ข้ามไปเนื้อหา

โรคใคร่เด็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ความใคร่เด็ก)
โรคใคร่เด็ก
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F65.4
ICD-9302.2
MeSHD010378

โรคใคร่เด็ก[1] หรือ ความใคร่เด็ก (อังกฤษ: Pedophilia, paedophilia) หรือเรียกอย่างย่อว่า เปโด (Pedo) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นตอนปลายมีความต้องการทางเพศเป็นหลักหรืออย่างจำกัดเฉพาะ ต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์[2][3] ส่วนในการวินิจฉัยทางการแพทย์ เกณฑ์วินิจฉัย "โรคใคร่เด็ก" ขยายอายุเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี[2] ผู้ที่รับวินิจฉัยว่ามีโรคนี้ จะต้องมีอายุอย่างน้อย 16 ปี และเด็กวัยรุ่นที่รับวินิจฉัยว่ามีโรค ต้องมีอายุ 5 ปีมากกว่าเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์เป็นอย่างน้อย[2][3]

โรคนี้เรียกว่า pedophilic disorder ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน และกำหนดว่าเป็นประเภทหนึ่งของกามวิปริต (paraphilia) ที่มีบุคคลเกิดความรู้สึกทางเพศที่รุนแรงและซ้ำ ๆ หรือมีจินตนาการทางเพศ ต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ผู้ที่ตนได้มีกิจกรรมร่วม หรือที่เป็นเหตุให้ตนเดือดร้อนลำบากหรือให้มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล[2] ส่วนบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-10) ขององค์การอนามัยโลก นิยามคำนี้ว่า เป็น ความต้องการทางเพศต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์หรือวัยเริ่มเจริญพันธุ์ในระยะต้น ๆ[4]

ส่วนโดยนิยามของชาวตะวันตก คำว่า pedophilia มักจะใช้กับความสนใจทางเพศต่อ "เด็ก" ทุกอย่าง หรือการทารุณเด็กทางเพศ[5][6] การใช้คำเช่นนี้เป็นการผสมความรู้สึกทางเพศต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ กับการทารุณเด็กทางเพศ และไม่แยกแยะระหว่างความรู้สึกต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ กับเด็กวัยหลังจากนั้นที่ยังเรียกว่าเด็กตามกฎหมาย[7][8] นักวิจัยแนะนำไม่ให้ใช้คำอย่างไม่แม่นยำเช่นนี้ เพราะแม้ว่าคนที่ทารุณเด็กทางเพศบางครั้งอาจจะมีความผิดปกตินี้[6][9] แต่ผู้ทารุณเด็กทางเพศอาจจะไม่ใช่คนใคร่เด็ก นอกจากจะมีความสนใจทางเพศเป็นหลักหรืออย่างจำกัดเฉพาะต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์[7][10][11] และวรรณกรรมวิชาการก็แสดงว่า มีคนใคร่เด็กที่ไม่ทำร้ายเด็กทางเพศ[5][12][13]

โรคนี้รู้จักเป็นวงกว้างและให้ชื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีงานวิจัยเป็นจำนวนสำคัญที่ทำในเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 แม้ว่าหลักฐานโดยมากจะพบในชาย แต่ก็มีหญิงที่มีความผิดปกติเช่นนี้[14][15] และนักค้นคว้า (researchers) ได้ตั้งสมมุติฐานว่า มีจำนวนหญิงใคร่เด็กที่มีน้อยกว่าความเป็นจริง[16] ไม่มีวิธีรักษาความผิดปกตินี้ให้หายขาด แต่มีวิธีบำบัดช่วยลดการทารุณเด็กทางเพศ[6] แม้ว่าเหตุของโรคจะยังไม่ชัดเจน[17] แต่ว่าก็มีงานวิจัยในผู้ทำผิดทางเพศต่อเด็ก ที่พบสหสัมพันธ์ของโรคกับความผิดปกติทางประสาทและสภาวะจิตพยาธิหลายอย่าง[18]

ในสหรัฐหลังปี 1997 ผู้กระทำผิดทางเพศที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใคร่เด็ก อาจถูกสั่งขังในคดีแพ่งได้อย่างไม่มีกำหนด[19]

นิยามของศัพท์อภิธาน

[แก้]

คำว่า pedophilia (โรคใคร่เด็ก, ความใคร่เด็ก) มาจากคำภาษากรีกว่า παῖς, παιδός (paîs, paidós) แปลว่า เด็ก กับคำว่า φιλία (philía) แปลว่า "ความรักฉันมิตร" หรือ "มิตรภาพ"[20] เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีความสนใจทางเพศโดยหลักหรือโดยจำกัดเฉพาะต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์อายุต่ำกว่า 13 ปี[2][3] ส่วนคำว่า nepiophilia (โรคใคร่ทารก, ความใคร่ทารก) มาจากภาษากรีกว่า νήπιος (népios) แปลว่า "ทารก" หรือ "เด็ก" ซึ่งมาจาก "ne-" กับ "epos" ซึ่งแปลรวมว่า "ไม่พูด" หรือบางครั้งใช้อีกคำหนึ่งว่า infantophilia เป็นประเภทย่อยของโรคใคร่เด็ก หมายถึงความต้องการทางเพศต่อทารกและเด็กหัดเดิน (อายุต่ำกว่า 5 ขวบ)[9][21] ส่วนคำว่า hebephilia ใช้เรียกบุคคลที่มีความสนใจทางเพศโดยหลักหรือโดยจำกัดเฉพาะต่อเด็กวัยเริ่มเจริญพันธุ์อายุ 11-14 ปี[22] แม้ว่า DSM-5 จะไม่กำหนด hebephilia ในรายการวินิจฉัย แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า hebephilia ต่างจาก pedophilia. ส่วน ICD-10 รวมเด็กวัยเริ่มเจริญพันธุ์ระยะต้น ๆ (ซึ่งเป็นอาการของ hebephilia) ในนิยามของ pedophilia เป็นนิยามครอบคลุมความคาบเกี่ยวกันของระยะพัฒนาการเด็กระหว่างความใคร่ทั้งสองแบบ[13] นอกจาก hebephilia แล้ว ยังมีแพทย์ที่เสนอหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ต่างจาก pedophilia โดยบางส่วนหรือโดยสิ้นเชิง รวมทั้ง pedohebephilia (ลูกผสมของ pedophilia และ hebephilia) และ ephebophilia (ความใคร่ในเด็กวัยรุ่นช่วงกลางถึงปลายระหว่างอายุ 15-19 ปี) แม้ว่าความใคร่แบบหลังจะไม่จัดว่าเป็นโรค[23][24]

อาการ

[แก้]

พัฒนาการและรสนิยมทางเพศ

[แก้]

ความใคร่เด็กเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างวัยเริ่มเจริญพันธุ์ และเสถียรในระยะยาว[25] และเป็นสิ่งที่พบในตน ไม่ใช่สิ่งที่เลือก[6] เพราะเหตุนี้ ความใคร่เด็กจึงเรียกว่าเป็นความผิดปกติของความชอบทางเพศ (disorder of sexual preference) คล้ายกับรสนิยมทางเพศเป็นคนรักต่างเพศหรือคนรักร่วมเพศ ที่ไม่ได้เลือก[25] แต่ว่า ธรรมชาติเช่นนี้ไม่ได้ลดระดับ pedophilia ให้ไม่เป็นความผิดปกติทางจิต เพราะว่ากิจกรรมใคร่เด็กสามารถสร้างความเสียหายต่อเด็ก และแพทย์พยาบาลสุขภาพจิตในบางกรณีสามารถช่วยคนใคร่เด็กให้ระงับไม่ทำตามอารมณ์ชั่ววูบซึ่งสร้างความเสียหาย[26]

โดยตอบสนองต่อการตีความผิดว่า สมาคมจิตเวชอเมริกัน (American Psychiatric Association ตัวย่อ APA) พิจารณาโรคใคร่เด็กว่าเป็นรสนิยมทางเพศ ไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะคำพูดที่พิมพ์ในคู่มือ DSM-5 ซึ่งแยกแยะระหว่างกามวิปริต (paraphilia) และสิ่งที่คู่มือเรียกว่า ความผิดปกติแบบกามวิปริต (paraphilic disorder) ซึ่งมีผลเป็นการแบ่ง pedophilia (ความใคร่เด็ก) และ pedophilic disorder (ความผิดปกติแบบใคร่เด็ก) สมาคมจึงกล่าวว่า "'รสนิยมทางเพศ' ([S]exual orientation) ไม่ใช่เป็นคำที่ใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติแบบใคร่เด็ก และการใช้คำนั้นในคำบรรยายของ DSM-5 เป็นความผิดพลาดที่ควรแก้เป็น 'ความสนใจทางเพศ' (sexual interest)" และ "จริงอย่างนั้น APA พิจารณาความผิดปกติแบบใคร่เด็กว่าเป็น 'กามวิปริต' และไม่ใช่ 'รสนิยมทางเพศ' ความผิดพลาดนี้จะแก้ใน DSM-5 รุ่นอิเล็กทรอนิกส์ และในการพิมพ์คู่มือครั้งต่อไป" APA สนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ซึ่งความพยายามที่จะดำเนินคดีอาญา ต่อผู้ที่ทารุณต่อและฉวยประโยชน์ทางเพศจากเด็กและวัยรุ่น และ "สนับสนุนความพยายามต่อเนื่อง ที่จะพัฒนาการรักษาบำบัดสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติแบบใคร่เด็ก เพื่อป้องกันทารุณกรรมที่จะเกิดในอนาคต"[27]

โรคร่วมและบุคลิกภาพ

[แก้]

งานวิจัยโรคใคร่เด็กในผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กบ่อยครั้งรายงานว่า มันเกิดกับจิตพยาธิอย่างอื่น ๆ เช่น การเคารพตนต่ำ (self-esteem)[28] ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล และปัญหาบุคลิกภาพต่าง ๆ ไม่ชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนของโรค ผลของความเอนเอียงโดยการสุ่มตัวอย่าง หรือผลที่เกิดจากการถูกระบุว่าเป็นผู้ทำผิดทางเพศ[18] การทบทวนวรรณกรรมงานหนึ่งสรุปว่า งานวิจัยเรื่องบุคลิกภาพและจิตพยาธิในผู้ใคร่เด็กน้อยครั้งที่จะใช้ระเบียบวิธีที่ถูกต้อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความสับสนระหว่าง "คนใคร่เด็ก" กับ "ผู้ทำผิดทางเพศต่อเด็ก" และความยากลำบากที่จะได้ตัวอย่างคนใคร่เด็กจากชุมชนที่เป็นตัวแทนประชากร[29] มีนักวิชาการที่ชี้ว่า คนใคร่เด็กที่ได้จากกระบวนการรักษาอยู่ที่นั่นก็เพราะว่าตนเดือดร้อนเกี่ยวกับความชอบทางเพศของตน หรือเพราะความกดดันจากคนอื่น ซึ่งเพิ่มโอกาสว่า คนเหล่านั้นจะแสดงปัญหาทางจิตต่าง ๆ และโดยนัยเดียวกัน คนใคร่เด็กที่ได้มาจากกระบวนการยุติธรรมก็เป็นผู้ถูกตัดสินว่าผิดในอาชญากรรม ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะมีลักษณะต่อต้านสังคมต่าง ๆ[30]

งานวิจัยปี 2002 พบความเสียหายต่อความคิดเกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในตัวอย่างผู้กระทำผิดทางเพศต่อเด็กที่ผ่านเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรคใคร่เด็ก เป็นความเสียหายที่ผู้เขียนเสนอว่า อาจมีส่วนให้ทำผิดต่อเด็ก คือ คนใคร่เด็กผู้ทำผิดทางเพศในงานวิจัยมีระดับ psychopathy (พฤติกรรมต่อต้านสังคม ความเห็นใจคนอื่นและความเสียใจน้อย พฤติกรรมที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ) ที่สูงขึ้นและมีความบิดเบือนทางประชาน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เป็นคนปกติจากชุมชน ซึ่งนักวิจัยตีความว่าเป็นมูลฐานของความไม่สามารถห้ามพฤติกรรมทางอาชญากรรมของตน[31] แต่ว่างานในปี 2009 และ 2012 กลับพบว่า ผู้ที่ทำร้ายเด็กทางเพศแต่ไม่ใช่คนใคร่เด็กแสดงลักษณะ psychopathy แต่คนใคร่เด็กผู้ทำร้ายเด็กไม่แสดง[32][33]

ส่วนงานวิจัยปี 1983 ศึกษาลักษณะของสมาชิกสโมสรคนใคร่เด็กกลุ่มหนึ่ง[34] ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างคนใคร่เด็กกับคนกลุ่มควบคุมปกติก็คือ introversion scale คือคนใคร่เด็กแสดงความขี้อาย ความไวต่ออารมณ์ (sensitivity) และความซึมเศร้าในระดับที่สูงขึ้น คนใคร่เด็กมีระดับ neuroticism และ psychoticism ที่สูงขึ้น แต่ไม่พอที่จะจัดว่าเป็นโรค แต่ผู้เขียนเตือนให้ระวังว่า

