ค้างคาวคุณกิตติ
ค้างคาวคุณกิตติ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ปัจจุบัน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Chiroptera |
วงศ์: | Craseonycteridae Hill, 1974 |
สกุล: | Craseonycteris Hill, 1974 |
สปีชีส์: | C. thonglongyai |
ชื่อทวินาม | |
Craseonycteris thonglongyai Hill, 1974 | |
แผนที่การกระจายพันธุ์ |
ค้างคาวคุณกิตติ, ค้างคาวกิตติ หรือ ค้างคาวหน้าหมู (อังกฤษ: Kitti's hog-nosed bat, Bumblebee bat) เป็นค้างคาวที่จัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ Craseonycteridae และสกุล Craseonycteris พบได้ทางตะวันตกของประเทศไทย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า อาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนริมแม่น้ำ
ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีสีน้ำตาลปนแดงเรื่อๆ หรือสีเทา มีจมูกคล้ายจมูกหมู มีอุปนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ยแล้วกลุ่มละ 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินเป็นช่วงสั้นๆในตอนเย็นและเช้ามืด หากินไม่ไกลจากถ้ำที่พักอาศัย กินแมลงเป็นอาหาร ตกลูกปีละหนึ่งตัว
สภาวะของค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่าไม่เป็นที่แน่ชัด และประชากรที่พบในประเทศไทยก็พบว่าจำกัดอยู่ในเพียงจังหวัดเดียว ทำให้ค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุหลักเกิดจากการคุกคามจากมนุษย์ และการลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย[1]
กายวิภาค
[แก้]ค้างคาวคุณกิตติลำตัวยาวประมาณ 29-33 มม. หนักประมาณ 2 กรัม[2] จึงเป็นที่มาของชื่อ "bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)" ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยมีคู่แข่งคือหนูผี โดยเฉพาะในหนูผีจิ๋ว (Suncus etruscus) ซึ่งมีน้ำหนัก 1.2-2.7 กรัม แต่มีความยาว 36-53 มม.จากหัวถึงหาง[3]
ค้างคาวคุณกิตติมีจมูกใหญ่เป็นพิเศษ คล้ายจมูกหมู[2] มีรูจมูกตั้งตรง แคบ[4] มีหูใหญ่เมื่อเทียบกับส่วนหัว ขณะที่ตามีขนาดเล็ก โดยมากถูกปกคลุมด้วยขนอ่อน[5] มีฟันเหมือนกับค้างคาวกินแมลงทั่วไป[5] มีสูตรขากรรไกรบนเป็น 1:1:1:3 และขากรรไกรล่างเป็น 2:1:2:3 [4] มีฟันตัดขนาดใหญ่ด้านบน[5]
ค้างคาวมีสีน้ำตาลแดงหรือสีเทาในส่วนหลัง ด้านท้องสีจะอ่อนกว่า[5] ปีกมีขนาดใหญ่ มีสีเข้มกว่า ปลายยาวเพื่อช่วยค้างคาวในการบินร่อน [2] ปีกกว้างประมาณ 160 มม. ค้างคาวคุณกิตติไม่มีหางถึงแม้จะมีกระดูกสันหางถึง 2 ชิ้น[5] มีแผ่นหนังขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างขาหลัง (uropatagium) ซึ่งอาจมีไว้ช่วยในการบินจับแมลง ถึงแม้ว่าจะไม่มีกระดูกหางหรือเดือยที่ช่วยควบคุมการบิน[2][5][6]
การกระจายพันธุ์
[แก้]ค้างคาวคุณกิตติพบในถ้ำหินปูนริมแม่น้ำในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ[2] ในประเทศไทยพบค้างคาวคุณกิตติจำกัดอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี ในแถบลุ่มน้ำของแม่น้ำแควน้อย[2][7] ในอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบการกระจายตัวของค้างคาวมากที่สุด จากการสำรวจถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พบค้างคาวกิตติจำนวน 35 ถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอำเภอไทรโยคมากถึง 23 ถ้ำ ที่เหลือพบในเขตอำเภอทองผาภูมิ ท่าม่วง และอำเภอเมือง[8] ขณะที่ประชากรค้างค้าวนอกเหนือจากในอุทยานแล้วอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม[2]
ในปี พ.ศ. 2544 มีการพบค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่า ใน 9 แห่งด้วยกัน ในแถบเทือกเขาหินปูนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอัตทะรัน (Ataran), และแม่น้ำคเยง (Gyaing) ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ[7] ค้างคาวที่พบในประเทศไทยและประเทศพม่ามีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกันแต่พบความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทางหรือกำหนดทิศทาง[7] ซึ่งเรายังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมประชากรของทั้งสองประเทศจึงมีการวิวัฒนาการแยกจากกันไป[7]
