ข้ามไปเนื้อหา

จัง จริงจิตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จัง จริงจิตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ประเทศสยาม
เสียชีวิต9 ธันวาคม พ.ศ. 2497 (57 ปี)

จัง จริงจิตร (23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2497) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังคนแรก[1][2][3]

ประวัติ

[แก้]

เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ที่ตำบลโคกขัน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรชายของนายหงวน และนางพริ้ม จริงจิตร

การศึกษาและการทำงาน

[แก้]

นายจังจบการศึกษาที่โรงเรียนตรังคภูมิ และเข้าศึกษาต่อระดับมัธยม ณ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำมณฑล จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และสอบได้ประโยคครูมูล (ครู ป.) จากนั้นจึงเข้ารับราชการเป็นครูระดับชั้นจัตวา เมื่อปี พ.ศ. 2458 ณ โรงเรียนตรังคภูมิ โรงเรียนเดิมที่เคยศึกษา จากนั้นเมื่อมีการย้ายเมืองไปตั้งใหม่ที่ตำบลทับเที่ยง จังจึงไปเป็นครูในโรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งใหม่ ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีก 1 ปี สอบไล่ได้ประโยคครูประถม และในปี พ.ศ. 2467 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 (ม.ศ.7)

จากนั้นได้ไปสอนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2469 และย้ายกลับไปสอนที่โรงเรียนวิเชียรมาตุในปีเดียวกันเพราะเป็นห่วงครอบครัว จากนั้นในปี พ.ศ. 2476 ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้เป็นธรรมการ (ศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

นายจัง จริงจิตร เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของชาวจังหวัดตรังในชื่อ "ครูจัง" และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง คนแรก จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย[4]

โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น จังได้มีผู้ช่วยหาเสียงคนสำคัญ คือ นางสาวกิมถ้วน จูห้อง (ถ้วน หลีกภัย ในเวลาต่อมา) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาว หลังเลือกตั้งจังก็ได้ตอบแทน น.ส.กิมถ้วน ด้วยการหาตลาดขายค้าหมากพลูส่งไปยังปีนัง ตามที่ น.ส.กิมถ้วน ร้องขอ[5]

ด้านครอบครัว

[แก้]

ด้านชีวิตครอบครัว จังได้สมรสกับ นางกี่ จริงจิตร (นามสกุลเดิม: เซ่งยี่) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 5 คน

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

ภายหลังจากการสิ้นสุดการเป็น ส.ส. แล้ว นายจังก็กลับไปรับราชการเป็นครูตามเดิม โดยใช้ชีวิตอย่างสมถะ และถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2497 สิริอายุได้ 57 ปี[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อาร์วายทีไนน์,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรก
  2. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร รายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
  3. 3.0 3.1 ผู้นำท้องถิ่น: ตรัง จากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก[ลิงก์เสีย]
  4. สารานุกรมรัฐศาสตร์ โดย จรูญ สุภาพ, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, (พ.ศ. 2531) หน้า 104
  5. กินอยู่เรียบง่าย สบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา โดย เริงศักดิ์ กำธร (พ.ศ. 2545) ISBN 974-85645-2-5