การแยกแยะเหตุกับผลเป็นเรื่องยาก เราไม่สามารถบอกได้ว่า คนใคร่เด็กมีความชอบเอียงไปทางเด็กเพราะว่า เป็นคนเก็บตัวในระดับสูง แล้วพบการอยู่กับเด็กว่าน่ากลัวน้อยกว่าอยู่กับผู้ใหญ่ หรือว่า การถอนตัวจากสังคมดังที่แสดงเป็นนัยโดยระดับ introversion เป็นผลของความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดจากความต้องการทางเพศของตน คือ (เกิดจาก)ความตระหนักถึงการประณามและความเป็นปฏิปักษ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความต้องการทางเพศนั้น[34]: 324 

ในงานสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่คนไข้ คนใคร่เด็ก 46% แจ้งว่า ตนได้พิจารณาการฆ่าตัวตายอย่างจริงจังเพราะความสนใจทางเพศของตน 32% มีแผนจะทำ และ 13% ได้พยายามแล้ว[35]

งานทบทวนงานวิจัยเชิงคุณภาพที่พิมพ์ระหว่างปี 1982-2001 สรุปว่า ผู้ทารุณเด็กทางเพศมีการประมวลทางประชานที่บิดเบือน (cognitive distortion) เพื่อประโยชน์แก่ตน โดยให้เหตุผลแก้ต่างทารุณกรรม คือคิดถึงการกระทำของตนว่าเป็นความรักและความมีใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย และฉวยประโยชน์โดยอาศัยความไม่สมดุลทางกำลัง-อำนาจที่มีโดยธรรมชาติในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก[36] ความคิดที่บิดเบือนอื่น ๆ รวมทั้งแนวคิดว่าเด็กมีสภาพบางอย่างทางเพศ ว่าพฤติกรรมทางเพศเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ และเรื่องสิทธิการได้เพศสัมพันธ์[37]

สื่อลามกอนาจารเด็ก

[แก้]

การบริโภคสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นตัวบ่งชี้ความใคร่เด็กที่แน่นอนกว่าการทำร้ายเด็กทางเพศ[38] แม้ว่าจะมีคนที่ไม่ใช่คนใคร่เด็กที่ดูสื่อลามกอนาจารเด็ก[39] การใช้สื่อลามกอนาจารเด็กมีจุดหมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การสนองความรู้สึกทางเพศเป็นส่วนตัวหรือการแลกเปลี่ยนกับผู้สะสมสื่อคนอื่น ๆ จนถึงการใช้เป็นส่วนของกระบวนการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ (child grooming)[40][41][42]

คนใคร่เด็กที่ดูสื่อลามกอนาจารเด็กบ่อยครั้งจะหมกมุ่นอยู่กับการสะสม การจัดระเบียบ การจัดหมวดหมู่ และการติดป้ายสื่อที่สะสมโดยแบ่งเป็นวัย เพศ กิจกรรมทางเพศ และจินตนาการทางเพศที่ตนมี[43] ตามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐคนหนึ่ง "การสะสม" สื่อไม่ได้หมายเพียงแค่ดูสื่อ แต่หมายถึงเก็บมันไว้ จนกระทั่ง "มันกลายเป็นสิ่งที่กำหนด ให้เชื้อเพลิง และยืนยันจินตนาการทางเพศที่พวกเขาชอบใจมากที่สุด"[39] เจ้าหน้าที่ยังกล่าวด้วยว่า การเก็บสะสมเป็นตัวชี้บ่งที่ดีที่สุดว่าผู้กระทำผิดต้องการจะทำอะไร แต่ไม่ได้บ่งว่าได้ทำอะไรไปแล้วหรือว่าจะทำอะไรต่อไป[44] นักวิจัยรายงานว่า คนใคร่เด็กที่สะสมสื่อลามกอนาจารเด็ก บ่อยครั้งจะเข้าร่วมกับชุมชนอินเทอร์เน็ตนิรนาม ที่อุทิศให้กับการเพิ่มจำนวนสื่อของสมาชิกชุมชน[45]

เหตุ

[แก้]

แม้ว่าเหตุให้เกิดความใคร่เด็กจะไม่ชัดเจน นักวิจัยก็เริ่มจะรายงานผลที่สัมพันธ์ความใคร่เด็กกับโครงสร้างและการทำงานของสมอง เริ่มตั้งแต่ปี 2002 โดยตรวจสอบบุคคลที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งภายในภายนอกกระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกลุ่มควบคุม งานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างความใคร่เด็กกับระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ที่ต่ำกว่า[46][47][48] คะแนนการทดสอบความจำที่ต่ำกว่า[47] อัตราการถนัดมือซ้ายที่สูงกว่า[46][47][49][50] อัตราการตกสอบในโรงเรียนที่สูงกว่า โดยนอกเหนือไปจากความแตกต่างของระดับเชาวน์ปัญญา[51] ความเตี้ยกว่า[52] โอกาสสูงกว่าที่จะมีการบาดเจ็บที่ศีรษะในวัยเด็กที่มีผลเป็นการหมดสติ[53][54] และความแตกต่าง ๆ ทางโครงสร้างสมองที่เห็นได้ด้วย MRI[55][56][57] โดยนักวิจัยเสนอว่า มีลักษณะทางประสาทหนึ่งอย่างหรือมากกว่าตั้งแต่กำเนิด ที่เป็นเหตุหรือเพิ่มโอกาสให้เป็นคนใคร่เด็ก แต่ว่า มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ทำร้ายเด็กทางเพศที่ใคร่เด็กมีความเสียหายทางประชานน้อยกว่าผู้ทำร้ายเด็กทางเพศอื่น ๆ[58] งานวิจัยปี 2011 พบว่า ผู้ทำร้ายเด็กที่ใคร่เด็ก มีความบกพร่องในการห้ามปฏิกิริยา แต่ไม่มีความบกพร่องในความจำและความยืดหยุ่นทางประชาน (cognitive flexibility)[59] หลักฐานว่ามีการสืบต่อในครอบครัว "บอกเป็นนัย แต่ว่าไม่ใช่เป็นตัวพิสูจน์ว่า มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่เป็นเหตุ" ของพัฒนาการเป็นความใคร่เด็ก[60]

ในงานศึกษาปี 2008 ที่ใช้ MRI ตรวจโครงสร้างสมอง พบว่า ชายผู้ใคร่เด็กมีปริมาตรของเนื้อขาว (white matter) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม[55] ส่วนงานปี 2007 ที่ใช้ fMRI แสดงว่า ผู้ทำร้ายเด็กที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคใคร่เด็กมีระดับการทำงานของไฮโปทาลามัส (ซึ่งมีโครงสร้างที่ทำงานต่างกันระหว่างเพศชาย-หญิง โครงสร้างเกี่ยวกับพฤติกรรมและรสนิยมทางเพศ) ที่ต่ำกว่า เทียบกับผู้ไม่ใช่คนใคร่เด็กเมื่อดูภาพผู้ใหญ่ที่เร้าอารมณ์ทางเพศ[61] Biol Psychiatry. 2007 Sep 15;62(6):698-701. Epub 2007 Apr 2. Pedophilia is linked to reduced activation in hypothalamus and lateral prefrontal cortex during visual erotic stimulation. Walter M1, Witzel J, Wiebking C, Gubka U, Rotte M, Schiltz K, Bermpohl F, Tempelmann C, Bogerts B, Heinze HJ, Northoff G. งานวิจัยที่สร้างภาพทางสมองโดยกิจ (functional neuroimaging) ในปี 2008 พบว่า การประมวลสิ่งเร้าทางเพศหลักของบุคคลรักต่างเพศที่เป็น "คนไข้ในผู้ใคร่เด็ก ที่ศาลบังคับให้อยู่ในโรงพยาบาล" อาจจะเปลี่ยนไปเพราะความผิดปกติในเครือข่ายประสาทกลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal network) ซึ่ง "อาจจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ควบคุมโดยสิ่งเร้า เช่นพฤติกรรมชั่ววูบตามอารมณ์เพศ" และบอกเป็นนัยว่า "มีการทำหน้าที่ผิดปกติของการประมวลความตื่นตัวทางเพศในระดับประชาน"[62]

ส่วนงานในปี 2006 ทบทวนงานวิจัยที่พยายามระบุความแตกต่างทางฮอร์โมนของผู้ใคร่เด็ก[63] แล้วสรุปว่า มีหลักฐานบ้างว่า ชายใคร่เด็กมีฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม แต่ว่า ผลงานวิจัยมีคุณภาพต่ำ และยากที่จะได้ข้อสรุปที่แน่นอน

แม้ว่าจะไม่ใช่เหตุของโรคใคร่เด็ก ทารุณกรรมในวัยเด็กโดยผู้ใหญ่ หรือปัญหาทางใจที่เกิดร่วมกับโรค เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorder) และการใช้ยาเสพติด (substance abuse) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการทำผิดต่อเด็กเนื่องจากอารมณ์ใคร่ชั่ววูบ[6] แต่ว่าในเรื่องปัญหาที่เกิดร่วมกับโรค นักวิชาการกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า

ความเกี่ยวข้องทางทฤษฎีไม่ชัดเจน คือ ยีนหรือปัจจัยเป็นพิษ (noxious factor) อย่างอื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อมก่อนคลอด เป็นตัวการทำให้ชายโน้มเอียงไปเพื่อพัฒนาความผิดปกติทางอารมณ์และโรคใคร่เด็ก หรือว่า ความขัดใจ ภยันตราย และความโดดเดี่ยวทางสังคม ที่เกิดจากความต้องการทางเพศที่สังคมรับไม่ได้ หรือว่าเกิดจากการสนองความรู้สึกโดยลับ ๆ ซ่อน ๆ เป็นบางครั้งบางคราว เป็นตัวการทำให้เกิดความวิตกกังวลและความหมดหวัง ?[63]

แต่นักวิชาการก็บ่งว่า เพราะได้พบว่า มารดาของคนใคร่เด็กมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้รับการบำบัดทางจิตเวช[53] ดังนั้น ยีนจึงมีโอกาสเป็นเหตุมากว่า

งานวิจัยที่ศึกษาจินตนาการทางเพศของชายรักต่างเพศ 200 คนโดยใช้การทดสอบโดยคำถาม Wilson Sex Fantasy Questionnaire พบว่า ชายที่มีระดับกามวิปริตสูง (รวมทั้งความใคร่เด็ก) มีพี่ชายมากกว่า มีอัตราส่วนของนิ้วชี้ต่อนิ้วนาง (2D:4D digit ratio) ที่ต่ำกว่าซึ่งแสดงว่าได้รับฮอร์โมนเพศชายก่อนกำเนิดในระดับที่ต่ำกว่า และมีโอกาสสูงขึ้นที่จะถนัดมือซ้าย ซึ่งแสดงนัยว่า การกระจายหน้าที่สมองไปยังซีกสมองทั้งสองข้าง (brain lateralization) มีปัญหา ซึ่งอาจจะมีบทบาทในความสนใจทางเพศที่ผิดแปลกออกไป[64]

วินิจฉัย

[แก้]

DSM และ ICD-10

[แก้]

คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (DSM-5) ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน มีการวินิจฉัยโรคใคร่เด็กที่ละเอียดกว่าฉบับก่อน ๆ ซึ่งกล่าวว่า

เกณฑ์วินิจฉัยสำหรับความผิดปกติแบบใคร่เด็กนี้ หมายจะให้ใช้กับทั้งบุคคลที่เปิดเผยกามวิปริตนี้ และบุคคลที่ปฏิเสธความรู้สึกทางเพศต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ (โดยทั่วไปอายุ 13 หรืออ่อนกว่า) แม้ว่าจะมีหลักฐานที่เป็นปรวิสัยพอสมควรที่แสดงความตรงกันข้าม[2]

โดยไม่ต่างจากคู่มือรุ่นก่อนคือ DSM-IV-TR คู่มือแสดงเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อใช้วินิจฉัยความผิดปกตินี้ ซึ่งรวมทั้ง (1) การมีจินตนาการ พฤติกรรม หรือความอยาก ที่เร้าความตื่นตัวทางเพศและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศกับเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ เป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น และ (2) การทำการเกี่ยวเนื่องกับแรงกระตุ้นทางเพศเหล่านี้ หรือเป็นทุกข์เดือดร้อนเนื่องจากความรู้สึกเช่นนี้ เกณฑ์ยังกำหนดว่า (3) คนไข้ต้องมีอายุ 16 ปีหรือมากกว่านั้น และเด็กที่ตนจินตนาการถึงต้องมีอายุอย่างน้อย 5 ปีน้อยกว่าตน[2][65][66] แต่ว่า ความสัมพันธ์ทางเพศต่อเนื่องระหว่างเด็กอายุ 12-13 กับเด็กปลายวัยรุ่นจะแนะนำไม่ให้ใช้เกณฑ์นี้ เกณฑ์วินิจฉัยยังมีรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับเพศของเด็กที่คนไข้มีความรู้สึกต่อ และถ้าแรงกระตุ้นหรือการกระทำจำกัดอยู่กับญาติ และถ้าความรู้สึกเป็นแบบจำกัดเฉพาะ (ต่อเด็ก) หรือว่าไม่จำกัดเฉพาะ[2]

