คำประกาศเจตนารัสเซลล์–ไอน์สไตน์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
แถลงการณ์รัสเซลล์–ไอน์สไตน์ เป็นแถลงการณ์ของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1955 ระหว่างสงครามเย็น แถลงการณ์นี้มีสาระสำคัญเน้นย้ำถึงภัยจากอาวุธนิวเคลียร์และเรียกร้องให้ผู้นำชาติต่าง ๆ หามติร่วมกันเพื่อป้องกันความขัดแย้งในระดับนานาชาติ ผู้ลงนามในแถลงการณ์นี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนชั้นนำ รวมถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ลงนามก่อนเสียชีวิตในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1955 ไม่กี่วัน หลังจากประกาศไม่นาน ไซรัส เอส. อีตันได้เสนอและสนับสนุนให้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น ดังที่ได้เรียกร้องไว้ในแถลงการณ์ โดยจัดในพักวอช รัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอีตัน การประชุมดังกล่าวมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1957 และถือเป็นการประชุมครั้งแรกของการประชุมพักวอชว่าด้วยวิทยาศาสตร์และกิจการโลก
พื้นหลัง
[แก้]ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 การจุดระเบิดปรมาณูครั้งแรกได้เกิดขึ้นในทะเลทรายตอนเหนือของเมืองแอละมะกอโด รัฐนิวเม็กซิโก หลังจากนั้นในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งลิตเติลบอยลงในเมืองฮิโระชิมะและทิ้งแฟตแมนที่นะงะซะกิ 3 วันหลังจากนั้น ผลจากเหตุการณ์ทั้งสอง มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าไปกว่า 100,000 คน
ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1945 Glasgow Forward ได้เผยแพร่ข้อคิดเห็นของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์เป็นครั้งแรกในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเขาเริ่มเขียนในวันที่ระเบิดปรมาณูลงนะงะซะกิ ทั้งนี้ข้อคิดเห็นบางส่วนปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ด้วย
หลังจากทราบถึงผลของระเบิดปรมาณูในฮิโระชิมะและตระหนักถึงการแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โจเซฟ รอทแบลทได้ตัดสินใจลาออกจากโครงการแมนแฮตตันด้วยเหตุผลทางศีลธรรม และให้ความเห็นว่าเขาเริ่มเป็นห่วงอนาคตทั้งมวลของมนุษยชาติ
รัสเซลล์และรอทแบลทได้ร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในการร่างแถลงการณ์ที่ภายหลังเรียกว่าแถลงการณ์รัสเซลล์–ไอน์สไตน์
สาระสำคัญ
[แก้]แถลงการณ์นี้เรียกร้องให้จัดการประชุมที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ประเมินถึงอันตรายที่อาจเกิดจากอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (ภายหลังพิจารณาเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์) รวมทั้งเน้นว่าการประชุมนี้ต้องเป็นไปโดยปราศจากการเข้ามามีอิทธิพลของการเมือง หนึ่งในวลีที่มักอ้างถึงบ่อย มี วลีของรอทแบลทในสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ ค.ศ. 1995 ที่ว่า "จดจำมนุษยชาติของคุณ และลืมที่เหลือ" (Remember your humanity, and forget the rest)
ผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์
[แก้]- แมกซ์ บอร์น
- เพอร์ซี วิลเลียมส์ บริดจ์แมน
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- ลีโอโพลด์ อินเฟลด์
- เฟรเดริก โชลิออ กูรี
- เฮอร์แมนน์ โจเซฟ มุลเลอร์
- ไลนัส พอลิง
- ซี. เอฟ. พาวเวลล์
- โจเฟซ รอทแบลท
- เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์
- ฮิเดกิ ยุกะวะ
ในรายนามข้างต้น 10 ใน 11 เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล ยกเว้นเพียงแต่ลีโอโพลด์ อินเฟลด์
อ้างอิง
[แก้]- The Origins of the Russell–Einstein Manifesto เก็บถาวร 2006-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โดย Sandra Ionno Butcher, พฤษภาคม ค.ศ.2005.
- The First Pugwash Conference.
- Pugwash and Russell's Legacy เก็บถาวร 2012-12-12 ที่ archive.today โดย John R. Lenz.
- Science and World Affairs: history of the Pugwash Conferences, 1962, โดย Professor J. Rotblatt