ตาล
ตาล | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophyta |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงเดี่ยว Monocots |
เคลด: | Commelinids Commelinids |
อันดับ: | Arecales |
วงศ์: | ปาล์ม (พืช) |
สกุล: | Borassus L. |
สปีชีส์: | Borassus flabellifer |
ชื่อทวินาม | |
Borassus flabellifer L. | |
ชื่อพ้อง[1] | |
ตาล หรือ ตาลโตนด หรือ โหนด ในภาษาใต้[2] เป็นพันธุ์ไม้พวกปาล์มขนาดใหญ่ สกุล Borassus ในวงศ์ปาล์ม (Arecaceae) เป็นปาล์มที่แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น
รายละเอียด
[แก้]ต้นสูงถึง 40 เมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 60 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมาก แต่ไส้กลางลำต้นอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่ กว้าง 1 – 1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1 – 2 เมตร ขอบของทางของก้านทั้งสองข้าง มีหนามเหมือนฟันเลื่อยสีดำแข็ง ๆ และคมมาก โคนก้านแยกออกจากกันคล้ายคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นไว้ ช่อดอกเพศผู้ใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ เรียกว่านิ้วตาลแต่ละนิ้วยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และโตวัดผ่า กลางประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร โคนกลุ่มช่อจะมีก้าน ช่อรวมและมีกาบแข็ง ๆ หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ช่อดอกเพศเมียก็คล้าย ๆ กัน แต่นิ้วจะเป็นปุ่มปม ปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ดอกหนึ่ง ๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกาบแข็ง ๆ หุ้ม แต่ละดอก กาบนี้จะเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง ผลกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 15 เซนติเมตร ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผลหนึ่ง ๆ จะมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1 – 3 เมล็ด
การใช้งาน
[แก้]ต้นตาล
[แก้]ต้นตาลตัวผู้จะมีลักษณะที่แตกต่างจากต้นตาลตัวเมียเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้นตาลตัวผู้จะออกงวงเป็นช่อ ไม่มีผล ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "จั่น" ถ้าการเวียนของทางใบวนไปทางซ้ายมือจะเป็นตาลตัวผู้ ต้นตาลตัวผู้จะสังเกตจาก ใบและงวง เพราะถือเป็นเอกลักษณ์ของต้นตาลตัวผู้อย่างชัดเจน ส่วนต้นตาลตัวเมียนั้นจะมีลักษณะ การเรียงตัวของทางใบ ถ้ามีการเรียงตัววนไปทางขวามือจากบริเวณโคนไปสู่ยอดจะเป็นต้นตาลตัวเมีย แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ต้นตาลตัวเมียจะต่างจากต้นตาลตัวผู้ตรงที่ต้นตาลตัวเมียจะมีลูกเป็นช่อ ๆ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ทะลายตาล"
จังหวัดเพชรบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย (ปัจจุบันเป็นจังหวัดสงขลา ในเขตพื้นที่อำเภอระโนด สทิงพระ และสิงหนคร) ต้นตาลในจังหวัดเพชรบุรีดังปรากฏหลักฐานจากนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ความตอนหนึ่งว่า
ทุกประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ด้วยเหตุนี้ ต้นตาลจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีคู่กับเขาวัง หรือพระนครคีรี ปรากฏเป็นตราและธงประจำจังหวัดเพชรบุรี สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ต้นตาลเมืองเพชร ให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดที่ดีที่สุดมาตั้งแต่สมัยโบราณตราบจนถึงปัจจุบัน จึงมีชื่อเสียงติดปากคนทั่วไปว่า “น้ำตาลเพชรบุรี” เพราะมีรสหวานหอมอร่อย มีรสชาติกลมกล่อมชวนรับประทาน จนเป็นที่มาของคำว่า “หวานเหมือนน้ำตาลเมืองเพชร” ดังนั้นต้นตาลจึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี โดยทั่วไปชาวชนบท ชาวนาจะปลูกข้าวและทำตาลควบคู่กันไป ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกต้นตาลไว้บริเวณคันนา ในตัวเมืองเพชรบุรี ก็ปรากฏว่ามีการปลูกต้นตาลเช่นกัน บริเวณที่มีต้นตาลมากที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ ท้องทุ่งตำบลหนองไม้เหลือง ตำบลโตนดหลาย ตำบลไร่ส้ม ตำบลโรงเข้ เป็นต้น และทุกท้องที่ในเขตอำเภอบ้านลาด เมื่อมองผ่านต้นตาล จะมองไม่เห็นท้องฟ้าอีกด้านหนึ่ง แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีการทำนา 2 ครั้ง เป็นผลให้ต้นตาลปรับสภาพไม่ทัน เพราะพื้นที่มีน้ำมากเกินไป กลายเป็นที่มีน้ำท่วมขัง ต้นตาลไม่ได้พักตัวที่เรียกว่า “แต่งตัว” ในที่สุดก็ต้องยืนต้นตายภายในเวลาไม่นานนัก เพราะระบบนิเวศเปลี่ยนจากเดิม ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
ต้นตาลในจังหวัดเพชรบุรี ยังแบ่งออกได้เป็น 2 พันธุ์ ดังนี้
- ตาลบ้าน มีจำนวนเต้าตาลในแต่ละผล 1-4 เต้า แบ่งสายพันธุ์ย่อยได้อีก 3 พันธุ์ คือ
- ตาลหม้อ มีผลขนาดใหญ่ ผิวดำคล้ำ
- ตาลไข่ มีผลสีขาวเหลือง ผลขนาดเล็กกว่า แต่เต้าตาลใหญ่ขนาดใกล้เคียงกับตาลหม้อ (มีเนื้อหุ้มเต้าตาลบาง)
- ตาลจาก มีผลในทะลายแน่นคล้ายทะลายจาก
- ตาลป่า มีผลเล็กขนาดตาลไข่ มีผลเขียวคล้ำ มีเต้า 1-2 เต้า ลำต้นสีเขียวสด ก้านใบยาว (บางคนเรียกว่า ตาลก้านยาว) พบแถบเขาแด่น อำเภอบ้านลาด และในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตาลป่ายังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เพราะมักขึ้นอยู่ในป่า
ประโยชน์ของต้นตาล ต้นตาลเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรี ที่แข็งแรงยืนยง สามารถทนแล้ง ทนฝน และกระแสลมร้อนหนาวตามสภาพดินฟ้าอากาศได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องบำรุงรักษามากนัก นอกจากต้นตาลจะให้ประโยชน์ในการทำน้ำตาลโตนดแล้ว ส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลยังมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อีก เช่น
ลูกตาล
[แก้]ตาลตัวเมียจะมีลูกตาลต้องตัดเมื่อยังไม่สุก เพื่อให้ได้เต้าตาลหรือ ลอนตาล ในลูกตาลหรือผลตาล 1 ผล จะมีเต้าตาลประมาณ 2-3 เต้า ภายในเต้าตาลอ่อนนี้มีน้ำขังอยู่ รับประทานได้ทันที หรือนำมาหั่นบาง ๆ ใส่น้ำแข็งไส โรยน้ำหวาน และนมข้น นมสด บางครั้งก็นำไปต้มในน้ำเชื่อม เรียกว่า ลอนตาลลอยแก้ว
ตาลโตนดเป็นพืชเพศเดี่ยว คือตาลต้นผู้และตาลต้นเมียไม่ได้เป็นต้นเดียวกัน สามารถแยกเพศกันออกได้อย่างชัดเจน ตาลต้นผู้จะมีงวงงอกออกมาแล้วเหี่ยวแห้งไปเมื่อแก่ ส่วนตาลตัวเมียจะมีลูกที่นำมารับประทานกัน ทั้งตาลตัวผู้และตาลตัวเมียสามารถให้ผลผลิตน้ำตาลโตนดได้
จาวตาล
