ข้ามไปเนื้อหา

คาตานะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คะตะนะ)
"คาตานะ" หนึ่งในดาบญี่ปุ่น (นิฮงโต - 日本刀) หลากหลายชนิด
ส่วนต่าง ๆ ของดาบญี่ปุ่น
การตีดาบในสมัยเอโดะ

คาตานะ (ญี่ปุ่น: โรมาจิかたなทับศัพท์: katana) เป็นดาบญี่ปุ่น มีลักษณะคมด้านเดียว เพื่อฟันหรือตัด ไม่หัก ไม่งอ และคม มีวิธีการผลิตเฉพาะในญี่ปุ่นคือ เอาโลหะมาเผาและตีแผ่และตีพับซ้อนเหล็กครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้ดาบที่มีความแข็งแรงและคม คาตานะถือโดยชนชั้นซามูไรในญี่ปุ่นสมัยศักดินา จึงได้ชื่อว่า "ดาบซามูไร"

คันจิของคำว่าคาตานะใช้รูปอักษรเดียวกับคำว่า "เตา" ในภาษาจีน (刀) ซึ่งมีความหมายว่า "ดาบ" เช่นกัน

ความสำคัญ

[แก้]

ในยุคเอโดะ ดาบเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิบูชิโด (วิถีนักรบ) ซึ่งเป็นจริยธรรมของนักรบที่ต้องยึดถือปฏิบัติ และเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะนักรบเท่านั้นที่อนุญาตให้พกดาบได้ ซึ่งในขณะนั้นมีประมาณร้อยละสิบของประชากรทั้งหมด และเหล่านักรบนั้นจึงถือว่าดาบเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แสดงเกียรติยศ ชื่อเสียงและความภาคภูมิใจของตระกูล และดาบเหล่านั้นจะสืบทอดเป็นมรดกต่อ ๆ กันไปหลายชั่วอายุคน และใช้ดาบนี้ในการคว้านท้องหรือเซ็ปปูกุ ซึ่งถือกันว่าเป็นการตายอย่างมีเกียรติของนักรบเหล่านี้ ดาบซามูไรนี้ได้ถูกใช้เป็นอาวุธจนกระทั่งมีการนำปืนเข้ามาใช้ และกลายเป็นอาวุธหลักแทน

ประวัติ

[แก้]

ยุคนาระ

[แก้]

เดิมนักรบชาวญี่ปุ่นใช้ดาบจากจีนและเกาหลีในการสู้รบ ในยุคนาระ (Nara Period) ประมาณปี พ.ศ. 1193-1336 หรือประมาณ 1,300 ปีเศษที่แล้ว ปัญหาที่พบคือเวลาสู้รบดาบมักหักออกเป็นสองท่อน จักรพรรดิจึงสั่งให้ช่างตีดาบปรับปรุงดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่างตีดาบยุคแรกมีชื่อว่า "อามากูนิ" เขาพัฒนาการตีดาบไม่ให้หักง่ายด้วยการใช้เหล็กที่ดี และมีการศึกษาวิธีทำให้เหล็กแข็งแกร่งกว่าเดิม เหล็กที่ดีของญี่ปุ่นได้จากการถลุง มีชื่อว่า "ทามาฮางาเนะ" (Tamahagane) อามากูนิพบว่าการที่จะให้ได้ดาบคุณภาพดีต้องควบคุมของสามสิ่ง คือ การควบคุมความเย็น การควบคุมปริมาณคาร์บอน และการนำสิ่งปะปนที่อยู่ในเหล็กออก ปริมาณคาร์บอนคือหัวใจสำคัญในการตีดาบ หากใส่คาร์บอนในเหล็กมากไปเหล็กจะเปราะ ใส่น้อยไปเหล็กจะอ่อน จึงต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ เหล็กถูกนำมาหักแบ่งเป็นชิ้นเล็กวางซ้อนกันก่อนหลอม และนำไปตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจึงพับเหล็กเป็นสองชั้นขณะยังร้อนๆ แล้วตีซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เหล็กจะซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหมื่น ๆ ชั้น ทำให้คาร์บอนกระจายไปจนทั่วเนื้อเหล็ก แล้วจึงนำไปตีแผ่ออกให้เป็นใบดาบ จะได้ใบดาบที่ดีเนื้อเหล็กแกร่งและคมไม่หักอีกต่อไป

ยุคคามากูระ

[แก้]

