ข้ามไปเนื้อหา

ความเอนเอียงเชิงอนุรักษนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในสาขาจิตวิทยาเชิงประชานและทฤษฎีการตัดสินใจ ความอนุรักษนิยม หรือ ความเอนเอียงเชิงอนุรักษนิยม (อังกฤษ: conservatism, conservatism bias) เป็นความโน้มเอียงที่จะเปลี่ยนความเชื่อของตนอย่างไม่เพียงพอเมื่อได้หลักฐานใหม่ ๆ เป็นลักษณะการเปลี่ยนความเชื่อของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับความน่าจะเป็นก่อน (prior distribution, base rate) เกินจริง และให้ความสำคัญแก่หลักฐานใหม่น้อยเกินไปโดยเทียบกับแบบจำลองการเปลี่ยนความคิดแบบเบย์เซียน (Bayesian belief-revision)

ตามทฤษฎีนี้ "ความคิดเห็นเปลี่ยนไปอย่างมีระเบียบมาก มักจะเป็นไปตามสัดส่วนของตัวเลขที่ระบุโดยทฤษฎีของเบยส์ แต่ก็ยังน้อยเกินไป"[1] กล่าวอีกอย่างก็คือ มนุษย์จะอัปเดตความเชื่อที่มีอยู่ก่อนเมื่อมีหลักฐานใหม่ แต่ก็เปลี่ยนช้าเกินไปเทียบกับทฤษฎีของเบยส์

นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน วาร์ด เอ็ดวาร์ดส์ได้รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ในปี 1968 ตามการทดลองเช่นดังต่อไปนี้[1]

มีกระเป๋าสะพายหลังสองใบ ใบหนึ่งมีเบี้ยสีแดง 700 อัน และเบี้ยสีน้ำเงิน 300 อัน กระเป๋าอีกใบมีเบี้ยแดง 300 อัน และเบี้ยน้ำเงิน 700 อัน ให้เอากระเป๋ามาใบหนึ่ง ต่อไปให้สุ่มตัวอย่างเอาเบี้ยอันหนึ่งแล้วนำคืนใส่กระเป๋า ในการชักตัวอย่าง 12 ครั้ง คุณได้เบี้ยสีแดง 8 อัน สีน้ำเงิน 4 อัน มีความน่าจะเป็นเท่าไรที่กระเป๋าที่คุณได้เป็นกระเป๋าที่มีเบี้ยแดงโดยมาก

ผู้ร่วมการทดลองโดยมากเลือกคำตอบราว ๆ .7 แต่คำตอบตามทฤษฎีของเบยส์อยู่ใกล้ ๆ .97 เอ็ดวาร์ดส์เสนอว่า มนุษย์เปลี่ยนความเชื่ออย่างอนุรักษนิยม เป็นไปตามทฤษฎีของเบยส์แต่ก็ช้ากว่า คือ เปลี่ยนค่าความน่าจะเป็นที่เริ่มจาก .5 อย่างไม่แม่นยำ โดยเป็นไปตามความเอนเอียงที่เห็นได้จากการทดลองหลายการทดลอง[1]

ในการเงิน

[แก้]

ในสาขาการเงิน มีหลักฐานว่านักลงทุนตอบสนองน้อยเกินไปต่อเหตุการณ์ที่เกิดกับบริษัท ซึ่งเป็นไปตามคาดเนื่องกับปรากฏการณ์นี้ เหตุการณ์รวมทั้งการประกาศรายได้ การเปลี่ยนเงินปันผล และการแตกหุ้น[2]

คำอธิบาย

[แก้]

คำอธิบายดั้งเดิมของปรากฏการณ์นี้ก็คือมันเป็นส่วนเพิ่มของ ความเอนเอียงโดยตั้งหลัก (anchoring bias) "หลัก" (anchor) ที่ตั้งไว้แต่แรกคือค่าความน่าจะเป็นที่ .5 เมื่อมีทางเลือกสองทางโดยไม่มีหลักฐานอื่น แล้วต่อมาไม่สามารถปรับให้ไกลจากหลักนี้ได้พอ แต่งานศึกษาปี 2012 เสนอว่า ความอนุรักษนิยมในการเปลี่ยนความคิดอาจอธิบายได้โดยกลไกทางทฤษฎีสารสนเทศที่สมมุติว่า การแปลงหลักฐานที่เป็นปรวิสัย (คือหลักฐานที่ได้) ให้เป็นค่าประเมินทางอัตวิสัย (คือการตัดสินใจ) เป็นกระบวนการที่มีสัญญาณกวนมาก[3] งานศึกษาอธิบายว่า ค่าประเมินของความน่าจะเป็นแบบมีเงื่อนไขเป็นไปในทางอนุรักษนิยม เพราะมีสัญญาณรบกวนในการระลึกถึงความจำ โดยสัญญาณรบกวนนิยามว่า เป็นหลักฐานที่ผสมผเสกัน

งานทดลองที่ให้รางวัลกับผู้ร่วมการทดลองพบว่า ปรากฏการณ์นี้สามารถทำให้ลดลงได้สำหรับผู้ที่มีสมรรถภาพทางประชานดี แต่ก็ยังไม่หายไปโดยสิ้นเชิง[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Edwards, Ward. "Conservatism in Human Information Processing (excerpted)". In Daniel Kahneman, Paul Slovic and Amos Tversky. (1982). Judgment under uncertainty: Heuristics and biases. New York: Cambridge University Press.Original work published 1968.
  2. Kadiyala, Padmaja; Rau, P. Raghavendra (2004). "Investor Reaction to Corporate Event Announcements: Under-reaction or Over-reaction?". The Journal of Business. 77 (4): 357–386. doi:10.1086/381273. JSTOR 10.1086/381273. . Earlier version at doi:10.2139/ssrn.249979
  3. Hilbert, Martin (2012). "Toward a synthesis of cognitive biases: How noisy information processing can bias human decision making" (PDF). Psychological Bulletin. 138 (2): 211–237. doi:10.1037/a0025940. PMID 22122235.
  4. Oechssler, Jörg; Roider, Andreas; Schmitz, Patrick W. (2009). "Cognitive abilities and behavioral biases" (PDF). Journal of Economic Behavior & Organization. 72 (1): 147–152. doi:10.1016/j.jebo.2009.04.018.