ข้ามไปเนื้อหา

จุมเบ ฟาตีมา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุมเบ ฟาตีมา
สุลต่านหญิงแห่งมอเอลี (ครั้งแรก)
ดำรงพระยศ1842–1865
ก่อนหน้ารามาเนตากา
ถัดไปโมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา
สุลต่านหญิงแห่งมอเอลี (ครั้งที่สอง)
ดำรงพระยศ1874–1878
ก่อนหน้าอับเดอร์เรมาเน บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา
ถัดไปโมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา
พระราชสมภพค.ศ. 1836/37
อูอัลลาฮ์ รัฐสุลต่านมอเอลี
สวรรคตค.ศ.1878 (อายุ 41–42)
พระราชสวามีไซอิด มูฮัมมัด บิน นัสเซอร์ มากาดารา
พระราชบุตร
  • โมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา
  • อับเดอร์เรมาเน บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา
  • มะฮ์มูดู บิน โมฮาเมด มากาดารา
  • บาโกโก
  • ซาลีมา มาชัมบา
ราชวงศ์เมรีนา
พระราชบิดาพระเจ้ารามาเนตากา
พระราชมารดาราวาโอ
ศาสนาอิสลาม

จุมเบ ฟาตีมา (อักษรโรมัน: Djoumbé Fatima; 1837–1878) หรือ จุมเบ ซูดี (Djoumbé Soudi) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถหรือสุลต่านหญิงและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งมอเอลี ตั้งแต่มีพระชนมายุ 5 พรรษาจนกระทั่งสวรรคต พระองค์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับอาณาจักรเมรีนาและรัฐสุลต่านแซนซิบาร์

พระราชประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

จุมเบ ฟาตีมา เป็นพระราชธิดาของพลเอก พระเจ้ารามาเนตากา หรือสุลต่านอับเดรามาเน กับพระชายาราวาโอ พระราชชนกเป็นพระเทวันของพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ ด้วยเหตุนี้จุมเบ ฟาตีมาจึงเป็นพระญาติของเจ้านายมาดากัสการ์ หลังการสวรรคตของพระราดามาที่ 1 พระราชชนกจึงลี้ภัยออกจากมาดากัสการ์และก่อตั้งรัฐสุลต่านบนเกาะมอเอลี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศคอโมโรส)[1] พระองค์มีพระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีพระองค์หนึ่งคือ จุมเบ ซาลามา แต่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์[2]

เสวยราชย์[แก้]

จุมเบ ฟาตีมาขึ้นเสวยราชย์เป็นสุลต่านแห่งมอเอลีหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้ารามาเนตากาใน ค.ศ. 1842 โดยมีราวาโอเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลาง[3] ต่อมาราวาโอเสกสมรสใหม่กับซีวันดีนี อดีตที่ปรึกษาของพระเจ้ารามาเนตากาเมื่อ ค.ศ. 1843 และกลายเป็นครูพิเศษของจุมเบ ฟาตีมา พร้อมไปกับการวางแผนที่จะให้สุลต่านหญิงผู้มีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยงนี้เสกสมรสกับเจ้านายของรัฐสุลต่านแซนซิบาร์[4] แต่เวลาต่อมาราวาโอหย่าร้างกับซีวันดีนีเมื่อ ค.ศ. 1846

เมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองเกาะมายอต และสนใจที่จะพัฒนาเกาะมอเอลี จึงส่งมาดามดรัวต์ (Madame Droit) เข้ามาเป็นพระพี่เลี้ยงของสุลต่านหญิงจุมเบ[5] ค.ศ. 1849 เมื่อสุลต่านจุมเบพระชนมายุได้สิบสองพรรษา รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกถวาย แต่สองปีต่อมาหลังพระราชพิธีราชาภิเษก สุลต่านหญิงพระองค์ทรงขับไล่พระพี่เลี้ยงชาวฝรั่งเศสออก และจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับไซอิด มูฮัมมัด บิน นัสเซอร์ มากาดารา พระญาติของสุลต่านแซนซิบาร์ ก่อนถูกพวกฝรั่งเศสขับไล่ใน ค.ศ. 1860