[แก้]เกิดจากผลแก่จัดของต้นตาลตัวเมีย เมื่อผลหล่นลงมาชาวบ้านจะเก็บรวบรวมกองไว้ ต่อมาเมล็ดตาล (จากผลตาล)จะแทงส่วนที่คล้ายรากงอกออกมาลงสู่พื้นดิน เรียกว่า “งอกตาล” ส่วนปลายของงอกตาลมีคัพภะที่จะกลายเป็นต้นอ่อนของต้นตาลซึ่งจะเจริญเติบโตขึ้นและค่อย ๆ แทงยอดขึ้นมาตาม "งอกตาล" จนโผล่พ้นดินขึ้นมาและเจริญเติบโตเป็นต้นตาลต่อไป อนึ่ง "งอกตาล" นั้นไม่ใช่ราก มันทำหน้าที่ส่งคัพภะลงไปในดินและต่อมาทำหน้าที่เป็นปลอกหุ้มยอดอ่อน แล้วก็เปื่อยสลายไปภายในเวลาไม่นานนัก ส่วนรากที่แท้จริงจะออกจากฐานต้นอ่อนที่เจริญมาจากส่วนปลายของ "งอกตาล" อีกต่อหนึ่ง ต้นอ่อนของตาลมีลักษณะและขนาดพอ ๆ กับหอมแดงขนาดเขื่อง รากก็ออกมาแบบเดียวกับรากหัวหอม ต้นอ่อนของตาลเกิดอยู่ลึกลงไปในดินหลายสิบเซนติเมตร จึงมักไม่มีใครเห็น กล่าวได้ว่าการงอกของเมล็ดตาลนั้นพิสดารทีเดียว
จาวตาลนิยมนำไปเชื่อมรับประทานเป็นของหวาน ในการนี้ จะต้องใช้ความชำนาญผ่าเอาเปลือกแข็งชั้นนอก ซึ่งเปรียบเสมือนกะลามะพร้าวออกก่อน จากนั้นจะต้องผ่าเอาเปลือกชั้นรอง คือส่วนที่เป็นน้ำเพื่อขัดผิวนอกด้วยใบไผ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ใบซอ เพื่อให้เมือกหรือไคลหมดไปจนขาวสะอาด เมื่อสะเด็ดน้ำแล้ว นำลงกระทะทองเหลืองเชื่อมกับน้ำตาลทราย ต่อไปก็จะได้ “จาวตาลเชื่อม” หรือนิยมเรียกกันว่า “ลูกตาลเชื่อม”
การเชื่อมจาวตาลนิยมทำเป็น 2 แบบคือ เชื่อมเปียก จาวตาลจะฉ่ำน้ำตาล หรือเชื่อมแห้ง จาวตาลจะมีเกร็ดน้ำตาลจับแข็ง ซึ่งสะดวกต่อการบรรจุในภาชนะและเก็บได้นาน
ถ้านำจาวตาลเชื่อมไปรับประทานพร้อมกับข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิ เติมงาคั่วผสมน้ำตาลทราย เกลือป่น และมะพร้าวใย จะได้ขนมอร่อยอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ข้าวเหนียวโตนด หรือข้าวเหนียวหน้าโตนด หรือข้าวเหนียวลูกตาล
นอกจากนี้ เมื่อนำลูกตาลสุกมายีเนื้อสีเหลืองแล้วผสมกับแป้งข้าวเจ้า ตั้งตากแดดไว้สักครู่ใหญ่ เติมน้ำตาลพอควร แล้วนำมาใส่ห่อใบตองหรือใส่กระทง นำไปนึ่งให้สุกในลังถึง หรือหม้อหวด ก็จะได้ขนมเนื้อนุ่มฟูคล้ายขนมเค้ก เรียกว่า “ขนมตาล” นับเป็นขนมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยไม่ต้องใช้ผงแป้งฟูแต่อย่างใด
ผลตาล
[แก้]หรือลูกตาลที่ยังไม่แก่จัด ถ้านำเอาส่วนของหัวตาลมาปอกผิวนอกออก แล้วหั่นออกเป็นชิ้นบาง ๆ ก็จะได้หัวตาลอ่อนนำไปปรุงเป็น “แกงคั่วหัวตาล” นับเป็นอาหารที่มีรสอร่อยกลมกล่อม แกงหัวตาลจะทำคล้ายแกงคั่ว มีส่วนผสมของกะทิ กระชาย ปลาย่าง ปลากรอบ หรือกุ้งสด แต่ส่วนใหญ่แกงหัวตาลของชาวเพชรบุรีนิยมใช้เนื้อย่าง หรือเนื้อเค็มหั่นบาง ๆ ผสมลงไปพร้อมกันใส่ใบส้มซ่าแทนใบมะกรูด หรืออาจใช้หอยขมมาแกะเนื้อใส่ผสมลงไปด้วย
หัวตาล นิยมนำไปลอยน้ำตาลใส โดยตัดเฉพาะส่วนหัวลูกตาลที่ค่อนข้างอ่อนร้อยกับเส้นตอกเป็นพวง ประมาณพวงละ 7-10 หัว แล้วนำไปลอยน้ำตาลใสที่กำลังเคี่ยวเดือดพล่านอยู่ในกระทะ เมื่อสุกดีแล้วจึงนำขึ้นเอาไปรับประทานได้
ผิวนอกของลูกตาล เมื่อเอามีดปาดออกชาวบ้านเรียกว่า “พลอมออก” นิยมนำไปเป็นอาหารสำหรับวัว มีกลิ่นหอมและรสออกหวานเล็กน้อย
เมล็ด
[แก้]เมล็ดตาลสุก ถ้านำไปล้างและฟอกให้สะอาด แล้วนำไปตากแห้งจะมีลักษณะฟูฝอยละเอียดสวยงามคล้ายขนสัตว์ นิยมนำไปเป็นของเล่นสำหรับเด็ก โดยใช้หวี หรือแปรงจัดรูปทรงได้หลายแบบ สมมติว่าคล้ายช่างทำผม หรือตัดย้อมให้เป็นสีต่าง ๆ นับเป็นของเล่นของเด็กผู้หญิงอีกอย่างหนึ่ง
