ข้ามไปเนื้อหา

ค้างคาวคุณกิตติ

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ค้างคาวผึ้ง)

ค้างคาวคุณกิตติ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ปัจจุบัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Chiroptera
วงศ์: Craseonycteridae
Hill, 1974
สกุล: Craseonycteris
Hill, 1974
สปีชีส์: C.  thonglongyai
ชื่อทวินาม
Craseonycteris thonglongyai
Hill, 1974
แผนที่การกระจายพันธุ์

ค้างคาวคุณกิตติ, ค้างคาวกิตติ หรือ ค้างคาวหน้าหมู (อังกฤษ: Kitti's hog-nosed bat, Bumblebee bat) เป็นค้างคาวที่จัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ Craseonycteridae และสกุล Craseonycteris พบได้ทางตะวันตกของประเทศไทย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า อาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนริมแม่น้ำ

ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีสีน้ำตาลปนแดงเรื่อๆ หรือสีเทา มีจมูกคล้ายจมูกหมู มีอุปนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ยแล้วกลุ่มละ 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินเป็นช่วงสั้นๆในตอนเย็นและเช้ามืด หากินไม่ไกลจากถ้ำที่พักอาศัย กินแมลงเป็นอาหาร ตกลูกปีละหนึ่งตัว

สภาวะของค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่าไม่เป็นที่แน่ชัด และประชากรที่พบในประเทศไทยก็พบว่าจำกัดอยู่ในเพียงจังหวัดเดียว ทำให้ค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุหลักเกิดจากการคุกคามจากมนุษย์ และการลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย[1]

กายวิภาค

[แก้]

ค้างคาวคุณกิตติลำตัวยาวประมาณ 29-33 มม. หนักประมาณ 2 กรัม[2] จึงเป็นที่มาของชื่อ "bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)" ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยมีคู่แข่งคือหนูผี โดยเฉพาะในหนูผีจิ๋ว (Suncus etruscus) ซึ่งมีน้ำหนัก 1.2-2.7 กรัม แต่มีความยาว 36-53 มม.จากหัวถึงหาง[3]

ค้างคาวคุณกิตติมีจมูกใหญ่เป็นพิเศษ คล้ายจมูกหมู[2] มีรูจมูกตั้งตรง แคบ[4] มีหูใหญ่เมื่อเทียบกับส่วนหัว ขณะที่ตามีขนาดเล็ก โดยมากถูกปกคลุมด้วยขนอ่อน[5] มีฟันเหมือนกับค้างคาวกินแมลงทั่วไป[5] มีสูตรขากรรไกรบนเป็น 1:1:1:3 และขากรรไกรล่างเป็น 2:1:2:3 [4] มีฟันตัดขนาดใหญ่ด้านบน[5]

ค้างคาวมีสีน้ำตาลแดงหรือสีเทาในส่วนหลัง ด้านท้องสีจะอ่อนกว่า[5] ปีกมีขนาดใหญ่ มีสีเข้มกว่า ปลายยาวเพื่อช่วยค้างคาวในการบินร่อน [2] ปีกกว้างประมาณ 160 มม. ค้างคาวคุณกิตติไม่มีหางถึงแม้จะมีกระดูกสันหางถึง 2 ชิ้น[5] มีแผ่นหนังขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างขาหลัง (uropatagium) ซึ่งอาจมีไว้ช่วยในการบินจับแมลง ถึงแม้ว่าจะไม่มีกระดูกหางหรือเดือยที่ช่วยควบคุมการบิน[2][5][6]

การกระจายพันธุ์

[แก้]

ค้างคาวคุณกิตติพบในถ้ำหินปูนริมแม่น้ำในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ[2] ในประเทศไทยพบค้างคาวคุณกิตติจำกัดอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ในแถบลุ่มน้ำของแม่น้ำแควน้อย[2][7] ในอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบการกระจายตัวของค้างคาวมากที่สุด จากการสำรวจถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พบค้างคาวกิตติจำนวน 35 ถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอำเภอไทรโยคมากถึง 23 ถ้ำ ที่เหลือพบในเขตอำเภอทองผาภูมิ ท่าม่วง และอำเภอเมือง[8] ขณะที่ประชากรค้างค้าวนอกเหนือจากในอุทยานแล้วอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม[2]