ค.ศ. 1863 ฝรั่งเศสส่งคณะผู้แทนเข้าเฝ้าสุลต่านหญิง และเดซีเร ชาร์เนย์ (Désiré Charnay) การบันทึกภาพของสุลต่านหญิงพระองค์นี้ไว้[6] เขาบันทึกว่าพระองค์ "ทรงพระประชวรแลทุกข์โทมนัส" และมีข้าราชบริพารเฝ้าถวายงานเพียงไม่กี่คน[7] รวมทั้งบันทึกถึงฉลองพระองค์ว่า ทรงฉลองพระองค์ "ผ้าคลุมยาวทำจากผ้าไหมและทองคำอย่างดีจากตุรกี" ปิดพระพักตร์และพระวรกายเกือบทั้งหมด แลเห็นเพียงพระหัตถ์เท่านั้น[8] การเยือนมอเอลีครั้งนี้ของชาวฝรั่งเศส ก็เพื่อเชื้อเชิญให้ตัดสินพระทัยเข้าเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่สุลต่านหญิงทรงปฏิเสธ[2]

ปลายพระชนม์[แก้]

ค.ศ. 1865 สุลต่านจุมเบสละราชสมบัติแก่โมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา พระราชโอรส และเมื่อชาวฝรั่งเศสกลับมาเกาะมอเอลีอีกครั้งใน ค.ศ. 1871 พระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และขึ้นเป็นสุลต่านอีกครั้งจนกระทั่งสวรรคตใน ค.ศ. 1878[4]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

จุมเบ ฟาตีมาเมื่อ ค.ศ. 1863

สุลต่านจุมเบประทับอยู่ในพระราชวังสีขาวขนาดสองห้องติดป้อมปราการ และเห็นทะเล มีทหารราชองครักษ์ประจำอยู่ 28 นาย[2] จุมเบอภิเษกสมรสกับไซอิด มูฮัมมัด บิน นัสเซอร์ มากาดารา พระญาติของสุลต่านแซนซิบาร์ใน ค.ศ. 1865 ทั้งสองมีพระราชโอรสด้วยกันสามพระองค์ ได้แก่

  1. โมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา (ค.ศ. 1859−1874) เป็นสุลต่านแห่งมอเอลีใน ค.ศ. 1865–1874
  2. อับเดอร์เรมาเน บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา (ค.ศ. 1860−1885) เป็นสุลต่านแห่งมอเอลีใน ค.ศ. 1878–1885
  3. มะฮ์มูดู บิน โมฮาเมด มากาดารา (ค.ศ. 1863 − 18 ตุลาคม ค.ศ. 1898) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสุลต่านหญิงซาลีมา มาชัมบา พระขนิษฐาต่างพระชนกใน ค.ศ. 1889–1897 มีพระโอรสพระองค์เดียว

และมีพระราชโอรส-ธิดาที่ประสูติกับเอมีล เฟลอรีโย เดอ ล็องล์ (Emile Fleuriot de Langle; ค.ศ. 1837–1881) สองพระองค์ ได้แก่

  1. บาโกโก (ไม่ทราบ–1901)
  2. ซาลีมา มาชัมบา (1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874 – 7 สิงหาคม ค.ศ. 1964) เป็นสุลต่านแห่งมอเอลีใน ค.ศ. 1888–1909 เสกสมรสกับกามีย์ ปอล (Camille Paule) มีพระราชโอรส-ธิดาสามพระองค์

อ้างอิง[แก้]

  1. "Five African queens you did not know existed - Page 3 of 6". Face2Face Africa (ภาษาอังกฤษ). 2018-09-01. สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  2. 2.0 2.1 2.2 CHARNAY, DÉSIRÉ (1862). MADAGASCAR VOL D'OISEAU. p. 67.
  3. Campbell, Gwyn (2012-04-03). David Griffiths and the Missionary “History of Madagascar” (ภาษาอังกฤษ). BRILL. p. 112. ISBN 978-90-04-19518-9.
  4. 4.0 4.1 Sheldon, Kathleen (2005). "Djoumbe Fatima (1837–1878)". Historical Dictionary of Women in Sub-Saharan Africa. Lanham (Maryland): Scarecrow Press. p. 63. ISBN 978-0-8108-5331-7.
  5. Ottenheimer, Martin; Ottenheimer, Harriet (1994). Historical Dictionary of the Comoro Islands. Metuchen, NJ [u.a.]: Scarecrow Press. p. 61. ISBN 978-0-8108-2819-3.
  6. "La Reine de Mohely | The Museum of Fine Arts, Houston". www.mfah.org. สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  7. "BnF - Trésors photographiques de la Société de géographie". expositions.bnf.fr. สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  8. Campbell, Gwyn (2012-04-03). David Griffiths and the Missionary “History of Madagascar” (ภาษาอังกฤษ). BRILL. p. 729. ISBN 978-90-04-19518-9.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]