ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (ดักมาร์แห่งเดนมาร์ก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา
จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา
ในปี 1881
จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
ดำรงพระยศ13 มีนาคม 1881 – 1 พฤศจิกายน 1894
ราชาภิเษก27 พฤษภาคม 1883
พระราชสมภพเจ้าหญิงมารี โซฟี ฟรีเดอรีเคอ ดักมาร์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซอเนอปอร์-กลึคส์บวร์ค
26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847(1847-11-26)
พระราชวังสีเหลือง, โคเปเฮเกน, ประเทศเดนมาร์ก
สวรรคต13 ตุลาคม ค.ศ. 1928(1928-10-13) (80 ปี)
ฮวิดอร์, แคลมเพนปอร์, ประเทศเดนมาร์ก
ฝังพระศพ
คู่อภิเษกจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย (สมรส 1866; เสียชีวิต 1894)
พระราชบุตร
รายละเอียด
พระนามเต็ม
มารี โซฟี ฟรีเดอรีเคอ ดักมาร์
พระราชบิดาพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาลูอีเซอแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล
ศาสนารัสเซียออร์ทอดอกซ์
ก่อนหน้า ลูเทอแรน
ลายพระอภิไธย
ธรรมเนียมพระยศของ
จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (ดักมาร์แห่งเดนมาร์ก)
ตราประจำพระอิสริยยศ
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลHer Imperial Majesty
(ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับYour Imperial Majesty
(พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)

จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา (รัสเซีย: Maрия Фёлоровна, อักษรโรมัน: Mariya Fyodorovna; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847 – 13 ตุลาคม ค.ศ. 1928) พระอิสริยยศเมื่อแรกพระราชสมภพคือ เจ้าหญิงดักมาร์แห่งเดนมาร์ก เป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย ระหว่างปี 1881 ถึง 1894 ในฐานะพระมเหสีในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระองค์เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และลูอีเซอแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์คือ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 องค์พระประมุขรัสเซีย พระองค์สุดท้ายที่จักรพรรดินีทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าเป็นเวลาสิบปี หลังจากผู้ปฏิบัติการของพรรคบอลเชวิคลอบปลงพระชนม์จักรพรรดินิโคลัสและครอบครัวในปี 1918

ครอบครัว

[แก้]

เจ้าหญิงดักมาร์ ซึ่งมีพระนามเต็มว่า มารี โซฟี ฟรีเดอรีเคอ ดักมาร์ ทรงได้รับการขนานพระนามตามบรรพสตรีผู้หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าหญิงมารี โซฟี ฟรีเดอรีเคอแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล (ค.ศ. 1767 – ค.ศ. 1852) พระราชชนนีพันปีหลวงแห่งเดนมาร์ก ต่อมาไม่นานพระบิดาในเจ้าหญิงดักมาร์ทรงเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เดนมาร์ก ทั้งนี้เป็นเพราะสิทธิในการสืบราชสมบัติของพระชายา ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 เจ้าหญิงซึ่งประสูติในสายย่อยของรัฐเจ้าครองนครที่มีฐานะยากจน ทรงเข้ารับศีลจุ่มในลัทธิลูเธอรัน พระชนกของพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กเมื่อปี ค.ศ. 1863 หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 เนื่องมาจากความสัมพันธ์อันรุ่งโรจน์ของบรรดาพระราชโอรสและธิดากับพระราชวงศ์อื่นในทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นการอภิเษกสมรสหรือการครองราชสมบัติ ทำให้พระองค์มีพระราชสมัญญาว่า "พระสัสสุระแห่งยุโรป" (Father-in-law of Europe)

ตลอดช่วงพระชนม์ชีพ เจ้าหญิงดักมาร์ทรงเป็นที่รู้จักว่า มารีเยีย เฟโอโดรอฟนา (ในภาษารัสเซีย Мария Фёдоровна) ซึ่งเป็นพระนามที่พระองค์ทรงใช้เมื่อเข้ารีตในคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ก่อนการอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1866 กับจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในครอบครัวว่า "มินนี่" (Minnie)

เจ้าหญิงดักมาร์ หรือ มารีเยีย เฟโอโดรอฟนาเป็นพระขนิษฐาในเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระมเหสีในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่ช่วยอธิบายถึงความละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และ สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 8 ซึ่งเป็นพระเชษฐาพระองค์ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นพระภคินีในเจ้าหญิงไธรา ดัชเชสแห่งคัมบาลันด์อีกด้วย