ส่วน ICD-10 ขององค์การอนามัยโลก นิยามโรคใคร่เด็กว่า "ความต้องการทางเพศต่อเด็ก จะเป็นหญิงหรือชายหรือทั้งสอง โดยปกติก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์หรือวัยเริ่มเจริญพันธุ์ในระยะต้น ๆ"[4] และเหมือนกับ DSM เกณฑ์ในระบบนี้กำหนดให้บุคคลต้องอายุอย่างน้อย 16 ปีหรือแก่กว่าก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นคนใคร่เด็ก และต้องมีความต้องการทางเพศที่ยืนกรานและเป็นหลักต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ที่อายุน้อยกว่าอย่างน้อย 5 ปี[3]

มีบทอภิธานหลายศัพท์ที่ใช้เพื่อแยกแยก "คนใคร่เด็กจริง ๆ" จากผู้กระทำผิดที่ไม่ใช่คนใคร่เด็กหรือไม่จำกัดเฉพาะเด็ก หรือเพื่อแยกแยะประเภทของผู้กระทำผิดแบบต่อเนื่อง โดยแยกตามกำลังและความจำกัดเฉพาะของความสนใจใคร่เด็ก และตามแรงจูงใจในการทำผิด (ดู ผู้กระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก) เช่น คนใคร่เด็กแบบจำกัดเฉพาะบางครั้งเรียกว่า "คนใคร่เด็กจริง ๆ" คือสนใจแต่เด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์เท่านั้น โดยที่ไม่มีความสนใจทางเพศกับผู้ใหญ่ และจะสามารถมีอารมณ์เพศก็ต่อเมื่อจินตนาการหรืออยู่กับเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์หรือทั้งสอง[16] และเช่นผู้กระทำผิดที่ไม่จำกัดเพาะ บางทีเรียกว่า คนใคร่เด็กแบบไม่จำกัดเฉพาะ และบางครั้งเรียกว่าผู้กระทำผิดที่ไม่ใช่คนใคร่เด็ก แต่ว่าสองคำนี้บางครั้งก็ไม่ใช้เป็นไวพจน์ของกันและกัน (คือใช้ในความหมายที่ไม่เหมือนกัน) ผู้ทำผิดที่ไม่จำกัดเฉพาะ มีความรู้สึกทางเพศต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และสามารถเกิดอารมณ์ทางเพศเพราะเหตุจากเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ว่าอาจจะชอบใจเด็กหรือผู้ใหญ่ทางเพศเป็นพิเศษ และถ้าชอบใจเด็กทางเพศมากกว่า (คือเป็นหลัก) ผู้กระทำผิดเช่นนี้ก็พิจารณาว่าเป็นคนใคร่เด็กเหมือนกับผู้ทำผิดที่จำกัดเฉพาะ[4][16]

ให้สังเกตว่า เกณฑ์วินิจฉัยของทั้ง DSM และ ICD-10 ไม่ได้บังคับให้ต้องมีกิจกรรมทางเพศร่วมกับเด็ก และดังนั้นจึงใช้ได้กับบุคคลที่มีจินตนาการหรือแรงกระตุ้นทางเพศเท่านั้นแม้ว่าจะไม่ได้ทำการอะไร ๆ และบุคคลที่ทำการตามแรงกระตุ้นทางเพศแต่ไม่ประสบความเดือนร้อนเกี่ยวกับจินตนาการหรือแรงกระตุ้น ก็จะผ่านเกณฑ์วินิจฉัยนี้เช่นกัน และการ "ทำการ" ตามแรงกระตุ้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่กิจกรรมทางเพศแบบโต้ง ๆ เท่านั้น แต่บางครั้งรวมการแสดงลามกอนาจาร พฤติกรรมโรคถ้ำมอง การถูอวัยวะอนาจาร[2] หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองโดยใช้สื่อลามกอนาจารเด็ก[38] บ่อยครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้ต้องพิจารณาภายในบริบทและต้องอาศัยดุลวินิจฉัยของแพทย์ในการวินิจฉัย และเช่นกันในกรณีที่คนไข้เป็นเด็กปลายวัยรุ่น ความแตกต่างระหว่างวัยที่กำหนดในเกณฑ์ ไม่ได้หมายให้ใช้เป็นตัวเลขที่แน่นอน และดังนั้น จึงต้องพิจารณาสถานการณ์อย่างระมัดระวัง[67]

คำว่า ความเชื่อว่าเพศหรือรสนิยมทางเพศของตนผิดปกติ (Ego-dystonic sexual orientation, F66.1) ใช้กำหนดบุคคลที่ยอมรับว่าตนชอบใจทางเพศต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ แต่ต้องการเปลี่ยนเพราะเป็นเหตุของปัญหาทางจิตใจหรือพฤติกรรมหรือทั้งสอง

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเกณฑ์วินิจฉัย

[แก้]

เกณฑ์วินิจฉัยโรคใคร่เด็กของ DSM-IV-TR (รุ่นก่อนปัจจุบัน) ถูกวิจารณ์ว่า รวมคนไข้มากเกินไปและน้อยเกินไป โดยพร้อม ๆ กัน[68] แม้ว่านักวิจัยโดยมากจะแยกแยะระหว่างคนทำร้ายเด็กทางเพศ (molester) และคนใคร่เด็ก[10][11][13][68] นักวิชาการบางท่านจึงอ้างว่า เกณฑ์ของ DSM-IV-TR รวมมากเกินไปเพราะว่าผู้ทำร้ายเด็กทางเพศทุกคนจะผ่านเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นคนใคร่เด็ก โดยจะผ่านเกณฑ์แรกเพราะว่ามีกิจกรรมทางเพศร่วมกับเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธ์ และจะผ่านเกณฑ์ที่สองเพราะว่า ได้กระทำการเนื่องจากแรงกระตุ้น[68] ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกคนใคร่เด็กออกจากผู้ทำร้ายเด็กทางเพศได้ นอกจากนั้นแล้ว เกณฑ์ก็รวมน้อยเกินไปด้วยในกรณีที่บุคคลชอบใจเด็กทางเพศอย่างจำกัดเฉพาะ แต่ไม่ได้ทำการอะไรเนื่องจากแรงกระตุ้น และก็ไม่เดือดร้อนเพราะความรู้สึกที่มีด้วย[68] นักวิจัยอื่น ๆ สนับสนุนข้ออ้างที่สอง โดยกล่าวว่า เป็นกลุ่มคนที่อาจเรียกได้ว่า "คนใคร่เด็กที่พอใจสิ่งที่มี" (contented pedophile) ซึ่งเป็นบุคคลที่จินตนาการเพศสัมพันธ์กับเด็ก หรือสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเนื่องกับจินตนาการเหล่านี้ แต่ไม่ทารุณเด็กทางเพศ และไม่รู้สึกเดือดร้อนทีหลัง แต่ก็จะไม่ผ่านเกณฑ์ว่าเป็นโรคใคร่เด็กสำหรับ DSM-IV-TR เพราะว่าไม่ผ่านเกณฑ์ที่ 2[13][69][70][71] งานสำรวจขนาดใหญ่เกี่ยวกับการใช้การจัดหมวดหมู่ของระบบต่าง ๆ แสดงว่า เกณฑ์ของ DSM มักจะไม่มีคนใช้ มีการอธิบายว่า การรวมน้อยเกินไป ความไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการขาดความแน่นอน (reliability) และความชัดเจน อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการปฏิเสธเกณฑ์จัดหมวดหมู่ของ DSM[12]

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญในเพศวิทยาที่รู้จักกันดีเพราะงานวิจัยเกี่ยวกับโรคใคร่เด็กคือ ดร.เรย์ แบล็งเชิร์ด กล่าวปัญหาเกณฑ์ของ DSM-IV-TR ในการทบทวนวรรณกรรม แล้วเสนอการแก้ปัญหาทั่วไปที่ใช้ได้กับโรคกามวิปริต (paraphilia) ทั้งหมด โดยแยกกามวิปริต (paraphilia) ออกจากความผิดปกติแบบกามวิปริต (paraphilic disorder) และให้การวินิจฉัยความผิดปกติในเรื่องนั้น (เช่น paraphilic disorder หรือ pedophilic disorder) ต้องผ่านเกณฑ์ทั้งที่ 1 และ 2 เทียบกับบุคคลที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ 2 (คือไม่ทำและไม่เดือดร้อน) ผู้ชัดเจนว่ามีกามวิปริตเพราะผ่านเกณฑ์ที่ 1 แต่ไม่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติ (disorder)[65] นอกจากนั้น ดร.แบล็งเชิร์ด และผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งเสนอให้วินิจฉัย hebephilia ว่าเป็นความผิดปกติภายใต้ DSM-5 เพื่อแก้ความความคาบเกี่ยวกันของพัฒนาการทางกายของเด็กเป้าหมายในโรคใคร่เด็กและ hebephilia โดยรวมเข้าใต้หมวดหมู่ ความผิดปกติแบบใคร่เด็ก (pedophilic disorder) แต่ให้กำหนดพิสัยอายุที่เป็นประเด็น[23][72] ซึ่งต่อมา APA ปฏิเสธ[73] แต่ว่า การแยกแยะกามวิปริต (paraphilia) และความผิดปกติแบบกามวิปริต (paraphilic disorder) APA ได้ดำเนินการตามข้อเสนอ และดังนั้น การแยกแยะความใคร่เด็กและความผิดปกติแบบใคร่เด็กก็เช่นกัน[2][74]

APA แจ้งว่า "ในกรณีความผิดปกติแบบใคร่เด็ก รายละเอียดที่สำคัญในคู่มือใหม่ อยู่ในส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยน แม้ว่าจะมีการพิจารณาถึงข้อเสนอต่าง ๆ ตลอดกระบวนการพัฒนา DSM-5 เกณฑ์วินิจฉัยในที่สุดก็เหมือนกับใน DSM-IV TR... ชื่อของความผิดปกติเท่านั้นที่เปลี่ยนจาก pedophilia ไปเป็น pedophilic disorder เพื่อให้เข้ากับรายการอื่น ๆ ที่อยู่ในบทนั้น"[74] ถ้า APA ได้ยอมรับการวินิจฉัย hebephilia เข้ากับ pedophilia ใน DSM-5 ก็จะกลายเป็นสิ่งที่คล้ายกับนิยามของ pedophilia ใน ICD-10 ที่รวมเด็กเริ่มวัยเจริญพันธุ์ในระยะต้น ๆ อยู่แล้ว[13] และบุคคลอายุน้อยที่สุดที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคก็จะมีอายุเพิ่มจาก 16 ปี ไปเป็น 18 ปี โดยที่ต้องมีอายุอย่างน้อย 5 ปีมากกว่าเด็กที่เป็นเป้าหมายนั้น[23]

มีนักวิชาการท่านอื่นที่เสนอว่า เกณฑ์วินิจฉัยสำหรับ pedophilia ควรทำให้ง่ายขึ้นโดยกำหนดด้วยความสนใจทางเพศต่อเด็กเท่านั้น ไม่ว่าคนไข้จะแจ้งเอง พบในแล็บทดสอบ หรือมีพฤติกรรมในอดีต และบอกว่า ความสนใจทางเพศต่อเด็กไม่ว่าจะเป็นประการใด ๆ ผิดปกติทั้งนั้น และความเดือดร้อนใจไม่ใช่ประเด็น โดยให้ข้อสังเกตว่า "ความสนใจทางเพศเช่นนี้ มีโอกาสทำความเสียหายอย่างสำคัญต่อผู้อื่น และก็ไม่เป็นประโยชน์ดีที่สุดของบุคคลนั้นด้วย"[75] แต่ก็มีนักวิชาการพวกอื่นที่ชอบใจให้ใช้พฤติกรรมเป็นตัวกำหนด pedophilia คือไม่เห็นด้วยกับวิธีที่กำหนดโดย APA ในปี 1997 แล้วเสนอให้ใช้การกระทำเป็นเกณฑ์อย่างเดียวในการวินิจฉัย pedophilia ซึ่งเป็นการจัดหมวดหมู่ให้ง่ายด้วย[76]

การบำบัดรักษา

[แก้]

โดยทั่วไป

[แก้]

ไม่มีหลักฐานว่าโรคใคร่เด็กสามารถรักษาให้หายขาด[13] และการบำบัดรักษาโดยมากพุ่งความสนใจไปที่การช่วยคนใคร่เด็กให้ระงับตนเองจากการสนองความต้องการ[6][77] มีวิธีการบำบัดบางอย่างที่พยายามรักษาโรคใคร่เด็ก แต่ว่าไม่มีงานศึกษาที่แสดงว่ามีผลระยะยาวต่อรสนิยมทางเพศ[78] นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญทางเพศวิทยาท่านหนึ่งเสนอว่า การพยายามรักษาโรคใคร่เด็กในวัยผู้ใหญ่ไม่น่าจะสำเร็จเพราะว่า พัฒนาการของโรคได้รับอิทธิพลจากปัจจัยก่อนเกิด (prenatal factor)[13] ส่วนจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพศวิทยาอีกท่านหนึ่งเชื่อว่า โรคใคร่เด็กไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย ๆ คล้ายกับความรักร่วมเพศและรักต่างเพศ[79] แต่ว่า สามารถช่วยคนใคร่เด็กให้ควบคุมพฤติกรรมของตนได้ และงานวิจัยในอนาคตจะพัฒนาวิธีการป้องกันได้[80]

