ข้ามไปเนื้อหา

จารึกวัดพระงาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จารึกวัดพระงาม
วัสดุหินทราย
ความสูง50.2 เซนติเมตร
ความกว้าง96.3 เซนติเมตร
ความลึก14.5 เซนติเมตร
ตัวหนังสืออักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต
ช่วงเวลา/วัฒนธรรมพุทธศตวรรษที่ 12
ค้นพบ2 ตุลาคม พ.ศ. 2562
วัดพระงาม (จังหวัดนครปฐม)
13°49'26.0"N 100°03'19.0"E
ค้นพบโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร (สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี)
สถานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
เลขประจำตัวนฐ.21
http://tolopoti.npru.ac.th/page.php?id=3-2

จารึกวัดพระงาม เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งกรมศิลปากรขุดพบ ขณะบูรณะวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562[1] ปรากฎข้อความ "ทวารวตีวิภูติ" ซึ่งแปลความได้ว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวารวดี" อันแสดงถึงเมืองทวารวดี [2] และสนับสนุนข้อสันนิฐานว่าพื้นที่จังหวัดนครปฐม อาจเป็นที่ตั้งของเมืองทวารวดี[3] อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่าข้อความในจารึกเป็นอ้างถึงเมืองทวารวดีในลักษณะความเปรียบ ถึงความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของเมือง[4] จึงไม่อาจสรุปได้ว่านครปฐมคือทวารวดี

การค้นพบ

[แก้]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ระหว่างที่สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กำลังขุดศึกษาในโบราณสถานในพื้นที่ของวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ได้พบแผ่นศิลานี้วางซ้อนอยู่บนแผ่นศิลาแลงอีก 2 แผ่น[1] จารึกนี้อาจถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ดังจะเห็นได้จากวัสดุหินที่แตกต่างกัน[5] คาดว่าเมื่อพ้นสมัยที่สร้างจารึกแล้ว ผู้คนอาจไม่เห็นความสำคัญ และไม่สามารถอ่านข้อความในจารึกได้ จึงนำแผ่นจารึกมาใช้ประโยชน์อื่นตามความเหมาะสม กล่าวคือ นำมาเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ จนมาถูกค้นพบระหว่างการขุดค้นในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับทะเบียนวัตถุ คือ นฐ.21และให้ใช้จารึกตามนามของสถานที่พบว่า "จารึกวัดพระงาม"[1] โดยก่อนหน้านั้นกรมศิลปากรพบรูปปั้นอสูรในบริเวณดังกล่าวด้วย[6] กรมศิลปากรจึงได้เคลื่อนย้ายจารึกและรูปปั้นไปเก็บรักษาและทำการอนุรักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม[1][7]

ลักษณะ

[แก้]

จารึกเป็นหินทรายเนื้อละเอียด[1] ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นหินเถ้าภูเขาไฟชนิดไรโอไลต์ (Rhyolite) ซึ่งเป็นหินอัคนีพุ[5] ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 50.2 เซนติเมตร ยาว 96.3 เซนติเมตร และหนา 14.5 เซนติเมตร[1] มีอักษรจารึกไว้เพียงด้านเดียว จำนวน 6 บรรทัด ทั้งนี้ ตัวจารึกมีสภาพชำรุดมาก อักษรบางส่วนกะเทาะหลุดหายไป[1] ข้อความบางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงคำว่า “ทวารวตีวิภูติ” อักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรปัลลวะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 และ 12 ร่วมกัน[1] ผู้จารึกต้องมีความรู้ความสามารถมาก จึงสามารถนำอักษรปัลลวะแบบเดิมที่ใช้ในพุทธศตวรรษที่ 11 และแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ในพุทธศตวรรษ 12 มาใช้ร่วมกันได้[7] นอกจากนี้ ยังเป็นการจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ต่างจากจารึกในแหล่งทวารวดีอื่น ๆ ซึ่งพบเป็นภาษาบาลีและภาษามอญ[7]

เนื้อความในจารึก

[แก้]

ใจความสำคัญของเนื้อหาในจารึก กล่าวสรรเสริญพระราชาซึ่งได้รับชันชนะในสงคราม นำความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูลและบ้านเมือง อีกทั้งยังได้มีการถวายของแก่พระปศุปติซึ่งเป็นอวตารหนึ่งของพระศิวะตามลัทธิปาศุปัตของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูไควนิกาย[5] อีกทั้งยังเป็นคำเรียกพระศิวะที่เก่าแก่ที่สุด หมายถึง "เจ้าแห่งสรรพสัตว์"[1][8] และปรากฎพระนามของเทพองค์อื่น ๆ เช่น วิษณุ ศรี(ลักษมี) ปรเมศวร[7] การสร้างจารึกนี้จึงเป็นการประกาศชัยชนะที่มีในสงคราม บอกเล่าเรื่องราวของพระราชาให้ประชาชนในสังคมทราบ[1]

เนื้อความยังปรากฎชื่อเมือง "หัสตินาปุระ" ซึ่งเป็นเมืองของฝ่ายเการพ ในมหาภารตะ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของมหาภารตะ[4] รวมถึงคดินิยม พิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในพื้นที่ดังกล่าว[7] อย่างไรก็ตาม การนับถือพระปศุปติมีกล่าวถึงในจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกอีกหลายหลักในกัมพูชา นอกจากนั้นยังพบรูปเคารพทั้งในประเทศไทยและกัมพูชาด้วย แต่ลัทธินี้คงจะมิได้เป็นที่นิยมนับถือในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย จึงหมดความสำคัญลงโดยสิ้นเชิงในเวลาต่อมา เพราะเป็นคติความเชื่อจากศาสนาที่ต่างกัน[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 ศิลปากร. มกราคม - กุมภาพันธ์ 2563. หน้า 4-15 กรมศิลปากร (finearts.go.th)
  2. nongnorth (2020-02-13). ""จารึกวัดพระงาม" หลักฐานใหม่ตอกย้ำนาม 'ทวารวดี'". มติชนอคาเดมี่.
  3. พบศิลาจารึกโบราณ อายุนับพันปีที่นครปฐม ร่องรอยอารยธรรมทวารวดี (silpa-mag.com)
  4. 4.0 4.1 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / จารึกทวารวดีวิภูติ : หรือว่าทวารวดีจะไม่ได้อยู่ที่นครปฐม? - มติชนสุดสัปดาห์ (matichonweekly.com)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. โบราณสถาน จารึกวัดพระงาม. npru.ac.th
  6. กรมศิลปากรพบ "ประติมากรรมดินเผารูปอสูร" สมัยทวารวดี วัดพระงาม อ.เมือง จ.นครปฐม
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 แวดวงโบราณคดี : ข้อมูลใหม่จากโบราณสถานวัดพระงาม - วารสารเมืองโบราณ (muangboranjournal.com)
  8. คลังความรู้สุวรรณภูมิ. จารึกวัดพระงาม.suvarnabhumi.psu.ac.th