ข้ามไปเนื้อหา

ฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์ไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คำเป็น และ คำตาย)

ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ร่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์[1] และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทย นั่นเอง

ร้อยกรองไทยมีความหมาย 2 นัย นัยหนึ่งหมายถึงการแต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ อีกนัยหนึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบทบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น กวีนิพนธ์ บทกวี บทประพันธ์ กวีวัจนะ ลำนำ บทกลอน กาพย์กลอน กลอนกานต์ กานต์ รวมทั้งคำว่าฉันท์ กาพย์และกลอนด้วย[2] บทความนี้มุ่งให้ความรู้เรื่องลักษณะบังคับของร้อยกรองไทยเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจคำประพันธ์ไทยต่อไป

ตำราฉันทลักษณ์ไทย

[แก้]

ตำราแต่งร้อยกรองไทยที่ถือเป็นตำราหลักเท่าที่ปรากฏต้นฉบับในปัจจุบัน มีอยู่ 7 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นตำราแต่งกวีนิพนธ์แบบฉบับ ได้แก่

  1. จินดามณี
  2. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน
  3. ชุมนุมตำรากลอน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
  4. ประชุมลำนำ ของ หลวงธรรมาภิมณฑ์
  5. ฉันทศาสตร์ ของ นายฉันท์ ขำวิไล
  6. ฉันทลักษณ์ ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร
  7. คัมภีร์สุโพธาลังการ แปลโดย น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง

การแบ่งฉันทลักษณ์

[แก้]

สุภาพร มากแจ้ง[3] ได้วิเคราะห์ฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยไว้อย่างละเอียดใน กวีนิพนธ์ไทย

ซึ่งกล่าวว่าการแบ่งฉันทลักษณ์อย่างแคบและนิยมใช้อยู่ทั่วไปจะได้ 5 ชนิดใหญ่ ๆ แต่หากรวมคำประพันธ์ท้องถิ่นเข้าไปด้วยจะได้ 10 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โคลง
  2. ฉันท์
  3. กาพย์
  4. กลอน
  5. ร่าย
  6. กานต์
  7. ค่าว
  8. กาพย์ (เหนือ)
  9. กาบ (อีสาน)
  10. กอน (อีสาน)

คำประพันธ์ทั้ง 10 ชนิดนี้ ถ้านำมาแบ่งตามลักษณะบังคับร่วมจะได้ 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 ไม่บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย และกานต์

กลุ่มที่ 2 บังคับวรรณยุกต์ ได้แก่ โคลง กอน (อีสาน) กาบ (อีสาน) กาพย์ (เหนือ) และค่าว

ลักษณะบังคับ

[แก้]

หมายถึง ลักษณะบังคับที่มีในคำประพันธ์ไทย ได้แก่

  1. ครุ ลหุ
  2. เอก โท
  3. คณะ
  4. พยางค์
  5. สัมผัส
  6. คำเป็น คำตาย
  7. คำนำ
  8. คำสร้อย

ครุและลหุ

[แก้]
  • ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) และ สระเกินทั้ง 4 คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น เช่น ตา ดำ หัด เรียน ฯลฯ
  • ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา ได้แก่พยางค์ที่ประกอบด้วย สระสั้น (รัสสระ) ที่ไม่มีตัวสะกด เช่น พระ จะ มิ ดุ แกะ ฯลฯ

เอก โท

[แก้]
  • เอก คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น ซึ่งในโคลง และร่าย ใช้เอกแทนได้ เช่น พ่อ แม่ พี่ ปู่ ชิ ชะ มัก มาก ฯลฯ
  • โท คือพยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท เช่น น้า ป้า ช้าง นี้น้อง ต้อง เลี้ยว ฯลฯ

คณะ

[แก้]
  • คณะ กล่าวโดยทั่วไปคือแบบบังคับที่วางเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า คำประพันธ์ชนิดนั้น จะต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ และต้องมีเอกโท ครุลหุตรงนั้นตรงนี้
  • แต่สำหรับใน ฉันท์ คำว่า คณะ มีความหมายแคบ คือหมายถึง ลักษณะที่วางคำเสียงหนัก เสียงเบา ที่เรียกว่า ครุ ลหุ และแบ่งออกเป็น 8 คณะ คณะหนึ่งมีคำอยู่ 3 คำ เรียง ครุ ลหุ ไว้ต่างกัน

คณะทั้ง 8 นั้น คือ ย ร ต ภ ช ส ม น ชื่อคณะทั้ง 8 นี้ เป็นอักษรที่ย่อมาจากคำเต็ม คือ