มีข้อจำกัดสามัญในงานศึกษาประสิทธิผลของการบำบัด คือ งานส่วนมากจัดหมวดหมู่ผู้เข้าร่วมโดยพฤติกรรมแทนที่จัดตามความชอบใจเด็กตามอายุ ซึ่งทำให้ยากที่จะรู้ผลโดยเฉพาะต่อ "คนใคร่เด็ก"[6] งานจำนวนมากไม่ได้เลือกกลุ่มบำบัดและกลุ่มควบคุมโดยสุ่ม และผู้ทำผิดที่ปฏิเสธหรือเลิกการบำบัดมีโอกาสสูงกว่าที่จะทำผิดอีก ดังนั้น การยกเว้นข้อมูลบุคคลเช่นนั้นจากกลุ่มบำบัด ในขณะที่ไม่ยกเว้นบุคคลที่ปฏิเสธหรือเลิกจากกลุ่มควบคุม อาจจะทำให้เกิดความเอนเอียงในกลุ่มบำบัดเอียงไปในบุคคลที่มีอัตราการกระทำผิดอีกที่ต่ำกว่า[13][81] และประสิทธิผลของการบำบัดคนใคร่เด็กที่ไม่ได้ทำผิดก็ไม่มีการศึกษา[13]

การบำบัดพฤติกรรมทางประชาน

[แก้]

การบำบัดพฤติกรรมทางประชาน (Cognitive behavioral therapy ตัวย่อ CBT) มีจุดหมายเพื่อลดทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรม ที่เพิ่มโอกาสการทำผิดทางเพศต่อเด็ก แม้ว่าเนื้อหาของการรักษาจะต่างกันมากในระหว่างผู้บำบัด แต่ว่า โดยทั่วไปโปรแกรมรักษาอาจจะฝึกการควบคุมตัวเอง สมรรถภาพทางสังคม (social competence) ความเห็นใจผู้อื่น และการเปลี่ยนความคิด (cognitive restructuring) เพื่อเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์กับเด็ก รูปแบบสามัญที่สุดของการบำบัดเช่นนี้คือการป้องกันโรคกลับ (relapse prevention) ที่สอนคนไข้ให้รู้จักระบุและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ล่อแหลม โดยใช้หลักในการบำบัดการติดสิ่งเร้าอื่น ๆ (เช่นการติดยา)[82]

แต่หลักฐานที่แสดงประสิทธิผลของ CBT ค่อนข้างคลุมเครือ[82] งานปฏิทัศน์แบบคอเครนปี 2012 ที่ศึกษาการทดลองแบบสุ่มพบว่า CBT ไม่มีผลต่อความเสี่ยงของการทำผิดอีกสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศแบบจับต้องตัว[83] แต่ว่างานวิเคราะห์อภิมานในปี 2002 และ 2005 ซึ่งศึกษาทั้งงานแบบสุ่มและไม่สุ่ม สรุปว่า CBT ลดการทำผิดอีก[84][85] แต่ก็มีข้อโต้เถียงกันว่า งานศึกษาแบบไม่สุ่มจะให้ข้อมูลอะไรได้หรือไม่[13][86] ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีงานศึกษาเพิ่มขึ้นอีก[83]

การแทรกแซงพฤติกรรม

[แก้]

การบำบัดพฤติกรรมตั้งเป้าที่การตื่นตัวทางเพศต่อเด็ก โดยใช้ทั้งเทคนิคทั้งให้อิ่มและให้รังเกียจ เพื่อระงับความตื่นตัวทางเพศต่อเด็ก และใช้เทคนิคที่เรียกว่าการปรับภาวะแบบลับ (covert conditioning) หรือเรียกว่าการปรับภาวะใหม่โดยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbatory reconditioning) เพื่อเพิ่มความตื่นตัวทางเพศต่อผู้ใหญ่[87] การบำบัดพฤติกรรมดูเหมือนจะมีผลต่อรูปแบบความตื่นตัวทางเพศในช่วงระหว่างการวัดเลือดที่วิ่งไปที่องคชาต (phallometric testing) แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางความสนใจทางเพศ เป็นความเปลี่ยนแปลงจากความสามารถควบคุมความตื่นตัวของอวัยวะเพศระหว่างการทดสอบ หรือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะดำรงอยู่ในระยะยาวได้[88][89] และสำหรับผู้ทำผิดทางเพศที่พิการทางจิต มีการใช้การบำบัดที่แนะแนวทางโดยการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (applied behavior analysis)[90]

การลดความต้องการทางเพศ

[แก้]

การใช้ยาเพื่อลดความต้องการทางเพศโดยทั่วไป สามารถช่วยจัดการความรู้สึกใคร่ต่อเด็ก แต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนรสนิยมทางเพศ[91] ยาต้านฮอร์โมน (antiandrogens) ทำงานโดยเข้าไปแซกแทรงการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย โดยมีการใช้ cyproterone acetate (เช่นยี่ห้อ Androcur) และ medroxyprogesterone acetate (Depo-Provera) มากที่สุด ประสิทธิผลของยาต้านฮอร์โมนมีหลักฐานบ้าง แต่ว่ามีงานศึกษาคุณภาพสูงน้อยมาก คือ cyproterone acetate มีหลักฐานดีที่สุดในการลดความตื่นตัวทางเพศ ในขณะที่ผลของ medroxyprogesterone acetate คลุมเครือ[92]

มีการใช้ Gonadotropin-releasing hormone analogue เช่น leuprolide acetate (ยี่ห้อ Lupron) ที่ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนเพศชาย และมีผลนานกว่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพื่อลดความต้องการทางเพศด้วย[93] และ selective serotonin reuptake inhibitor ก็เช่นกัน[92] หลักฐานของยาทางเลือกเหล่านี้ยิ่งจำกัดกว่า และได้จากการทดลองแบบเปิด (open trial) และ case study[13] การบำบัดด้วยยาดังที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ซึ่งเรียกรวมกันโดยสามัญโดยชาวตะวันตกว่า "chemical castration" (การตอนทางเคมี) มักจะใช้ร่วมกับ CBT[94] ตามสมาคมเพื่อการบำบัดผู้ทารุณทางเพศ (Association for the Treatment of Sexual Abusers) เมื่อจะบำบัดผู้ทำร้ายเด็กทางเพศ "การบำบัดด้วยยาต้านฮอร์โมนควรจะทำคู่กับการเฝ้าตรวจและการให้คำแนะนำ (counseling) ในแผนการบำบัดแบบเบ็ดเสร็จ"[95] แต่ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียง รวมทั้งการเพิ่มน้ำหนัก การเพิ่มหน้าอก ตับเสียหาย และภาวะกระดูกพรุน[13]

โดยประวัติแล้ว มีการใช้การผ่าตัดตอนเพื่อลดความต้องการทางเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย แต่การใช้ยาเพื่อลดฮอร์โมนได้ทำวิธีนั้นให้ตกไป เพราะว่าได้ผลเท่ากันและมีผลเสียน้อยกว่า[91] แต่ว่าก็ยังมีการทำอยู่ในประเทศเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สวิตเซอร์แลนด์ และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา งานศึกษาแบบไม่สุ่มรายงานว่าการตอนโดยผ่าตัด ลดระดับการทำผิดอีกของผู้ทำผิดทางเพศแบบจับต้องตัว[96] แต่สมาคมเพื่อการบำบัดผู้ทารุณทางเพศต่อต้านการตอนโดยผ่าตัด[95] และสภายุโรปก็กำลังดำเนินการเพื่อยุติข้อปฏิบัติเยี่ยงนี้ในประเทศทางยุโรปตะวันออกที่ทำโดยคำสั่งศาล[97]

วิทยาการระบาด

[แก้]

ความแพร่หลายของโรคใคร่เด็กในประชากรทั่วไปไม่ชัดเจน[13][30] แต่ประเมินว่าน้อยกว่า 5% ในผู้ใหญ่ชาย[13] ความแพร่หลายในหญิงยิ่งมีข้อมูลน้อยยิ่งกว่านั้น แม้ว่า จะมีรายงานเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีจินตนาการทางเพศและอารมณ์เพศต่อเด็ก[14] ผู้ทำผิดทางเพศต่อเด็กโดยมากเป็นชาย และในบรรดาผู้ถูกตัดสินว่าผิดโดยศาลจะมีหญิงประมาณ 0.4-4% แต่ก็มีงานหนึ่งที่ประเมินอัตรา 10 ต่อ 1 ของชายต่อหญิงผู้ทำร้ายเด็กทางเพศ[16] ตัวเลขจริงของหญิงผู้ทำร้ายเด็กทางเพศอาจจะมีน้อยเกินจริงในข้อมูลประเมินที่มี เพราะเหตุผลรวมทั้ง "ความโน้มเอียงของสังคมที่จะไม่สนใจผลลบของความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กชายและหญิงผู้ใหญ่ รวมทั้งการที่ผู้หญิงเข้าถึงเด็กเล็ก ๆ ผู้ไม่สามารถรายงานทารุณกรรม ได้ง่ายกว่า (ผู้ชาย)"[16]

การทำร้ายเด็กทางเพศ

[แก้]

ในประเทศตะวันตกบางประเทศ คำว่า คนใคร่เด็ก (pedophile) ใช้อย่างสามัญโดยสาธารณชนต่อผู้ทารุณเด็กทางเพศทุกประเภท[7][11] ซึ่งนักวิจัยพิจารณาว่าเป็นการใช้คำที่มีปัญหา เพราะว่า ผู้ที่ทำร้ายเด็กทางเพศมากมายไม่ได้มีความสนใจทางเพศในระดับสูงต่อเด็กก่อนเริ่มวัยเริ่มเจริญพันธุ์ และดังนั้นจึงไม่ใช่คนใคร่เด็ก[10][11][13][68] มีเหตุอื่น ๆ ที่จะทารุณเด็กทางเพศโดยไม่เกี่ยวกับโรคใคร่เด็ก[76] เช่นความเครียด ปัญหากับคู่สมรส การไม่ได้โอกาสกับคู่ผู้ใหญ่[98]

ความโน้มเอียงในการต่อต้านสังคมโดยทั่วไป การมีอารมณ์ทางเพศสูง และการเมาสุรา[99] เนื่องจากการทารุณเด็กทางเพศไม่ใช่เป็นตัวบ่งชี้อัตโนมัติว่าผู้กระทำผิดเป็นผู้ใคร่เด็ก จึงสามารถแยกผู้ทำผิดได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้ใคร่เด็กและที่ไม่ใช่[100] (หรือชอบเด็กหรือทำตามสถานการณ์[8]) อัตราประเมินของโรคใคร่เด็กในผู้ทำร้ายเด็กทางเพศที่จับได้อยู่ระหว่างประมาณ 25-50%[101] งานศึกษาปี 2006 พบว่า ผู้ทำร้ายเด็กทางเพศที่เป็นตัวอย่างงาน มีผู้ใคร่เด็กในอัตรา 35%[102] แต่ว่าผู้ทำผิดฐานร่วมประเวณีกับญาติสนิทที่เป็นผู้ใคร่เด็กด้วย ดูเหมือนจะไม่สามัญ[103] โดยเฉพาะพ่อหรือพ่อเลี้ยงที่ทำผิด[104] ในงานศึกษาในสหรัฐกับชายผู้กระทำผิดทางเพศ 2,429 คนที่จัดว่าเป็นผู้ใคร่เด็ก มีเพียง 7% ที่แจ้งว่าจำกัดเฉพาะต่อเด็กเท่านั้น ซึ่งแสดงว่า ผู้ทารุณเด็กทางเพศจำนวนมากหรือโดยมากจะตกอยู่ในแบบที่ไม่จำกัดเฉพาะเด็ก[9]

ผู้ใคร่เด็กบางคนไม่ทำร้ายเด็กทางเพศ[5][6][12][13] แต่ว่า มีความรู้ยิ่งน้อยเกี่ยวกับกลุ่มประชากรเช่นนี้เพราะว่างานศึกษาโรคใคร่เด็กโดยมากใช้อาชญากรหรือคนไข้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นตัวแทนของประชากรคนใคร่เด็กโดยทั่วไป[105] นักจิตวิทยาเพศศึกษาคนหนึ่งเสนอว่า คนใคร่เด็กที่ทารุณเด็กทางเพศทำอย่างนั้นเพราะมีลักษณะต่อต้านสังคมอย่างอื่น ๆ บวกกับความสนใจทางเพศต่อเด็ก เขากล่าวว่า คนใคร่เด็กที่ "เป็นคนช่างพิจารณา ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ชอบเสี่ยง เว้นจากการดื่มเหล้าและยาเสพติด และเห็นด้วยกับทัศนคติและความเชื่อที่สนับสนุนพฤติกรรมความคิดปกติและกฎหมาย" อาจจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะทารุณเด็ก[13] งานวิจัยปี 2015 พบว่า คนใคร่เด็กที่ทำร้ายเด็กทางเพศมีความแตกต่างทางประสาทจากคนใคร่เด็กที่ไม่ทำผิด คือคนใคร่เด็กที่ทำร้ายเด็กมีความบกพร่องทางประสาทที่แสดงนัยว่า มีความผิดปกติในเขตสมองที่ทำหน้าที่ยับยั้ง ในขณะที่คนใคร่เด็กที่ไม่ทำผิดไม่บกพร่องเช่นนั้น[106]

