ข้ามไปเนื้อหา

จารึกเตอลากาบาตู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จารึกเตอลากาบาตู
วัสดุหินแอนดีไซต์
ขนาดกว้าง 148 เซนติเมตร
สูง 118 เซนติเมตร
ตัวหนังสือภาษามลายูเก่าเขียนด้วยอักษรปัลลวะ
สร้างค.ศ. 683
ค้นพบปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้ ประเทศอินโดนีเซีย
ที่อยู่ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งประเทศอินโดนีเซีย จาการ์ตา
เลขทะเบียนD.155

จารึกเตอลากาบาตู (อังกฤษ: Telaga Batu inscription) เป็นจารึกสมัยอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งถูกพบที่นครปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้ ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1950 และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งประเทศอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา ตัวจารึกทำจากหินแอนดีไซต์ขนาดกว้าง 148 เซนติเมตร และสูง 118 เซนติเมตร ด้านบนประกอบด้วยหัวนาคเจ็ดหัว ด้านล่างมีร่องน้ำซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นร่องให้น้ำที่เทรดลงบนตัวหินไหลลงมาระหว่างประกอบพิธี จารึกเขียนเป็นภาษามลายูเก่าด้วยอักษรปัลลวะ

เนื้อหาและการตีความ

[แก้]

เนื้อหาในจารึกเตอลากาบาตูค่อนข้างยาวและมีหลายบรรทัด แต่ตัวอักษรที่ปรากฏบนจารึกหลายตัวสึกกร่อนและอ่านได้ยาก ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการใช้งานในพิธีซึ่งคล้ายกับพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาดังระบุในจารึก อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบางส่วนที่ยังสามารถอ่านและตีความได้จากบรรทัดที่ 3 ถึง 5 ถอดความได้ดังนี้

...kamu vanyakmamu, rājaputra, prostara, bhūpati, senāpati, nāyaka, pratyaya, hāji pratyaya, dandanayaka, ....murddhaka,tuhā an vatak, vuruh, addhyāksi nījavarna, vāsīkarana, kumaramatya, cātabhata, adhikarana, karmma...., kāyastha, sthāpaka, puhāvam, vaniyāga, pratisara, kamu marsī hāji, hulun hāji, wanyakmamu urang, niwunuh sumpah dari mangmang kamu kadaci tida bhakti di aku”...

ซึ่งแปลได้ว่า

"...พวกเจ้าทั้งหลาย ราชบุตรก็ดี องคมนตรีก็ดี เจ้าผู้ครองนครก็ดี เสนาบดีก็ดี ผู้นำชุมชนก็ดี ขุนนางก็ดี อุปราชก็ดี ผู้พิพากษาก็ดี [.... murddhaka] หัวหน้าคนงานก็ดี คนงานก็ดี หัวหน้าคนงานชั้นผู้น้อยก็ดี ช่างทำอาวุธก็ดี อำมาตย์ชั้นผู้น้อยก็ดี ทหารก็ดี ข้าราชการก็ดี [karmma ...] เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นก็ดี สถาปนิกก็ดี นายเรือก็ดี พ่อค้าวานิชก็ดี บ่าวไพร่แลทาสขององค์กษัตริย์ก็ดี พวกเจ้าจักต้องตายด้วยฤทธิ์คำสาบานของเจ้าหากคิดคดทรยศต่อข้า"

ในงานเขียนของเย. เค. กัสปาริส (en) นักวิชาการด้านทวีปเอเชียชาวดัตช์ระบุว่าอาชีพที่ระบุในจารึกนี้ถูกมองว่ามีโอกาสก่อกบฏต่อเจ้าผู้ครองอาณาจักรศรีวิชัย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกบฏ เจ้าผู้ครองอาณาจักรจึงดำริว่าการบังคับให้อาชีพเหล่านี้สาบานตนแสดงความจงรักภักดีโดยใช้คำสาป[1]

จารึกฉบับนี้ยังเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งที่ไล่เรียงรายชื่อตำแหน่งและอาชีพที่สำคัญ นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเนื่องจากรายชื่ออาชีพค่อนข้างซับซ้อนและละเอียด จารึกฉบับนี้น่าจะอยู่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น และลงความเห็นว่าศาลหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะตั้งอยู่ในปาเล็มบัง[2] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางคนลงความเห็นว่าจารึกคำสาปนี้ไม่น่าจะอยู่ในศาลหลวง เนื่องจากจารึกฉบับนี้มีคำสาปสำหรับผู้ที่ก่อกำเริบต่อ เกอดาตูอัน หรือเจ้าผู้ครองนครอยู่ด้วย[3][4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Casparis, J.G., (1956), Prasasti Indonesia II: Selected Inscriptions from the 7th to the 9th Century A.D., Dinas Purbakala Republik Indonesia, Bandung: Masa Baru.
  2. Irfan, N.K.S., (1983), Kerajaan Sriwijaya: pusat pemerintahan dan perkembangannya, Girimukti Pasaka
  3. Madjelis Ilmu Pengetahuan Indonesia, (1958), Laporan Kongres Ilmu Pengetahuan Nasional Pertama, Volume 5.
  4. Soekmono, R., (2002), Pengantar sejarah kebudayaan Indonesia 2, Kanisius, ISBN 979-413-290-X.