เปลือก
[แก้]เปลือกแข็ง คือส่วนที่เป็นกะลา หลังจากที่ผ่าเอาจาวตาลออกแล้ว นิยมนำไปทำเชื้อเพลิง เมื่อนำไปเข้าเตาเผาจะได้ถ่านสีดำที่มีเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนสูง ปัจจุบันมีผู้รับซื้อถ่านที่ผลิตได้จากเปลือกแข็งของลูกตาลจำนวนมาก เพื่อเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอีกด้วย
ในส่วนที่เป็นกะลานั้น หากเลือกลูกที่สวยงามมาผ่าครึ่งเป็นสองฝา นำมาขัดเช็ดถูผิวนอกให้สะอาดเกลี้ยงเกลาจนขึ้นเงา เซาะขอบด้านในของฝาหนึ่งกับขอบนอกของอีกฝาหนึ่ง แล้วแต่งขอบด้านนอกและด้านใน ให้สวมปิดเข้ากันได้สนิทดี ก็ใช้แทนตลับหรือกล่องสำหรับเก็บสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น กระดุม เข็ม ใบจาก เส้นยาสูบ
ใบ
[แก้]ใบตาลและทางตาล สามารถทำเป็นพัด โดยตัดเจียน แล้วเย็บริมขอบให้เข้ารูป หรืออาจคัดเลือกใบตาลอ่อนแล้วรีดให้เรียบ นำมาจักเป็นใบ ๆ แล้วเย็บเป็นพัดใบตาลแบบพับก็ได้ ซึ่งเหมาะที่จะพกติดตัวไปได้ พัดแบบนี้อาจผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก โดยตกแต่งสีสันให้สวยงาม
นอกจากนี้ ใบตาลอ่อนยังสามารถนำมาจักสานทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ สำหรับแขวนให้เด็กดูเล่นได้อีกหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน กุ้ง ตั๊กแตน ชฎา หรือทำเป็นรูปสัตว์ ใส่ขาล้อแบบล้อเกวียนให้เด็ก ๆ ลากเล่น หรือนำมาจักเป็นเส้นตอก ถ้าใช้เส้นใหญ่มักสานขึ้นเป็นรูปกระเช้า ถ้าใช้ตอกเส้นเล็กนิยมสานเป็นกระเป๋าสตางค์
หากตัดใบตาลเป็นท่อนสั้น ๆ สามารถใช้แทนช้อนชั่วคราว เพื่อตักขนมและอาหาร โดยเฉพาะข้าวกระทงที่เคยขายดีขนรถไป นิยมใช้ช้อนใบตาลก่อนที่จะมาใช้ช้อนพลาสติกดังเช่นปัจจุบัน ส่วนใบตาลขนาดใหญ่ นิยมนำมาผ่าซีกแล้วหักงอผูกกับส่วนที่เป็นก้าน เรียกว่า “หักคอม้า” นำไปมุงหลังคา ทำปะรำ มุงกระท่อม หรือโรงนา มีอายุใช้งานประมาณ 2-3 ปี[3]
ทางตาล
[แก้]ทางตาล เป็นส่วนของก้านของใบตาล สามารถลอกผิวนอกส่วนที่อยู่ด้านบน เรียกว่า “หน้าตาล” มาฟั่นเป็นเชือกสำหรับผูกวัว ล่ามวัว แม้จะใช้ได้ไม่ทนทานเท่าเชือกที่ทำจากต้นปอหรือต้นเส้ง แต่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องตากแดดตากฝน เพราะมีความชุ่มน้ำ ซึ่งหากใช้เชือกที่ทำจากวัสดุอื่นก็จะเปื่อยผุพังเร็ว
ส่วนทางตาลตอนโคน ซึ่งอยู่ติดกับต้นตาลนั้น มีจำนวน 2 แฉก เมื่อทางตาลแก่จัดจนใบแห้งจะร่วงหล่นลงมาเอง ชาวบ้านเรียกส่วนโคนนี้ว่า “ขาตาล” มีลักษณะบางและแบน จึงเหมาะกับการนำมาตัดใช้เป็นคราด หากต่อด้ามหรือทำเป็นกาบก็จะเรียกว่า “กาบตาล” สำหรับกอบสิ่งของที่เป็นกอง เช่น ใช้กอบมูลวัว กอบขี้เถ้า กอบเมล็ดข้าว เป็นต้น
อนึ่ง ขาตาลขณะที่แก่จัดแต่ยังไม่ถึงกับแห้งกรอบ ให้ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นขาตาล นำมาทุบด้วยของแข็งหรือสันขวาน จนเส้นใยฟุ้งกระจายดีแล้ว จึงนำแปรงที่ทำจากตะปูแปรงส่วนที่ไม่ต้องการออก จนเหลือแต่เส้นในเป็นเส้นฝอยเรียบวางเรียงเส้นขนานกัน จากนั้นนำไปมัดรวมกันคล้ายมัดวุ้นเส้น หรือเส้นหมี่ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วมัดรวมเป็นมัดใหญ่เพื่อส่งจำหน่ายร้านรับซื้อ สำหรับเป็นแปรงหยากไย่ หรือทำไม้กวาด[4]