ตามนักวิชาการบางท่าน[107] มีความแตกต่างระหว่างลักษณะของผู้ทำร้ายเด็กที่ใคร่เด็ก และผู้ทำร้ายเด็กอื่น ๆ ค่อนข้างมาก คือ ผู้ทำร้ายเด็กอื่น ๆ มักจะทำผิดเมื่อเครียด ทำผิดเมื่ออายุมากกว่า และมีเหยื่อบ่อยครั้งเป็นสมาชิกครอบครัวโดยมีจำนวนน้อยกว่า ในขณะที่ผู้ทำร้ายเด็กผู้ใคร่เด็กมักจะทำผิดเริ่มตั้งแต่อายุน้อย มีเหยื่อเป็นจำนวนมากกว่าและบ่อยครั้งไม่ใช่สมาชิกครอบครัว มีแรงจูงใจจากภายในที่จะทำผิด (ไม่ใช่เป็นเพราะสถานการณ์) และมีค่านิยมและความเชื่อที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบกระทำผิด งานศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ทำร้ายเด็กที่ใคร่เด็กมีเหยื่อมัธยฐานที่ 1.3 คน สำหรับผู้ที่มีเหยื่อเป็นหญิง และ 4.4 คนสำหรับผู้ที่มีเหยื่อเป็นชาย[101] แต่ว่า ผู้ทำร้ายเด็กทุกคน ไม่ว่าจะใคร่เด็กหรือไม่ ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะเข้าถึงเด็กเพื่อเพศสัมพันธ์ บางคนปะเหลาะประเล้าประโลมเตรียมเด็กเพื่อให้ร่วมมือ (child grooming) โดยให้ความสนใจและของขวัญ บางคนขู่ขวัญ บางคนใช้เหล้า ยาเสพติด หรือกำลังทางกาย[108]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

โรคใคร่เด็กเชื่อว่ามีมาในทั้งประวัติศาสตร์มนุษย์[109] แต่ไม่ได้ตั้งชื่อ นิยาม หรือศึกษาจนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า paedophilia erotica บัญญัติขึ้นในปี 1896 ในบทความของจิตแพทย์ชาวเวียนนา แต่ น.พ.ไม่ได้ลงเข้าในหนังสือทรงอิทธิพล Psychopathia Sexualis ของเขา ที่ใช้ในการแพทย์และกระบวนการยุติธรรมในยุคนั้น[110] จนกระทั่งถึงฉบับที่ 10 ที่พิมพ์ในภาษาเยอรมัน[111] แต่ว่าก็มีนักเขียนอื่น ๆ ที่เบิกทางการวินิจฉัยโรคก่อนหน้านายแพทย์ผู้นั้น[111] ในหนังสือ คำว่า paedophilia erotica ปรากฏในส่วนที่มีชื่อเรื่องว่า "การฝ่าฝืนบุคคลมีอายุต่ำกว่า 14 ปี" ซึ่งพุ่งความสนใจไปในด้านนิติจิตเวชศาสตร์ของผู้ทำความผิดทางเพศต่อเด็กโดยทั่วไป น.พ.อธิบายผู้ทำผิดหลายประเภท แบ่งออกเป็นผู้ที่มีจิตพยาธิและไม่มี และตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับปัจจัยหลายอย่างที่ปรากฏว่าเป็นเหตุ ที่อาจนำไปสู่การทารุณเด็กทางเพศ[110]

น.พ.กล่าวถึงคำ paedophilia erotica ในประเภท "psycho-sexual perversion" (ความวิปริตทางจิตและเพศ) เขาเขียนว่า เขาได้พบกับคนมีโรค 4 คนในอาชีพ และบรรยายแต่ละกรณีอย่างสั้น ๆ โดยกำหนดลักษณะสามัญ 3 อย่าง

  1. บุคคลนั้นมีรอยด่าง [โดยพันธุกรรม] (hereditär belastete)[112]
  2. คนไข้มีความสนใจหลักที่เด็ก แทนที่ผู้ใหญ่
  3. การกระทำมักจะไม่ใช่การร่วมเพศ แต่จะเป็นการสัมผัสที่ไม่สมควร หรือการล่อลวงเด็กให้ทำอะไรอย่างหนึ่ง (ทางเพศ) กับคนไข้

เขากล่าวถึงกรณีใคร่เด็กหลายกรณีในหญิงผู้ใหญ่ (โดยได้ข้อมูลจาก น.พ.อีกท่านหนึ่ง) และพิจารณาการทารุณเด็กชายโดยชายรักร่วมเพศว่าเกิดน้อยมาก[110] แล้วกล่าวเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นว่า ชายผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติทางการแพทย์หรือทางประสาทแล้วทารุณเด็กชาย จะไม่ใช่คนใคร่เด็กจริง ๆ และตามสังเกตการณ์ของเขา เหยื่อของชายเช่นนี้มักจะมีอายุมากกว่าและถึงวัยเริ่มเจริญพันธุ์แล้ว เขายังลงในรายการ pseudopaedophilia (โรคใคร่เด็กเทียม) ที่เป็นอาการซึ่งสัมพันธ์กันที่ "บุคคลได้สูญเสียอารมณ์ทางเพศต่อผู้ใหญ่ผ่านการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แล้วจึงหันไปหาเด็กเพื่อสนองความต้องการทางเพศของตน" และอ้างว่า สภาวะเช่นนี้มีมากกว่า[110]

ประสาทแพทย์ชาวออสเตรียซิกมุนด์ ฟรอยด์ เขียนข้อความสั้น ๆ ในเรื่องนี้ในหนังสือปี 1905 Three Essays on the Theory of Sexuality (เรียงความ 3 เรื่องว่าด้วยทฤษฎีเพศสภาพ) ในส่วนที่มีหัวเรื่อง The Sexually immature and Animals as Sexual objects (ผู้ที่ยังไม่พัฒนาทางเพศและสัตว์โดยเป็นวัตถุทางเพศ) เขาเขียนว่า คนใคร่เด็กอย่างจำกัดเฉพาะ มีน้อยมาก และว่า เด็กจะเป็นวัตถุความใคร่เมื่อคนที่อ่อนแอ "ใช้เด็กเป็นตัวทดแทน" หรือเมื่อสัญชาตญาณที่ควบคุมไม่ได้ที่ไม่อนุญาตให้ล่าช้า หาการสนองความต้องการอย่างทันที แล้วหาวัตถุอื่นที่เหมาะสมไม่ได้[113]

ส่วนคำว่า pedophilia กลายมาเป็นคำที่ยอมรับโดยทั่วไปสำหรับโรคในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยปรากฏในพจนานุกรมแพทย์ยอดนิยมหลายฉบับ ต่อมาในปี 1952 จึงรวมเข้าในฉบับแรกของ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-I)[114] ฉบับนี้และฉบับต่อมาคือ DSM-II ลงรายการว่าเป็นแบบย่อยของ "Sexual Deviation" (ความผิดปกติทางเพศ) แต่ไม่ได้ให้เกณฑ์วินิจฉัย ฉบับ DSM-III ที่พิมพ์ในปี 1980 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความผิดปกติและให้แนวทางการวินิจฉัยไว้ชุดหนึ่ง[115] ฉบับต่อมาคือ DSM-III-R ที่พิมพ์ในปี 1987 มีรายละเอียดที่เหมือนกัน แต่ปรับปรุงและขยายเกณฑ์วินิจฉัย[116]

กฎหมายและนิติจิตเวชศาสตร์ในประเทศตะวันตก

[แก้]

นิยาม

[แก้]

Pedophilia ไม่ใช่คำที่ใช้ในกฎหมาย[9] และการมีความสนใจทางเพศต่อเด็กอย่างเดียวก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย[6] ในวงการบังคับใช้กฎหมาย คำว่า pedophile ใช้อย่างกว้าง ๆ รวมเอาบุคคลที่ทำผิดทางเพศต่อเหยื่อที่มีวัยต่ำกว่าอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ (บ่อยครั้งที่ 17 ปี) ซึ่งรวมอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการทารุณเด็กทางเพศ การข่มขืนโดยกฎหมาย (เช่นมีเพศสัมพันธ์กับเด็กต่ำกว่าอายุแม้ยินยอม) การทำผิดที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจารเด็ก การปะเหลาะประเล้าประโลมเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรม (child grooming) การให้ความสนใจแบบไม่ต้องการจนเป็นการก่อกวน (stalking) และการแสดงลามกอนาจาร หน่วยหนึ่งของกองบัญชาการสืบสวนการทารุณเด็ก (Child Abuse Investigation Command) ของสหราชอาณาจักรที่รู้จักกันว่า "หน่วยคนใคร่เด็ก" มีความชำนาญพิเศษในการสืบสวนและบังคับใช้กฎหมายออนไลน์[117] หนังสือนิติเวชศาสตร์บางเล่มยังใช้คำนี้หมายถึงผู้ทำผิดที่ตั้งเป้าหมายที่เหยื่อเด็ก แม้ว่าเด็กอาจจะไม่ใช่ความสนใจทางเพศหลักของผู้ทำผิด[118] แต่ว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ แยกแยะระหว่างคนใคร่เด็กและผู้ทำร้ายเด็กทางเพศ[119]

การลงโทษตามกฎหมาย

[แก้]

ในสหรัฐอเมริกาหลังปี 1997 ผู้กระทำผิดทางเพศที่วินิจฉัยว่ามีผิดปกติทางจิตบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใคร่เด็ก อาจถูกกักขังได้อย่างไม่มีกำหนด[19][120][121] เพราะว่ามีความผิดปกติทางจิตที่ "เป็นสภาพแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง ที่มีผลต่อสมรรถภาพทางอารมณ์และทางสัญเจตนา (volitional) ที่โน้มเอียงให้บุคคลทำผิดทางเพศแบบรุนแรง จนกระทั่งว่าบุคคลนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อื่น" และอาจถูกกักขังไม่ว่าจะได้รับการบำบัดจากรัฐหรือไม่[122][123][124] รวมทั้งบุคคลที่ได้ถูกตัดสินว่าผิดในคดีสื่อลามกอนาจารเด็ก[121][125] โดยสาเหตุว่า "เป็นบุคคลที่ได้ทำผิดหรือได้พยายามทำผิดทางเพศแบบรุนแรง หรือทำร้ายเด็กทางเพศ ผู้เป็นอันตรายทางเพศต่อผู้อื่น" และ "จะมีความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะเว้นจากการทำผิดทางเพศแบบรุนแรง หรือการทำร้ายเด็กทางเพศ ถ้าปล่อยตัว"[126]

ประเทศแคนาดาก็มีกฎหมายที่มีกำหนดคล้ายกันด้วย[19]

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ทำผิดทางเพศที่เป็นโรคใคร่เด็กมีโอกาสถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด สูงกว่าผู้ทำผิดทางเพศอื่น ๆ และผู้ทำผิดประมาณครึ่งหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรค[19] จิตแพทย์ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทำคู่มือวินิจฉัยโรคจิต DSM-IV-TR, DSM-IV, และ ICD-11 กล่าวว่า เพราะว่าผู้ที่มีกามวิปริต (paraphilia) ทั้งหมดมีปัญหาควบคุมพฤติกรรมของตน แพทย์ที่ประเมินต้องแสดงหลักฐานเกี่ยวกับความเสียหายทางสัญเจตนา (volitional) เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากความใคร่เด็ก เพื่อแนะนำให้กักขังผู้ทำผิดอย่างไม่มีกำหนด[127]

สังคมและวัฒนธรรมในประเทศตะวันตก

[แก้]

โดยทั่วไป

[แก้]

โรคใคร่เด็กเป็นความผิดปกติทางจิตที่ถูกประณามมากที่สุดโรคหนึ่ง[35] งานศึกษาหนึ่งพบความโกรธ ความกลัว และความรังเกียจทางสังคมในระดับสูง ต่อคนใคร่เด็กแม้ที่ยังไม่ทำอาชญากรรม[128] นักวิชาการเสนอว่า ทัศนคติเช่นนี้อาจจะมีผลลบต่อการป้องกันทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก โดยลดเสถียรภาพทางจิตของผู้ใคร่เด็ก และทำให้หมดกำลังใจในการเสาะหาความช่วยเหลือ[35] ตามนักสังคมศาสตร์คู่หนึ่ง ความเป็นห่วงของสังคมเกี่ยวกับโรคใคร่เด็กขยายเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งเกิดพร้อมกับอาชญากรรมอื้อฉาวหลายคดี แต่เกิดในช่วงที่อัตราการทารุณเด็กทางเพศกำลังลดลงโดยทั่วไป พวกเขาพบว่า คำว่า pedophile ปรากฏน้อยมากในหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (สหรัฐอเมริกา) และ เลอมงด์ (ฝรั่งเศส) ก่อนปี 1996 โดยปรากฏเป็น 0 ในปี 1991[129]

ทัศนคติทางสังคมต่อการทารุณเด็กทางเพศเลวร้ายมาก โดยมีงานสำรวจบางงานให้คะแนนว่าแย่กว่าฆาตกรรม[130] งานวิจัยต้น ๆ แสดงว่า สาธารณชนเข้าใจผิดในระดับสูงและรู้สึกไม่ตรงกับความจริงในเรื่องการทารุณเด็กทางเพศและผู้ใคร่เด็ก แต่ว่า งานปี 2004 สรุปว่า สาธารณชนมีข้อมูลที่ดีในบางด้านเกี่ยวกับเรื่องนี้[131]