พฤติกรรม
[แก้]ค้างคาวคุณกิตติอาศัยในถ้ำตามผาหินปูนไกลจากปากถ้ำ มีประมาณ 10-15 ตัวในแต่ละถ้ำย่อย เฉลี่ยกลุ่มหนึ่งมีประมาณ 100 ตัว สูงสุด 500 ตัว เกาะนอนตามผนังสูงหรือเพดานถ้ำ แยกจากตัวอื่นๆ[9] พบว่ามีการอพยพย้ายถ้ำระหว่างฤดูกาลด้วยเช่นกัน[9]
ค้างคาวคุณกิตติมีช่วงหากินสั้นๆประมาณ 30 นาทีในตอนค่ำและ 20 นาทีในรุ่งเช้า ทำให้ง่ายต่อการโดนรบกวนจากฝนหรืออากาศเย็น[9] ค้างคาวจะออกหาอาหารในบริเวณไร่มันสำปะหลังและนุ่น หรือบริเวณเรือนยอดกอไผ่และต้นสักในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากถ้ำที่อาศัย[2][9] ในกระเพาะของตัวอย่างค้างคาวตัวอย่างที่จับได้ประกอบไปด้วยแมงมุมและแมลงผสมกับสิ่งที่คาดว่าเป็นใบไม้ คาดว่าเป็นเหยื่อที่จับได้ระหว่างทำการบิน[9] อาหารหลักของค้างคาวนั้นประกอบไปด้วยแมลงวัน (วงศ์ Chloropidae วงศ์ Agromyzidae และ วงศ์ Anthomyiidae), แตนและแมลงในอันดับโซคอพเทอรา (psocoptera) [9]
ในฤดูแล้งของทุกปี (ประมาณเดือนเมษายน) ค้างคาวจะตกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอาศัยเกาะอกแม่จนกระทั่งสามารถหากินได้ด้วยตัวเอง ในช่วงหากินแม่ค้างคาวจะทิ้งลูกเกาะไว้ในถ้ำ[5][9][8]
อนุกรมวิธานและประวัติการค้นพบ
[แก้]ค้างคาวคุณกิตติเป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวในวงศ์ Craseonycteridae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Rhinolophoidea จากผลทดสอบทางโมเลกุล บนพื้นฐานนี้ ค้างคาวคุณกิตติจึงเป็นญาติใกล้ชิดกับค้างคาววงศ์ Hipposideridae และ Rhinopomatidae[4]
ค้าวคาวกิตติค้นพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2516 โดยกิตติ ทองลงยา นักสัตววิทยาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บริเวณถ้ำไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างทำการเก็บตัวอย่างค้างคาวในโครงการการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา กิตติพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวให้กับจอห์น เอ็ดวาร์ด ฮิลล์ (John Edward Hill) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ประเทศอังกฤษ เพื่อตรวจพิสูจน์และพบว่าค้างคาวชนิดนี้มีลักษณะหลายอย่างเป็นแบบฉบับของตนเอง สามารถที่จะตั้งเป็นสกุลและวงศ์ใหม่ได้ หลังจากกิตติเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ฮิลล์ได้จำแนกและตีพิมพ์ถึงค้างคาวชนิดนี้ และตั้งชื่อว่า Craseonycteris thonglongyai เพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติ ทองลงยา ผู้ค้นพบค้างคาวชนิดนี้เป็นคนแรก[10][11]
สถานะการอนุรักษ์
[แก้]จากการพิจารณาในปี พ.ศ. 2551 ค้างคาวคุณกิตติจัดอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จากการลดลงของประชากร[1] ในประเทศไทย ค้างคาวคุณกิตติจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535[12][13] ปัจจุบัน จากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR)[14]
หลังจากมีการค้นพบในช่วงปี พ.ศ. 2513 ถิ่นอาศัยของค้างคาวโดนรบกวนจากนักท่องเที่ยวและนักสะสมรวมถึงผู้ที่นำค้างคาวไปขายเป็นของที่ระลึก อย่างไรก็ตาม การคุกคามเหล่านี้ยังไม่มีผลกระทบมากนักเพราะค้างคาวส่วนมากอยู่ในพื้นที่เข้าถึงยาก มีเพียงแค่สองสามถ้ำเท่านั้นที่โดนรบกวน การคุกคามนั้นยังรวมถึงการยึดถ้ำเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอีกด้วย[9][15]
ปัจจุบันผลกระทบที่ส่งผลมากและระยะยาวที่สุดต่อประชากรค้างคาวในประเทศไทยคือการเผาป่าในทุกๆปี โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ของค้างคาว ส่วนท่อลำเลียงจากประเทศพม่ามาประเทศไทยนั้นไม่ส่งผลคุกคามต่อค้างคาว[9] แต่อย่างไรก็ตามการคุกคามต่อประชากรค้างคาวในประเทศพม่านั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก[2]
ในปี พ.ศ. 2550 ค้างคาวคุณกิตติเป็นหนึ่งในสิบโครงการของสปีชีส์ที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรง โดยโครงการสัตว์ที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก (EDGE) [16]