ย มาจาก ยชมาน แปลว่า พราหมณ์บูชายัญ
ร มาจาก รวิ แปลว่า พระอาทิตย์
ต มาจาก โตย แปลว่า น้ำ
ภ มาจาก ภูมิ แปลว่า ดิน
ช มาจาก ชลน แปลว่า ไฟ
ส มาจาก โสม แปลว่า พระจันทร์
ม มาจาก มารุต แปลว่า ลม
น มาจาก นภ แปลว่า ฟ้า

กำชัย[1] ได้แต่งคำคล้องจองไว้สำหรับจำ คณะ ไว้ดังนี้

ย ยะยิ้มยวน (ลหุ-ครุ-ครุ)
ร รวนฤดี (ครุ-ลหุ-ครุ)
ส สุรภี (ลหุ-ลหุ-ครุ)
ภ ภัสสระ (ครุ-ลหุ-ลหุ)
ช ชโลมและ (ลหุ-ครุ-ลหุ)
น แนะเกะกะ (ลหุ-ลหุ-ลหุ)
ต ตาไปละ (ครุ-ครุ-ลหุ)
ม มาดีดี/มาดี ๆ (ครุ-ครุ-ครุ)

เมื่อแยกพยางค์แล้ว จะได้ ครุ-ลหุ เต็มตามคณะทั้ง 8 (ชื่อคณะนี้ ไม่สู้จำเป็นในการเรียนฉันทลักษณ์ไทยนัก เพราะมุ่งจำครุ-ลหุกันมากกว่าจำชื่อคณะ เท่าที่จัดมาให้ดูเพื่อประดับความรู้เท่านั้น)

พยางค์

[แก้]

พยางค์ คือจังหวะเสียง ที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ หรือหน่วยเสียง ที่ประกอบด้วยสระตัวเดียว จะมีความหมาย หรือไม่ก็ตาม คำที่ใช้บรรจุในบทร้อยกรองต่าง ๆ นั้น ล้วนหมายถึง คำพยางค์ ทั้งสิ้น คำพยางค์นี้ ถ้ามีเสียงเป็น ลหุ จะรวม 2 พยางค์ เป็นคำหนึ่ง หรือหน่วยหนึ่ง ในการแต่งร้อยกรองก็ได้ แต่ถ้ามี เสียงเป็น ครุ จะรวมกันไม่ได้ ต้องใช้พยางค์ละคำ

สัมผัส

[แก้]

สัมผัส คือลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน คำที่คล้องจองกันนั้น หมายถึง คำที่ใช้สระ และมาตราสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษร หรือซ้ำเสียงกัน (สระใอ, ไอ อนุญาตให้ใช้สัมผัสกับ อัย ได้) มี 2 ชนิด คือ สัมผัสนอกและสัมผัสใน