การใช้ศัพท์ทางแพทย์อย่างผิด ๆ

[แก้]

คำว่า pedophile (ผู้ใคร่เด็ก) และ pedophilia (โรคใคร่เด็ก) มักจะใช้อย่างสามัญแบบอรูปนัย ที่แสดงความสนใจทางเพศของผู้ใหญ่ต่อเด็กวัยเริ่มเจริญพันธุ์หรือหลังจากนั้น แต่ว่าคำว่า hebephilia (ความใคร่เด็กอายุประมาณ 11-14) หรือ ephebophilia (ความใคร่เด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 15-19) อาจจะเป็นคำที่แม่นยำตรงกับนิยามแพทย์มากกว่า[9][24][132] ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีที่ ส.ส. รัฐสภาสหรัฐถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความมีนัยทางเพศไปให้เด็กวัยรุ่นผู้ช่วยสมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชนเรียก ส.ส. ผู้นั้นว่า pedophile (คนใคร่เด็ก) ทำให้นักข่าวนิตยสารหนึ่งต้องแย้งว่า ส.ส. ไม่ได้เป็นคนใคร่เด็ก แต่เป็น ephebophile (คนใคร่เด็กปลายวัยรุ่น)[133]

การใช้คำที่สามัญอีกอย่างก็คือ pedophilia โดยหมายถึงทารุณกรรมทางเพศเอง[5] แทนที่จะใช้ตามความหมายแพทย์ ซึ่งหมายถึง "ความชอบใจ" (preference) ต่อเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ของบุคคลที่มีอายุมากกว่า (ดูหัวข้อ การทำร้ายเด็กทางเพศเพื่อคำอธิบายเกี่ยวกับการแยกแยะ)[7][8] และก็มีสถานการณ์อื่นอีกที่ใช้คำผิด ๆ โดยหมายถึงความสัมพันธ์ที่คนอายุอ่อนกว่าเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย แต่ว่าสังคมพิจารณาว่า อายุน้อยเกินเทียบกับคู่ที่อายุมากกว่า หรือว่าคู่ที่อายุมากกว่าอยู่ในตำแหน่งหรือสถานะที่มีอำนาจเหนือตน[134]

นักวิจัยกล่าวว่า การใช้คำว่า pedophilia ผิด ๆ ดังที่ว่า ไม่แม่นยำ หรือไม่ก็เสนอว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้เช่นนั้น[7][24] Mayo Clinic ซึ่งจัดว่าเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก[135] กล่าวว่าคำว่า pedophilia "ไม่ใช่คำทางอาชญากรรมหรือคำตามกฎหมาย"[9]

กลุ่มสนับสนุนข้อปฏิบัติของคนใคร่เด็ก

[แก้]

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ถึงต้น 1990 มีองค์กรสมาชิกคนใคร่เด็กหลายองค์กรที่เสนอให้ลดอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ หรือให้เลิกกฎหมายนี้โดยสิ้นเชิง[136][137][138] เสนอให้ยอมรับความใคร่เด็กว่าเป็นรสนิยมทางเพศแทนที่จะเป็นความผิดปกติทางจิต[139] และเสนอให้เปลี่ยนสถานะสื่อลามกอนาจารเด็กให้ถูกกฎหมาย[138] แต่ว่าความพยายามขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน[136][138][140][141][142] และทุกวันนี้ กลุ่มจำนวนน้อยใดที่ยังไม่สลายตัวไป ก็จะมีสมาชิกที่น้อยมาก และกลุ่มได้ยุติการดำเนินการทั้งหมดยกเว้นผ่านเว็บไซต์บางเว็บ[138][142][143][144]

โดยเปรียบเทียบกับองค์กรตามที่ว่า สมาชิกของกลุ่มช่วยเหลือคนใคร่เด็ก "Virtuous Pedophiles" เชื่อว่า การทารุณเด็กทางเพศเป็นเรื่องผิดศีลธรรม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักว่า คนใคร่เด็กบางพวกไม่ทำผิดทางเพศ[145][146] แต่นี่ไม่พิจารณาว่าเป็นการสนับสนุนข้อปฏิบัติของคนใคร่เด็ก เพราะว่าองค์กรไม่เห็นด้วยกับการทำสื่อลามกอนาจารเด็กให้ถูกกฎหมาย และไม่สนับสนุนการเปลี่ยนอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้[147]

องค์กรดำเนินการต่อต้านคนใคร่เด็ก

[แก้]

ขบวนการต่อต้านคนใคร่เด็ก ทำการต่อต้านคนใคร่เด็ก ต่อต้านกลุ่มสนับสนุนข้อปฏิบัติของคนใคร่เด็ก และต่อต้านปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่มองว่าสัมพันธ์กับความใคร่เด็ก เช่นสื่อลามกอนาจารเด็ก และการทารุณเด็กทางเพศ[148] การต่อต้านโดยตรงรวมทั้งการประท้วงต่อต้านผู้ทำผิดทางเพศ ต่อต้านคนใคร่เด็กที่สนับสนุนให้กิจกรรมทางเพศระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และต่อต้านคนใช้อินเทอร์เน็ตที่ชักชวนเด็กให้มีเพศสัมพันธ์ร่วมกับตน[149][150][151][152]

เพราะสื่อมวลชนได้ให้ความสนใจต่อโรคใคร่เด็กในระดับสูง จึงทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกตกใจจากมวลชน โดยเฉพาะเมื่อตามรายงานข่าวคนใคร่เด็กเช่นในเรื่องการพิจารณาโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนแม็กมาร์ติน[153] และจึงมีพฤติกรรมคล้ายศาลเตี้ยเกิดขึ้นตอบสนองความสนใจของสาธารณชนต่อผู้ต้องสงสัยทำผิดทางเพศต่อเด็ก หรือผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิด เช่นในปี 2000 หลังจากที่สื่อได้รณรงค์ให้สืบหาและสร้างความอับอายให้แก่ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนใคร่เด็กในสหราชอาณาจักร มีประชาชนเป็นร้อย ๆ ที่ลงสู่ถนนประท้วงผู้ต้องสงสัย จนกลายเป็นความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าแทรกแซง[149]