การเผยแพร่ในสื่ออื่น
[แก้]- ตราของอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีรูปค้างคาวคุณกิตติเป็นสัญลักษณ์
- สโมสรฟุตบอล เมืองกาญจน์ เอฟซี สโมสรประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีโลโก้ประจำสโมสรที่เป็นรูปค้างคาวคุณกิตติ[17]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Bates, P., Bumrungsri, S. & Francis, C. (2008). Craseonycteris thonglongyai. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 28 January 2009. Listed as Vulnerable
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "Bumblebee bat (Craseonycteris thonglongyai)". EDGE Species. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-19. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
- ↑ "Mammal record breakers: The smallest!". The Mammal Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-13. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Hulva & Horáček (2002). "Craseonycteris thonglongyai (Chiroptera: Craseonycteridae) is a rhinolophoid: molecular evidence from cytochrome b". Acta Chiropterologica. 4 (2): 107–120.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 Goswami, A. 1999. Craseonycteris thonglongyai, Animal Diversity Web. Retrieved on 11 April 2008.
- ↑ Meyers, P. 1997. Bat Wings and Tails เก็บถาวร 2008-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Animal Diversity Web. Retrieved on 12 April 2008.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 MJR Pereira (October 2006). "Status of the world's smallest mammal, the bumble-bee bat Craseonycteris thonglongyai, in Myanmar". Oryx. 40 (4): 456–463. doi:10.1017/S0030605306001268.
- ↑ 8.0 8.1 สุรพล ดวงแข ค้างคาวคุณกิตติ...สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก[ลิงก์เสีย] มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Hutson, A. M., Mickleburgh, S. P. and Racey, P. A. (Compilers). 2001. Microchiropteran Bats: Global Status Survey and Conservation Action Plan เก็บถาวร 2008-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. IUCN/SSC Chiroptera Specialist Group. IUCN: Gland, Switzerland.
- ↑ J. E. Hill and Susan E. Smith (1981-12-03). "Craseonycteris thonglongyai". Mammalian Species. 160: 1–4.
- ↑ Schlitter, Duane A. (February 1975). "Kitti Thonglongya, 1928-1974". Journal of Mammalogy. 56 (1): 279–280.
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง โลกสีเขียว
- ↑ กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546[ลิงก์เสีย] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 74 ก หน้า 261
- ↑ ค้างคาวคุณกิตติ ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย
- ↑ กุลธิดา สามะพุทธิ, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ค้ า ง ค า ว กิ ต ติ สารคดีปีที่ 1 ฉบับที่ 2 มีนาคม 2528
- ↑ "Protection for 'weirdest' species". BBC. 2007-01-16. สืบค้นเมื่อ 2007-05-22.
- ↑ เมืองกาญจน์ เอฟซี แห่งลีกด.2 พวกคุณรู้จักเขาดีพอหรือยัง? เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คอลัมนิสต์ดิวิชั่น2 Siamsport
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- EDGE of Existence (Bumblebee bat) เก็บถาวร 2016-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - Saving the World's most Evolutionarily Distinct and Globally Endangered (EDGE) species
- ข้อมูลและภาพที่ ADW
- Kitti's Hog-Nosed Bat เก็บถาวร 2009-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คลิปวิดีโอ
- ค้างคาวคุณกิตติ กายวิภาพเชิง 3 มิติ ห้องสมุดดิจิตอลวิทยาธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน