ข้ามไปเนื้อหา

คุ้มเจ้าหลวง (นครแพร่)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุ้มเจ้าหลวง
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทคุ้มหลวง
สถาปัตยกรรมล้านนาไทยผสมยุโรป
เมืองอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2435
ผู้สร้างเจ้าพิริยเทพวงษ์
การออกแบบและการก่อสร้าง
รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท อาคารสถาบันและสาธารณะ

คุ้มเจ้าหลวง หรือ คุ้มหลวงนครแพร่ (คำเมือง : ᨤᩩᩢᨾᨧᩮᩢ᩶ᩣᩉᩖᩅ᩠ᨦ หรือ ᨤᩩᩢᨾᩉᩖᩅ᩠ᨦᨶᨣᩬᩁᨻᩯᩖ᩵) เป็นที่ประทับของเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย และเป็นคุ้มเจ้าหลวงเพียงไม่กี่แห่งในแผ่นดินล้านนาที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ในเขตกำแพงเมืองเก่าแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ประวัติ

[แก้]
ไฟล์:คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ในอดีต.jpg
ภาพคุ้มเจ้าหลวงในอดีต เมื่อราว 100 ปี ก่อน

คุ้มเจ้าหลวง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารโอ่โถง มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น และจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในปีพ.ศ. 2435 คุ้มนี้งดงามใหญ่โตเพราะเงินคงคลังในสมัยเจ้าหลวงพิมพิสารราชานั้นมีมาก ตกมาถึงรุ่นเจ้าพิริยเทพวงษ์ผู้เป็นราชโอรส จึงสามารถสร้างคุ้มใหม่หลังใหญ่ได้ แม้ว่าในปี พ.ศ. 2433 เป็นปีที่เมืองแพร่ฝนแล้งราษฎรทำนาได้หนึ่งส่วน เสียสี่ส่วนต้องเปิดคลังหลวงไปช่วยราษฎรก็ตาม แต่เมืองแพร่ยังมีเงินมากพอที่จะสร้างสถาปัตยกรรมงดงามล้ำค่าหลังนี้ขึ้นมาได้[1]

ในปี พ.ศ. 2445 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองนครแพร่ ทำให้เจ้าพิริยเทพวงษ์ได้หลีภัยการเมืองไปอยู่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และไม่ได้มาอีกจนถึงพิราลัย รัฐบาลสยามจึงได้ยึดราชสมบัติ และคุ้มของเจ้าหลวง และได้ใช้เป็นที่ตั้งของกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง บริเวณตรงข้ามคุ้มเจ้าหลวงเคยมีคอกม้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เมื่อปี พ.ศ. 2454 พระยานิกรกิตติการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่คนที่ 4 ได้ย้ายโรงเรียนตัวอย่างเมืองแพร่ โรงเรียนหนังสือไทยตัวอย่างตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาตั้งอยู่ตรงข้ามคุ้มเจ้าหลวง โดยโรงเรียนนี้เมื่อแรกก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า "โรงเรียนเทพวงษ์" ตามนามของเจ้าพิริยเทพวงษ์ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2443 ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 เมื่ออาคารเรียนไม้สักสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจจากมหาชนชาวเมืองแพร่ทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างดีและได้รับบริจาคไม้สัก 100 ท่อน จากเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู มหายศปัญญา) กรมการที่ปรึกษาโรงเรียนตัวอย่างเมืองแพร่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า "โรงเรียนพิริยาลัย" ลงวันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2456 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าหลวงนครแพร่องค์สุดท้าย และเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ต่อมาโรงเรียนก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนยันตรกิจโกศล คือ โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน ส่วนคุ้มเจ้าหลวงก็กลายเป็นจวนหรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จนเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้มอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เป็นผู้ดูแลได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ คุ้มเจ้าหลวง หลังนี้ยังเคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบัน และสาธารณะ ประจำปี 2540

ปัจจุบัน คุ้มเจ้าหลวงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา โดยไม่เสียค่าเข้าชม[2]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

คุ้มเจ้าหลวง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิงหลังคามุงด้วยไม้ เรียกว่า "ไม้แป้นเกล็ด" ไม่มีหน้าจั่วเป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร หลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม ทั้งปั้นลมและชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงาม เป็นฝีช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มุขด้านหน้าตัวอาคารแต่เดิมมีบันไดขึ้นลงทั้ง 2 ด้าน คือด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ (ปัจจุบันรื้อออกแล้ว) คงเหลือบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้แก่น ไม้แดง และไม้เนื้อแข็ง รองรับฐานเสาทั้งหลัง

ภายใต้ตัวอาคารซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร มีห้องสำหรับเก็บข้าวของเงินทองและทรัพย์สมบัติจำนวน 3 ห้อง ห้องกลางเป็นห้องทึบ ส่วนอีก 2 ห้อง ปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องสำหรับใส่เงิน ซึ่งห้องใต้ดินสำหรับเก็บสมบัตินี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคุกที่คุมขังนักโทษ ซึ่งในยุคนั้นมีคุกที่ขังนักโทษแยกต่างหากอยู่แล้ว (อยู่ระหว่างศาลากลางกับศาลจังหวัด) ส่วนเครื่องจองจำนักโทษที่จัดแสดงในห้องเพิ่งนำเข้ามาจัดแสดงเมื่อเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์[3][4]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]