ข้ามไปเนื้อหา

ยาโกบ ยอร์ดานส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จาค็อป จอร์แดงส์)
ยาโกบ ยอร์ดานส์

ยาโกบ ยอร์ดานส์ (ดัตช์: Jacob Jordaens; 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1593 - 18 ตุลาคม ค.ศ. 1678) เป็นจิตรกรชาวดัตช์ในสมัยบาโรกแบบเฟลมิช คริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพประวัติศาสตร์ คริสต์ศาสนา ภาพเหมือน และการออกแบบพรมทอแขวนผนัง

ยาโกบ ยอร์ดานส์, เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ และอันโตนี ฟัน ไดก์ เป็นจิตรกรสามคนที่นำความมีหน้ามีตามาสู่ตระกูลการเขียนภาพแบบแอนต์เวิร์ป (Antwerp school) ยอร์ดานส์เป็นจิตรกรในหมู่น้อยที่มิได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาการเขียนภาพแบบอิตาลี และความก้าวหน้าทางอาชีพของยอร์ดานส์ก็มิได้มีอยู่ความสนใจในราชสำนักหรือความก้าวหน้าในราชสำนัก[1] นอกไปจากการเดินทางระยะสั้น ๆ ภายในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำแล้วยอร์ดานส์ก็ได้อยู่แต่ในแอนต์เวิร์ปจนตลอดชีวิต[1] นอกจากจะเป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จเป็นอันมากแล้วยอร์ดานส์ก็ยังเป็นผู้ออกแบบพรมทอแขวนผนังผู้มีชื่อเสียงด้วย[2] เช่นเดียวกับรือเบินส์, งานเขียนของยอร์ดานส์จะเป็นฉากแท่นบูชา, ตำนานเทพ, และอุปมานิทัศน์ และหลังจากการเสียชีวิตของรือเบินส์ในปี ค.ศ.1640 ยอร์ดานส์ก็กลายมาเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดในแอนต์เวิร์ปสำหรับงานจ้างชิ้นใหญ่ ๆ และฐานะของผู้จ้างของก็ดีขึ้นเป็นลำดับ[3] งานชิ้นที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันเป็นงานภาพชีวิตประจำวันขนาดใหญ่ในภาพ "กษัตริย์เสวยน้ำจัณฑ์" และภาพ "ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม" ผู้มีอิทธิพลต่องานเขียนของยอร์ดานส์ในทางศิลปะนอกจากจะเป็นรือเบินส์แล้วก็เป็นจิตรกรทางเหนือของอิตาลีเช่นจาโกโป บัสซาโน (Jacopo Bassano), ปาโอโล เวโรเนเซ และการาวัจโจ[1]

ประวัติ

[แก้]

ยาโกบ ยอร์ดานส์เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1593 เป็นลูกคนแรกในบรรดาพี่น้องสิบเอ็ดคนของยาโกบ ยอร์ดานส์ผู้อาวุโส พ่อค้าขายผ้าลินินผู้มีฐานะดี กับบาร์บารา ฟัน โวลสคาเตินในแอนต์เวิร์ป[4] การศึกษาเบื้องต้นไม่เป็นที่ทราบเท่าใดนัก เพียงแต่อาจจะสรุปได้ว่าอาจจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่าเด็กอื่น ๆ เพราะครอบครัวมีฐานะดี ที่เห็นได้จากลายมือที่กระจ่างชัดและความสามารถในการใช้ภาษาฝรั่งเศสและความรู้เกี่ยวกับตำนานเทพ ความรู้ในเรื่องคัมภีร์ไบเบิลของยอร์ดานส์จะเห็นได้จากงานเขียนศิลปะคริสเตียนหลายชิ้น แต่ต่อมาเหตุการณ์ในชีวิตส่วนตัวทำให้เปลี่ยนจากการเป็นโรมันคาทอลิกไปเป็นโปรเตสแตนต์[5]

เช่นเดียวกับรือเบินส์ ยอร์ดานส์ศึกษากับอาดัม ฟัน โนร์ต (Adam van Noort) ที่เป็นครูคนเดียวที่ได้ร่ำเรียนด้วย การพำนักในบ้านของฟัน โนร์ตทำให้ยอร์ดานส์มีความใกล้ชิดกับสมาชิกในครองครัวของฟัน โนร์ต[6] หลังจากศึกษาและฝึกงานกับฟัน โนร์ตได้แปดปี ยอร์ดานส์ก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมช่างนักบุญลูกาในฐานะ "จิตรกรสีน้ำ" (waterscilder)[5] ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญที่ยอร์ดานส์นำมาใช้ในการออกแบบร่างพรมทอแขวนผนังในคริสต์ศตวรรษที่ 17[7] แต่งานสมัยแรก ๆ ของยอร์ดานส์สูญหายไปหมด ในปีเดียวกับที่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมช่างนักบุญลูกาในปี ค.ศ. 1616 ยอร์ดานส์ก็แต่งงานกับอันนา กาตารีนา ฟัน โนร์ต ลูกสาวคนโตของอาดัม ฟัน โนร์ต และมีลูกด้วยกันสามคน ในปี ค.ศ. 1618 ยอร์ดานส์ก็ซื้อบ้านในโฮคสตราต (บริเวณในแอนต์เวิร์ปที่ยอร์ดานส์เติบโต) และต่อมาในปี ค.ศ. 1639 ก็ซึ้อบ้านติดกันเพื่อขยายบริเวณสำหรับเขียนภาพที่คล้ายกับของบ้านของรือเบินส์ที่สร้างยี่สิบปีก่อนหน้านั้น ยอร์ดานส์พำนักอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิต ค.ศ. 1678[8]

ยอร์ดานส์ไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปอิตาลีเพื่อไปศึกษาการเขียนภาพแบบคลาสสิกและเรอแนซ็องส์เช่นเดียวกับจิตรกรคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม ยอร์ดานส์ก็พยายามศึกษาจากภาพพิมพ์และงานเขียนของจิตรกรมีชื่อที่มีอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป เช่นเป็นที่ทราบกันว่ายอร์ดานส์ศึกษางานของทิเชียน, ปาโอโล เวโรเนเซ, การาวัจโจ และจาโกโป บัสซาโน อาจจะจากภาพพิมพ์หรือก๊อบปี้ของงานแท้ (เช่นภาพ "พระแม่มารีแห่งโรซารี" โดยการาวัจโจ) แต่ภาพของยอร์ดานส์มิได้เขียนตามแบบที่เขียนกันในเนเธอร์แลนด์โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับภาพชีวิตประจำวันเช่นที่เห็นในงานของปิเตอร์ เบรอเคิล (ผู้พ่อ) ที่จะแสดงภาพชีวิตประจำวันของชาวเฟลมิชด้วยความเป็นจริงและแสดงภาพคนสามัญในภาพการฉลองสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้น[9] งานจ้างของยอร์ดานส์มักจะเป็นภาพผู้คนที่มาจากครอบครัวเฟลมิชผู้มีอันจะกินหรือนักบวช และต่อมามาจากราชสำนักหรือรัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรป นอกจากงานเขียนชิ้นใหญ่ ๆ แล้ว ยอร์ดานส์ก็ยังเป็นผู้มีความสามารถในการออกแบบพรมทอแขวนผนังผืนใหญ่ ๆ โดยใช้การเขียนสีน้ำที่ได้ร่ำเรียนมาในการร่าง[4]

