้อมูลที่ศึกษาและตัวอย่างอ้างอิงได้นำไปเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช เพื่อการศึกษาด้านอนุกรมวิธานต่อไป และการค้นพบยังมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทยของพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) กับสวนพฤกษศาสตร์หลวงเอดินบะระในสกอตแลนด์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง มีนวล ที่มีความสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร ลำต้นมักห้อยลงจากการเกาะที่เขาหินปูน[9][10]

ลักษณะของใบ ใบเรียงเวียนหนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 3–4 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้าง กลม หรือคล้ายรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบจักห่าง ๆ ปลายจักมีติ่ง มีต่อมใกล้โคนเหนือก้านใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบ 3–6 เส้นในแต่ละข้าง เส้นแขนงใบย่อยไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 2–7.5 เซนติเมตร

รูปแบบการออกดอก การออกดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 2 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 3–6.5 เซนติเมตร ใบประดับขนาดเล็กติดใกล้โคนก้านดอก กลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อน กลีบข้างมี 4 กลีบ คู่นอกเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 6–7 มิลลิเมตร คู่ในแบบกลม ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบปากเป็นถุงลึก ที่โค้งเรียวยาว เว้าเป็นเดือย มีความยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ดอกมีสีชมพูอมม่วงอ่อน แผ่ออก กลีบปากเป็นรูปไข่กลับกว้าง มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนมีเขา 1 คู่ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบข้างคู่นอกติดกัน แฉกลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วน คล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร กลีบคู่ในรูปไข่กลับ มีความยาวเท่า ๆ กับกลีบคู่นอก แคปซูลเต่งกลาง รูปขอบขนานและเกลี้ยง

แหล่งที่พบ

[แก้]

ชมพูสิรินหรือเทียนสิรินธร เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย สามารถพบได้ที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี โดยจะขึ้นตามหน้าผาเขาหินปูน ที่ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร[10]

ดูเพิ่ม

[แก้]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • "พรรณไม้ พันธุ์สัตว์ อันเนื่องด้วยพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมาร" (PDF). สาระวิทย์. สวทช. (25). เมษายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 17 กรกฎาคม 2016. ISSN 2286-9298.
  • สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ (24 เมษายน 2015). หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการพัฒนาป่าไม้ ศูนย์รักษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี (หนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558).

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๔". องค์ความรู้อุทยานหลวงราชพฤกษ์. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2018.
  2. "พืชชนิดใหม่ของโลกได้รับพระราชทานชื่อ 3 ชนิด" (กฤตภาค). เดลินิวส์. No. 22859. 14 พฤษภาคม 2012. p. 28.
  3. "ชมพูสิริน". หอบรรณสารสนเทศ. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2018.
  4. "พืชชนิดใหม่ของโลกได้รับพระราชทานชื่อ 3 ชนิด". สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. 5 มิถุนายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2018.
  5. "รายชื่อพรรณไม้ ที่ตั้งชื่อตามพระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ". campus-star.com. 5 ตุลาคม 2017.
  6. "พรรณไม้ อันเนื่องด้วย พระนามาภิไธยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี". สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงาน กศน.
  7. กวีศิลป์ คำวงค์ (21 มกราคม 2016). "พรรณไม้งามพระนามราชสกุลมหิดล ตอนที่ ๔". อุทยานหลวงราชพฤกษ์.
  8. Suksathan, P; Triboun, P (2009). "Ten new species of Impatiens (Balsaminaceae) from Thailand". Garden's Bullitin Singapore. 61 (1): 174–176. ISSN 0374-7859.
  9. "[Botany • 2009] new Thai Impatiens (iii) • ชมพูสิริน เทียนสิรินธร Impatiens sirindhorniae from Peninsular Thailand". Species New to Science. 23 สิงหาคม 2011.
  10. 10.0 10.1 "ชมพูสิริน - เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์. 29 เมษายน 2014.