จารึกวัดพระยืน
จารึกวัดพระยืน | |
---|---|
วัสดุ | หินดินดานหรือหินชนวน |
ความสูง | 90 เซนติเมตร |
ความกว้าง | 55 เซนติเมตร |
ความลึก | 10.5 เซนติเมตร |
ตัวหนังสือ | จารึกด้วยอักษรไทย (ลายสือไทสุโขทัยแบบอาลักษณ์) ภาษาไทย |
สร้าง | จ.ศ.731 (พ.ศ.1912) |
ช่วงเวลา/วัฒนธรรม | รัชกาลของพญากือนา (ในจารึกเรียก "ท้าวสองแสนนา") กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย นครเชียงใหม่ (ตรงกับสมัยพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย) |
ค้นพบ | พ.ศ. 2457 วัดพระยืน จังหวัดลำพูน |
ค้นพบโดย | หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล |
ที่อยู่ปัจจุบัน | วัดพระยืน จังหวัดลำพูน |
เลขประจำตัว | ศิลาจารึกหลักที่ 62 (รหัสเดิมก่อนแบบตามจังหวัด) ลพ.38 (กองหอสมุดแห่งชาติ) |
18°34′34″N 99°01′11″E / 18.57611°N 99.01972°E |
จารึกวัดพระยืน เป็นจารึกซึ่งหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล ทรงค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2457[1] โดยตั้งอยู่ประชิดฐานเจดีย์ด้านทิศเหนือใกล้กับบันได้แก้ว โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558[1] โดยยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดพระยืน ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระสถูปเจดีย์[2]
ลักษณะ
[แก้]จารึกเป็นหินดินดานหรือหินชนวนสีเทา รูปใบเสมา ขนาดสูง 90 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร หนา 10.5 เซนติเมตร[1] ประกอบด้วยจารึก 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 40 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 41 บรรทัด[1]
การค้นพบ
[แก้]หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล ทรงเป็นผู้พบจารึกวัดพระยืนเมื่อ พ.ศ. 2457 จากนั้นได้ทรงส่งสำเนาจารึกมาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
ต่อมาวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้ส่งนายฉ่ำ ทองคำวรรณ และนายประสาร บุญประคอง เจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึก แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ เดินทางไปอัดเสนาจารึกที่วัดพระยืน จังหวัดลำพูน และกองหอสมุดแห่งชาติได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นศิลาจารึกวัดพระยืน หลักที่ 62 (เป็นศิลาจารึกลำดับที่ 62 ทีมีการค้นพบ) ต่อมามีการแบ่งเลขทะเบียนศิลาจารึกตามจังหวัด จึงใช้รหัสเป็น ลพ.38
เนื้อหาในจารึก
[แก้]จุดประสงค์ของการสร้างจารึกวัดพระยืน คือ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติพระสุมนเถระที่ได้รับอาราธนาจากพญากือนาให้ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธ ลัทธิรามัญวงศ์ที่เชียงใหม่[3]
ด้านที่ 1
[แก้]ขึ้นต้นด้วยบทนมัสการเป็นภาษาบาลีว่า "นโม ตสฺส ภควโต" ซึ่งเป็นหลักฐานเก่าที่สุดที่ปรากฏในไทยถึงบทนมัสการนี้[4]
รายละเอียดกล่าวถึงพระมหาสุมนเถระ ซึ่งพญากือนา (ในจารึกเรียกว่าท้าวสองแสนนา) อาราธนามาจากสุโขทัย (ตรงกับสมัยพญาลิไท) เพื่อมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา ใน พ.ศ. 1912 มีต้อนรับอย่างมโหฬาร และอัญเชิญพระมหาสุมนเถระให้พำนักที่วัดพระยืน เมื่อพระมหาสุมนเถระเห็นวัดดูเก่าแก่แล้ว จึงดำริจะปฏิสังขรณ์ใหม่[1]
ด้านที่ 2
[แก้]กล่าวถึงการบูรณะ และปฏิสังขรณ์ศาสนสถานในวัดพระยืน รวมทั้งพระเจดีย์ด้วย กล่าวคือ มีการสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก 3 องค์ คือทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ ซึ่งเดิมมีเพียง 1 องค์ ทางทิศตะวันออก[1]
ความสำคัญ
