ข้ามไปเนื้อหา

ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

"ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" หรือ "ประหารก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ่วโจ้ว; อังกฤษ: kill first, report later) เป็นสำนวนจีน ใช้อุปมาอุปไมยถึงการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ใดให้ลุล่วงไปก่อนแล้วจึงค่อยรายงานผลต่อผู้บังคับบัญชาทีหลัง

ที่มาของสำนวนนี้ ว่ากันไว้สองทาง ทางแรกว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในวันที่ขุนนางตงซวน (พินอิน: Dong Xuan) ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการนครลั่วหยาง เมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยนั้น เขาพบว่ามีคดีหนึ่งค้างอยู่ในศาลซึ่งที่ผ่านมาไม่มีทางจะลุล่วงได้ โดยคดีมีว่าข้าราชบริพารคนหนึ่งของพระราชธิดาหูหยาง เป็นคนหยาบช้าและได้กระทำฆาตกรรมขึ้น แต่ไม่มีผู้ได้กล้าลงโทษเพราะเกรงพระราชหฤทัยและอิทธิพลของพระราชธิดา ขุนนางตงซวนนั้นเป็นคนใจซื่อมือสะอาด ไม่เกรงกลัวอิทธิพลของผู้ใด จึงสั่งให้ตำรวจไปจับกุมข้าราชบริพารผู้นั้นขณะที่โดยเสด็จพระราชธิดา และสั่งลงโทษประหารชีวิตทันที พระราชธิดาทรงพระพิโรธ เสด็จไปกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้มีรับสั่งประหารขุนนางตงซวน ขุนนางตงซวนได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับคดี ซึ่งเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงสดับแล้วเห็นว่าการกระทำของขุนนางตงซวนมิได้เป็นผิดเป็นโทษแต่อย่างใด ก็มิได้ทรงเอาโทษ เป็นที่มาของสำนวนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง"

อีกทางหนึ่งเกี่ยวข้องกับเปาบุ้นจิ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งมีที่มาจากวรรณกรรมจีนเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้นเรื่อง "เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม" โดยกล่าวว่าเปาบุ้นจิ้นได้รับพระราชทานชุดเครื่องประหารจากสมเด็จพระจักรพรรดิ ประกอบด้วย

  • เครื่องประหารหัวสุนัข (เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ฉบับภาษาไทย เรียก "มีดตัดหัวสุนัข") - สำหรับประหารนักโทษที่เป็นสามัญชน
  • เครื่องประหารหัวพยัคฆ์ (เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ฉบับภาษาไทย เรียก "มีดบั่นศีรษะพยัคฆ์") - สำหรับประหารนักโทษที่เป็นข้าราชการ
  • เครื่องประหารหัวมังกร (เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ฉบับภาษาไทย เรียก "มีดปลิดเศียรมังกร") - สำหรับประหารนักโทษที่เป็นเชื้อพระวงศ์
  • เครื่องประหารหัวสิงโต (เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ฉบับภาษาไทย เรียก "มีดผ่าคอสิงโต") - สำหรับประหารนักโทษที่เป็นทูตผีปีศาจ

โดยทรงให้เปาบุ้นจิ้นมีอาญาสิทธิ์ คือ สิทธิที่จะใช้เครื่องประหารทั้งสี่ประหารผู้กระทำผิดได้ทันทีโดยไม่ต้องขอพระราชทานพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่เมื่อสั่งประหารผู้ใดแล้วให้ทูลถวายรายงานคดีด้วย ในวรรณกรรมอีกชุดหนึ่งก็ว่าอาญาสิทธิ์ดังกล่าวของเปาบุ้นจิ้นนั้นได้มาจากการที่ได้รับพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์ ทั้งนี้ เป็นที่มาอีกแห่งหนึ่งของสำนวนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง"

อ้างอิง

[แก้]
  • "Kill First, Report Later." (2008). Chinese Idioms. [Online]. Available: < http://www.xianzai.com/archives/2008/03/18/chinese-idioms-kill-first-report-later/ เก็บถาวร 2008-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน >. (Accessed: 26 December 2008).
  • เปาบุ้นจิ้น : 7 ผู้กล้า 5 ผู้ทรงธรรม. (2538). จีนแส แปล. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า. ISBN 9746028308.
  • เปาบุ้นจิ้นฉบับสมบูรณ์. นักศึกษาสาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปล, ถาวร สิกขโกศล และ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า. ISBN 9746031929.
  • เปาบุ้นจิ้น เทพเจ้าแห่งความยุติธรรม แปลโดย นายหยอง ทหารปืนใหญ่ เรียบเรียงโดย นายวรรณ. (2519). นายหยอง ทหารปืนใหญ่ และนายวรรณ แปล. กรุงเทพฯ : ศรีเมืองการพิมพ์.
  • เปาเล่งถูกงอั้น เปาบุ้นจิ้น. (2514). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.