1. สัมผัสนอก ได้แก่คำที่บังคับให้คล้องจองกัน ในระหว่างวรรคหนึ่ง กับอีกวรรคหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งที่ต่าง ๆ กัน ตามชนิดของคำประพันธ์นั้น ๆ สัมผัสนอกนี้ เป็นสัมผัสบังคับ ซึ่งจำเป็นต้องมี จะขาดไม่ได้ ดังตัวอย่าง ที่โยงเส้นไว้ให้ดู เช่น
โคลง
แท้ไทยใช่เผ่าผู้ แผ่มหิทธิ์
รักสงบระงับจิต ประจักษ์แจ้ง
ไป่รานไป่รุกคิด คดประทุษ ใครเลย
เว้นแต่ชาติใดแกล้ง กลั่นร้ายรานไทย
กลอน
มิใช่ชายดอกนะจะดีเลิศ หญิงประเสริฐเลิศดีก็มีถม
ชายเป็นปราชญ์หญิงฉลาดหลักแหลมคม มีให้ชมทั่วไปในธาตรี
2. สัมผัสใน ได้แก่ คำที่คล้องจองกัน และอยู่ในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสคู่ เรียงคำไว้ติดต่อกัน หรือจะเป็นสัมผัสสลับ คือเรียงคำอื่น แทรกคั่นไว้ ระหว่างคำที่สัมผัสก็ได้สุดแต่จะเหมาะ ทั้งไม่มีกฎเกณฑ์จำกัดว่า จะต้องมีอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ เหมือนอย่างสัมผัสนอก และไม่จำเป็น จะต้องใช้สระอย่างเดียวกันด้วย เพียงแต่ให้อักษรเหมือนกัน หรือเป็นอักษรประเภทเดียวกัน หรืออักษรที่มีเสียงคู่กัน ก็ใช้ได้ สัมผัสใน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร
2.1 สัมผัสสระ ได้แก่คำคล้องจองที่มีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น
บางน้ำจืดชื่อบางเป็นทางคิด ใครมีจิตจืดนักมักหมองหมาง
คนใจจืดชืดชื้อเหมือนชื่อบาง ควรตีห่างเหินกันจนวันตาย
อันน้ำจืดรสสนิทกว่าจิตมืด ถึงเย็นชืดลิ้มรสหมดกระหาย
แต่ใจจืดรสระทมขมมิวาย มักทำลายมิตรภาพให้ราบเตียน
จาก นิราศวัดสิงห์
2.2 สัมผัสอักษร ได้แก่ คำคล้องจองที่ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน หรือตัวอักษร ประเภทเดียวกัน หรือใช้ตัวอักษร ที่มีเสียงคู่กัน ที่เรียกว่า "อักษรคู่" เช่น ข ค ฆ หรือ ถ ท ธ เป็นต้น เช่น
ใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกัน คือใช้อักษรตัวเดียวกันตลอดทั้งวรรค ดังนี้
แลลิงลิงเล่นล้อ ลางลิง
พาเพื่อนเพ่นพ่านพิง พวกพ้อง
ตื่นเต้นไต่ต่อติง เตี้ยต่ำ
ก่นกู่กันกึกก้อง เกาะเกี้ยวกวนกัน
ใช้ตัวอักษรประเภทเดียวกัน คือใช้อักษรที่มีเสียงเหมือนกัน แต่รูปไม่เหมือนกัน เช่น ค ฆ ท ธ ร ล ศ ษ ส เป็นต้น ดังนี้
ศึกษาสำเร็จรู้ ลีลา กลอนแฮ
ระลึกพระคุณครูบา บ่มไว้
อุโฆษคุณาภา เพ็ญพิพัฒน์
นิเทศธรณินให้ หื่นซ้องสาธุการ
ใช้อักษรที่มีเสียงคู่กัน คือใช้อักษรต่ำ ชนิดอักษรคู่ 14 ตัว กับอักษรสูง 11 ตัว ซึ่งมีเสียงผันเข้ากันได้ เป็นคู่ๆ ดังนี้
อักษรต่ำ 14 ตัว อักษรสูง 11 ตัว
ค ฆ
ช ฌ
ซ (ทร-ซ) ศ ษ ส
ฑ ฒ ท ธ ฐ ถ
พ ภ
ตัวอย่างดังนี้
คูนแคขิงข่าขึ้น เคียงคาง
แฟงฟักไฟฝ่อฝาง ฝิ่นฝ้าย
ซางไทรโศกสนสาง ซ่อนซุ่ม
ทิ้งถ่อนทุยท่อมท้าย เถื่อนท้องแถวถิน

สัมผัสในดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ จึงมิได้มีแบบกำหนดมาแต่โบราณ แต่ถ้าไม่มี ก็ขาดรสไพเราะ ซึ่งเป็นยอดของรส ในเชิงฉันทลักษณ์ เพราะฉะนั้น คำประพันธ์ที่ดี จะขาดสัมผัสในเสียมิได้ เหมือนเกสร เป็นเครื่องเชิดชู ความสวยงามของบุปผชาติฉะนั้น

คำเป็นคำตาย

[แก้]
  • คำเป็น คือ คำที่ไม่มีตัวสะกดประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา และคำที่มีตัวสะกด ในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมทั้ง สระสั้นทั้ง 4 ตัว คือ อำ ใอ ไอ เอาเช่น ตาดำชมเชยคนหุงข้าวเหนียวในครัวไฟ
  • คำตาย คือ คำไม่มีตัวสะกดที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำใอ ไอเอา) และคำที่มีตัวสะกด ในแม่ กก กด กบ เช่น นกกะหรอด กับนกกะปูด จิกพริก (ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตายแทน เอก ได้)

คำนำ

[แก้]

คำนำ คือคำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น สำหรับเป็นบทนำ ในคำประพันธ์ เป็นคำเดียวบ้าง เป็นวลีบ้าง เช่น เมื่อนั้น บัดนั้น โฉมเฉลา น้องเอ๋ยน้องรัก รถเอ๋ยรถทรง ครานั้น สักวา ฯลฯ บางทีก็ใช้คำนามตรง ๆ เหมือนอย่าง นามอาลปนะ เช่น สุริยา พระองค์ ภมร ดวงจันทร์ ฯลฯ ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้

ปทุมา โสภาหมดจดสดสี
เกิดในใต้ตมวารี แต่ไร้ราคีเปือกตม
ฯลฯ
ภมร สุนทรมธุรสถ้อยหรรษา
กลั่นกล่าวเร้าดวงวิญญาณ์ วาจาสิ้นลมคมใน
ฯลฯ