สื่อ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "pedophilia/paedophilia", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, โรคใคร่เด็ก (แพทยศาสตร์)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders" (5th ed.). American Psychiatric Association. 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-07-25.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3
    • "International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problem" (Tenth Revision Thai Modification ed.). Ministry of Public Health, Bureau of Policy and Strategy, Office of the Permanent Secreatary, Thailand. 2014. สืบค้นเมื่อ 2016-02-08. ผู้ป่วยมีความต้องการทางเพศ หรือพฤติกรรมเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางเพศกับเด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ หรือเด็กเล็ก (โดยทั่วไปอายุตั้งแต่ 13 ปีลงมา) หรือมีจินตนาการทำนองนี้ กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศอย่างมาก เป็นเรื่อยมาอย่างน้อย 6 เดือน ความต้องการทางเพศ พฤติกรรม หรือจินตนาการเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางคลินิก หรือทำให้กิจกรรมด้านสังคม การงาน หรืออื่นที่สำคัญบกพร่อง ผู้ป่วยอายุอย่างน้อย 16 ปี และอายุมากกว่าเด็กที่มีกิจกรรมด้วยอย่างน้อย 5 ปี {{cite web}}: |chapter= ถูกละเว้น (help); |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
    • See section F65.4 Paedophilia. "The lCD-10 Classification of Mental and Behavioural Disorders Diagnostic criteria for research World" (PDF). องค์การอนามัยโลก/ICD-10. 1993. สืบค้นเมื่อ 2010-10-10. B. A persistent or a predominant preference for sexual activity with a prepubescent child or children. C. The person is at least 16 years old and at least five years older than the child or children in B.
  4. 4.0 4.1 4.2 See section F65.4 Paedophilia. "International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems 10th Revision (ICD-10) Version for 2010". องค์การอนามัยโลก. 2010. สืบค้นเมื่อ 2012-11-17.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. vii.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Fagan, PJ; Wise, TN; Schmidt, CW; Berlin, FS (2002-11). "Pedophilia". JAMA. 288 (19): 2458–65. doi:10.1001/jama.288.19.2458. PMID 12435259. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Ames, MA; Houston, DA (1990-08). "Legal, social, and biological definitions of pedophilia". Arch Sex Behav. 19 (4): 333–42. doi:10.1007/BF01541928. PMID 2205170. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 8.2 Lanning, Kenneth (2010). "Child Molesters: A Behavioral Analysis" (PDF). National Center for Missing & Exploited Children. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Hall, RC (2007). "A profile of pedophilia: definition, characteristics of offenders, recidivism, treatment outcomes, and forensic issues". Mayo Clin. Proc. 82 (4): 457–71. doi:10.4065/82.4.457. PMID 17418075.
  10. 10.0 10.1 10.2 Blaney, Paul H.; Millon, Theodore (2009). Oxford Textbook of Psychopathology (Oxford Series in Clinical Psychology) (2nd ed.). Oxford University Press, USA. p. 528. ISBN 0-19-537421-5. Some cases of child molestation, especially those involving incest, are committed in the absence of any identifiable deviant erotic age preference.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Edwards, M (1997). "Treatment for Paedophiles; Treatment for Sex Offenders". Paedophile Policy and Prevention, Australian Institute of Criminology Research and Public Policy Series. 12: 74–75.
  12. 12.0 12.1 12.2 Feelgood, S; Hoyer, J (2008). "Child molester or paedophile? Sociolegal versus psychopathological classification of sexual offenders against children". Journal of Sexual Aggression. 14 (1): 33–43. doi:10.1080/13552600802133860.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 13.12 13.13 13.14 13.15 13.16 Seto, MC (2009). "Pedophilia". Annual Review of Clinical Psychology. 5: 391–407. doi:10.1146/annurev.clinpsy.032408.153618. PMID 19327034. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-27. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  14. 14.0 14.1 Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. pp. 72–74.
  15. Goldman, Howard H. (2000). Review of General Psychiatry. McGraw-Hill Professional Psychiatry. p. 374. ISBN 0-8385-8434-9.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Cohen, Lisa J (PhD); Galynker, Igor (MD, PhD) (2009-06-08). "Psychopathology and Personality Traits of Pedophiles". Psychiatric Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-07.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 101.
  18. 18.0 18.1 Seto, Michael (2008). "Pedophilia: Psychopathology and Theory". ใน Laws, D. Richard (บ.ก.). Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment, 2nd edition. The Guilford Press. p. 168.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. xii, 186.
  20. Liddell, HG; Scott, Robert (1959). Intermediate Greek-English Lexicon.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  21. Laws, D. Richard; O'Donohue, William T. (2008). Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment. Guilford Press. p. 176. ISBN 1-59385-605-9.
  22. Blanchard, R; Lykins, AD; Wherrett, D; Kuban, ME; Cantor, JM; Blak, T; Dickey, R; Klassen, PE (2009-06). "Pedophilia, hebephilia, and the DSM-V". Arch Sex Behav. 38 (3): 335–50. doi:10.1007/s10508-008-9399-9. PMID 18686026. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. 23.0 23.1 23.2 "APA DSM-5 - U 03 Pedophilic Disorder". DSM-5.
  24. 24.0 24.1 24.2 Berlin, Frederick S. "Interview with Frederick S. Berlin, M.D., Ph.D". Office of Media Relations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-23. สืบค้นเมื่อ 2008-06-27.
  25. 25.0 25.1 Cutler, Brian L. (2008). Encyclopedia of Psychology and Law. SAGE. p. 549. ISBN 978-1-4129-5189-0.
  26. Berlin, Fred S. (2000). "Treatments to Change Sexual Orientation". American Journal of Psychiatry. 157 (5): 838–838. doi:10.1176/appi.ajp.157.5.838. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-04. สืบค้นเมื่อ 2014-12-10.
  27. Wetzstein, Cheryl (2013-10-31). "APA to correct manual: Pedophilia is not a 'sexual orientation'". The Washington Times. สืบค้นเมื่อ 2014-02-14.
  28. Marshall, WL (1997). "The relationship between self-esteem and deviant sexual arousal in nonfamilial child molesters". Behavior Modification. 21 (1): 86–96. doi:10.1177/01454455970211005. PMID 8995044.
  29. Okami, P; Goldberg, A (1992). "Personality Correlates of Pedophilia: Are They Reliable Indicators?". Journal of Sex Research. 29 (3): 297–328. For example, because an unknown percentage of true pedophiles may never act on their impulses or may never be arrested, forensic samples of sex offenders against minors clearly do not represent the population of "pedophiles", and many such persons apparently do not even belong to the population of "pedophiles".
  30. 30.0 30.1 Seto, MC (2004). "Pedophilia and sexual offenses against children". Annu Rev Sex Res. 15: 321–61. PMID 16913283.
  31. Cohen, LJ; McGeoch, PG; Watras-Gans, S; Acker, S; Poznansky, O; Cullen, K; Itskovich, Y; Galynker, I (2002-10). "Personality impairment in male pedophiles" (PDF). Journal of Clinical Psychiatry. 63 (10): 912–9. doi:10.4088/JCP.v63n1009. PMID 12416601. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  32. Strassberg, Donald S; Eastvold, Angela; Kenney, J. Wilson; Suchy, Yana (2012). "Psychopathy among pedophilic and nonpedophilic child molesters". Child Abuse & Neglect. 36: 379–382. doi:10.1016/j.chiabu.2011.09.018.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  33. Suchy, Yana; Whittaker, Wilson J; Strassberg, Donald S; Eastvold, Angela (2009). "Facial and prosodic affect recognition among pedophilic and nonpedophilic criminal child molesters". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 21 (1): 93–110. doi:10.1177/1079063208326930.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  34. 34.0 34.1 Wilson, GD; Cox, DN (1983). "Personality of paedophile club members". Personality and Individual Differences. 4 (3): 323–329. doi:10.1016/0191-8869(83)90154-X.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  35. 35.0 35.1 35.2 Jahnke, S; Hoyer, J (2013). "Stigma against people with pedophilia: A blind spot in stigma research?". International Journal of Sexual Health. 25: 169–184. doi:10.1080/19317611.2013.795921.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  36. Lawson, L (2003). "Isolation, gratification, justification: offenders' explanations of child molesting". Issues in Mental Health Nursing. 24 (6–7): 695–705. doi:10.1080/01612840305328. PMID 12907384.
  37. Mihailides, S; Devilly, GJ; Ward, T (2004). "Implicit cognitive distortions and sexual offending". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 16 (4): 333–350. doi:10.1177/107906320401600406. PMID 15560415.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  38. 38.0 38.1 Seto, MC; Cantor, JM; Blanchard, R (2006-08). "Child pornography offenses are a valid diagnostic indicator of pedophilia". J Abnorm Psychol. 115 (3): 610–5. doi:10.1037/0021-843X.115.3.610. PMID 16866601. The results suggest child pornography offending is a stronger diagnostic indicator of pedophilia than is sexually offending against child victims {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  39. 39.0 39.1 Lanning, Kenneth V. (2010). "Child Molesters: A Behavioral Analysis, Fifth Edition" (PDF). National Center for Missing and Exploited Children: 79. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  40. Crosson-Tower, Cynthia (2005). Understanding child abuse and neglect. Allyn & Bacon. p. 208. ISBN 0-205-40183-X.
  41. Wortley, Richard; Smallbone, Stephen. "Child Pornography on the Internet" (PDF). Problem-Oriented Guides for Police. No. 41: 14–16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-01-07. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  42. Levesque, Roger J. R. (1999). Sexual Abuse of Children: A Human Rights Perspective. Indiana University. p. 64. ISBN 0-253-33471-3.
  43. Crosson-Tower, Cynthia (2005). Understanding child abuse and neglect. Allyn & Bacon. pp. 198–200. ISBN 0-205-40183-X.
  44. Lanning, Kenneth V. (2010). "Child Molesters: A Behavioral Analysis, Fifth Edition" (PDF). National Center for Missing and Exploited Children: 107. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  45. Quayle, E; Taylor, M. (2002). "Child pornography and the internet: Assessment Issues". British Journal of Social Work. 32: 867. doi:10.1093/bjsw/32.7.863.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  46. 46.0 46.1 Blanchard, R; Kolla, NJ; Cantor, JM; Klassen, PE; Dickey, R; Kuban, ME; Blak, T (2007). "IQ, handedness, and pedophilia in adult male patients stratified by referral source". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 19 (3): 285–309. doi:10.1177/107906320701900307.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  47. 47.0 47.1 47.2 Cantor, JM; Blanchard, R; Christensen, BK; Dickey, R; Klassen, PE; Beckstead, AL; Blak, T; Kuban, ME (2004). "Intelligence, memory, and handedness in pedophilia". Neuropsychology. 18 (1): 3–14. doi:10.1037/0894-4105.18.1.3. PMID 14744183.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  48. Cantor, JM; Blanchard, R; Robichaud, LK; Christensen, BK (2005). "Quantitative reanalysis of aggregate data on IQ in sexual offenders". Psychological Bulletin. 131 (4): 555–568. doi:10.1037/0033-2909.131.4.555. PMID 16060802.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  49. Cantor, JM; Klassen, PE; Dickey, R; Christensen, BK; Kuban, ME; Blak, T; Williams, NS; Blanchard, R (2005). "Handedness in pedophilia and hebephilia". Archives of Sexual Behavior. 34 (4): 447–459. doi:10.1007/s10508-005-4344-7. PMID 16010467.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  50. Bogaert, AF (2001). "Handedness, criminality, and sexual offending". Neuropsychologia. 39 (5): 465–469. doi:10.1016/S0028-3932(00)00134-2. PMID 11254928.
  51. Cantor, JM; Kuban, ME; Blak, T; Klassen, PE; Dickey, R; Blanchard, R (2006). "Grade failure and special education placement in sexual offenders' educational histories". Archives of Sexual Behavior. 35 (6): 743–751. doi:10.1007/s10508-006-9018-6. PMID 16708284.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  52. Cantor, JM; Kuban, ME; Blak, T; Klassen, PE; Dickey, R; Blanchard, R (2007). "Physical height in pedophilic and hebephilic sexual offenders". Sex Abuse. 19 (4): 395–407. doi:10.1007/s11194-007-9060-5. PMID 17952597.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  53. 53.0 53.1 Blanchard, R; Christensen, BK; Strong, SM; Cantor, JM; Kuban, ME; Klassen, P; Dickey, R; Blak, T (2002). "Retrospective self-reports of childhood accidents causing unconsciousness in phallometrically diagnosed pedophiles". Archives of Sexual Behavior. 31 (6): 511–526. doi:10.1023/A:1020659331965. PMID 12462478.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  54. Blanchard, R; Kuban, ME; Klassen, P; Dickey, R; Christensen, BK; Cantor, JM; Blak, T (2003). "Self-reported injuries before and after age 13 in pedophilic and non-pedophilic men referred for clinical assessment". Archives of Sexual Behavior. 32 (6): 573–581. doi:10.1023/A:1026093612434. PMID 14574100.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  55. 55.0 55.1 Cantor, JM; Kabani, N; Christensen, BK; Zipursky, RB; Barbaree, HE; Dickey, R; Klassen, PE; Mikulis, DJ; Kuban, ME; Blak, T; Richards, BA; Hanratty, MK; Blanchard, R (2008). "Cerebral white matter deficiencies in pedophilic men". Journal of Psychiatric Research. 42 (3): 167–183. doi:10.1016/j.jpsychires.2007.10.013. PMID 18039544.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  56. Schiffer, B; Peschel, T; Paul, T; Gizewski, E; Forsting, M; Leygraf, N; Schedlowski, M; Krueger, TH (2007). "Structural brain abnormalities in the frontostriatal system and cerebellum in pedophilia". J Psychiatr Res. 41 (9): 753–62. doi:10.1016/j.jpsychires.2006.06.003. PMID 16876824.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  57. Schiltz, K; Witzel, J; Northoff, G; Zierhut, K; Gubka, U; Fellmann, H; Kaufmann, J; Tempelmann, C; Wiebking, C; Bogerts, B (2007). "Brain pathology in pedophilic offenders: Evidence of volume reduction in the right amygdala and related diencephalic structures". Archives of General Psychiatry. 64 (6): 737–746. doi:10.1001/archpsyc.64.6.737. PMID 17548755.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  58. Joyal, CC; Plante-Beaulieu, J; De Chanterac, A. (2014). "The neuropsychology of sexual offenders: A meta-analysis". Journal of Sexual Abuse. 26: 149–177. doi:10.1177/1079063213482842. The distinction between nonpedophilic child molesters and exclusive pedophile child molesters, for instance, could be crucial in neuropsychology because the latter seem to be less cognitively impaired (Eastvold et al., 2011; Schiffer & Vonlaufen, 2011; Suchy et al., 2009). Pedophilic child molesters might perform as well as controls (and better than nonpedophilic child molesters) on a wide variety of neuropsychological measures when mean IQ and other socioeconomic factors are similar (Schiffer & Vonlaufen, 2011). In fact, some pedophiles have higher IQ levels and more years of education compared with the general population (Langevin et al., 2000; Lothstein, 1999; Plante & Aldridge, 2005).{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  59. Schiffer, B; Vonlaufen, C. (2011). "Executive dysfunctions in pedophilic and nonpedophilic child molesters". Journal of Sexual Medicine. 8: 1975–1984. doi:10.1111/j.1743-6109.2010.02140.x.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  60. Gaffney, GR; Lurie, SF; Berlin, FS (1984-09). "Is there familial transmission of pedophilia?". J. Nerv. Ment. Dis. 172 (9): 546–8. doi:10.1097/00005053-198409000-00006. PMID 6470698. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  61. PMID 17400196 (PMID 17400196)
    Citation will be completed automatically in a few minutes. Jump the queue or expand by hand
  62. Schiffer, B; Paul, T; Gizewski, E; Forsting, M; Leygraf, N; Schedlowski, M; Kruger, TH (2008-05). "Functional brain correlates of heterosexual paedophilia". Neuroimage. 41 (1): 80–91. doi:10.1016/j.neuroimage.2008.02.008. PMID 18358744. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  63. 63.0 63.1 Blanchard, R; Cantor, JM; Robichaud, LK (2006). Biological factors in the development of sexual deviance and aggression in males. The juvenile sex offender (2nd ed.). New York: Guilford. pp. 77–104. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  64. Rahman, Q; Symeonides, DJ (2007-02). "Neurodevelopmental Correlates of Paraphilic Sexual Interests in Men". Archives of Sexual Behavior. 37 (1): 166–172. doi:10.1007/s10508-007-9255-3. PMID 18074220. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  65. 65.0 65.1 Blanchard, R (2010-04). "The DSM diagnostic criteria for pedophilia". Arch Sex Behav. 39 (2): 304–16. doi:10.1007/s10508-009-9536-0. PMID 19757012. The addition of the word ‘‘Disorder’’ to the condition is meant as a reminder that people who meet Criterion A but not Criterion B can still be designated as pedophiles, for purposes like research. It is unclear what, if anything, would be lost by excluding such persons from the diagnosis of mental disorder, since , by definition, thesehypothetical individuals would not wish to change, would not distress themselves, and would not harm anyone else. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  66. "The DSM Diagnostic Criteria for Pedophilia". Center for Science and Law. 2015-06-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-18. สืบค้นเมื่อ 2016-02-25.
  67. "Pedophilia". DSM. Medem Online Medical Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-08. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  68. 68.0 68.1 68.2 68.3 68.4 Studer, LH; Aylwin, AS (2006). "Pedophilia: The problem with diagnosis and limitations of CBT in treatment". Medical Hypotheses. 67 (4): 774–781. doi:10.1016/j.mehy.2006.04.030. PMID 16766133.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  69. O'Donohue, W; Regev, LG; Hagstrom, A (2000). "Problems with the DSM-IV diagnosis of pedophilia". Sex Abuse. 12 (2): 95–105. doi:10.1023/A:1009586023326. PMID 10872239.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  70. Green, R (2002). "Is pedophilia a mental disorder?". Archives of Sexual Behavior. 31: 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-12. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  71. Moulden, HM; Firestone, P; Kingston, D; Bradford, J (2009). "Recidivism in pedophiles: an investigation using different diagnostic methods". Journal of Forensic Psychiatry & Psychology. 20 (05): 680–701. doi:10.1080/14789940903174055.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  72. Blanchard, R; Lykins, AD; Wherrett, D; Kuban, ME; Cantor, JM; Blak, T; Dickey, R; Klassen, PE (2009). "Pedophilia, Hebephilia, and the DSM-V" (pdf). Archives of Sexual Behavior. 38 (3): 335–350. doi:10.1007/s10508-008-9399-9. PMID 18686026.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  73. Franklin, Karen (2012-12-02). "Psychiatry Rejects Novel Sexual Disorder "Hebephilia"". USA: Psychology Today.
  74. 74.0 74.1 "Paraphilic Disorders" (PDF). American Psychiatric Association. 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-07-08.
  75. O'Donohue, W (2010-06). "A critique of the proposed DSM-V diagnosis of pedophilia". Arch Sex Behav. 39 (3): 587–90. doi:10.1007/s10508-010-9604-5. PMID 20204487. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  76. 76.0 76.1 Barbaree, HE; Seto, MC (1997). "Pedophilia: Assessment and Treatment". Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment: 175–193.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  77. Seto, MC; Ahmed, AG (2014). "Treatment and management of child pornography use". Psychiatric Clinics of North America. 37 (2): 207–214. doi:10.1016/j.psc.2014.03.004. PMID 24877707.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  78. Camilleri, Joseph A; Quinsey, Vernon L. (2008). "Pedophilia: Assessment and Treatment". ใน Laws, D. Richard (บ.ก.). Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment, 2nd edition. The Guilford Press. p. 193.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  79. Berlin, Fred S. (2000). "Treatments to Change Sexual Orientation". American Journal of Psychiatry. 157: 838. doi:10.1176/appi.ajp.157.5.838..
  80. Berlin, Fred S. (2002-12). "Peer Commentaries on Green (2002) and Schmidt (2002) - Pedophilia: When Is a Difference a Disorder?" (PDF). Archives of Sexual Behavior. 31 (6): 479–480. doi:10.1023/A:1020603214218. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-29. สืบค้นเมื่อ 2009-12-17. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  81. Rice, ME; Harris, GT (2003). "The size and signs of treatment effects in sex offender therapy". Annals of the New York Academy of Sciences. 989: 428–40. doi:10.1111/j.1749-6632.2003.tb07323.x.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  82. 82.0 82.1 Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 171.
  83. 83.0 83.1 Dennis, JA; Khan, O; Ferriter, M; Huband, N; Powney, MJ; Duggan, C (2012). "Psychological interventions for adults who have sexually offended or are at risk of offending". Cochrane Database of Systematic Reviews (12). doi:10.1002/14651858.CD007507.pub2.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  84. Lösel, F; Schmucker, M (2005). "The effectiveness of treatment for sexual offenders: a comprehensive meta-analysis". Journal of Experimental Criminology. 1 (1): 117–46. doi:10.1007/s11292-004-6466-7.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  85. Hanson, RK; Gordon, A; Harris, AJ; Marques, JK; Murphy, W และคณะ (2002). "First report of the collaborative outcome data project on the effectiveness of treatment for sex offenders". Sexual Abuse. 14 (2): 169–94. doi:10.1177/107906320201400207. {{cite journal}}: ใช้ et al. อย่างชัดเจน ใน |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  86. Rice, ME; Harris, GT (2012). "Treatment for adult sex offenders: may we reject the null hypothesis?". ใน Harrison, K; Rainey, B (บ.ก.). Handbook of Legal & Ethical Aspects of Sex Offender Treatment & Management. London: Wiley-Blackwell.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  87. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 175.
  88. Barbaree, HE; Bogaert, AF; Seto, MC (1995). Sexual reorientation therapy for pedophiles: Practices and controversies. The psychology of sexual orientation, behavior, and identity: A handbook. Westport, CT: Greenwood Press. pp. 357–383. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  89. Barbaree, HC; Seto, MC (1997). Pedophilia: Assessment and treatment. Sexual deviance: Theory, assessment and treatment. New York: Guildford Press. pp. 175–193. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  90. Maguth, Nezu C; Fiore, AA; Nezu, AM (2006). "Problem Solving Treatment for Intellectually Disabled Sex Offenders". International Journal of Behavioral Consultation and Therapy. 2: 266–275. doi:10.1002/9780470713488.ch6.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  91. 91.0 91.1 Camilleri, Joseph A; Quinsey, Vernon L. (2008). "Pedophilia: Assessment and Treatment". ใน Laws, D. Richard (บ.ก.). Sexual Deviance: Theory, Assessment, and Treatment, 2nd edition. The Guilford Press. pp. 199–200.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  92. 92.0 92.1 Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. pp. 177–181.
  93. Cohen, LJ; Galynker, II (2002). "Clinical features of pedophilia and implications for treatment". Journal of Psychiatric Practice. 8 (5): 276–89. doi:10.1097/00131746-200209000-00004. PMID 15985890.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  94. Guay, DR (2009). "Drug treatment of paraphilic and nonparaphilic sexual disorders". Clinical Therapeutics. 31 (1): 1–31. doi:10.1016/j.clinthera.2009.01.009.
  95. 95.0 95.1 "Anti-androgen therapy and surgical castration". Association for the Treatment of Sexual Abusers. 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-29. anti-androgen treatment should be coupled with appropriate monitoring and counseling within a comprehensive treatment plan
  96. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. pp. 181–182, 192.
  97. "Prague Urged to End Castration of Sex Offenders". Deutsche Welle. 2009-02-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-19.
  98. Howells, K (1981). Adult sexual interest in children: Considerations relevant to theories of aetiology. Adult sexual interest in children. New York: Academic Press. pp. 55–94. ISBN 978-0121872502. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  99. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 4.
  100. Suchy, Y; Whittaker, WJ; Strassberg, D; Eastvold, A (2009). "Facial and Prosodic Affect Recognition Among Pedophilic and Nonpedophilic Criminal Child Molesters". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 21 (1): 93–110. doi:10.1177/1079063208326930.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  101. 101.0 101.1 Schaefer, GA; Mundt, IA; Feelgood, S; Hupp, E; Neutze, J; Ahlers, Ch. J; Goecker, D; Beier, KM (2010). "Potential and Dunkelfeld offenders: Two neglected target groups for prevention of child sexual abuse". International Journal of Law & Psychiatry. 33 (3): 154–163. doi:10.1016/j.ijlp.2010.03.005. PMID 20466423.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  102. Seto, MC; Cantor, JM; Blanchard, R (2006). "Child pornography offenses are a valid diagnostic indicator of pedophilia". Journal of Abnormal Psychology. 115: 612. doi:10.1037/0021-843x.115.3.610.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  103. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 123.
  104. Blanchard, R; Kuban, ME; Blak, T; Cantor, JM; Klassen, P; Dickey, R (2006). "Phallometric comparison of pedophilic interest in nonadmitting sexual offenders against stepdaughters, biological daughters, other biologically related girls, and unrelated girls". Sexual Abuse: A Journal of Research and Treatment. 18 (1): 1–14. doi:10.1177/107906320601800101.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  105. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. pp. 47–48, 66.
  106. Kärgel, C; Massau, C; Weiß, S; Walter, M; Kruger, TH; Schiffer, B (2015). "Diminished Functional Connectivity on the Road to Child Sexual Abuse in Pedophilia". The Journal of Sexual Medicine. 12: 783–795. doi:10.1111/jsm.12819.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  107. Abel, GG; Mittleman, MS; Becker, JV (1985). Sex offenders: Results of assessment and recommendations for treatment. Clinical criminology: The assessment and treatment of criminal behavio. Toronto, Canada: M & M Graphics. pp. 207–220. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  108. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. pp. 64, 189.
  109. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. 13.
  110. 110.0 110.1 110.2 110.3 Von Krafft-Ebing, Richard (1922). Psychopathia Sexualis. Translated to English by Francis Joseph Rebman. Medical Art Agency. pp. 552–560. ISBN 1-871592-55-0.
  111. 111.0 111.1 Janssen, D.F. (2015). ""Chronophilia": Entries of Erotic Age Preference into Descriptive Psychopathology". Medical History. 59 (4): 575–598. doi:10.1017/mdh.2015.47. ISSN 0025-7273. PMC 4595948. PMID 26352305.
  112. Roudinesco, Élisabeth (2009). Our dark side: a history of perversion. Polity. pp. 144. ISBN 978-0-7456-4593-3.
  113. Freud, Sigmund. Three Contributions to the Theory of Sex. Mobi Classics. p 18-20 The Sexually immature and Animals as Sexual objects.
  114. American Psychiatric Association Committee on Nomenclature and Statistics (1952). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (1st ed.). Washington, D.C: The Association. p. 39.
  115. American Psychiatric Association: Committee on Nomenclature and Statistics (1980). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (3rd ed.). Washington, D.C: American Psychiatric Association. p. 271.
  116. Diagnostic and statistical manual of mental disorders: DSM-III-R. Washington, DC: American Psychiatric Association. 1987. ISBN 0-89042-018-1.
  117. "Child abuse investigation impact" (PDF). Metropolitan Police Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-04-19. สืบค้นเมื่อ 2014-04-18.
  118. Holmes, Ronald M. Profiling Violent Crimes: An Investigative Tool. Sage Publications. ISBN 1-4129-5998-5.
  119. Lanning, Kenneth V. (2010). "Child Molesters: A Behavioral Analysis, Fifth Edition" (PDF). National Center for Missing and Exploited Children: 16–17, 19–20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-24. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  120. Morris, Grant H. (2002). "Commentary: Punishing the Unpunishable—The Abuse of Psychiatry to Confine Those We Love to Hate" (PDF). Journal of the American Academy of Psychiatry and the Law. 30: 556–562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-06-21. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  121. 121.0 121.1 Holland, Jesse J. (2010-05-17). "Court: Sexually dangerous can be kept in prison". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-20. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  122. "Psychological Evaluation for the Courts, Second Edition - A Handbook for Mental Health Professionals and Lawyers - 9.04 Special Sentencing Provisions (b) Sexual Offender Statutes". Guilford.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-11. สืบค้นเมื่อ 2007-10-19.
  123. Cripe, Clair A; Pearlman, Michael G (2005). "Legal aspects of corrections management". ISBN 978-0-7637-2545-7. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  124. Ramsland, Katherine M; McGrain, Patrick Norman (2010). "Inside the minds of sexual predators". ISBN 978-0-313-37960-4. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  125. Liptak, Adam (2010-05-17). "Extended Civil Commitment of Sex Offenders Is Upheld". The New York Times.
  126. Barker, Emily (2009). "The Adam Walsh Act: Un-Civil Commitment". Hastings Constitutional Law Quarterly. 37 (1): 145.
  127. First, Michael B; Halon, Robert L (2008). "Use of DSM Paraphilia Diagnoses in Sexually Violent Predator Commitment Cases" (PDF). Journal of the American Academy of Psychiatry and the Law. 36 (4): 450.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  128. Jahnke, S; Imhoff, R; Hoyer, J (2015). "Stigmatization of People with Pedophilia: Two Comparative Surveys". Archives of Sexual Behavior. 44 (1): 21–34. doi:10.1007/s10508-014-0312-4.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  129. Neuillya, M; Zgobab, K (2006). "Assessing the Possibility of a Pedophilia Panic and Contagion Effect Between France and the United States". Victims & Offenders. 1 (3): 225–254. doi:10.1080/15564880600626122.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  130. Seto, Michael (2008). Pedophilia and Sexual Offending Against Children. Washington, DC: American Psychological Association. p. viii.
  131. McCartan, K. (2004). "'Here There Be Monsters': the public's perception of paedophiles with particular reference to Belfast and Leicester". Medicine, Science and the Law. 44 (4): 327–42. doi:10.1258/rsmmsl.44.4.327. PMID 15573972.
  132. "Pedophilia". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2015-07-19.
  133. Tuller, David (2006-10-04). "What To Call Foley. The congressman isn't a pedophile. He's an ephebophile". Slate. สืบค้นเมื่อ 2010-10-17.
  134. Guzzardi, Will (2010-01-06). "Andy Martin, GOP Senate Candidate, Calls Opponent Mark Kirk A "De Facto Pedophile"". Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 2010-01-15.
  135. "Best Hospitals: 2015-16: An Overview". U.S. News & World Report. 2014-07-15.
  136. 136.0 136.1 Jenkins, Philip (2006). Decade of Nightmares: The End of the Sixties and the Making of Eighties America. Oxford University Press. p. 120. ISBN 0-19-517866-1.
  137. Spiegel, Josef (2003). Sexual Abuse of Males: The Sam Model of Theory and Practice. Routledge. pp. 5, p9. ISBN 1-56032-403-1.
  138. 138.0 138.1 138.2 138.3 Eichewald, Kurt (2006-08-21). "From Their Own Online World, Pedophiles Extend Their Reach". New York Times.
  139. Bernard, Frits. "The Dutch Paedophile Emancipation Movement". Paidika: the Journal of Paedophilia. 1 (2, (Autumn 1987), p. 35-45). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09. Heterosexuality, homosexuality, bisexuality and paedophilia should be considered equally valuable forms of human behavior.
  140. Jenkins, Philip (1992). Intimate Enemies: Moral Panics in Contemporary Great Britain. Aldine Transaction. p. 75. ISBN 0-202-30436-1. In the 1970s, the pedophile movement was one of several fringe groups whose cause was to some extent espoused in the name of gay liberation.
  141. Stanton, Domna C. (1992). Discourses of Sexuality: From Aristotle to AIDS. University of Michigan Press. p. 405. ISBN 0-472-06513-0.
  142. 142.0 142.1 Hagan, Domna C.; Marvin B. Sussman (1988). Deviance and the family. Haworth Press. p. 131. ISBN 0-86656-726-7.
  143. Denizet-Lewis, Benoit (2001). "Boy Crazy". Boston Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-25. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  144. Trembaly, Pierre (2002). "Social interactions among paedophiles" (PDF). childtrafficking.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-22. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  145. "Virtuous Pedophiles - Welcome". virped.org. สืบค้นเมื่อ 2015-09-12.
  146. Clark-Flory, Tracy (2012-06-20). "Meet pedophiles who mean well". Salon. สืบค้นเมื่อ 2015-09-12.
  147. "Virtuous Pedophiles". Virtuous Pedophiles.
  148. "Global Crime Report - INVESTIGATION - Child porn and the cybercrime treaty part 2 - BBC World Service". BBC World Service.
  149. 149.0 149.1 "Families flee paedophile protests". BBC News. 2000-08-09.
  150. "Dutch paedophiles set up political party". Expatica. 2006-05-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-18. สืบค้นเมื่อ 2016-02-09.
  151. "The Perverted Justice Foundation Incorporated - A note from our foundation to you". Perverted-Justice. สืบค้นเมื่อ 2012-03-16.
  152. Salkin, Allen (2006-12-13). "Web Site Hunts Pedophiles and TV Goes Along". The New York Times. New York, New York. สืบค้นเมื่อ 2012-03-16. 'Every waking minute he's on that computer,' said his mother, Mary Erck-Heard, 46, who raised her son after they fled his father, whom she described as alcoholic. Mr. Von Erck legally changed his name from Phillip John Eide, taking his maternal grandfather's family name, Erck, and adding the Von.
  153. Jewkes, Y (2004). Media and crime. Thousand Oaks, Calif: Sage. pp. 76-77. ISBN 0-7619-4765-5.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]