ลำต้น
[แก้]ลำต้นตาล ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จัดว่าลำต้นแก่พอสมควร สามารถนำเปลือกนอก ซึ่งมีความแข็งและมีเสี้ยนตาล เป็นเส้นสีดำแทรกอยู่ในเนื้อไม้ หากนำมาแปรรูปแล้วจะได้ไม้กระดาน ขนาด 4-6 นิ้ว หรือนำมาประดิษฐ์เป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายรูปแบบ[5]
เกร็ดความรู้
[แก้]- ตาลเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุโขทัย (ส่วนพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดคือมะค่า)
- ตาลเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี[6]
- มีบันทึกสมัยโบราณเกี่ยวกับตาลในพื้นที่ประเทศไทยว่ามีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี[7]
- การปลูกตาลเป็นโบราณราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ทรงปลูกเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ สืบทอดจากไทอาหมและอาณาจักรพุกาม[8] เป็นสัญลักษณ์ของความยืนยง ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงพบว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงปลูกไม้ตาลไว้กลางเมืองสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.1821 ขณะมีพระชนมายุ 14 พรรษา[7]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ The Plant List, Borassus flabellifer Mart.
- ↑ รายการพินิจนครตอน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ๒ ขุมทรัพย์กลางมหาละหาน ห้วงธารระบบนิเวศน์สามน้ำ ทางไทยพีบีเอส: วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554
- ↑ วิทยา อยู่เย็น, การใช้ใบตาลสำหรับงานศิลปหัตถรรม "ต้นตาลบ้านเรา" เอกสารประกอบผลงานทางวิชาการ โรงเรียนวัดศาลาเขื่อน อ.บ้านลาด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2
- ↑ ประโยช์ของตาล ^_^
- ↑ "ตาล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-23. สืบค้นเมื่อ 2011-09-15.
- ↑ "ต้นตาล" ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
- ↑ 7.0 7.1 สุกฤต จงถาวรวาสนา. (2562). "ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของตาลโตนด", โครงการศูนย์ส่งเสริมวิถีชีวิตชาวเพชรบุรีกับภูมิทัศน์ "ทุ่งนา-ป่าตาล" (Full Report: Tung Na-Pa Tan: The Flokway Learning Center for Cultural Landscape of Ricefield and Sugar Palm Tree, Phetchaburi). วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์). สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร. หน้า 2-5.
- ↑ ประเสริฐ ณ นคร และวินัย พงศ์ศรีเพียร. (2552). อาจารยบูชา: สรรพสาระ ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมไทย. โครงการวิจัย "๑๐๐ เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย" ในความสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร มีอายุครบ 90 ปี 21 มีนาคม 2552. กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์. 223 หน้า. ISBN 978-974-6-42582-7
- ↑ เดือนเต็ม ทิมายงค์. (2558). งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลกึ่งสำเร็จรูปจากภูมิปัญญาขนมไทยโบราณเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.