ในปี พ.ศ. 2544 มีการพบค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่า ใน 9 แห่งด้วยกัน ในแถบเทือกเขาหินปูนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอัตทะรัน (Ataran), และแม่น้ำคเยง (Gyaing) ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ[7] ค้างคาวที่พบในประเทศไทยและประเทศพม่ามีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกันแต่พบความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทางหรือกำหนดทิศทาง[7] ซึ่งเรายังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมประชากรของทั้งสองประเทศจึงมีการวิวัฒนาการแยกจากกันไป[7]

พฤติกรรม

[แก้]

ค้างคาวคุณกิตติอาศัยในถ้ำตามผาหินปูนไกลจากปากถ้ำ มีประมาณ 10-15 ตัวในแต่ละถ้ำย่อย เฉลี่ยกลุ่มหนึ่งมีประมาณ 100 ตัว สูงสุด 500 ตัว เกาะนอนตามผนังสูงหรือเพดานถ้ำ แยกจากตัวอื่นๆ[9] พบว่ามีการอพยพย้ายถ้ำระหว่างฤดูกาลด้วยเช่นกัน[9]

ค้างคาวคุณกิตติมีช่วงหากินสั้นๆประมาณ 30 นาทีในตอนค่ำและ 20 นาทีในรุ่งเช้า ทำให้ง่ายต่อการโดนรบกวนจากฝนหรืออากาศเย็น[9] ค้างคาวจะออกหาอาหารในบริเวณไร่มันสำปะหลังและนุ่น หรือบริเวณเรือนยอดกอไผ่และต้นสักในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากถ้ำที่อาศัย[2][9] ในกระเพาะของตัวอย่างค้างคาวตัวอย่างที่จับได้ประกอบไปด้วยแมงมุมและแมลงผสมกับสิ่งที่คาดว่าเป็นใบไม้ คาดว่าเป็นเหยื่อที่จับได้ระหว่างทำการบิน[9] อาหารหลักของค้างคาวนั้นประกอบไปด้วยแมลงวัน (วงศ์ Chloropidae วงศ์ Agromyzidae และ วงศ์ Anthomyiidae), แตนและแมลงในอันดับโซคอพเทอรา (psocoptera) [9]

ในฤดูแล้งของทุกปี (ประมาณเดือนเมษายน) ค้างคาวจะตกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอาศัยเกาะอกแม่จนกระทั่งสามารถหากินได้ด้วยตัวเอง ในช่วงหากินแม่ค้างคาวจะทิ้งลูกเกาะไว้ในถ้ำ[5][9][8]

อนุกรมวิธานและประวัติการค้นพบ

[แก้]

ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวในวงศ์ Craseonycteridae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Rhinolophoidea จากผลทดสอบทางโมเลกุล บนพื้นฐานนี้ ค้างคาวคุณกิตติจึงเป็นญาติใกล้ชิดกับค้างคาววงศ์ Hipposideridae และ Rhinopomatidae[4]

ค้าวคาวกิตติค้นพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2516 โดยกิตติ ทองลงยา นักสัตววิทยาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บริเวณถ้ำไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างทำการเก็บตัวอย่างค้างคาวในโครงการการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา กิตติพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวให้กับจอห์น เอ็ดวาร์ด ฮิลล์ (John Edward Hill) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ประเทศอังกฤษ เพื่อตรวจพิสูจน์และพบว่าค้างคาวชนิดนี้มีลักษณะหลายอย่างเป็นแบบฉบับของตนเอง สามารถที่จะตั้งเป็นสกุลและวงศ์ใหม่ได้ หลังจากกิตติเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ฮิลล์ได้จำแนกและตีพิมพ์ถึงค้างคาวชนิดนี้ และตั้งชื่อว่า Craseonycteris thonglongyai เพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติ ทองลงยา ผู้ค้นพบค้างคาวชนิดนี้เป็นคนแรก[10][11]

สถานะการอนุรักษ์

[แก้]

จากการพิจารณาในปี พ.ศ. 2551 ค้างคาวคุณกิตติจัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จากการลดลงของประชากร[1] ในประเทศไทย ค้างคาวคุณกิตติจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535[12][13] ปัจจุบัน จากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)[14]