เป็นคู่หมั้นสองหน สุดท้ายเป็นเจ้าสาว

[แก้]

การถือกำเนิดของอุดมคติเกี่ยวกับความชื่นชอบสิ่งซึ่งเป็นของสลาฟในจักรวรรดิรัสเซียทำให้จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซียทรงเสาะหาเจ้าสาวให้กับนีโคไล อะเลคซันโดรวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย ในประเทศอื่นนอกเหนือไปจากรัฐเยอรมันต่าง ๆ ที่ได้ถวายพระชายาให้กับจักรพรรดิรัสเซีย อย่างเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเป็นเวลานาน ในปี ค.ศ. 1864 แกรนด์ดยุกนีโคไล หรือ ซึ่งรู้จักในหมู่พระประยูรญาติว่า "นิกซา" เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์กและทรงหมั้นกับเจ้าหญิงดักมาร์ แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรค เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1865 ทั้งนี้ก่อนสิ้นพระชนม์ยังมีพระประสงค์ให้เจ้าหญิงทรงหมั้นกับแกรนด์ดยุกอะเลคซันดร์ ซึ่งต่อมาคือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระอนุชาแทน เจ้าหญิงดักมาร์ทรงเสียพระทัยมากเมื่อพระคู่หมั้นสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพระทัยสลายมากเมื่อเสด็จกลับสู่มาตุภูมิ พระประยูรญาติต่างทรงรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพของเจ้าหญิง พระองค์ทรงรู้สึกเกี่ยวพันกับประเทศรัสเซียและนึกถึงประเทศที่ยิ่งใหญ่อยู่ไกลโพ้นที่จะเป็นบ้านใหม่ของพระองค์ การสูญเสียครั้งใหญ่นี้ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพระชนกและชนนีของแกรนด์ดยุกนิโคไล และทรงได้รับพระราชหัตถเลขาจากจักรพรรดิอะเลคซันที่ 2 ซึ่งเนื้อความในนั้นเป็นคำปลอบใจจากพระจักรพรรดิ พระองค์ตรัสกับเจ้าหญิงด้วยความรักใคร่ว่าพระองค์ทรงหวังว่าเจ้าหญิงจะยังคงคิดว่าเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์รัสเซียอยู่[1] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1866 เมื่อแกรนด์ดยุกอะเลคซันดร์เสด็จเยือนประเทศเดนมาร์ก ทรงขออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงดักมาร์ ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในห้องของเจ้าหญิงเพื่อดูรูปต่าง ๆ ด้วยกัน[2]

แกรนด์ดัชเชสมารีเยียและแกรนด์ดยุกนิโคไล


เจ้าหญิงดักมาร์เสด็จออกจากประเทศเดนมาร์กเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1866 ขณะนั้นท่ามกลางฝูงชนที่ยืนรายล้อมท่าเรือส่งเสด็จได้มีฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ็นยืนเฝ้าส่งเสด็จอยู่ด้วย เขาได้เขียนลงในสมุดบันทึกว่า "เมื่อวานนี้ ที่ท่าเรือ ขณะเจ้าหญิงเสด็จผ่านหน้าข้าพเจ้า ก็ทรงหยุดยืนและจับมือของข้าพเจ้า นัยน์ตาสองข้างเต็มไปด้วยน้ำตา ช่างเป็นสาวน้อยที่น่าสงสารอะไรเช่นนี้ พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาและเห็นใจเจ้าหญิงด้วย เขาร่ำลือว่ามีราชสำนักอันงามสง่าในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก และครอบครัวของจักรพรรดินั้นดี แต่กระนั้นเจ้าหญิงยังคงต้องมุ่งหน้าไปยังประเทศที่ไม่ทรงคุ้นเคย ที่ซึ่งผู้คนแตกต่างและศาสนาก็แตกต่างเช่นกัน อีกทั้งจะไม่ทรงมีคนรู้จักอยู่ข้าง ๆ เลย"

