ข้ามไปเนื้อหา

ปลาฉลามเสือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฉลามเสือ)
ปลาฉลามเสือ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 56–0Ma[1] อีโอซีนตอนต้น ถึง ปัจจุบัน
ปลาฉลามเสือขนาดโตเต็มที่
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Carcharhiniformes
วงศ์: Carcharhinidae
สกุล: Galeocerdo
Müller & Henle, 1837
สปีชีส์: G.  cuvier
ชื่อทวินาม
Galeocerdo cuvier
(Péron & Lesueur, 1822)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาฉลามเสือ
ชื่อพ้อง[2][3]

ปลาฉลามเสือ (อังกฤษ: tiger shark) ปลากระดูกอ่อนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จำพวกฉลาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Galeocerdo cuvier ในวงศ์ Carcharhinidae เป็นปลาเพียงชนิดเดียวในสกุล Galeocerdo

ลักษณะ

[แก้]

มีรูปร่างอ้วนป้อม ปากกว้าง ปลายปากสั้นและทู่ ลำตัวเรียวไปทางปลายหาง คอดหางมีสันชัดเจน ครีบหางเรียวและมีปลายแหลม มีฟันใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม มีขอบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย พื้นลำตัวและครีบสีน้ำตาลหม่น มีลายพาดขวางตลอดข้างหลังและหางคล้ายลายของเสือโคร่ง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งลายนี้อาจแตกเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วไปหรือจางหมดไปเมื่อโตขึ้น ท้องมีสีจาง

ปลาฉลามเสือเมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 5 เมตร แต่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 7 เมตร น้ำหนักหนักที่สุดคือ 807.4 กิโลกรัม พบกระจายว่ายหากินอยู่ทั่วไปในน่านน้ำเขตอบอุ่นทั่วโลก มีพฤติกรรมชอบหากินตามแนวปะการังหรือบริเวณใกล้ชายฝั่ง หรือบริเวณปากแม่น้ำ โดยอาศัยตั้งแต่ระดับผิวน้ำจนถึงความลึก 140 เมตร ปกติมักอยู่ลำพังเพียงตัวเดียวและหากินในเวลากลางคืน ว่ายน้ำได้คล่องแคล่วว่องไวมาก มีอาณาเขตในการหากินกว้าง 100 ตารางกิโลเมตร โดยที่อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เช่น เต่าทะเล รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเล เช่น แมวน้ำ หรือ สิงโตทะเล ด้วย

ปลาฉลามเสือได้ชื่อว่าเป็นปลาที่กินไม่เลือกเหมือนเช่นปลาฉลามขาว (Carcharodon carcharias) เพราะมักเจอสิ่งที่ไม่ใช่อาหารในกระเพาะเสมอ ๆ เช่น ยางรถยนต์, กระป๋องน้ำ, เศษไม้ หรือ พลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นขยะที่มนุษย์โยนทิ้งลงทะเลทั้งสิ้น

ปลาฉลามเสือ เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว ในระยะเวลาตั้งท้องนานเกือบหนึ่งปี สามารถตกลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยจะตกลูกครั้งละ 10-82 ตัว ลูกปลาแรกเกิดมีความยาวประมาณ 51.76 เซนติเมตร เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4-6 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 12 ปี แต่อายุในสถานที่เลี้ยงมักจะมีอายุเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น

ปลาฉลามเสือ นับได้ว่าเป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่งที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมีนิสัยดุร้ายและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เลือก ในพื้นที่ทะเลของไทยนับได้ว่าเป็นปลาฉลามที่อาจทำร้ายมนุษย์หรือนักดำน้ำได้ร่วมกับ ปลาฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas) และ ปลาฉลามครีบดำ (C. melanopterus) โดยสถานที่ ๆ มีรายงานปลาฉลามเสือทำร้ายนักดำน้ำหรือนักโต้คลื่นมากที่สุด คือ ฮาวาย เชื่อว่าเกิดจากเหตุที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงทำให้ปลาฉลามเสือเห็นกระดานโต้คลื่นผิดไปเป็นแมวน้ำซึ่งเป็นอาหาร กอรปกับการที่มีเต่าทะเลซึ่งเป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งกระจายพันธุ์สูงด้วย[4]