คำสร้อย

[แก้]

คำสร้อย คือคำที่ใช้สำหรับลงท้ายบทหรือท้ายบาทของคำประพันธ์ ซึ่งตามธรรมดา มีคำซึ่งมีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำตามที่บัญญัติไว้ ในคำประพันธ์จึงต้องเติมสร้อยเพื่อให้มีคำครบตามจำนวน และเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะในการอ่านด้วย คำสร้อยนี้จะเป็นคำนาม คำวิเศษณ์ คำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน หรือคำอุทาน ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำอุทานที่มีรูปวรรณยุกต์ ต้องตัดรูปวรรณยุกต์ออก และไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ มิฉะนั้น จะขัดต่อการอ่านทำนองเสนาะ และในการใช้นั้น ควรเลือกคำที่ท่านวางเป็นแบบฉบับไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • คำนาม เช่น พ่อ แม่ พี่
  • คำกริยานุเคราะห์ เช่น เทอญ นา
  • คำสันธาน เช่น ฤๅ แล ก็ดี
  • คำอุทาน เช่น ฮา แฮ เฮย เอย เวย รา อา นอ
  • คำวิเศษณ์ เช่น บารนี เลย

คำสร้อย นี้ ต้องเป็นคำเป็น จะใช้คำตายไม่ได้ และใช้เฉพาะบทประพันธ์ ชนิดโคลง และร่าย เท่านั้น

สุนทรียภาพของฉันทลักษณ์ไทย

[แก้]

คือ แง่ความงามของฉันทลักษณ์เป็นเครื่องยังให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ เกิดจากองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

สุนทรียรูป

[แก้]

ได้แก่ การเลือกใช้รูปแบบของคำประพันธ์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและอารมณ์ที่ผู้แต่งต้องการสื่อ รวมทั้งความถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์ที่เลือกด้วย

สุนทรียลีลา

[แก้]

คือ แง่งามในด้านกระบวนการพรรณนา ซึ่งมีอยู่ 4 กระบวน คือ

  1. เสวรจนี กระบวนการชมความงามทั้งของตัวละครและสิ่งต่าง ๆ
  2. นารีปราโมทย์ กระบวนการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีหรือพูดให้เพลิดเพลิน
  3. พิโรธวาทัง กระบวนการตัดพ้อ โกรธขุ่นเคือง เยาะเย้ย เหน็บแนม
  4. สัลลาปังคพิสัย กระบวนการคร่ำครวญ โศกเศร้า พร่ำเพ้อ อาลัยอาวรณ์

สุนทรียรส

[แก้]

คือ แง่งามด้านอารมณ์สะเทือนใจ อันเกิดจากกระบวนการพรรณนา และกลวิธีการประพันธ์ที่เหมาะสม มีอยู่ 9 รส คือ

  1. สิงคารรส (รสแห่งความรัก)
  2. หาสยรส (รสแห่งความตลกขบขัน)
  3. กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณา)
  4. รุทธรส (รสแห่งความโกรธ)
  5. วีรรส (รสแห่งความกล้าหาญ)
  6. ภยานกรส (รสแห่งความกลัว)
  7. วิภัจฉารส (รสแห่งความเกลียดชัง ขยะแขยง)
  8. อัพภูตรส (รสแห่งความพิศวง อัศจรรย์)
  9. สันตรส (รสแห่งความสงบ เยือกเย็น บริสุทธิ์)

ขนาด

[แก้]

ฉันทลักษณ์ในงานร้อยกรอง มีขนาดลดหลั่นกัน ดังนี้ คือ บท → บาท → วรรค → คำ เฉพาะในคำประพันธ์ประเภทกลอน มักเรียกว่า คำกลอน แทนคำว่า บาท

คำประพันธ์ส่วนใหญ่ กำหนด 1 บท เป็น 2 บาท และ 1 บาท เป็น 2 วรรค แต่ยังมีคำประพันธ์อีกไม่น้อย ที่กำหนดบาทแตกต่างไปจากนี้ โดยแต่ละบาทจะมีชื่อเรียกกำกับ ว่า บาทเอก บาทโท บาทตรี บาทจัตวา บางครั้งอาจใช้จำนวนนับแทน เช่น บาทที่หนึ่ง บาทที่สอง เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 กำชัย ทองหล่อ. หลักภาษาไทย. รวมสาส์น (1977) : กรุงเทพฯ, 2545.
  2. กรมศิลปากร. ครรภครรลองร้อยกรองไทย. กรุงเทพฯ, 2545.
  3. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ, โอเดียนสโตร์, 2535.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]