ข้ามไปเนื้อหา

จันทรุปราคาเต็มดวง ธันวาคม พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จันทรุปราคา 20.28 น. UTC ถ่ายจากรัฐฟลอริดา

จันทรุปราคาเต็มดวง ธันวาคม พ.ศ. 2553 เกิดขึ้นระหว่างเวลา 5.27 น. ถึง 11.06 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัดของวันที่ 21 ธันวาคม วันเดียวกับที่เกิดอายันธันวาคม สังเกตเห็นได้จากโลกบริเวณทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้

การเกิด

[แก้]

จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งดังกล่าวถือว่าเป็นจันทรุปราคาครั้งแรกในรอบเกือบสามปี นับตั้งแต่จันทรุปราคาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[1] และเป็นจันทรุปราคาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2553 โดยครั้งแรกเป็นจันทรุปราคาบางส่วนที่เกิดในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553[2]

จันทรุปราคาครั้งดังกล่าวยังเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นตรงกับเหมายันซีกโลกเหนือ (ครีษมายันซีกโลกใต้) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2181 นับเป็นครั้งที่สองหากนับในศักราชกลาง[3][4]

อุปราคาที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

จันทรุปราคาครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบัพขาลงของวงโคจรดวงจันทร์ จันทรุปราคามักจะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับสุริยุปราคา สองสัปดาห์ก่อนหรือหลังวันจันทร์ดับในบัพตรงกันข้าม ในกรณีนี้ อุปราคาครั้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนหน้าสุริยุปราคาบางส่วนในช่วงบัพขาขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทวีปยุโรป แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตก

จันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกสองครั้งจะเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงทั้งคู่ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 และ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในมายันธันวาคม เป็นอุปราคาคู่แฝดเมตอน จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2572 หนึ่งวันก่อนหน้ามายัน

การมองเห็น

[แก้]

ในทวีปอเมริกาเหนือ จันทรุปราคาครั้งนี้สามารถมองเห็นได้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ตั้งแต่เวลา 0.27 น. ถึง 6.06 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก ในเขตเวลามาตรฐานกลางและตะวันตก จันทรุปราคาดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 20 ธันวาคม ผู้สังเกตตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้พลาดโอกาสที่จะเห็นช่วงท้าย ๆ ของอุปราคา เนื่องจากดวงจันทร์ได้ลับขอบฟ้าไปก่อนที่อุปราคาจะสิ้นสุด[5]

เช่นเดียวกับในหลายประเทศในทวีปยุโรปและแอฟริกาซึ่งพลาดโอกาสจะเห็นอุปราคาจนจบเนื่องจากดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปก่อน ในทวีปยุโรป มีเพียงผู้สังเกตในสแกนดิเนเวียตอนเหนือ (รวมถึงประเทศไอซ์แลนด์) สามารถมองเห็นจันทรุปราคาได้ทั้งหมด สำหรับผู้สังเกตในเอเชียตะวันออก ดวงจันทร์ได้ขึ้นจากขอบฟ้าในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาอยู่พอดี จันทรุปราคาครั้งนี้ไม่สามารถมองเห็นได้จากแอฟริกาใต้และตะวันออก ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถมองเห็นจุดสิ้นสุดของจันทรุปราคาได้ โดยดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป ในฟิลิปปินส์ สามารถมองเห็นจันทรุปราคาบางส่วนได้ไม่นานหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน[5]

มีการทำนายว่าจันทรุปราคาดังกล่าวอาจมีสีส้มหรือแดงผิดปกติ เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟเมราปีในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Beatty, J. Kelly (2009-12-30). "Eclipses in 2010". Sky & Telescope. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  2. "Partial Lunar Eclipse on June 26, 2010". Timeanddate.com. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  3. "NASA Science News: Solstice Lunar Eclipse". Science.nasa.gov. 2010-12-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-20. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  4. "Lunar eclipse, winter solstice to coincide". Cbc.ca. 2010-12-17. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  5. 5.0 5.1 "What Time is the Lunar Eclipse 2010 Tonight?". City State Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  6. A historic eclipse: Volcano will tint the moon in rare Dec. 21 celestial dance เก็บถาวร 2012-07-29 ที่ archive.today by Chris Roberts, El Paso Times