นอกจากนั้นความสำเร็จของยอร์ดานส์ยังจะเห็นได้จากรายนามลูกศิษย์หลายคนผู้มีชื่อเสียงซึ่งสมาคมช่างนักบุญลูกาบันทึกไว้สิบห้าชื่อตั้งแต่ ค.ศ. 1621 จนถึง ค.ศ. 1667 แต่ก็มีอีกหกชื่อในบันทึกของศาลที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกของสมาคม ฉะนั้นจึงอาจจะเป็นไปได้ว่ายอร์ดานส์มีนักเรียนมากกว่าที่บันทึกไว้ในเอกสารทางการ ในบรรดาลูกศิษย์ก็รวมทั้งลูกพี่ลูกน้องและยาโคปลูกชาย ยอร์ดานส์ก็เช่นเดียวกับรือเบินส์และจิตรกรคนอื่น ๆ ในสมัยนั้นที่พึ่งนักเรียนและผู้ช่วยในการสร้างภาพเขียน แต่ลูกศิษย์หลายคนก็มิได้กลายเป็นจิตรกรมีชื่อ[10] แต่กระนั้นการได้ทำงานในห้องเขียนภาพของยอร์ดานส์ก็เป็นตำแหน่งที่เป็นที่เสาะหากันในบรรดาจิตรกรฝึกใหม่ทั่วยุโรป[11]

อิทธิพลของรือเบินส์

[แก้]
"Abduction of Europe", ยาโกบ ยอร์ดานส์, ค.ศ. 1615/1616, Gemäldegalerie เบอร์ลิน
"การกลับจากอียิปต์ของครอบครัวพระเยซู" โดยยอร์ดานส์
"การกลับจากอียิปต์ของครอบครัวพระเยซู" โดยยอร์ดานส์

เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์มีอิทธิพลต่องานเขียนของยอร์ดานส์เป็นอันมาก ในบางโอกาสรือเบินส์ก็จะจ้างยอร์ดานส์ให้เขียนภาพร่างสำหรับภาพเขียนใหญ่ให้ หลังจากรือเบินส์เสียชีวิต ยอร์ดานส์ก็กลายเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงที่สุดของแอนต์เวิร์ป[12] และเช่นเดียวกับรือเบินส์ งานของยอร์ดานส์ใช้สีที่อุ่นและเป็นธรรมชาติ และเป็นผู้มีความสามารถในการใช้ค่าต่างแสง (chiaroscuro) และการเขียนภาพสว่างในความมืด (tenebrism) ยอร์ดานส์มีความสำเร็จพอประมาณกับการเขียนภาพเหมือน แต่ที่เด่นคือความสามารถในการดึงบุคลิกพื้นฐานของบุคคลในภาพให้เห็น งานเขียนเกี่ยวกับชาวบ้านและงานเขียนชิ้นใหญ่ ๆ ที่แสดงคำสอนทางจริยธรรมมีอิทธิพลต่อจิตรกรเช่นยัน สเตน ยาโกบ ยอร์ดานส์ไม่มีความสามารถพิเศษแต่มักจะเขียนภาพที่มีพื้นฐานมาจากสุภาษิตที่แสดงตัวแบบจากเบื้องหลังที่แตกต่างกันไปและมีอายุแตกต่างกันไปซึ่งนั่งร่วมกันที่โต๊ะในการฉลอง งานที่ชวนขันเหล่านี้มักจะมีบรรยากาศที่ออกไปทางหยาบเล็กน้อย[4] ตลอดชีวิตการเป็นจิตรกร ยอร์ดานส์ได้รับแรงบันดาลใจจากรือเบินส์และใช้แรงจูงใจของรือเบินส์ แต่งานของยอร์ดานส์แตกต่างออกไปตรงที่จะดูเป็นจริงมากกว่า มีตัวแบบในภาพแน่นกว่า และมักจะมีอารมณ์ขันหรือเป็นภาพแบบล้อเลียนมากกว่าแม้แต่ในภาพทางศาสนาหรือในตำนานเทพ[12] "โพรมีเทียส" ที่เขียนราว ค.ศ. 1640 เป็นตัวอย่างที่แสดงทั้งอิทธิพลที่ได้รับจากรือเบินส์ และจากฟรันส์ สไนเดอส์ (Frans Snyders) แม้ว่าเป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลมาจากงานที่ร่วมกับรือเบินส์ในภาพหัวข้อเดียวกัน ("พันธนาการโพรมีเทียส") ในราว ค.ศ. 1611-1612 แต่ "โพรมีเทียส" ของยอร์ดานส์ก็เป็นภาพที่ให้ความหวังมากกว่า

หัวเรื่องภาพ

[แก้]

นอกจากจะมีชื่อเสียงในการเขียนภาพเหมือนแล้ว ยอร์ดานส์ยังนิยมเขียนภาพจากตำนานเทพและอุปมานิทัศน์ และสร้างภาพพิมพ์กัดกรด (etching) และนอกจากมักจะเขียนภาพจิตรกรรมประวัติศาสตร์แล้ว ยอร์ดานส์ก็เขียนภาพประกอบสุภาษิตเฟลมิชเช่นภาพ "Old Sing so the Young Twitter" และภาพเกี่ยวกับเทศกาลต่างของเฟลมิชเช่นภาพ "กษัตริย์เสวยน้ำจัณฑ์"[4] ภาพเขียนหลายภาพของยอร์ดานส์เป็นนัยยะว่าเป็นผู้ชอบเขียนภาพสัตว์ ในภาพมักจะมีสัตว์หลายชนิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งได้แก่วัว ม้า ไก่ แมว หมา และแกะ[13] หลังจากที่กลายเป็นจิตรกรสำคัญหลังจากการเสียชีวิตของรือเบินส์ ในปี ค.ศ. 1640 แล้ว[14] ยอร์ดานส์จึงเริ่มได้รับสัญญาการเขียนภาพจากราชสำนักโดยเฉพาะจากทางเหนือ[4] และได้รับสัญญาต่อจากรือเบินส์เช่นจากพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งสเปน ที่ให้เขียนภาพเฮอร์คิวลีสและแอนดรอมิดาที่รือเบินส์เริ่มไว้ให้เสร็จ

ระหว่างปี ค.ศ. 1635 ถึงปี ค.ศ. 1640 เมื่อรือเบินส์ป่วยด้วยโรคเกาต์ ยอร์ดานส์ก็ได้รับสัญญาจ้างที่ใช้ร่างภาพที่เขียนโดยรือเบินส์ และสร้างการตกแต่งสำหรับการเข้าเมืองของคาร์ดินัล-อินฟันเตเฟร์นันโดในโอกาสที่มารับตำแหน่งเป็นเป็นข้าหลวงของเนเธอร์แลนด์สเปนที่แอนต์เวิร์ป ในปี ค.ศ. 1635 ในปี ค.ศ. 1639-1640 ยอร์ดานส์ก็ได้รับพระราชทานสัญญาจ้างจากพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ให้ตกแต่งห้องของพระราชินีในวังที่กรีนิช ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่เดิมเป็นของรือเบินส์ แต่รือเบินส์ไม่สามารถทำได้เพราะสุขภาพไม่ดี แต่งานชิ้นนี้สูญหายไปแล้ว[4]

นอกจากนั้นยอร์ดานส์ก็ยังมีบทบาทสำคัญในงานร่วมกับศิลปินอื่นในการตกแต่ตอร์เรเดลาปาราดาระหว่าง ค.ศ. 1636 and ค.ศ. 1681[15] งานสองชิ้นที่เชื่อกันเป็นของยอร์ดานส์คือ "อะพอลโลกับแพน" (ค.ศ. 1637) ที่เขียนจากงานร่างของรือเบินส์ และ "เวอร์ทัมนัสกับโพโมนา" (ค.ศ. 1638)[15] งานอื่นที่อาจจะเป็นของยอร์ดานส์ก็ได้แก่ "Fall of the Titans", "การแต่งงานของพีลยูสกับเททิส" และ "แคดมัสกำลังเลื่อยฟันมังกร" (Vieghe, 262) ในปี ค.ศ. 1661 ยอร์ดานส์ก็ได้รับจ้างให้วาดภาพในตึกเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมที่เพิ่งสร้างเสร็จ[4]

ศาสนา

[แก้]
"อัครสาวก"

ในขณะนั้นแอนต์เวิร์ปอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน และนิกายโปรเตสแตนต์เป็นนิกายที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ยอร์ดานส์ผู้เปลี่ยนไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในบั้นปลายของชีวิตก็ยังรับงานตกแต่งวัดโรมันคาทอลิก[4] ระหว่าง ค.ศ. 1651 ถึง ค.ศ. 1658 ยอร์ดานส์ถูกปรับราว 200 ปอนด์เฟลมิชเพราะถูกกล่าวหาว่าเขียนบทความที่เป็นอันตรายต่อศาสนาหรือนอกศาสนา ยอร์ดานส์และลูกสาวเอลีซาเบตเสียชีวิตในวันเดียวกันด้วยเชื้อโรคลึกลับที่เรียกว่า "zweetziekte" หรือ "zweetziekte" ในภาษาดัตช์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1678 ร่างของทั้งสองคนถูกฝังด้วยกันในวัดโปรเตสแตนต์ที่ปึตเตอ (Putte) ที่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เหนือเขตแดนเบลเยียมที่เป็นที่ฝังของภรรยากาตารีนาปีหนึ่งก่อนหน้านั้น ปีหนึ่งหลังจากนั้นลูกชายของยอร์ดานส์ก็อุทิศเงิน 25 ปอนด์เฟลมิชให้แก่กาเมอร์ ฟัน เดินเฮยซาร์เมิน (Camer van den Huysarmen) ในแอนต์เวิร์ป[4] พร้อมกับเงินอุทิศก็เป็นภาพ "การชำระและการเจิมร่างพระเยซู" (The Washing and Anointing of the Body of Christ) ที่มอบให้แก่เด็กกำพร้า ซึ่งเป็นการทำตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมของยอร์ดานส์ที่ทิ้งไว้ แต่เอกสารที่ว่านี้ยังหาไม่พบ[4] แม้ว่าจะยังไม่พบพินัยกรรมของยอร์ดานส์ แต่ความเป็นผู้มีใจกว้างของยอร์ดานส์ก็เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่คนที่รู้จักที่ทำให้การมอบภาพนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ในบั้นปลายอาชีพของยอร์ดานส์ระหว่าง ค.ศ. 1652 ถึง ค.ศ. 1678 ความสร้างสรรค์ทางศิลปะของยอร์ดานส์เริ่มลดถอยลง ยอร์ดานส์เปลี่ยนจากการใช้สีที่สดใสไปใช้สีทึมและเทา-น้ำเงิน และเน้นด้วยสีน้ำตาลหม่นมากขึ้น และใช้สีที่บางมากจนเห็นผิวผ้าใบ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่นภาพเขียนทางศาสนาหลังจากที่เปลี่ยนไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ชิ้นที่เด่นที่สุดก็ได้แก่ "ประวัติของไซคี" ที่เขียนให้ตัวเอง[4]

งานเขียน

[แก้]

"การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ"

[แก้]

"การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ" (ค.ศ. 1616) เป็นภาพพระแม่มารีอเตรียมให้นมพระเยซูในขณะที่ชื่นชมโดยคนเลี้ยงแกะที่หน้าตาเหมือนชาวเฟลมิช ภาพนี้ประกอบด้วยบุคคลเพียงห้าคนแต่ละคน นอกจากพระบุตรแล้วก็ปรากฏเพียงครึ่งตัวซึ่งเป็นลักษณะการเขียนที่ทำให้ผู้ดูเพิ่มความรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น

ก่อนปี ค.ศ. 1616 ยอร์ดานส์มีความสนใจในการวาดอย่างสว่างและชัดเจนแบบจริตนิยม แต่ในภาพนี้ยอร์ดานส์ทดลองแต่การใช้แสงแทนที่ใช้สีเพื่อจะผสานตัวแบบในโครงร่างของภาพ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจในเทคนิคการเขียนของการาวัจโจ แหล่งหลักของแสงในภาพ "การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ" เป็นแสงเทียนที่ถือโดยนักบุญโจเซฟ ที่ชี้ให้เห็นอิทธิพลของอาดัม เอลสไฮเมอร์ (Adam Elsheimer) ผู้ที่เป็นที่ทราบกันว่านิยมการวางแหล่งแสงหลักกลางภาพ[4] อิทธิพลอีกอย่างหนึ่งของการาวัจโจก็อาจจะเป็นการวาดแบบเหมือนจริงที่ยอร์ดานส์ใช้ในการวาดภาพ "พระแม่มารีและพระบุตร" ที่เป็นภาพพื้นบ้านอย่างง่าย ๆ โดยมิได้พยายามทำให้สูงส่งหรือเป็นอุดมคติแต่อย่างใด[4]

ยอร์ดานส์เขียน "การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ" ราวหกฉบับและจะจัดหมู่คนในภาพให้ใกล้ชิดกันและตัดขอบนอกออก เพื่อที่จะบังคับให้ผู้ดูมุ่งตรงไปยังผู้ที่อยู่ในภาพ การจัดภาพเช่นนี้เป็นการทำให้เนื้อหาของภาพมีความหมายขึ้น และเป็นการทำให้เห็นความรู้สึกและอารมณ์ของแต่ละคนในภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

"แซเทอร์กับชาวนา"

[แก้]
"แซเทอร์กับชาวนา"
"ภาพเหมือนของตนเองกับภรรยาและลูกสาวเอลีซาเบต" ค.ศ. 1621-1622

"แซเทอร์กับชาวนา" (The Satyr and the Peasant) ยอร์ดานส์เขียนภาพเดียวกันนี้หลายครั้งซึ่งเป็นภาพที่สื่อคำสอนทางจริยธรรมจาก "นิทานอีสป" ที่เขียนในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศตวรรษในกรีซโบราณ เรื่องเริ่มด้วยขณะที่แซเทอร์คุยอยู่กับชายชาวนาคนหนึ่งตอนเช้าวันหนึ่งที่อากาศเย็น ขณะที่คุยกันไปชาวนาก็ยกมือขึ้นมาเป่า ด้วยความสงสัย แซเทอร์ก็ถามชาวนาถึงเหตุผล ชาวนาก็ตอบว่าเป่าเพราะทำให้มืออุ่น ต่อมาในวันเดียวกันแซเทอร์ก็มากินข้าวกับชาวนา ขณะที่กินข้าวด้วยกันชาวนาก็ตักอาหารร้อนขึ้นมาเป่า เมื่อแซเทอร์ถามชาวนาถึงเหตุผลชาวนาก็บอกว่าเป่าให้เย็นเพราะอาหารร้อนเกินกว่าที่จะกินเข้าไปได้ แซเทอร์จึงโต้ตอบชาวนาว่า "ฉันเป็นเพื่อนกับท่านไม่ได้แล้วแหละ กับผู้ที่ทั้งลมหายใจเดียวกันเป่าทั้งให้ร้อนและเป่าทั้งให้เย็น"[16] คำสอนทางจริยธรรมในเรื่องนี้ก็คือความเป็นสองหน้าของมนุษย์หรือความไม่น่าไว้วางใจของมนุษย์ แต่บางคนก็กล่าวว่าที่ยอร์ดานส์เลือกเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะมีความสนใจในคำสอนทางจริยธรรมของเรื่องแต่เพราะเป็นภาพที่ให้โอกาสในการวาดฉากชาวบ้าน[17]

ช่วงเวลาที่ยอร์ดานส์เลือกเขียนเป็นเวลาที่แซเทอร์ประกาศถึงความไม่ไว้วางใจต่อชาวนาที่มีความเป็นสองหน้า ขณะที่แซเทอร์พยุงตัวขึ้นพร้อมที่จะลุกและเดินออกจากบ้านของชาวนา ชาวนาเงยหน้าจากชามข้าวขึ้นดูแซเทอร์ผู้ผุนผลันลุกขึ้น[18] ฉากภายในกระท่อมชาวนาที่เต็มไปด้วยสัตว์ต่าง ๆ วัว, หมา, แมว และไก่โต้งรอบโต๊ะและตัวแบบ ผู้คนในภาพก็ต่างวัยกันเด็กเล็กยืนอยู่หลังชาวนา หญิงแก่นั่งอุ้มเด็กอยู่ข้าง ๆ ขณะที่หญิงที่มีอายุอ่อนกว่ามองข้ามไหล่แซเทอร์

ลักษณะงานเขียนของยอร์ดานส์คือการดึงตัวแบบมารวมแน่นกันอยู่หน้าภาพในบริเวณที่แคบ นอกจากนั้นก็ยังใช้แสงเงาที่ตัดกันอย่างคมจัดเพื่อสร้างแสงให้มีความเป็นนาฏกรรม และใช้แสงส่องตัวแบบบางตัวที่ต้องการเช่นเด็กในตักหญิงแก่ ยอร์ดานส์สร้างความเป็นธรรมชาติโดยการวาดรายละเอียดเช่นเท้าที่สกปรกของชาวนาที่นั่งอยู่ด้านหน้าของภาพที่เป็นการเชื่อมกับแนวโน้มในการเขียนแบบการาวัจโจในงานเขียนของจิตรกรเฟลมมิชในยุคนั้น ยอร์ดานส์เขียนฉากนี้สองภาพราว ค.ศ. 1620 ถึง ค.ศ. 1621[18] ในฉบับนี้ดูเหมือนว่ายอร์ดานส์จะใช้สตรีคนเดียวกับภาพ "การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ" และเชื่อกันว่ายอร์ดานส์ใช้ภาพนี้ในการสอนการเขียนภาพแก่ลูกศิษย์ ภาพนี้มีอีกหลายฉบับที่มีลักษณะเดียวกันแต่ไม่มีตราของยอร์ดานส์[19]

"ภาพเหมือนของตนเองกับภรรยาและลูกสาวเอลีซาเบต"

[แก้]

ในภาพ "ภาพเหมือนของตนเองกับภรรยาและลูกสาวเอลีซาเบต" ซึ่งเป็นภาพของยอร์ดานส์กับภรรยากาตารีนา ฟัน โนร์ต และลูกสาวคนโตเอลีซาเบต เป็นภาพที่สันนิษฐานกันว่าเขียนระหว่างราว ค.ศ. 1621 ถึงราว ค.ศ. 1622 เพราะเอลีซาเบตดูเหมือนจะอายุราว 4 ขวบและเอลีซาเบตเกิดในปี ค.ศ. 1617[20] ทุกคนในภาพส่งสายตามายังผู้ชมภาพราวกับเชิญชวนให้เข้ามานั่งเป็นแบบด้วยกัน ยอร์ดานส์แสดง "ความรัก" ในภาพเหมือนของครอบครัวโดยการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ นอกไปจากสีหน้าของผู้นั่งในแบบและบรรยากาศ เช่นการใช้เถาวัลย์ที่เกี่ยวพันกันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถจะแยกกันได้ระหว่างสามีกับภรรยาเป็นต้น[20] เอลีซาเบตถือผลไม้อยู่ในมือซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและดอกไม้ในตะกร้าเป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์[20] ทางด้านบนซ้ายมีนกแก้วเกาะอยู่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ต่อกันระหว่างสามีกับภรรยา และหมาเป็นสัญลักษณ์ของความภักดีและความไว้วางใจ[20]

"นักบุญปีเตอร์พบเงิน"

[แก้]
"นักบุญปีเตอร์พบเงิน" ค.ศ. 1623
"ทารกจูปิเตอร์เลี้ยงโดยแพะแอมัลเทีย" ค.ศ. 1630-1635

"นักบุญปีเตอร์พบเงิน" (St. Peter Finding the Tribute Money) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1623 สำหรับผู้จ้างที่ไม่ทราบนามที่มาจากพระวรสารนักบุญแม็ทธิว 17: 24-27 ที่พระเยซูทรงสั่งให้ปีเตอร์ออกไปจับปลาเพื่อจะเอาเงินที่พบในปลาไปจ่ายค่าบำรุงวัดที่คาเพอร์เนียม (Capernaum) ภาพนี้เป็นภาพที่แน่นไปด้วยตัวแบบโดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกลางลำเรือ ปีเตอร์และสาวกอยู่ทางขวาของภาพ สาวกต่างก็จ้องไปทางปีเตอร์ผู้กำลังพยายามลากปลาขึ้นมาจากน้ำ ในภาพนี้ตัวแบบต่าง ๆ ในรูปต่างก็ยุ่งอยู่กับกิจการต่าง ๆ ต่อหน้าตนเอง ไม่มีใครสนใจผู้ดูนอกจากผู้ที่ถ่อเรือที่หันหน้ามาทางผู้ชมภาพ สีหน้าต่าง ๆ ของแต่ละคนเป็นผลมาจากการศึกษาการเขียนการแสดงออกของใบหน้าจากงานอื่น ๆ[21]

"การพลีชีพของนักบุญอะพอลโลเนีย"

[แก้]

วัดเซนต์ออกัสตินในแอนต์เวิร์ปมีฉากแท่นบูชาสามฉาก แต่ละฉากเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่โดยรือเบินส์, ฟัน ไดก์ และยอร์ดานส์ ทั้งสามภาพเขียนในปี ค.ศ. 1628[22] "พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญ" ของรือเบินส์เป็นฉากแท่นบูชาเอกตรงกลาง แท่นบูชาทางซ้ายเป็นภาพ "ความปิติสานต์ของนักบุญออกัสติน" โดยฟัน ไดก์ และทางขวาเป็นภาพ "การพลีชีพของนักบุญอะพอลโลเนีย" โดยยอร์ดานส์[22] ยอร์ดานส์เขียนนักบุญอะพอลโลเนียกระโดดเข้าไปในกองไฟแทนที่จะประกาศเลิกนับถือคริสต์ศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นภาพที่แน่นและเป็นนาฏกรรม จิตรกรทั้งสาม (รือเบินส์, ฟัน ไดก์ และยอร์ดานส์) เป็นจิตรกรบาโรกคนสำคัญที่สุดในแอนต์เวิร์ปในขณะนั้น การเขียนภาพทั้งสามนี้เป็นโอกาสเดียวที่จิตรกรทั้งสามทำงานร่วมกันในเวลาเดียวกันในวัดเซนต์ออกัสติน ภาพทั้งสามต่างก็เป็นหัวข้อที่มีความสัมพันธ์กัน[22] งานของรือเบินส์เป็นภาพพระแม่มารีล้อมรอบด้วยนักบุญ ของฟัน ไดก์ และยอร์ดานส์ต่างก็เขียนนักบุญที่ช่วยเป็นกรอบให้ภาพกลางของรือเบินส์ ภาพเขียนของนักบุญของฟัน ไดก์ และยอร์ดานส์เป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมเพิ่มความใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระเจ้าและสวรรค์โดยการเป็นสมถะของการใช้ชีวิตเช่นนักบุญออกัสตินหรือโดยการเสียสละเช่นนักบุญอะพอลโลเนีย[22]

"ทารกจูปิเตอร์เลี้ยงโดยแพะแอมัลเทีย"

[แก้]

ภาพ "ทารกจูปิเตอร์เลี้ยงโดยแพะแอมัลเทีย" (The Infant Jupiter Fed by the Goat Amalthea) (ค.ศ. 1630-1635) เป็นภาพที่ใช้ฉากภูมิทัศน์ ส่วนสำคัญของภาพคือร่างที่เปลือยเปล่าของนิมฟ์แอนดรัสเทีย (Andrastea) ที่ตัดกับสีหนักอื่น ๆ ของตัวแบบในภาพ แอนดรัสเทียมีผ้าพาดบริเวณสะโพกนั่งบนผ้าปูสีแดงบนพื้น มือหนึ่งบีบนมจากเต้านมของแพะแอมัลเทียใส่จานที่รอรับข้างล่าง ทารกจูปิเตอร์นั่งอยู่ข้างหลังถือขวดที่ว่างเปล่าและทำท่าร้องขออาหาร แซเทอร์โบกกิ่งไม้แสดงท่าชวนเล่นทารกจูปิเตอร์อยู่ทางขวาของ ภาพพิมพ์ลายแกะต่อมาโดย Schelte a Bolswert ทำให้คำสอนทางจริยธรรมของภาพนี้กระจ่างขึ้น: ตามคำจารึกบนภาพพิมพ์ที่ว่านมแพะที่เลี้ยงจูปิเตอร์ทำให้จูปิเตอร์กลายเป็นเทพที่มีชื่อเสียงในเรื่องความมีสัมพันธ์กับเทพและสตรีต่าง ๆ[23]

"กษัตริย์เสวยน้ำจัณฑ์"

[แก้]
"กษัตริย์เสวยน้ำจัณฑ์" ราว ค.ศ. 1640
"ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม"

ยอร์ดานส์เขียนภาพนี้หลายครั้งรวมทั้งภาพหนึ่งที่เขียน ราว ค.ศ. 1640 ที่ตั้งอยู่ที่ราชพิพิธภัณฑ์ศิลปะในบรัสเซลส์ การฉลองอีพิฟานีย์ทำกันในวันที่ 6 มกราคม ในฟลานเดอส์ เป็นงานฉลองที่เต็มไปด้วยอาหาร, ไวน์ และความสนุกสนานที่ทำกันครอบครัว คนหนึ่งในการฉลองได้รับเลือกเป็น "กษัตริย์" ของคืนนั้นที่ยอร์ดานส์เขียนเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในห้อง[24] ยอร์ดานส์เขียนหัวเรื่องเดียวกันอีกหลายครั้ง ในภาพหนึ่งมีคนในภาพถึงสิบเจ็ดคนนั่งเบียดกันในภาพ อีกภาพหนึ่งเป็นภาพที่มีช่องว่างมากกว่า ภาพแสดงอารมณ์ที่สนุกสนานของผู้อยู่ในภาพจากสีหน้าท่าทางต่าง ๆ[24] จนเกือบจะเหมือนจะเกิดความทะเลาะกันอีกไม่นานนัก บ้างก็ตั้งท่าจะอาเจียนที่ดูน่าสมเพช ยอร์ดานส์ใช้ภาพเขียนในการแสดงความไม่ชอบความมึนเมาด้วยคำขวัญที่เขียนอยู่เหนือภาพว่า "ไม่มีอะไรที่เหมือนคนบ้าไปกว่าคนเมา"[25]

"ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม"

[แก้]

"ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม" (As the Old Sang, So the young Pipe) เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1638 ถึงปี ค.ศ. 1640 เป็นภาพคู่กับ "กษัตริย์เสวยน้ำจัณฑ์" (พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์, ปารีส) ภาพเขียนทั้งสองภาพเป็นภาพที่แฝงคำสอนทางจริยธรรม และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายกันมาก[26] ภาพ "ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม" แสดงบุคคลสามชั่วคนที่เป็นชาวแอนต์เวิร์ปผู้มีอันจะกินนั่งรอบโต๊ะกินข้าวร้องเพลงด้วยกัน ภาพลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันในบรรดาลูกค้าของยอร์ดานส์ ที่ยอร์ดานส์เขียนหลายครั้ง ในภาพนี้ยอร์ดานส์เขียนภาพของฟัน โนร์ต (พ่อตา) เป็นชายสูงอายุ ในภาพลักษณะนี้ผู้สูงอายุมักจะเป็นผู้นำในการร้องเพลงโดยมีผู้มีอายุน้อยกว่าและเด็กร้องตาม[26] ชื่อภาพมาจากสุภาษิตจากหนังสือ "Spiegel van den Ouden ende Nieuwen Tijdt" ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมที่พิมพ์โดยยาโกบ กัตส์ในปี ค.ศ. 1632 กัตส์ผู้ถือลัทธิกาลแว็งแปลสุภาษิตเป็นคำสอนทางจริยธรรมสำหรับให้พ่อแม่ใช้สั่งสอนลูก[26] ในภาพนี้ยอร์ดานส์ทั้งสื่อคำสอนทางจริยธรรมและแสดงให้เห็นว่าชนรุ่นเด็กจะเติบโตขึ้นมาแทนที่ชนรุ่นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ นกฮูกในภาพที่เกาะบนเก้าอี้ของสตรีสูงอายุเป็นสัญลักษณ์ที่เตือนถึงความตายที่จะมาถึง[26]

"โพรมีเทียส"

