ค่าปฏิกรรมสงคราม
ค่าปฏิกรรมสงคราม (อังกฤษ: war reparations) หมายถึง ของมีค่าที่ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยเพื่อให้ครอบคลุมความเสียหายระหว่างสงคราม โดยทั่วไปแล้ว ค่าปฏิกรรมสงคราม หมายถึงเงินหรือสินค้าเปลี่ยนมือ มากกว่าการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ อย่างเช่น การผนวกดินแดน
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักของการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามในประวัติศาสตร์ประกอบด้วย:
- เป็นการกระทำที่ใช้ลงโทษประชาชนของฝ่ายแพ้สงคราม มากกว่าจะเป็นการกระทำอย่างเท่าเทียมระหว่างคู่สงครามทั้งสองฝ่าย
- ในหลายกรณี จากผลของการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม รัฐบาลของฝ่ายที่แพ้สงครามมาก่อนมักจะเป็นผู้เริ่มสงครามในภายหลัง โดยที่ประชาชนของประเทศมีบทบาทน้อยมากต่อการตัดสินใจทำสงครามดังกล่าว รวมไปถึงโทษของค่าปฏิกรรมสงครามส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้บริสุทธิ์
- หลังจากสงครามยุติ ประชาชนของฝ่ายแพ้สงครามมักจะประสบกับความยากจนและความขัดสน โทษของค่าปฏิกรรมสงครามจะทำให้ประชาชนยากจนลงไปอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาเรื้อรังและอาจเป็นชนวนในระยะยาวของผู้ชนะ
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกจะนำไปสู่ความหายนะ
และยังได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ค่าปฏิกรรมสงครามนั้นเป็นสาเหตุหลักของสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนีตามผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักในเยอรมนี ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในสาธารณรัฐไวมาร์ และนำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซี
ประสบการณ์จากการกำหนดค่าปฏิกรรมสงครามภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งประเทศผู้ชนะสงครามเรียกเก็บเครื่องจักรและสังหาริมทรัพย์แทนที่จะเป็นเงิน
การจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามในปัจจุบัน
[แก้]หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย อิรักได้ยอมรับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 687 ซึ่งเป็นการประกาศจำนวนเงินที่อิรักจะต้องรับผิดชอบจากการรุกรานคูเวต คณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยแห่งสหประชาชาติ (UNCC) ถูกจัดตั้งขึ้น และมีเงินทุนกว่า 350,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กรและเอกชน ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว 30% ได้มาจากมูลค่าของน้ำมันที่อิรักมอบให้ตามโครงการน้ำมันแลกอาหาร
รายชื่อค่าปฏิกรรมสงคราม
[แก้]รายชื่อสนธิสัญญาค่าปฏิกรรมสงคราม
[แก้]- สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1815) - ฝรั่งเศสจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามนโปเลียน
- สนธิสัญญารานตะโบ - พม่าจ่ายให้บริษัทอินเดียตะวันออกในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง
- สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (ค.ศ. 1871) - ฝรั่งเศสจ่ายให้เยอรมนีในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 - สยามจ่ายให้ฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-สยาม
- สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ - จีนจ่ายให้ญี่ปุ่นในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
- พิธีสารนักมวย - จีนจ่ายให้พันธมิตรแปดชาติในกบฏนักมวย
- สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ - โซเวียตรัสเซียจ่ายให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- สนธิสัญญาแวร์ซาย - เยอรมนีจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- สนธิสัญญาเนอยี-ซูร์-แซน - บัลแกเรียจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- การสงบศึกมอสโก - ฟินแลนด์จ่ายให้สหภาพโซเวียตในสงครามต่อเนื่อง
- การประชุมพ็อทซ์ดัม - เยอรมนีจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง
- สนธิสัญญาสันติภาพสำหรับอิตาลี ค.ศ. 1947 - อิตาลีจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง
- สนธิสัญญาซานฟรานซิสโก - ญี่ปุ่นจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง
- สนธิสัญญาสันติภาพปารีส (ค.ศ. 1947) - ฮังการีจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง
- สนธิสัญญาสันติภาพปารีส (ค.ศ. 1947) - โรมาเนียจ่ายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง
อ้างอิง
[แก้]- John Wheeler-Bennett "The Wreck of Reparations, being the political background of the Lausanne Agreement, 1932", New York, H. Fertig, 1972.
- Ilaria Bottigliero "Redress for Victims of Crimes under International Law", Martinus Nijhoff Publishers, The Hague (2004).
ดูเพิ่ม
[แก้]- สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (ค.ศ. 1871)
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- การประชุมยัลตา
- การประชุมพ็อทซ์ดัม
- พิธีสารนักมวย
- สนธิสัญญาซานฟรานซิสโก