เจ้าหญิงดักมาร์ทรงได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นที่เมืองครอนสตัดท์จากสมเด็จพระจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 และสมาชิกทุกพระองค์ในราชวงศ์รัสเซีย เจ้าหญิงทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็นแกรนด์ดัชเชสมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย งานพิธีราชาภิเษกสมรสอันหรูหราเกิดขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 28 ตุลาคม] ค.ศ. 1866 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก หลังจากคืนวันอภิเษกสมรส แกรนด์ดยุกอเล็กซานเดอร์ทรงเขียนเล่าในสมุดบันทึกว่า "เราถอดรองเท้าและชุดคลุมประดับด้วยเงินออก และสัมผัสร่างกายที่รักของเราอยู่ด้านข้าง เรารู้สึกยังไงน่ะหรือ เราไม่ปรารถนาที่จะพรรณนาลงในนี้ หลังจากนั้นเราสองคนก็คุยกันอยู่เป็นเวลานาน"[3] หลังจากงานเลี้ยงฉลองการอภิเษกสมรสทั้งหมดผ่านพ้นไป ทั้งสองพระองค์ก็ได้ย้ายไปยังพระราชวังอานิชคอฟ ในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งเป็นที่ประทับอีกต่อมา 15 ปี เมื่อมิได้เสด็จประพาสฤดูร้อนยังพระราชวังลิวาเดีย อันเป็นตำหนักฤดร้อนอยู่ในเมืองไครเมีย

พระราชบุตร

[แก้]

จักรพรรดิอะเลคซันดร์และจักรพรรดิมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย มีพระราชโอรสหกพระองค์และพระราชธิดาสองพระองค์[4] ดังนี้

จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาและพระราชวงศ์

ซาเรฟนา

[แก้]

แกรนด์ดัชเชสมารีเยีย เฟโอโดรอฟนามีพระสิริโฉมและเป็นที่ชื่นชอบ ในช่วงแรกพระองค์ทรงเริ่มเรียนรู้ภาษารัสเซียและทรงพยายามทำความเข้าใจกับชาวรัสเซีย พระองค์ไม่ค่อยทรงแทรกแซงการเมือง โดยมากโปรดที่จะให้เวลาและกำลังพระวรกายกับครอบครัว การกุศล และงานด้านสังคมสำหรับตำแหน่งของพระองค์ ทั้งนี้ยังมีข้อยกเว้นหนึ่งคือ ความไม่ชอบในด้านสงครามต่อประเทศเยอรมนี อันเนื่องมาจากการผนวกดินแดนของเดนมาร์กเข้าไปในจักรวรรดิเยอรมันที่สถาปนาขึ้นมาใหม่

จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย

[แก้]

ในตอนเช้าของวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1881 จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษา 62 พรรษา ทรงถูกปลงพระชนม์ในขณะเสด็จกลับมายังพระราชวังฤดูหนาวจากการตรวจแถวทหาร ต่อมาแกรนด์ดัชเชสมารีเยียได้ทรงบรรยายลงในสมุดบันทึกถึงความบาดเจ็บที่จักรพรรดิทรงได้รับเมื่อถูกนำกลับมายังพระราชวัง "พระเพลาทั้งสองข้างของพระองค์ถูกระเบิดอย่างรุนแรง และเปิดขึ้นมาถึงพระชานุ พระโลหิตไหลออกมามากมาย ประมาณครึ่งหนึ่งของฉลองพระบาทบู๊ตข้างขวา เหลืองแต่พระบาทขวาเพียงข้างเดียว"[5] จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 เสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา แม้ว่าประชาชนจะไม่รักใคร่ในจักรพรรดิองค์ใหม่ แต่ก็ชื่นชอบในสตรีหมายเลขหนึ่งองค์ใหม่อย่างมาก ดังที่บุคคลร่วมสมัยเดียวกับพระองค์กล่าวว่า "เป็นจักรพรรดินี อย่างแท้จริง" พระองค์เองทรงไม่พอพระทัยกับพระราชสถานะใหม่เท่าใดนัก ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ทรงเขียนว่า "ช่วงเวลาที่สุขและสงบที่สุดของเราหมดสิ้นลงแล้ว สันติสุขและความเงียบสงบมลายหายไปแล้ว ตอนนี้เราคงจะห่วงแต่เพียงซาชา (ซาชา คือพระนามลำลองที่ทรงเรียกสมเด็จพระราชสวามี จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3) เท่านั้น"[6]

จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยียทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1883 ณ พระราชวังเครมลิน ที่กรุงมอสโก เพียงก่อนงานพิธีบรมราชาภิเษก การสบคบคิดวางแผนร้ายครั้งใหญ่ก็ถูกเปิดโปง ซึ่งทำให้การเฉลิมฉลองเงียบเหงาหดหู่ แต่ก็ยังมีแขกเหรื่อจำนวนกว่าแปดพันคนมาร่วมพระราชพิธีอันงามเลิศนี้ เนื่องมาจากภัยอันตรายต่อจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยีย ภายหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายพลเชเรวิน ซึ่งเป็นหัวหน้าตำรวจรักษาความปลอดภัย ก็เร่งเร้าให้จักรพรรดิและครอบครัวเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังกัตชินา ซึ่งเป็นที่ประทับอันปลอดภัยมากกว่า โดยตั้งอยู่ 50 กิโลเมตรนอกกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก พระราชวังหลังใหญ่นี้มีห้องหับราวเก้าร้อยห้องและสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดินีนาถเยกาเจรีนาที่ 2 พระราชวงศ์โรมานอฟได้ให้ความสนใจกับคำแนะนำดังกล่าวนี้ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยียประทับอยู่ที่พระราชวังกัตชินาเป็นเวลาสิบสามปีและทรงเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาจนเจริญพระชนม์ในพระราชวังแห่งนี้ด้วย

ด้วยการคุ้มกันอย่างแน่นหนา จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยียเสด็จจากพระราชวังกัตชินาเป็นครั้งคราวเพื่อไปยังเมืองหลวงในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางพิธีการต่าง ๆ จักรพรรดินีทรงโปรดงานเลี้ยงเต้นรำและการพบปะสังสรรค์ในพระราชวังฤดูหนาวมาก แต่กระนั้นก็ยังสามารถจัดขึ้นในพระราชวังกัตชินา จักรพรรดิอะเลคซันดร์ทรงเคยร่วมสนุกกับนักดนตรี แม้ว่าภายหลังจะทรงส่งกลับทีละคร เมื่อสิ่งนี้ได้เกิดขึ้น จักรพรรดินีมารีเยียทรงทราบดีว่างานเลี้ยงได้สิ้นสุดลงแล้ว[7]

ในรัชสมัยของจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 กลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้พยายามวางแผนลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิในงานครบรอบหกปีการเสด็จสวรรคตของพระชนกนาถ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ ป้อมปีเตอร์และปอล มหาวิหารสุสานหลวงแห่งราชวงศ์โรมานอฟในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เหล่านักวางแผนก่อการร้ายได้ยัดระเบิดลงไว้ในไส้ข้างในของหนังสือเรียนที่พวกเขาตั้งใจจะขว้างใส่สมเด็จพระจักรพรรดิขณะเสด็จกลับจากมหาวิหาร อย่างไรก็ตาม ตำรวจลับรัสเซียได้เปิดโปงแผนการร้ายก่อนที่ถูกทำให้สำเร็จลุล่วง นักศึกษาจำนวนห้าคนถูกจับแขวนคอ รวมทั้งอะเลคซันดร์ อุลยานอฟ เขามีน้องชายที่มีพรสววรค์คนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดทางการเมืองในเชิงปฏิบัติดังเช่นพี่ชาย เด็กชายคนนั้นคือ วลาดิมีร์ เลนิน ซึ่งอีกหลายปีต่อมาได้ใช้เวลาส่วนมากกับขบวนการปฏิวัติใต้ดินอยู่ในทวีปยุโรปในการหล่อหลอมแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองที่เขาจะนำมาใช้ในประเทศรัสเซียหลังจากการกลับมาในปี ค.ศ. 1917 เพื่อล้างแค้นกับการตายของพี่ชาย

เมื่อเจ้าหญิงอเล็กซานดรา เจ้าหญิงแห่งเวลส ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระราชวังกัตชินาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1894 พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่ได้เห็นว่าพระพลานามัยของจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระกนิษฐภรรดาอ่อนแอลงมาก โดยทรงดูเหมือนเหี่ยวแห้งลง ความสดชื่นบนพระปรางและความสดใสร่าเริงได้จางหายไป ในตอนนั้นจักรพรรดินีทรงทราบนานแล้วว่าจักรพรรดิทรงพระประชวรและจะมีพระชนม์ชีพอยู่ได้อีกไม่นาน จึงได้ทรงหันความสนใจมาที่มกุฎราชกุมารนิโคลัส พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและอนาคตของพระราชวงศ์ซึ่งตอนนี้ขึ้นอยู่กับพระองค์ มกุฎราชกุมารนิโคลัสทรงหมายมั่นมานานที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอาลิกซ์แห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์ ทั้งจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยียไม่ทรงเห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสนี้ มกุฎราชกุมารนิโคลัส จึงทรงสรุปสถานการณ์ไว้ดังนี้ "เราอยากเดินไปสู่จุดหมายหนึ่ง แต่มันก็เห็นชัดว่าแม่อยากจะให้เราเดินไปอีกทาง ความฝันของเราคือวันหนึ่งจะแต่งงานกับอาลิกซ์"[8] ทั้งจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และจักรพรรดินีมารีเยียทรงมองว่าเจ้าหญิงอาลิกซ์ทรงขี้อายและแปลกประหลาดในบางครั้ง ทั้งสองพระองค์ยังทรงกังวลว่าเจ้าหญิงวัยดรุณีพระองค์นี้ขาดคุณสมบัติคู่ควรในการเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซียอีกด้วย พระชนกนาถและพระราชชนนีของมกุฎราชกุมารนิโคลาสทรงรู้จักกับเจ้าหญิงอาลิกซ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงมีความรูสึกว่าเจ้าหญิงทรงมีอารมณ์รุนแรงผิดปกติและไม่เต็มบาท [9] ทั้งสองพระองค์ทรงยอมให้มกุฎราชกุมารอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอาลิกซ์อย่างลังเลพระทัย

จักรพรรดินีพันปีหลวง

[แก้]

จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1894 ณ พระราชวังลิวาเดีย ที่ประทับตากอากาศบนแหลมไครเมีย ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา จักรพรรดินีมาเรียทรงเขียนลงในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ว่า "เราเสียใจและท้อใจอย่างที่สุด แต่เมื่อเราเห็นรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขและความสงบบนใบหน้าของเขาตามมานั้น มันก็ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น"[10] ในระยะเวลาที่ไม่สามารถปลอบโยนได้ของจักรพรรดินีมาเรีย เจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระเชษฐภคินีและเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) พระเชษฐภรรดา (พี่เขย) ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศรัสเซียในอีกไม่กี่วันต่อมา เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงวางกำหนดการพระราชพิธีพระบรมศพของจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 และพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสสำหรับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 องค์พระประมุขแห่งรัสเซียพระองค์ใหม่กับเจ้าหญิงอลิกซ์

เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ พระนัดดาเขยในจักรพรรดินีมารีเยีย ทรงบันทึกว่า พระองค์ทรงมีอิทธิพลอย่างมากในพระราชวงศ์ เซียร์เกย์ วิตต์ก็ได้ชื่นชมถึงไหวพริบปฏิภาณและทักษะทางการทูตของพระองค์ แต่กระนั้นพระองค์ทรงเข้ากับจักรพรรดินีอะเลคซันดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย พระสุณิสาได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทำให้ต้องทรงรับผิดชอบกับความเศร้าโศกที่ประดังเข้ามาในครอบครัวของจักรพรรดินิโคลัส พระราชโอรสของพระองค์

ทันที่การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 ผ่านพ้นไป จักรพรรดินีมารีเยีย ซึ่งบัดนี้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแห่งรัสเซียทรงมีมุมมองอนาคตที่สดใสมากกว่าเดิม ดังที่ตรัสว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างจะราบรื่นดี" พระองค์ประทับอยู่ในประเทศรัสเซียมาเป็นเวลายี่สิบแปดปีแล้ว โดยช่วงสิบสามปีทรงเป็นจักรพรรดินี และในอีกสามสิบสี่ปีความเป็นม่ายยังคงรอพระองค์อยู่ ส่วนในสิบปีสุดท้ายเป็นการลี้ภัยอยู่นอกประเทศในมาตุภูมิ ในตอนสิ้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1894 จักรพรรดินีมารีเยียทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังอานิชคอฟ ในกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จนกระทั่งการปฏิวัติเริ่มขึ้น พระองค์ทรงดำรงพระชนม์และปลอบพระทัยพระองค์เองได้อย่างเสรี และเมื่อเวลาผ่านเลยไปความกลัวได้ลดน้อยถอยลง ในฐานะที่ทรงเป็นจักรพรรดินีและพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ไม่ได้ทรงตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองสำหรับพวกมือสังหารในลัทธิสังคมนิยมและอนาธิปไตยอีกต่อไป

การปฏิวัติและลี้ภัย

[แก้]
จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาและพระราชสวามี เมื่อคราวเสด็จประพาสยังกรุงโคเปนเฮเกน ในปี ค.ศ. 1893

การปฏิวัติเข้ามาที่ประเทศรัสเซียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 หลังจากทรงพบกับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พระราชโอรสซึ่งทรงถูกโค่นล้มลงมาจากราชบัลลังก์ในเมืองโมกิเลฟ จักรพรรดินีมาเรียประทับ ณ เมืองเคียฟอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในสภากาชาดต่อไป เมื่อมันเป็นอันตรายต่อการประทับอยู่ต่อ พระองค์จึงเสด็จจากเมืองไปยังเมืองไครเมียพร้อมกับสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟที่ลี้ภัยพระองค์อื่น เมื่อประทับอยู่ที่ทะเลดำ พระองค์ก็ทรงได้รับรายงานว่าพระราชโอรส พระราชสุณิสาและพระราชนัดดาทรงถูกปลงพระชนม์ อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงปฏิเสธว่ารายงานนั้นเป็นเพียงข่าวลือ ในวันหนึ่งหลังจากการปลงพระชนม์ครอบครัวของจักรพรรดิ จักรพรรดินีมารีเยียทรงได้รับข้อความฉบับหนึ่งจากนิคกีที่เป็น "ชายที่น่าประทับใจคนหนึ่ง" ซึ่งเล่าถึงชีวิตอันยากลำบากของครอบครัวพระราชโอรสในเมืองเยคาเตรินบุร์ก "และไม่มีใครช่วยหรือปลดปล่อยพวกนั้นได้เลย มีแต่พระผู้เป็นเจ้า พระองค์โปรดช่วยเหลือนิคกีผู้น่าสงสารและโชคร้าย ช่วยเขาในเวลายากลำบากมากด้วย"[11] ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์นั้น ยังทรงปลอบใจพระองค์เองว่า "เราแน่ใจว่าพวกนั้นได้ออกจากรัสเซียมาแล้วและตอนนี้พวกบอลเชวิคกำลังพยายามปิดบังความจริงเอาไว้"[12] พระองค์ทรงยึดถือความเชื่อมั่นนี้อย่างเหนียวแน่นจนถึงวันสวรรคต ความจริงมันเจ็บปวดมากเกินกว่าพระองค์จะแบกรับไว้ได้ พระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสและพระราชวงศ์ได้หายสาบสูญไปนับแต่นั้น แต่ในฉบับหนึ่งที่พบ พระองค์ทรงเขียนว่า "ลูกรู้ว่าความคิดและคำภาวนาของแม่ไม่เคยหายไปจากลูกเลย แม่คิดถึงลูกทั้งวันและคืนและบางครั้งรู้สึกเจ็บปวดที่ใจมากจนแม่แทบจะทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่พระเจ้ามีพระเมตตา พระองค์จะประทานความเข้มแข็งให้เราผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้"

ถึงแม้ว่าจะมีการล้มล้างระบอบราชาธิปไตยไปในปี ค.ศ. 1917 แล้วก็ตาม ในตอนแรกสมเด็จพระจักรพรรดินีมาเรียทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกจากประเทศรัสเซีย พอในปี ค.ศ. 1919ด้วยการเร่งเร้าของสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา จึงจำต้องเสด็จออกจากประเทศรัสเซียอย่างไม่เต็มพระทัย โดยการหลบหนีไปทางแหลมไครเมีย ประทับเรือหลวงของอังกฤษที่พระเจ้าจอร์จที่ 5 ผู้เป็นพระราชภาคินัย (เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราฯ พระเชษฐภคินี) ออกจากทะเลดำ ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และไปถึงกรุงลอนดอน ในที่สุด พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงส่งเรือรบหลวง HMS Marlborough เพื่อจะช่วยชีวิตสมเด็จพระมาตุจฉา (น้า) หลังจากการประทับในฐานทัพเรืออังกฤษที่เกาะมอลตาและต่อมาในกรุงลอนดอนระยะหนึ่งแล้ว จึงเสด็จกลับประเทศเดนมาร์ก โดยทรงเลือกประทับอยู่ในตำหนักฮวิดอร์ ใกล้กับกรุงโคเปนเฮเกน เป็นที่ประทับถาวรแห่งใหม่ แม้ว่าสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราไม่ทรงเคยปฏิบัติพระองค์ไม่ดีกับพระกนิษฐาและทรงใช้เวลาในวันหยุดด้วยกันในตำหนักเล็กหลังหนึ่งในอังกฤษ จักรพรรดินีมารีเยียกลับทรงรู้สึกว่าตอนนี้ทรงเป็น "รอง"

ในระหว่างการลี้ภัยอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็ยังมีผู้อพยพชาวรัสเซียจำนวนมากมาย สำหรับพวกเขาจักรพรรดินีมารีเยียยังคงทรงเป็นจักรพรรดินี พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงศักดิ์สูงสุดเหนือพระราชวงศ์รัสเซียทั้งมวล ผู้คนแสดงความเคารพและเห็นคุณค่าของพระองค์อย่างมาก รวมทั้งยังให้ความช่วยเหลือพระองค์อยู่บ่อยครั้ง สมัชชาสนับสนุนประมุขแห่งชาวรัสเซียทั้งมวลซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1921 ได้เสนอให้พระองค์เป็นผู้รักษาการณ์ชั่วคราวของราชบัลลังก์รัสเซีย แต่พระองค์ทรงปฏิเสธข้อเสนอนั้น พระองค์ไม่โปรดที่จะแทรกแซงเกมทางการเมืองและทรงให้คำตอบที่หลบเลี่ยงว่า "ไม่มีใครเห็นนิคกีถูกปลงพระชนม์" และดังนั้นจึงยังมีโอกาสเหลืออยู่ พระองค์ทรงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นิโคไล โซโคลอฟ ซึ่งเป็นนักลงทุนที่ศึกษาเหตุการณ์เกี่ยวกับการปลงพระชนม์ครอบครัวของจักรพรรดิ ทั้งพระองค์และนิโคไลไม่เคยพบกันเลย โดยในตอนสุดท้ายแกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงส่งโทรเลขมายังกรุงปารีส เพื่อยกเลิกนัดหมายในการเข้าเฝ้าจักรพรรดินี มันคงเป็นการยากมากสำหรับสตรีชราและเจ็บป่วยที่จะได้ยินเรื่องราวอันเลวร้ายของลูกชายและครอบครัว[13]

การสวรรคตและการฝังพระศพ

[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายม ค.ศ. 1925 สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีที่ทรงสนิทสนมมากที่สุดเสด็จสู่สวรรคาลัย สิ่งนี้นับเป็นการสูญเสียครั้งสุดท้ายเกินกว่าจักรพรรดินีมารีเยีย ผู้ทรงพระชราจะทรงทนรับได้ แกรนด์ดยุกอะเลคซันดร์ มีฮาอิโลวิชแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) ได้เขียนเกี่ยวกับบั้นปลายพระชนม์ชีพของจักรพรรดินีไว้ว่า "พระองค์ทรงพร้อมที่จะพบกับพระผู้สร้างแล้ว" จักรพรรดินีมารีเยียเสด็จสู่สวรรคาลัยในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1928 ณ พระตำหนักที่เคยทรงประทับร่วมกับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี ที่เมืองฮวิดอร์ ใกล้กับกรุงโคเปนเฮเกน สิริพระชนมายุ 81 พรรษา พระองค์เป็นจักรพรรดินีในราชวงศ์โรมานอฟที่เสด็จสวรรคตเป็นคนสุดท้าย [14]

หลังจากการทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์ออร์ทอดอกซ์รัสเซียอะเลคซันดร์เนฟสกี พระบรมศพของจักรพรรดินีได้รับการบรรจุฝังอยู่ในวิหารหลวงรอสคิลด์ อันเป็นสุสานหลวงของพระราชวงศ์เดนนิช ตามพระชาติกำเนิดที่ทรงพระราชสมภพเป็นเจ้าหญิงเดนนิช ในปี ค.ศ. 2005 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียและรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะอัญเชิญพระบรมศพพระจักรพรรดินีคืนสู่กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเพื่อให้สอดคล้องกับที่มีพระราชประสงค์จะได้รับการบรรจุฝังไว้เคียงข้างกับสมเด็จพระราชสวามี [15] เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ถึงวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2006 ในพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งบุคคลสำคัญระดับสูงมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าชายมกุฎราชกุมารและเจ้าหญิงมกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายและเจ้าหญิงไมเคิลแห่งเคนต์ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น โดยมีกลุ่มคนยืนรอบโลงพระศพแน่นขนัดมากเสียจนทำให้นักการทูตหนุ่มชาวเดนมาร์กคนหนึ่งตกลงไปในช่องที่เตรียมไว้สำหรับบรรจุฝังพระบรมศพก่อนจะมีการวางหีบพระบรมศพลงมา[16] ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2006 พระบรมรูปของจักรพรรดินีมารีเยียใกล้กับพระตำหนักเล็ก อันเป็นที่ประทับประจำของพระองค์ในพระราชวังปีเตอร์โฮฟได้เปิดสู่สาธารณชน หลังจากการทำพิธีทางศาสนาในมหาวิหารเซนต์ไอแซ็ก พระบรมศพได้รับการบรรจุอยู่เคียงข้าง จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระราชสวามี เมื่อวันที่28 กันยายน ค.ศ. 2006 ณ ป้อมปีเตอร์และปอล อันเป็นสุสานหลวงที่ประดิษฐานพระบรมศพจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งรัสเซียทุกพระองค์ตั้งแต่จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 มหาราชเป็นต้นมา รวมเป็นเวลา 140 ปีหลังจากการเสด็จมาประเทศรัสเซียเป็นครั้งแรกและเกือบ 78 ปีหลังจากการเสด็จสู่สวรรคาลัย

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • ค.ศ. 1847 – ค.ศ. 1853: เจ้าหญิงดักมาร์แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-เซินเนอปอร์-กลึคส์บวร์ค
    (Her Serene Highness Princess Dagmar of Schleswig-Holstein-Sonderburg-Glücksburg)
  • ค.ศ. 1853 – ค.ศ. 1858: เจ้าหญิงดักมาร์แห่งเดนมาร์ก (Her Highness Princess Dagmar of Denmark)
  • ค.ศ. 1858 – ค.ศ. 1866: เจ้าหญิงดักมาร์แห่งเดนมาร์ก (Her Royal Highness Princess Dagmar of Denmark)
  • ค.ศ. 1866 – ค.ศ. 1881: แกรนด์ดัชเชสมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา ซาเรฟนาแห่งรัสเซีย
    (Her Imperial Highness Grand Duchess Maria Feodorovna, Tsarevna of Russia)
  • ค.ศ. 1881 – ค.ศ. 1894: จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย (Her Imperial Majesty The Empress of Russia)
  • ค.ศ. 1894 – ค.ศ. 1928 : จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา พระบรมราชชนนีพันปีหลวงแห่งรัสเซีย
    (Her Imperial Majesty The Dowager Empress Maria Feodorovna of Russia)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Empress Marie Feodorovna's Favorite Residences in Russia and in Denmark, p.55
  2. A Royal Family, pp.171-172
  3. ibid p.173
  4. Paul Theroff (2007). ""Russia"". An Online Gotha. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2550. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. A Royal Family, p.175
  6. ibid p.176
  7. ibid p.179
  8. ibid p.184
  9. ibid p.184
  10. ibid p.185
  11. The Diaries of Empress Marie Feodorovna, p.239
  12. A Royal Family, p.197
  13. Empress Maria Fiodorovna, p.142
  14. Empress Maria Fiodorovna, p.142
  15. พิธีกรรมทางศาสนาจำนวนมาก เก็บถาวร 2009-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08. สืบค้นเมื่อ 2007-08-25.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • A Royal Family - The Story of Christian IX and his European descendants, by Anna Lerche and Marcus Mandal. ISBN 87-15-10957-7 - ในบทที่ชื่อ "ความรักและการปฏิวัติ - โชคชะตาของดักมาร์ในช่วงความยิ่งใหญ่และความเสื่อมของจักรวรรดิรัสเซีย" ข้อมูลที่ดีเลิศจากการเข้าถึงเอกสารลับของพระราชวงศ์และการสัมภาษณ์สมาชิกพระราชวงศ์ต่างๆ ของยุโรป
  • Empress Maria Fiodorovna, by A.I. Barkovets and V.M.Tenikhina, Abris Publishers, St.Petersburg, 2006.
  • Empress Maria Feodorovna's Favourite Residences in Russia and Denmark, by Galina Korneva and Tatiana Cheboksarova, Liki Rossi, St.Petersburg, 2006.
  • Little Mother of Russia: A Biography of Empress Marie Fedorovna, by Coryne Hall. ISBN 978-0-8419-1421-6 - เป็นข้อมูลทางด้านอัตชีวประวัติมาตรฐานของจักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนา
  • The Court of the Last Tsar, by Gregory King. ISBN 978-0-471-72763-7 - ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของจักรพรรดินีพันปีหลวงในราชสำนักของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พระราชโอรส และความไม่ชอบและไม่ไว้วางใจในจักรพรรดินีอะเลคซันดรา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า จักรพรรดินีมารีเยีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (ดักมาร์แห่งเดนมาร์ก) ถัดไป
เจ้าหญิงมารีแห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์
(มาเรีย อะเลคซันดรอฟนา)
จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย
(14 มีนาคม ค.ศ. 1881 – 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1894)
เจ้าหญิงอาลิกซ์แห่งเฮ็สเซินและโดยไรน์
(อเลคซันดรา เฟโอโดรอฟนา)