[แก้]จารึกวัดพระยืนนี้ แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านศาสนาจากสุโขทัยไปยังล้านา การสถานปนาลัทธิรามัญวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ และเป็นหลักฐานชั้นต้นร่วมสมัยในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในสมัยต่อ ๆ มา[3] ดังเช่นในประเด็น ดังนี้
- พระนามของพญามังราย ในจารึกวัดพระยืนนี้ระบุพระนามว่า "พญามังรายหลวง" เป็นหลักฐานว่าพระนามของพระองค์คือ "มังราย" มิใช่ "เม็งราย" ตามที่ปรากฎในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรวัตร ส่วนคำว่า "หลวง" นั้น นาตยา ภูศรี สันนิฐานว่าเป็นคำที่ใช้ยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่[3]
- พระนามเจ้าท้าวสองแสนนา เป็นพระนามของกษัตริย์เชียงใหม่ที่ถูกระบุในจารึกนี้อันเป็นหลักฐานร่วมสมัย ต่างจากเอกสารล้านนา เช่นชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ระบุพระนามว่า "พญากือนา" ซึ่งแปลว่า "พญาร้อยล้านนา" คาดว่าพระนามที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดจากการยอพระเกียรติยศในภายหลัง[3]
- ลำดับกษัตริย์ราชวงศ์มังราย มีจารึกมีการระบุถึงความสัมพันธ์ของเจ้าท้าวสองแสนนา (พญากือนา) ว่าเป็นพระโอรสพญาผายู เป็นหลานพญาคำฟู และเป็นเหลนพญามังราย แต่ไม่ปรากฏพระนามกษัตริย์อีก 2 พระองค์ ซึ่งมีปรากฏในชินกาลมาลีปรกณณ์ คือ ขุนครามและพญาแสนภู โดย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่าจารึกวัดพระยืนนี้กล่าวถึงเฉพาะญาติสายตรงเท่านั้น ดังนี้ กษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นญาติสายตรงจึงไม่ได้มีการกล่าวถึง และ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร อธิบายว่าผู้สร้างจารึกนี้เป็นชาวสุโขทัย จึงรับรู้พระนามของกษัตริย์เฉพาะที่ปกครองเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายที่ปกครองเชียงรายนั้น ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ด้วย จึงมิได้จารึกไว้[3]
- การสถาปนาลัทธิรามัญวงศ์ในเชียงใหม่ ตามความเชื่อเรื่อง "ปัญจอันตรธาน" ที่ทำนายว่าศาสนาพุทธจะมีอายุ 5,000 ปี ซึ่งในรัชสมัยของพญากือนาตรงกับช่วงปลายของศตวรรษที่สอง พระยากือนาต้องการให้พระศาสนาดำรงอยู่ต่อไป[3] จึงได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระมาจากสุโขทัย ต่อมาพระมหาสุมนเถระจะเป็นผู้วางรากฐานของพระสงฆ์สายวัดสวนดอก[3]
- การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และอักขรวิธีของอาณาจักรล้านนาและสุโขทัย โดยใช้ตัวอักษรแบบอาลักษณ์สุโขทัยแต่นำมาเขียนเล่นลายมือแบบอักษรล้านนารุ่นแรก ซึ่งจะพัฒนาเป็นอักษรฝักขามต่อไป และมีการปรับอักขรวิธีมอญ นำมาสู่สมมติฐานว่า ทั้งสุโขทัยและล้านนาต่างมีส่วนทั้งเป็นฝ่ายรับและฝ่ายให้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ด้านวัฒธรรมประเพณีด้านอักขรวิธีของไท ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานด้านอักขรวิธีนี้ในจารึกหลักอื่นในสมัยยุคล้านนา[2]
ดูเพิ่ม
[แก้]- จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธรฯ
- การบรรยายเรื่อง “จารึกวัดพระยืนในฐานะเอกสารมรดกความทรงจําทางประวัติศาสตร์กับการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดลําพูน” โดย ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร
- นาตยา ภูศรี (2558). จารึกวัดพระยืน: เอกสารลำดับที่ 12 (100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "จารึกวัดพระยืน". ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำโลก (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 2.0 2.1 ตัวอย่างแบบกรอกศิลาจารึกวัดพระยืน
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 นาตยา ภูศรี (2558). จารึกวัดพระยืน: เอกสารลำดับที่ 12 (100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
- ↑ กรมศิลปากร. วิเคราะห์ศิลาจากรึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. หน้า 78-80