ปลาฉลามเสือ มีชื่อเรียกอื่น ๆ ในภาษาไทยอีก เช่น "ตะเพียนทอง", "พิมพา" หรือ "เสือทะเล" [5]

อนุกรมวิธาน

[แก้]

ปลาฉลามเสือได้รับการจัดจำแนกครั้งแรกโดย ฟรังซัวร์ เปรอง และ ชาร์ลส์ อเล็กซานเดร์ ลูสซีเออร์ ในปี ค.ศ. 1822 โดยตั้งชื่อว่า Squalus cuvier[6] ในปี ค.ศ. 1837 โยฮันนาส์ ปีเตอร์ มึลเลอร์ และ เฟดเดอริก กุสตาฟ เฮนเล ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Galeocerdo tigrinus[6] สกุล Galeocerdo มาจากภาษากรีก galeos แปลว่า "ปลาฉลาม" และภาษาละติน cerdus แปลว่า "ขนแข็งของหมู"[6] บ่อยครั้งที่ถูกเรียกว่า "ปลาฉลามกินคน"[6]

ปลาฉลามเสือเป็นสมาชิกของอันดับ Carcharhiniformes ซึ่งเป็นอันดับปลาฉลามที่มีสมาชิกมากที่สุด มีมากกว่า 270 ชนิด[6] สมาชิกของอันดับนี้มีลักษณะเด่นคือ มีเยื่อนิกติเตติงเหนือดวงตา มีครีบหลังสองครีบ มี 1 ครีบก้น และช่องเหงือก 5 ช่อง นับเป็นสมาชิกขนาดใหญ่ที่สุดของวงศ์ Carcharhinidae ซึ่งสมาชิกในวงศ์นี้มีรูปร่างเพรียว แต่เต็มไปด้วยพละกำลัง เป็นปลาฉลามขนาดกลางถึงใหญ่[7]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

[แก้]

บ่อยครั้งที่สามารถพบปลาฉลามเสือใกล้กับชายหาดทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก[6] มีพฤติกรรมเร่ร่อนโดยใช้กระแสน้ำอุ่นนำทาง ชอบอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรในช่วงฤดูหนาว มักอาศัยในน้ำลึกตามแนวปะการัง แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวในร่องน้ำตื้นเพื่อไล่ตามเหยื่อได้ ในทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ปลาฉลามเสือสามารถพบไกลถึงประเทศญี่ปุ่นในทางเหนือและประเทศนิวซีแลนด์ในทางใต้[6] นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในทะเลแคริบเบียน, แอฟริกา, ประเทศจีน, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, ประเทศอินเดีย, ประเทศออสเตรเลีย, และประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงอ่าวเม็กซิโก, ชายหาดของอเมริกาเหนือ,และบางส่วนของอเมริกาใต้[7]

มีบันทึกว่าพบปลาฉลามเสือที่ระดับความลึก 900 m (3,000 ft),[6] แต่แหล่งข้อมูลบางแหล่งอ้างว่าสามารถเคลื่อนที่ในน้ำตื้นที่ตื้นกว่าขนาดของลำตัว[7] ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้แสดงว่า ปลาฉลามเสืออาศัยในน้ำลึกเฉลี่ย 350 m (1,100 ft) และการพบเห็นปลาฉลามเสือเป็นเรื่องไม่ปกตินัก อย่างไรก็ตามมีการพบปลาฉลามเสือในฮาวายในระดับความลึก 3 m (10 ft) ซึ่งระดับน้ำบริเวณนั้นมีความลึก 6 m (20 ft)-12 m (40 ft)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Sepkoski, Jack (2002). "A compendium of fossil marine animal genera (Chondrichthyes entry)". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-09.
  2. 2.0 2.1 Simpfendorfer (2000). Galeocerdo cuvier. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006. Database entry includes justification for why this species is near threatened
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ itis
  4. Beast Tracker, "เปิดโลก". สารคดีทางช่อง new)tv: วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2558
  5. [https://web.archive.org/web/20120104171619/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-28-search.asp เก็บถาวร 2012-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พิมพา โดย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 "Tiger Shark". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-22. สืบค้นเมื่อ 2015-01-04.
  7. 7.0 7.1 7.2 Fact Sheet: Tiger Sharks

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Galeocerdo cuvier ที่วิกิสปีชีส์