หลังจากมีการค้นพบในช่วงปี พ.ศ. 2513 ถิ่นอาศัยของค้างคาวโดนรบกวนจากนักท่องเที่ยวและนักสะสมรวมถึงผู้ที่นำค้างคาวไปขายเป็นของที่ระลึก อย่างไรก็ตาม การคุกคามเหล่านี้ยังไม่มีผลกระทบมากนักเพราะค้างคาวส่วนมากอยู่ในพื้นที่เข้าถึงยาก มีเพียงแค่สองสามถ้ำเท่านั้นที่โดนรบกวน การคุกคามนั้นยังรวมถึงการยึดถ้ำเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอีกด้วย[9][15]

ปัจจุบันผลกระทบที่ส่งผลมากและระยะยาวที่สุดต่อประชากรค้างคาวในประเทศไทยคือการเผาป่าในทุกๆปี โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ของค้างคาว ส่วนท่อลำเลียงจากประเทศพม่ามาประเทศไทยนั้นไม่ส่งผลคุกคามต่อค้างคาว[9] แต่อย่างไรก็ตามการคุกคามต่อประชากรค้างคาวในประเทศพม่านั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก[2]

ในปี พ.ศ. 2550 ค้างคาวคุณกิตติเป็นหนึ่งในสิบโครงการของสปีชีส์ที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรง โดยโครงการสัตว์ที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก (EDGE) [16]

การเผยแพร่ในสื่ออื่น

[แก้]
สัญลักษณ์ทีมฟุตบอลเมืองกาญจน์
  • ตราของอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีรูปค้างคาวคุณกิตติเป็นสัญลักษณ์
  • สโมสรฟุตบอล เมืองกาญจน์ เอฟซี สโมสรประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีโลโก้ประจำสโมสรที่เป็นรูปค้างคาวคุณกิตติ[17]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Bates, P., Bumrungsri, S. & Francis, C. (2008). Craseonycteris thonglongyai. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 28 January 2009. Listed as Vulnerable
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "Bumblebee bat (Craseonycteris thonglongyai)". EDGE Species. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-19. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
  3. "Mammal record breakers: The smallest!". The Mammal Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-13. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
  4. 4.0 4.1 4.2 Hulva & Horáček (2002). "Craseonycteris thonglongyai (Chiroptera: Craseonycteridae) is a rhinolophoid: molecular evidence from cytochrome b". Acta Chiropterologica. 4 (2): 107–120.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 Goswami, A. 1999. Craseonycteris thonglongyai, Animal Diversity Web. Retrieved on 11 April 2008.
  6. Meyers, P. 1997. Bat Wings and Tails เก็บถาวร 2008-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Animal Diversity Web. Retrieved on 12 April 2008.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 MJR Pereira (October 2006). "Status of the world's smallest mammal, the bumble-bee bat Craseonycteris thonglongyai, in Myanmar". Oryx. 40 (4): 456–463. doi:10.1017/S0030605306001268.
  8. 8.0 8.1 สุรพล ดวงแข ค้างคาวคุณกิตติ...สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก[ลิงก์เสีย] มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Hutson, A. M., Mickleburgh, S. P. and Racey, P. A. (Compilers). 2001. Microchiropteran Bats: Global Status Survey and Conservation Action Plan เก็บถาวร 2008-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. IUCN/SSC Chiroptera Specialist Group. IUCN: Gland, Switzerland.
  10. J. E. Hill and Susan E. Smith (1981-12-03). "Craseonycteris thonglongyai". Mammalian Species. 160: 1–4.
  11. Schlitter, Duane A. (February 1975). "Kitti Thonglongya, 1928-1974". Journal of Mammalogy. 56 (1): 279–280.
  12. สัตว์ป่าคุ้มครอง โลกสีเขียว
  13. กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546[ลิงก์เสีย] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 74 ก หน้า 261
  14. ค้างคาวคุณกิตติ ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย
  15. กุลธิดา สามะพุทธิ, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ค้ า ง ค า ว กิ ต ติ สารคดีปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มีนาคม 2528
  16. "Protection for 'weirdest' species". BBC. 2007-01-16. สืบค้นเมื่อ 2007-05-22.
  17. เมืองกาญจน์ เอฟซี แห่งลีกด.2 พวกคุณรู้จักเขาดีพอหรือยัง? เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คอลัมนิสต์ดิวิชั่น2 Siamsport

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]