[แก้]
ยาโกบ ยอร์ดานส์, "พันธนาการโพรมีเทียส" (ค.ศ. 1640) โคโลญ

ภาพเขียน "โพรมีเทียส" (ค.ศ. 1640) โดยยาโกบ ยอร์ดานส์เป็นภาพเขียนจากตำนานเทพของไททัน โพรมีเทียสที่ถูกเหยี่ยวจิกตับทุกวัน แต่วันรุ่งขึ้นตับโพรมีเทียสก็งอกขึ้นมาใหม่[27] โพรมีเทียสถูกลงโทษโดยซูสเพราะความบ้าบิ่นที่ไปขโมยไฟให้มนุษย์ ที่มิใช่เป็นแต่เพียงไฟในทางวัตถุแต่เป็น "ไฟแห่งเหตุผล" ซึ่งอาจจะหมายถึงไฟของความสามารถของมนุษย์ในการสร้างศิลปะและการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์[27] การวางภาพ "โพรมีเทียส" ของยอร์ดานส์ก็คล้ายกับของรือเบินส์ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของเหยี่ยว, โพรมีเทียสตาแดงหงายหลังอย่างวีรบุรุษ และการใช้การลงโทษหรือความเจ็บที่เห็นจากร่างกายที่บิดเบี้ยวซึ่งเป็นหัวใจของลักษณะการเขียนของฉบับของรือเบินส์[28]

แต่ความแตกต่างอยู่ที่เฮอร์มีส ที่ดูเหมือนจะให้ความหวังบ้างเล็กน้อยกว่าภาพอื่น ๆ ที่เขียนกันมาที่เฮอร์มีสจะช่วยปล่อยโพรมีเทียส[29] การวาดถุงกระดูกและรูปปั้นดินเผาที่เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างมนุษย์ก็มิได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เขียนโดยรือเบินส์[29] อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันคือความเจ็บปวดทรมานที่เห็นได้จากสีหน้าของโพรมีเทียสของยอร์ดานส์ ที่รือเบินส์เพียงแต่แสดงเป็นนัยจากร่างที่บิดของโพรมีเทียส ใบหน้าของโพรมีเทียสเป็นการศึกษาการวาดการแสดงสีหน้าของยอร์ดานส์ที่เห็นได้จากการเขียนภาพอื่น ๆ ของยอร์ดานส์เองและของศิลปินคนอื่นในยุคเดียวกัน

"ฝันร้าย"

[แก้]

"ฝันร้าย" (Night Vision) เป็นภาพของชายหนุ่มที่ได้รับความทรมานจากการปรากฏของหญิงเปลือย ทางด้านซ้ายของภาพเป็นหญิงชราและหญิงสาวแง้มประตูแอบมองเข้ามา ห้องสว่างด้วยแสงเทียน ดูเหมือนว่าทั้งสองคนจะตกใจกับภาพที่เห็น ยอร์ดานส์เน้นความเป็นความชั่วคราวของสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการให้สิ่งที่เห็นในภาพเด่นจากฉากหลังที่มืด โดยการที่เด็กหนุ่มทำหม้อทองแดงและแท่นเทียนล้มลงมาอยู่ในฉากหน้าของภาพ นอกจากนั้นก็ยังเขียนรายละเอียดของเนื้อผ้า ยอร์ดานส์สร้างความรู้สึกว่ามีลมโบกอยู่ในห้องที่เห็นจากผ้าขาวที่ถือโดยสตรีที่มาปรากฏ และเสื้อผ้าสีแดงที่ดูไหวของหญิงชรา

เออร์วิน บีลเลอเฟลด์เสนอว่าน่าจะเป็นภาพที่เขียนจากเรื่องที่เขียนโดยนักเขียนกรีก Phlegon of Tralles สำหรับจักรพรรดิเฮเดรียน ที่ยอร์ดานส์อาจจะอ่านจากบทแปลหรืออาจจะเขียนจากฉบับที่เขียนในสมัยใกล้เคียงกันเช่นจาก "Die Braut von Korinth" โดยโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ[30] เรื่องโบราณเป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อมาร์คีตผู้ไปพำนักอยู่กับคู่สามีภรรยาผู้มีฐานะดี ตอนกลางคืนขณะที่มาร์คีตกำลังนอนอยู่ก็ฝันถึงฟิลินิออนลูกสาวของคู่สามีภรรยาที่ตายไปแล้ว มาร์คีตฉวยชายผ้าที่ห่อร่างของฟิลินิออนผู้แปลงมาในร่างของแวมไพร์ที่ขอสมสู่กับมาร์คีต ชาริโตแม่ของฟิลินิออนถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียงในห้องของมาร์คีตก็ไปตามคนใช้มาที่ห้องเพื่อจะสำรวจว่ามีอะไรเกิดขึ้น เมื่อมาเห็นฟิลินิออนเข้าก็เกิดความตกใจ[31] "ฝันร้าย" ของยอร์ดานส์เป็นภาพที่เขียนตรงกับคำบรรยายทุกอย่างในเรื่องของ Phlegon of Tralles และแสดงภาพตอนจุดสุดยอดของเรื่อง ภาพนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลหลายอย่างที่ยอร์ดานส์ได้รับ เช่นการใช้แสงเทียนเป็นแสงหลักที่ได้มาจากงานของเอลส์ไฮเมอร์และการใช้การวาดความสว่างในความมืดจากการาวัจโจ[32]

"ตำนานของคิวปิดและไซคี"

[แก้]

ในช่วงระยะเวลาระหว่าง ค.ศ. 1639 ถึง ค.ศ. 1640 ยอร์ดานส์ได้รับงานจ้างให้เขียนภาพชุดให้แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยบัลตาซาร์ เคอร์เบียร์ ผู้เป็นตัวแทนของพระองค์ในบรัสเซลส์ และเซซาเร อาเลสซานโดร สกาลยา นักการทูตที่พำนักอยู่ในแอนต์เวิร์ป ภาพชุดนี้มีด้วยกัน 22 ภาพที่แสดง "ตำนานของคิวปิดและไซคี" (ค.ศ. 1640-41)[33] ขณะที่งานเขียนเป็นงานสำหรับตั้งแสดงที่ตำหนักของพระราชินีที่กรีนิช แต่ยอร์ดานส์ไม่ทราบว่าผู้จ้างเป็นใคร[34] เมื่อยอร์ดานส์เสนอแบบให้แก่คนกลางผู้เป็นตัวแทนของราชสำนักอังกฤษ, เคอร์เบียร์ก็พยายามถวายคำแนะนำว่ารือเบินส์จะเป็นผู้เหมาะกับโครงการมากว่า[35] แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะรือเบินส์มาเสียชีวิตเสียก่อนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1640 เมื่อรือเบินส์เสียชีวิตแล้วยอร์ดานส์ก็ได้รับสัญญาการเขียนภาพทั้งหมด[36] แต่งานก็ก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้าและในปีต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1641 โครงการการเขียนภาพชุด "ตำนานของคิวปิดและไซคี" ก็ต้องมาหยุดชงักลงเมื่อสกาลยาเสียชีวิต ยอร์ดานส์ไม่ได้ทำโครงการเสร็จมีเพียงแปดภาพเท่านั้นที่ส่งไปถึงอังกฤษ และมีเรื่องมีราวกันเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างจากทายาทของสกาลยาจนถึงรุ่นลูกของยอร์ดานส์[33]

อีกชุดหนึ่งของภาพชุด "ตำนานของคิวปิดและไซคี" แขวนในบ้านของยอร์ดานส์ในแอนต์เวิร์ป อย่างน้อยก็เก้าภาพที่แขวนบนเพดานของซาลอนทางปีกใต้ของบ้าน โดยมีไซคีเข้าเฝ้าพระเจ้าเป็นภาพหลัก ภาพในชุดนี้ก็มี "พ่อของไซคีถามออราเคิลในวัดอะพอลโล", "ความรักของคิวปิดและไซคี", "ความอยากรู้อยากเห็นของไซคี", "คิวปิดหนี", และ "ไซคีเข้าเฝ้าพระเจ้า" ภาพบนเพดานเป็นภาพ "ลักษณะกินตา" (foreshortening) ทั้งสิ้นเมื่อมองจากข้างล่าง และการใช้ทัศนมิติมาจากงานเขียนของรือเบินส์บนเพดานวัดเยซูอิดในแอนต์เวิร์ปโดยตรง ภาพเขียนดูได้จาก octagonal 'aperture' frame[37] จากการสำรวจทรัพย์สินที่ทิ้งเอาไว้ของหลานของยอร์ดานส์ ภาพชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่ขายในปี ค.ศ. 1708

"ครอบครัวพระเยซูและผู้อื่นกับสัตว์ต่าง ๆ ในเรือ"

[แก้]

ลักษณะงานของยอร์ดานส์ระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษจะเห็นได้จากภาพ "ครอบครัวพระเยซูและผู้อื่นกับสัตว์ต่าง ๆ ในเรือ" (The Holy Family with Various Persons and Animals in a Boat) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1652 ขณะนั้นยอร์ดานส์มีอายุเกือบห้าสิบปีแล้ว งานเขียนในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่เขียนโดยผู้ช่วยภายใต้การดำเนินงานของยอร์ดานส์ และผลงานก็เริ่มลดน้อยลง ในภาพนี้ยอร์ดานส์ใช้คนในรูปเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้เป็นงานหนักสำหรับผู้สูงอายุ สีที่ใช้เป็นสีที่เรียบออกไปทางเทาน้ำเงินและน้ำตาล ท่าทางการวางท่าของแบบในรูปสำรวมขณะที่ร่างมีลักษณะเป็นเหลี่ยม[38]

"ชัยชนะของเฟรเดอริก แฮ็นดริก"

[แก้]
"ชัยชนะของเฟรเดอริก แฮ็นดริก" (ค.ศ. 1651)

"ชัยชนะของเฟรเดอริก แฮ็นดริก" (The Triumph of Frederik Hendrik) เขียนในปี ค.ศ. 1651 เป็นภาพของคนกว่าห้าสิบคนล้อมรอบเจ้าชายเฟรเดอริก แฮ็นดริก และพระญาติ ที่เขียนเพื่อเป็นเกียรติแก่เฟรเดอริก แฮ็นดริก เจ้าชายแห่งออเรนจ์ และเป็นภาพที่จ้างโดยพระชายาอามาเลียแห่งซ็อลมส์ อามาเลียจ้างให้เขียนงานเพื่อเป็นเกียรติแก่เฟรเดอริก แฮ็นดริกที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1647 การสร้างงานเขียนประเภทนี้เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้นเพื่อที่จะแสดงความกล้าหาญและเป็นการสรรเสริญผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว[39] แทนที่จะบรรยายเหตุการณ์โดยใช้ภาพหรือรูปสัญลักษณ์ตามปกติ ยอร์ดานส์ใช้อุปมานิทัศน์โดยให้เฟรเดอริก แฮ็นดริกนั่งบนบัลลังก์ที่เป็นการแสดงความเป็นวีรบุรุษและเป็นผู้ทรงคุณธรรม[40] ภาพนี้ตั้งแสดงในห้องส้มที่เฮยส์เตินบอส (Huis ten Bosch, "บ้านในป่า") ซึ่งเป็นที่ประทับนอกเมืองของอามาเลีย ยอร์ดานส์ได้รับเลือกให้เป็นผู้เขียนเพราะเป็นจิตรกรคนสำคัญหนึ่งในสามคนของฟลานเดอส์ (อีกสองคนคือเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ และอันโตนี ฟัน ไดก์)[39]

ในภาพนี้เฟรเดอริก แฮ็นดริกอย่างเทพบนรถม้าแห่งชัยชนะ และแสดงความเป็นผู้ที่นำมาซึ่งความสงบและความอุดมสมบูรณ์ที่เห็นได้จากช่อมะกอกและกรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์[1] เหนือพระเศียรของเฟรเดอริก ทั้งสองข้างของภาพเป็นภาพเหมือนของผู้ถือสิ่งต่าง ๆ จากทั้งหมู่เกาะอินเดียตะวันออกและตะวันตก ที่ทำให้มีความรู้สึกว่าเฟรเดริคเป็นบุคคลสำคัญผู้เดียวที่มีนำมาซึ่งชัยชนะทางทหารและความมั่งคั่งอันล้นเหลือของสาธารณรัฐ[40] ภาพ "ชัยชนะของเฟรเดอริก แฮ็นดริก" เป็นภาพที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก แม้แต่นักวิชาการปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ยอร์ดานส์ใช้ในภาพ และยังเห็นกันว่าเป็นภาพที่ยากที่จะตีความหมาย แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ยากที่จะทราบว่าความหมายหลักที่ยอร์ดานส์ต้องการจะสื่อ[41]

"ตาของเจ้าของทำให้ม้าดูอ้วน"

[แก้]

ยอร์ดานส์มักจะวาดภาพจากสุภาษิตโดยใช้ตัวแบบในภาพในการสื่อความหมายของสุภาษิตซึ่งมักจะเป็นคำเตือนอย่างใดอย่างหนึ่ง วิธีนี้เป็นการง่ายที่จะเปรียบเทียบงานของยอร์ดานส์กับงานของเปียร์เตอร์ เบรอเคิลที่มักจะเขียนจากสุภาษิตเช่นกัน ยอร์ดานส์เห็นว่าเป็นวิธีที่สะดวกในการแสดงถึงความโง่และความผิดพลาดของมนุษย์ และมักจะใช้สุภาษิตที่สื่อความหมายในการมองโลกในแง่ดี ยอร์ดานส์มักจะใช้ตัวแบบในการอธิบายความหมายของสุภาษิตไม่ว่าจะอย่างตรงไปตรงมาหรือเป็นนัยยะ เช่นในภาพ "ตาของเจ้าของทำให้ม้าดูอ้วน" (The Eye of the Master Makes the Horse Fat) ที่เป็นภาพม้ายืนอยู่ท่ามกลางความมั่งคั่งซึ่งเป็นการแสดงถึงการบริหารจัดการที่ดี ยอร์ดานส์ใส่เทพเมอร์คิวรีที่มีอิทธิพลต่อม้า[42]

ออกแบบพรมแขวนผนัง

[แก้]
"ในครัว" เป็นร่างสำหรับพรมแขวนผนัง

ร่างภาพ "ในครัว" (Interior of a Kitchen) เป็นงานร่างชิ้นสำคัญที่สุดในบรรดางานร่างออกแบบมากมายสำหรับพรมแขวนผนังที่ยอร์ดานส์เขียน พรมแขวนผนังเป็นงานที่มีค่าตลอดสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและบาโรก พรมแขวนผนังผืนใหญ่ ๆ เริ่มปรากฏบนผนังของเจ้านายหรือขุนนางผู้มั่งคั่งในยุโรปในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 [43] ผู้อุปถัมภ์งานมักจะจ้างจิตรกรเช่นยาโกบ ยอร์ดานส์, เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ และปีเอโตร ดา กอร์โตนา ให้แสดงผู้อุปถัมภ์ในผืนพรมในรูปของบุคคลสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์หรือตำนานเทพเพื่อเป็นการยกย่องตนเอง[44] ยอร์ดานส์ประสบความสำเร็จในการออกแบบพรมทอแขวนผนังเป็นอย่างมาก ที่ทำให้ได้รับงานจากหลายงานในการสร้างพรมชุดต่าง ๆ และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการออกแบบพรมทอแขวนผนังคนหนึ่งในยุคนั้น[45]

กระบวนการในการออกแบบของยอร์ดานส์ก็เริ่มด้วยการวาดภาพร่างขนาดเล็กของแบบที่จะให้ทอโดยใช้สีน้ำ แม้ว่าบางงานจะใช้สีน้ำมัน งานร่างส่วนใหญ่เขียนบนกระดาษหรือต่อมาบนผืนผ้าใบโดยตรง[46] ต่อมาก็จะขยายภาพร่างให้ใหญ่ขึ้นและเพิ่มรายละเอียดเพื่อใช้เป็นแบบตัวอย่าง (Modello) สำหรับขนาดเต็มที่ช่างทอใช้เป็นแบบในการทอพรมจริง งานพรมแขวนผนังของยอร์ดานส์เป็นงานที่ทำให้ชนชั้นเจ้านายที่ถือว่าเป็นสิ่งมีค่าที่ต้องนำติดตัวไปด้วยในการเดินทางหรือไปศึกสงครามเพราะถือว่าเป็นเครื่องแสดงฐานะและศักดิ์ศรี[47] หัวเรื่องที่ยอร์ดานส์ทำก็แตกต่างกันไปที่รวมทั้งตำนานเทพ ประวัติศาสตร์ หรือชีวิตชนบท[48] ข้อที่น่าสังเกตในงานพรมของยอร์ดานส์คือจะแน่นไปด้วยผู้คนที่เป็นผลให้ออกมาเป็น "ภาพทอ" (woven picture) ซึ่งก็เป็นลักษณะการเขียนจิตรกรรมชีวิตประจำวันที่เขียนบนผืนผ้าใบ[49]

ภาพร่างสำหรับพรมแขวนผนัง "ในครัว" เป็นตัวอย่างของงานร่างที่ใช้หมึกสีน้ำตาลและทาสีบนชอล์กสีดำบนกระดาษเพื่อวาดภาพนิ่งบนโต๊ะและแสดงให้เห็นการจัดผู้ที่อยู่ในภาพ พรมที่ทอออกมาเปลี่ยนไปจากแบบที่ออกบ้างแต่ก็เป็นลักษณะเดียวกับแบบที่ออกซึ่งนำมาจากการวาดภาพนิ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของฟรันส์ ชไนเดอส์ จิตรกรจากแอนต์เวิร์ป[50]

การวาดเส้น

[แก้]

นอกไปจากความสามารถในงานจิตรกรรมและการออกแบบพรมแขวนผนังแล้วยอร์ดานส์ก็ยังมีความสามารถในการวาดเส้น ที่จะเห็นได้จากงาน 450 ชิ้นที่กล่าวว่าเขียนโดยยอร์ดานส์ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่างานทั้งหมดเป็นของยอร์ดานส์หรือไม่หรือบางส่วนเป็นของรือเบินส์เพราะลักษณะงานเขียนของจิตรกรสองคนนี้มีความคล้ายคลึงกัน ยอร์ดานส์และจิตรกรร่วมสมัยนิยมวิธีแบบเฟลมิชที่มีแนวโน้มในการสร้าง, ขยาย และเพิ่มเติมร่างที่เตรียมไว้สำหรับงานเขียนใหญ่เพื่อที่จะเพิ่มความหมายและการสื่อความหมายของภาพให้มากยิ่งขึ้น ในฐานะจิตรกรภาพร่าง ยอร์ดานส์มักจะใช้สีน้ำทึบในการเตรียมภาพร่างและเป็นผู้ที่มีความประหยัดในการใช้กระดาษที่จะไม่ลังเลที่จะเติมแถบกระดาษหรือตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกไป หรือแปะบนร่างที่ทำไว้แล้วเพื่อแก้และได้ผลตามที่ต้องการ[4]

"อุปมานิทัศน์ของเดือนเมษายน"

[แก้]

หัวเรื่องของภาพนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานาน การวางสตรีเปลือยบนหลังวัดอาจจะเป็นนัยยะถึงเรื่องการข่มขืนยูโรปา โดยยูโรปาเป็นสตรีเปลือยและเทพจูปิเตอร์ในร่างของวัว ข้อถกเถียงอีกข้อหนึ่งคือหัวเรื่องที่เขียนที่อาจจะเป็นอุปมานิทัศน์ของเดือนเมษายน ถ้าเป็นอย่างหลังวัวก็จะเป็นสัญลักษณ์ของราศีพฤษภ ขณะที่สตรีถือช่อดอกไม้เป็นเทพีฟลอราผู้เป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ผู้ที่มากับเทพีฟลอราน่าจะเป็นเทพซีรีสและเทพไซเรนัส (Silenus) ผู้เป็นครูและที่ปรึกษาของเทพแบ็กคัส[51]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 d'Hulst, pp. 23
  2. d'Hulst, pp. 24–25.
  3. d'Hulst, p. 26–27.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 d'Hulst (2001)
  5. 5.0 5.1 d'Hulst p. 23
  6. d'Hulst (1993), 23
  7. Nelson, 4.
  8. d'Hulst (1993), p.25-26
  9. Nelson
  10. Rooses, p245
  11. d'Hulst (1993)
  12. 12.0 12.1 Belkin,334
  13. d'Hulst (1993), p. 24
  14. Belkin, p. 334
  15. 15.0 15.1 Vieghe, 262.
  16. Aesop
  17. Rooses (1908), p19
  18. 18.0 18.1 d'Hulst (1993), 16
  19. Rooses (1908), p23
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 d'Hulst (1993), 118
  21. d'Hulst (1993), p.114
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 d'Hulst (1993), p. 134
  23. d’Hulst (1993), p.154.
  24. 24.0 24.1 d'Hulst (1993), p. 196.
  25. d'Hulst (1993), p. 198
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 d'Hulst (1993), p. 182
  27. 27.0 27.1 d'Hulst (1993), p. 184
  28. d'Hulst (1993), p. 184,186
  29. 29.0 29.1 d'Hulst (1993), p. 186
  30. Bielefeld, 178.
  31. Bielefeld, 177.
  32. d'Hulst, 83.
  33. 33.0 33.1 d’Hulst, 26.
  34. d’Hulst, 10, 26.
  35. d’Hulst, 10.
  36. d’Hulst, 26
  37. Belkins, 260.
  38. d'Hulst (1993), p. 6
  39. 39.0 39.1 Rosenberg, p. 232-233
  40. 40.0 40.1 Westermann, p. 39
  41. Rosenberg, p. 233
  42. Westermann, p.
  43. Nelson,6
  44. Nelson, 6
  45. Hulst, 24-25
  46. Nelson, 7
  47. Nelson,12
  48. Nelson,15
  49. Nelson, 16
  50. Nelson, 90
  51. Held, 443.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยาโกบ ยอร์ดานส์

ระเบียงภาพ

[แก้]