ในยุคคามากูระ (Kamakura Period) ราวปี พ.ศ. 1735-1879 จักรพรรดิสั่งให้ช่างตีดาบศึกษาวิธีการตีเหล็กจากยุคโบราณ ยุคนี้ถือเป็นจุดเริ่มยุคทองของดาบซามูไร มีการพัฒนาดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีการเพิ่มวิธีการผสมเหล็กสองชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีความแข็งจะมีปริมาณคาร์บอนสูงใช้ทำเป็นตัวดาบ และเหล็กอ่อนที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำใช้ทำเป็นไส้ดาบเพื่อให้ยืดหยุ่น จากเหล็กสองชนิดที่ถูกนำมาพับและตีมากกว่าสิบชั้น ทำให้เกิดชั้นเล็กๆ เป็นทวีคูณเป็นหมื่นชั้น ช่างตีดาบจะพับเหล็กแข็งให้เป็นรูปตัวยู และนำเหล็กอ่อนมาวางไว้ตรงกลางเพื่อเป็นไส้ใน แล้วนำไปหลอมและตีรวมกันให้แผ่ออกเป็นใบดาบ จากนั้นนำไปหลอมในอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งมากกว่า 700 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำมาแช่น้ำเย็น การแช่น้ำต้องระมัดระวังมาก หากแช่ไม่ดี ดาบจะโค้งเสียรูป เหล็กที่มีความแข็งต่างกันเมื่อทำให้เย็นทันทีจะหดตัวต่างกัน ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ใบดาบโค้งได้รูปตามธรรมชาติ ดาบสามารถฟันคอขาดได้ในครั้งเดียว บาดแผลที่ได้รับจากดาบจะเจ็บปวดมาก ซามูไรยังต้องเรียนรู้การใช้ดาบอย่างช่ำชองว่องไวและคล่องแคล่ว ให้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย จากความสามารถนี้เองทำให้ซามูไรเพียงคนเดียวสามารถสังหารศัตรูที่รายล้อมตนกว่าสิบคนได้ภายในชั่วพริบตาด้วยดาบเพียงเล่มเดียว แต่ประเพณีการต่อสู้ของชนชั้นซามูไรคือการต่อสู้ "ตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทด้วยดาบ" ผู้แพ้ที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ที่ไร้เกียรติ ซามูไรจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ การฆ่าตัวตายอย่างสมเกียรติด้วยการทำ "เซ็ปปูกุ" คือเกียรติยศของซามูไร

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 1817 ชาวมองโกลของกุบไลข่านบุกญี่ปุ่นที่อ่าวฮากาตะ ด้วยกองทัพเรือ 800 ลำ และกำลังพลสามหมื่นนาย เหล่าซามูไรต้องการจะสู้กันตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทเยี่ยงสุภาพบุรุษกับนักรบระดับผู้นำ แต่ไม่ได้ผล พวกซามูไรต้องปะทะสู้ที่ชายหาดกับฝูงธนูอาบยาพิษและระเบิด เป็นสงครามที่ไม่มีระเบียบและตกเป็นรอง พายุไต้ฝุ่นช่วยทำลายกองเรือของชาวมองโกลจนหมดสิ้น การรบครั้งแรกเหมือนการหยั่งเชิงของชาวมองโกลเพื่อดูกำลังของศัตรู อีกเจ็ดปีต่อมาพวกมองโกลกลับมาอีกครั้งด้วยกองเรือ 4,000 ลำ พร้อมกองทหารอีกสองแสน พวกซามูไรรบพุ่งกับลูกธนูอย่างกล้าหาญ พวกเขาตัดเรื่องมารยาททิ้งไป ตกกลางคืนเหล่าซามูไรพายเรือลอบเข้าโจมตีพวกมองโกลประชิดตัวด้วยการใช้ดาบที่ช่ำชอง ดาบทหารมองโกลไม่มีทางสู้ดาบซามูไรได้เลย ระหว่างสงครามพายุไต้ฝุ่นก็ทำลายกองเรือของมองโกลอีกครั้ง กองเรือสองในสามจมไปกับทะเลพายุ ทหารมองโกลจมน้ำตายนับหมื่น พวกที่ว่ายน้ำเข้าฝั่งก็ตายด้วยคมดาบอย่างหมดทางสู้ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเมืองนี้ถูกปกป้องจากพระเจ้า และตั้งชื่อลมพายุนี้ว่า "คามิกาเซะ" (Kami-Kaze) หมายถึงลมศักดิ์สิทธิ์ หรือลมผู้หยั่งรู้ หลังจากนั้นพวกมองโกลก็ไม่ได้กลับมาตีญี่ปุ่นอีกเลย

หลังจากสงครามสิ้นสุด บ้านเมืองอยู่ในความสงบ พบว่าหลังจากการรบที่ผ่านมาดาบมักจะบิ่น จักรพรรดิจึงสั่งให้ช่างตีดาบหาวิธีแก้ไข ช่างตีดาบที่สร้างสมดุลของความแข็งและความอ่อนของเหล็กและพัฒนาโครงสร้างของดาบออกเป็นเหล็กสามชิ้น คือ "มาซามูเนะ" ราวปี พ.ศ. 1840 ดาบของมาซามูเนะถือเป็นดาบที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุด ในญี่ปุ่นไม่มีช่างตีดาบคนใดจะเทียบได้ เขาสร้างความสมดุลของความแข็งของคมดาบ เคล็ดลับการทำดาบคือการผสมเหล็กสามชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนสูงจะใช้เป็นใบดาบด้านข้างที่เรียกว่า "กาวางาเนะ" (Gawa-gane) และด้านคมดาบ (ฮางาเนะ "Ha-gane") ใช้เหล็กที่แข็งมากโดยผ่านการพับและตีถึง 15 ครั้ง ซึ่งสามารถสร้างชั้นของเหล็กที่ซ้อนกันถึง 32,768 ชั้น ทำให้เหล็กเหนียวและแกร่งมากกว่าส่วนอื่น ๆ ส่วนเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำจะใช้เป็นส่วนไส้ใน (Core Steel) ทำให้มีความยืดหยุ่นเรียกว่า "ชิงาเนะ" (Shi-gane) แล้วนำไปหลอมที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียสให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำมาตีแผ่ออกเป็นใบดาบ ช่างตีดาบคนอื่น ๆ เริ่มเลียนแบบในเวลาต่อๆ มา

ช่างตีดาบในยุคเดียวกันที่มีชื่อเสียงเทียบเคียงมาซามูเนะ คือ "มูรามาซะ" กล่าวกันว่าใครที่มีดาบของ "มูรามาซะ" ไว้ครอบครอง เลือดจะสูบฉีดให้อยากที่จะชักดาบออกมาสังหารคู่ต่อสู้เพราะความคมของมัน ในขณะเดียวกันซามูไรที่ครอบครองดาบของ "มาซามูเนะ" กลับสงบนิ่งเยือกเย็น

ยุคสมัยของดาบซามูไร

[แก้]

ยุคสมัยของดาบซามูไร แบ่งออกได้ 4 ยุค

  1. ยุคดาบโบราณ (Ancient Sword) ก่อนคริสต์ศักราช 900 (ก่อน พ.ศ. 1443) ยุคที่ดาบของ "อามากูนิ" ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการถลุงเหล็กเนื้อดีในสมัยนารา
  2. ยุคดาบเก่า (Old Sword) ราวปี พ.ศ. 1443-2073 ถือเป็นยุคทองของดาบซามูไร เทียบกับประวัติศาสตร์ไทย จะอยู่ในช่วงเดียวกับศิลปะสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-18) จนถึงสมัยศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18-20) ในปี พ.ศ. 1840 เป็นปีที่ดาบของ "มาซามูเนะ" ถือกำเนิดขึ้นและภูมิปัญญาขั้นสูงสุดที่ตกทอดเป็นมรดกของดาบชั้นยอด
  3. ยุคดาบใหม่ (New Sword) ราวปี พ.ศ. 2197-2410 ซึ่งอยู่ช่วงเดียวกับศิลปะสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ คือช่วงสมัยเอโดะ และยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศห้ามคนเข้าออกอย่างเด็ดขาด (พ.ศ. 2182)
  4. ยุคดาบสมัยใหม่ (Modern Sword) ราวปี พ.ศ. 2411 ถึงปัจจุบัน ยุคที่ดาบทหารถือกำเนิดขึ้น (พ.ศ. 2411-2488) การผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อการสงครามไม่มีพิธีกรรมแบบโบราณ ดาบญี่ปุ่นมัวหมองเพราะถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการตัดคอเชลยศึกซึ่งไม่ใช่ประเพณีของชนชั้นซามูไร พอมาถึงสมัยปัจจุบันดาบกลายเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่มีราคาแพง

ชนิดของดาบซามูไร

[แก้]
ดาบยาว "ทาจิ"
ดาบยาว "คาตานะ" (บน) และดาบขนาดกลาง "วากิซาชิ" (ล่าง)
ดาบสั้น "ทันโต"
"กุนโตแบบเก่า" (旧軍刀 - คีวกุนโต) ดาบของทหารญี่ปุ่นสมัยใหม่รุ่นแรกๆ ซึ่งออกแบบโดยอิงกับกระบี่ทหารของชาติตะวันตก เริ่มผลิตในสมัยเมจิ
"กุนโตแบบ 95" (九五式軍刀 - คีวโงชิคิกุนโต) ดาบสำหรับนายทหารญี่ปุ่นชั้นประทวนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แบ่งโดยยุคสมัย

[แก้]

ดาบซามูไรแบ่งตามยุคสมัย มี 4 ชนิดคือ

  1. โคโต (Koto)
  2. ชินโต (Shinto)
  3. ชินชินโต (Shinshinto)
  4. เก็นไดโต (Gendaito)

แบ่งตามความยาว

[แก้]
  1. โอดาจิ (大太刀, Ōdachi) ยาวมากกว่า 3 ชากุ (Shaku)
  2. ทาจิ (太刀, Tachi) ยาวตั้งแต่ 2-3 ชากุ
  3. โคดาจิ (小太刀, Kodachi) ยาวไม่ถึง 2 ชากุ
  4. วากิซาชิ (脇差, Wakizashi) ยาวตั้งแต่ 1-1.7 ชากุ

1 ชากุ (Shaku) = 0.303 เมตร

ดาบมีหลายแบบและหลายประเภท สามารถแบ่งชนิดหลัก ๆ ออกได้ 3 ชนิดดังนี้

ดาบยาว

[แก้]
ทาจิ (太刀, Tachi)

ดาบยาวของทหารม้า มีความโค้งของใบดาบมาก ใช้ฟันจากหลังม้า มีความยาวของใบดาบมากกว่า 70 เซนติเมตร มักไม่คำนึงถึงความคล่องตัว แต่คำนึงถึงระยะโจมตีมากกว่า

คาตานะ (刀, Katana)

ดาบที่มาแทนที่ดาบทาจิของทหารม้าตั้งแต่กลางยุคมูโรมาจิ (ราว พ.ศ. 2000) สามารถใช้ต่อสู้บนพื้นดินได้คล่องตัวกว่า เพราะมีความโค้งน้อยควบคุมได้ง่าย ความยาวใบดาบโดยประมาณ 60.6 เซนติเมตรขึ้นไปถึง 70 เซนติเมตร

ดาบขนาดกลาง

[แก้]
วากิซาชิ (脇差, Wakizashi)

ดาบที่ใช้พกพาคู่กับดาบคาตานะของซามูไร ใบดาบมีความยาวตั้งแต่ 12 - 24 นิ้ว ดาบที่ซามูไรใช้สำหรับทำ "เซ็ปปูกุ" เมื่อยามจำเป็น และเป็นดาบที่ซามูไรสามารถนำติดตัวเข้าเคหสถานของผู้อื่นกรณีเป็นผู้มาเยือนได้โดยไม่ต้องฝากไว้กับคนรับใช้ ตามปกติซามูไรจะพกดาบสองเล่ม และโดยธรรมเนียมห้ามพกดาบยาวเข้ามาในบ้านของผู้อื่น ต้องฝากไว้หน้าบ้านเท่านั้น

ดาบสั้น

[แก้]
ทันโต (短刀, Tantō)

มีลักษณะคล้ายมีดสั้น (ประเทศไทยเรียกว่าดาบศอก คือความยาวประมาณ 1 ศอก) ความยาวน้อยกว่าดาบวากิซาชิ

ไอกูจิ ((匕首, Aikuchi)

เป็นใบมีดและด้ามในชิ้นเดียวกัน ใช้สำหรับพกในเสื้อบ้าง เหมาะกับสตรีหรือพกซ่อนเพราะบางที่สุด และสามารถเสียบไว้กับฝักดาบยาวใช้แทนมีดสั้นทำอาหารได้ด้วย

ดาบซามูไรในสงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

ดาบทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อเรียกว่า "กุนโต" (軍刀, Guntō; มีความหมายว่า "ดาบกองทัพ" หรือ "ดาบทหาร") เป็นดาบที่ถูกผลิตขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2411 และสิ้นสุดการผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งถือว่าเป็นยุคใหม่ เป็นดาบที่ทำเพื่อการสงคราม ผลิตจำนวนมาก ยังคงความคมกริบ แต่ไม่ประณีต และไม่มีขั้นตอนการทำอย่างประเพณีโบราณ ดาบรุ่นนี้ตกค้างอยู่ในแถบอินโดจีนจำนวนมากหลังจากสงครามสิ้นสุด ซึ่งอาจจะพบได้ในประเทศพม่าและประเทศไทย ถูกฝังดินอยู่กลางป่าหรือในถ้ำตามเส้นทางเดินทัพของทหารญี่ปุ่น

ดาบยุคสงครามจะเป็นดาบที่ใช้ฝักทำด้วยเหล็ก มีห่วงทองเหลืองหรือทองแดงเรียกว่า "โอบิโตริ" ใช้สำหรับห้อยกับเข็มขัด ตัวดาบและฝักเหล็กมีน้ำหนักมาก จึงไม่เหมาะที่จะใช้เหน็บเอวอย่างดาบฝักไม้แบบโบราณ ซึ่งมีห่วงผูกเงื่อนที่ทำจากผ้าไหมใช้เหน็บเอวของซามูไร ดาบทหารที่ไม่มีขั้นตอนการผลิตในแบบพิธีกรรมโบราณ จึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างดาบของพวกซามูไร

พิธีกรรมการตีดาบ

[แก้]

พิธีกรรมการตีดาบแบบโบราณนั้นมีขั้นตอนมากมายและถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ช่างตีดาบต้องถือศีลกินเจ และทำสมาธิในขณะที่หลอมเหล็ก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร เพื่อผลิตดาบให้เป็นมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของดาบเล่มนั้น ๆ ช่างตีดาบและลูกมือจะร่วมมือกันทำดาบเพียงหนึ่งเล่มในระยะเวลามากกว่าหนึ่งเดือน ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าช่างตีดาบที่ดีจะทำดาบที่ดีออกมา หากช่างตีดาบมีจิตใจไม่ดีดาบที่ตีออกมาก็จะไม่ดีไปด้วย ดาบแต่ละเล่มจึงมีราคาไม่เท่ากัน บางเล่มราคามากกว่าที่ดินหนึ่งผืน หรือดาบที่ดีเพียงเล่มเดียวอาจจะมีราคาสูงกว่าหอกสามร้อยเล่ม ในสมัยโบราณดาบจึงไม่ใช่อาวุธที่สามารถจะซื้อมาใช้ในกองทัพได้ นอกจากเป็นสมบัติส่วนตัวของเหล่าซามูไรเท่านั้น

ช่างตีดาบที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

[แก้]

ช่างตีดาบที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น ซาดาเอจิ กัซซัง (Sadaeji Gassan) ช่างตีดาบที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง กัซซันเป็นตระกูลช่างตีดาบที่ตกทอดมากว่า 700 ปี ปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการตีดาบอย่างประณีตตามขั้นตอนและวิธีการแต่โบราณจากยุคคามากูระ โดยเป็นมรดกตกทอดมาถึง "ซาดาโตชิ กัซซัน" (Sadatoshi Gassan) ดาบซามูไรยังคงความประณีตงดงามถือเป็นงานศิลปะขั้นสูงสุดตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันยังมีช่างตีดาบอีกจำนวนมากที่ตีดาบตามแนวทางดั้งเดิม

การเข้ามาของดาบญี่ปุ่นในประเทศไทย

[แก้]

ดาบญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาช่วงสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146-2410) จากการติดต่อค้าขาย ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าจากสยาม เช่น ไม้กฤษณา ไม้ฝาง น้ำกุหลาบ พริกไทย เป็นต้น มีการตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา เมื่อมีชาวญี่ปุ่นมาอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์โดยลี้ภัยทางศาสนาและส่วนหนึ่งเป็นพวกซามูไรแตกทัพที่สูญเสียเจ้านายหรือที่เรียกว่า "โรนิน" ซึ่งแตกทัพจากยุทธการที่เซกิงาฮาระได้โดยสารเรือสำเภาที่กำลังจะเดินทางมาค้าขายยังชมพูทวีปและมาตั้งรกรากในประเทศสยาม สิ่งสำคัญที่นำติดตัวมาด้วยก็คือดาบญี่ปุ่น ซามูไรเหล่านี้ได้กลายเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

อ้างอิง

[แก้]