ข้ามไปเนื้อหา

ห้าเผ่าอารยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพตัวแทนของชาวอเมริกันอินเดียนห้าเผ่าที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1775 ถึงปี ค.ศ. 1850

ชนเผ่าผู้มีวัฒนธรรมทั้งห้า (อังกฤษ: Five Civilized Tribes) หมายถึงกลุ่มชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาห้ากลุ่มที่รวมทั้ง: เชอโรคี, ชิคาซอว์, ชอคทอว์, มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโอเล (Seminole) ที่ผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เป็นชาวผิวขาวในสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นถือว่าเป็นเผ่าที่มีวัฒนธรรมเพราะกลุ่มชนเหล่านี้ยอมรับและผสานวัฒนธรรมและความก้าวหน้าของผู้เข้ามาสร้างอาณานิคม และมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน กระบวนการในการพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองเป็นนโยบายที่เสนอโดยจอร์จ วอชิงตัน และ เฮนรี น็อกซ์ผู้มีความเห็นว่าระบบด้านการสังคมของกลุ่มชนพื้นเมืองเป็นระบบที่ต่ำกว่าของชาวยุโรปผิวขาว เชอโรคีและชอคทอว์ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความสำเร็จที่สุดในการรับวัฒนธรรมยุโรป-อเมริกัน[1] กลุ่มชนพื้นเมืองทั้งห้าตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐก่อนที่จะถูกโยกย้ายไปส่วนต่างๆ ของประเทศโดยเฉพาะในบริเวณที่ต่อมาเป็นรัฐโอคลาโฮมา

กลุ่มชนทั้งห้าเผ่านี้ถูกโยกย้ายจากที่ตั้งถิ่นฐานทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีระหว่างช่วงการอพยพเป็นเวลาหลายสิบปีที่ได้รับการอนุมัติตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียนไปยังเขตสงวนอินเดียนที่ปัจจุบันคือทางตะวันออกของรัฐโอคลาโฮมา การโยกย้ายที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการโยกย้ายบนเส้นทางธารน้ำตาของเชอโรคี (Cherokee removal) ในปี ค.ศ. 1838 เมื่อประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรนบังคับใช้ข้อตกลงในสนธิสัญญานิวอีโคตาอันเป็นสนธิสัญญาที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับชาติเชอโรคีในการแลกเปลี่ยนดินแดนของเชอโรคีกับดินแดนทางตะวันตก

กลุ่มชนทั้งห้าเผ่าแตกแยกกันเรื่องการเข้ากับฝ่ายใดในสงครามกลางเมืองอเมริกา ชิคาซอว์และชอคทอว์ส่วนใหญ่เข้าต่อสู้ร่วมกับฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) หรือฝ่ายใต้ เชอโรคี ขณะที่มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโอเล โดยเฉพาะเชอโรคีแยกระหว่างฝ่ายสหภาพ (Union) หรือฝ่ายเหนือ เชอโรคีต่อสู้กันในหมู่ตนเองระหว่างผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย

แม้ว่าการเป็นเจ้าของทาสในหมู่ชนอินเดียนจะมีเป็นจำนวนน้อย และแต่ละเผ่าก็จะมีทาสที่เป็นชนผิวดำ นอกจากนั้นก็มีชาวผิวดำอิสระที่อาศัยอยู่กับหรืออยู่ใกล้โดยเฉพาะในหมู่ชาวเซมินโอเล ชาวผิวดำเหล่านี้กลายมารู้จักกันว่าชาวอเมริกันอินเดียนผิวดำ (Black Indians in the United States) หลังจากสงครามกลางเมืองอเมริกาเสร็จสิ้นลงตามข้อตกลงที่ทำกับรัฐบาลสหรัฐทาสผิวดำก็ได้รับการปลดปล่อยโดยได้รับการรับรองว่าจะได้เป็นพลเมืองของกลุ่มชนอินเดียนที่ตนอาศัยอยู่ด้วย กลุ่มคนผิวดำที่ว่านี้มาเรียกกันว่าชนเผ่า “Freedmen” หรือ “ฟรีดแมน” เช่นชน “ฟรีดแมน” ที่เป็นเชอโรคีก็จะเรียกว่าเชอโรคีฟรีดแมน (Cherokee Freedmen) ปัญหาเรื่องการเป็นพลเมืองและการได้รับผลประโยชน์ในฐานะที่เป็นชาวอเมริกันอินเดียนก็ยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่แม้ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้สมาคมฟรีดแมนถึงกับต้องทำการฟ้องร้องชนเผ่าอเมริกันอินเดียนบางเผ่า

การใช้คำว่า “ผู้มีวัฒนธรรม” ในประวัติศาสตร์และสถานการณ์ที่ผ่านมาถือกันว่าเป็นคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม และเป็นนัยยะว่าชนพื้นเมืองอเมริกันเป็น “ผู้ที่ขาดวัฒนธรรม” และกลุ่มชนทั้งห้ากลุ่มนี้มีวัฒนธรรมขึ้นมาได้ก็ด้วยการละทิ้งวัฒนธรรมของตนเอง และมารับวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตตามวิถีทางใหม่ของชาวยุโรปผิวขาวเท่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Perdue, Theda. "Chapter 2 "Both White and Red"". Mixed Blood Indians: Racial Construction in the Early South. The University of Georgia Press. p. 51. ISBN 0-8203-2731-X. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |origdate= ถูกละเว้น แนะนำ (|orig-date=) (help)

ดูเพิ่ม

[แก้]