ข้ามไปเนื้อหา

จินตนาการไม่รู้จบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จินตนาการไม่รู้จบ
ปกหนังสือ จินตนาการไม่รู้จบ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2540
ผู้ประพันธ์มิชาเอล เอนเด้
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Neverending Story
ผู้แปลรัตนา รัตนดิลกชัย
ประเทศเยอรมัน
ภาษาเยอรมัน
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์ Thienemann Verlag
ไทย สำนักพิมพ์เรไร
วันที่พิมพ์ พ.ศ. 2522
ไทย พ.ศ. 2537

จินตนาการไม่รู้จบ (อังกฤษ: The Neverending Story; เยอรมัน: Die unendliche Geschichte) เป็นนวนิยายแฟนตาซีของมิชาเอล เอนเด้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศเยอรมันเมื่อ ค.ศ. 1979 ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดย ราล์ฟ แมนเฮม ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 3 ภาค โดยภาคที่มีความใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดคือภาคแรก ซึ่งได้นำชื่อหนังสือมาใช้เป็นชื่อภาพยนตร์ได้นำออกฉายเมื่อ ค.ศ. 1984 กำกับโดยโวล์ฟกัง ปีเตอร์เซน นอกจากนี้ยังได้มีการดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์เมื่อ ค.ศ. 2001

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในดินแดนที่ชื่อว่า แฟนตาสติกา (Fantastica) หรือในฉบับภาพยนตร์เรียกว่า แฟนตาเซีย (Fantasia) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของยุวจักรพรรดินี ที่มีลักษณะเหมือนเด็ก ซึ่งกำลังประชวรอยู่ และโลกแห่งนี้กำลังถูกทำลายลงด้วย "ความว่างเปล่า" ซึ่งเกี่ยวพันกับอาการประชวรของพระองค์ ยุวจักรพรรดินีจึงขอร้องให้อัทเทรอูไปตามหาคนมาช่วย ซึ่งเรื่องราวการผจญภัยทั้งหมดได้ถูกอ่านโดยบาสเตียนเด็กชายจากโลกอันแท้จริง ซึ่งกำลังอ่านหนังสือจินตนาการไม่รู้จบอยู่ และได้ค้นพบว่าตัวของเขาเองนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในหนังสือนี้

การแปลเป็นภาษาไทย แปลโดย รัตนา รัตนดิลกชัย จัดพิมพ์ในไทยครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เรไรเมื่อ พ.ศ. 2537 ปัจจุบันได้มีการจัดทำรูปเล่มใหม่เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้นโดยใช้หมึกสองสี เพื่อแยกเรื่องราวระหว่างโลกในจินตนาการกับโลกของความเป็นจริง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนเมื่อ พ.ศ. 2554

ประเด็นหลัก

[แก้]

ผลงานของ มิชาเอล เอนเด้ มีจุดเด่นในการอธิบายสิ่งปกติธรรมดาที่เราพบเจออยู่ทุกวัน แต่ถูกละเลยและให้ความสำคัญผิดไป โดยใช้เด็กที่ถูกโดดเดียวจากสังคมเป็นตัวเดินเรื่อง หนังสือจะให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าการที่เราอยู่ในโลกที่จินตนาการเหือดหาย ต้องคอยแข่งขันกับคนอื่นเพื่อรักษาภาพลักษณ์ทางสังคมของเรานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ หนังสือจะให้เราฉุกคิดกับสิ่งที่เราหลงลืม ซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเรา บอกว่าเราจะอยู่ในโลกของความจริงด้วยความรู้สึกลวง ๆ หรือจะค้นหาความปรารถนาที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในจิตใจเรา

หนังสือจะนำพาเราสู่โลกของจิตใจที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมาเองตามความปรารถนา แต่ทุกความปรารถนานั้นมีราคาเป็นความทรงจำของเราในโลกอันแท้จริง หนังสือจะนำเสนอเรื่องราวสลับกันไปมาระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกแห่งจินตนาการ เมื่ออยู่ในโลกของความจริงก็จะพูดถึงการสูญเสียตัวตนไปกับกระแสสังคม เมื่ออยู่ในโลกของจินตนาการก็จะพูดถึงการสูญเสียตัวตนไปจากความเป็นจริง หนังสือจะทำให้เราเข้าใจความจริงของโลกทั้งสองด้าน ว่าโลกทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์ร้อยเรียงเข้าหากันเหมือนกับงูสองตัวที่ต่างงับหางของอีกฝ่าย ซึ่งนั้นคือสัญลักษณ์ของออรีนเครื่องรางที่เป็นตัวแทนของยุวจักรพรรดินี

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]