จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์
ศาสตราจารย์ จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย สาขาเคมีและ พอลิเมอร์ เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องของเทคโนโลยียาง การวิเคราะห์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากยางธรรมชาติ โดยได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนหลายๆ แห่ง พัฒนานวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้ ‘ยางสกิม’ โดยใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกาวที่ใช้ในการแพทย์ และใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหมากฝรั่ง ซึ่งนับเป็นกรณีแรกของงานวิจัยในเชิงเทคโนโลยีของโลก ที่นำน้ำยางธรรมชาติไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางอาหารได้ จนสามารถคว้ารางวัลรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2548 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลเมธีส่งเสริมนวัตกรรม สาขาธุรกิจชีวภาพ ประจำปี พ.ศ. 2549 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.ดร. จิตต์ลัดดา (ตั้งภักดี) สมรสกับ นพ. พยุงศักดิ์ ศักดาภิพาณิชย์ มีบุตรชาย 2 คน
ประวัติ
[แก้]การศึกษา
[แก้]- จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง และระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม
- พ.ศ. 2532-2535 - ปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี (เกียรตินิยมอันดับสอง) จาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2537-2539 - Master Degree of Engineering (Honor) จาก Tokyo University of Agriculture and Technology ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนมงบุโช (Monbusho) ของรัฐบาลญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2539-2541 - Doctor Degree of Engineering (Honor) จาก Tokyo University of Agriculture and Technology ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนมงบุโช ของรัฐบาลญี่ปุ่น
ประวัติการทำงาน
[แก้]- พ.ศ. 2541 - อาจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2543 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2546 - รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2554 - ศาสตราจารย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปัจจุบันเป็นนักวิจัยใน หน่วยวิจัยเทคโนโลยียาง เก็บถาวร 2012-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- และนักวิจัยประจำหน่วยวิจัยยาง ของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
เกียรติคุณและรางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2542-2545 และ 2546-2549 - เมธีวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- พ.ศ. 2545 - Young Scientist Award จาก TORAY Foundation ประเทศไทย
- พ.ศ. 2546 - Young Scientist Award จาก ENO Foundation ประเทศญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2548 - รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2549 - รางวัลเมธีส่งเสริมนวัตกรรม สาขาธุรกิจชีวภาพ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2549 - รางวัล Young ASIAN Biotechnologist Prize 2006 จาก The Society for Biotechnology, Osaka, Japan
ผลงานวิจัยที่สำคัญ
[แก้]ศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ จำนวนกว่า 105 เรื่อง สิทธิบัตร จำนวน 18 เรื่อง เป็นเจ้าของผลงานการพัฒนายางสกิมและสารที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจจากของเสียที่ได้จากอุตสาหกรรมน้ำยางธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางเกรดพิเศษจากยางสกิม (ยางที่เหลือจากหางน้ำยาง ซึ่งโดยปกติจัดว่าเป็นของเสียจากกระบวนการปั่นน้ำยางธรรมชาติ) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมบางประเภทแทนการใช้ยางสังเคราะห์ โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรม 2 ประเภทหลัก คือ
- การพัฒนายางสกิมเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกาวชนิดที่ไม่มีโปรตีนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ โดยเฉพาะกาวที่ใช้ในทางการแพทย์ จากการคิดค้นงานวิจัยนี้ ทำให้สามารถนำไปจด สิทธิบัตรแบบทั่วโลก (PCT) รวมทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย [1]
- การพัฒนายางสกิมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหมากฝรั่ง ทดแทนยางสังเคราะห์ชนิดโพลิไอโซบิวทีลีน และโพลิสไตรีนบิวตะไดอีน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหมากฝรั่งได้เป็นอย่างดี และมีข้อดีคือ สามารถย่อยสลายได้ ไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์ถึง 10 เท่า งานวิจัยนี้ นับว่าเป็นกรณีแรกของงานวิจัยในเชิงเทคโนโลยีของโลก ที่สามารถนำยางธรรมชาติไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางอาหารได้ นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาแยกสารที่เรียกว่า L-quebrachitol ที่เหลืออยู่ในหางน้ำยาง ภายหลังการแยกเอายางสกิมออกไปแล้ว (เรียกว่าซีรั่ม) ซึ่งสารนี้สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์สารจำพวก optically active organic compound ต่างๆ ได้มากมาย เช่น เป็นสารต่อต้านแบคทีเรีย เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตยาต้านมะเร็ง และสารเคมีทางการเกษตรต่างๆ เป็นต้น และยังได้มีการพัฒนางานวิจัย การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อจากส่วนซีรั่มที่ได้ทำการแยกสาร L-quebrachitol ออกแล้ว และน้ำซีรั่มที่เหลือก็นำไปใช้ผลิตปุ๋ยน้ำได้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยที่ครบวงจร สามารถนำองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำยางมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
นอกจากนี้ ศ.ดร. จิตต์ลัดดายังรับบทบาทนักวิจัยด้านการแปรรูปเปลือกที่เป็นของเสียในโรงงานผลิตถั่วมะคาเดเมีย จากโครงการดอยตุง ให้เป็นถ่านแมคคาเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น ดูดซับกลิ่นความชื้นและสารพิษ ทำให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้น และยังพบว่าถ่านแมคคาสามารถแผ่คลื่นอินฟราเรดระยะไกล เพื่อนำมาประยุกต์ในในการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิตในร่างกายได้ด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2564 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2558 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2566 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sakdapipanich JT (2003) A production of deproteinized skim rubber and the adhesives of its use, and its adhesive tape. PCT/JP 000003964
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๖๑, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๘, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๑ ข หน้า ๓๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๗ ข หน้า ๒๐๔, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