ข้ามไปเนื้อหา

ความตกลงชั่วคราว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความตกลงชั่วคราว[1] (ละติน: modus vivendi) เป็นสำนวนภาษาละตินที่แสดงถึงการตกลงระหว่างคู่กรณีที่มีความคิดเห็นต่างกัน เช่นเดียวกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า “ตกลงว่าไม่อาจจะตกลงกันได้

เมื่อพิจารณาศัพท์ modus แปลว่า วิถี แนวทาง และ vivendi แปลว่า แห่งการมีชีวิต เมื่อรวมกันเข้าก็แปลตรงตัวว่า วิถีชีวิต ซึ่งเป็นนัยแสดงการผ่อนปรนระหว่างคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันเพื่อให้ดำเนินชีวิตกันต่อไปได้ สำนวนดังกล่าวมักจะใช้เฉพาะในโอกาสลำลองหรือสถานการณ์ชั่วครั้งชั่วคราวเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ตัวอย่างเช่นเมื่อคู่กรณีสามารถทำความตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับดินแดนอันเป็นกรณีพิพาท แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางการเมืองหรือทางวัฒนธรรม แต่ทั้งสองฝ่ายก็สามารถยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินความคืบหน้าต่อไป ความคิดดังกล่าวเป็นหลักปรัชญาการเมืองของนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ จอห์น เอ็น. เกรย์

ในทางการทูต ความตกลงชั่วคราวเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำความตกลงสากลที่ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงชั่วคราว หรือ ข้อตกลงระยะสั้น ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นข้อตกลงระหว่างรอการตกลงอย่างถาวร เช่นในการเจรจาต่อรองในรายละเอียดของการทำสนธิสัญญา[2] การตกลงด้วยวิธีดังกล่าวเป็นการตกลงอย่างลำลองซึ่งทำให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการอนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยทั่วไปแล้วการพักรบและการยอมแพ้มักจะเป็นการตกลงประเภทนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (7 (แก้ไขเพิ่มเติม) ed.). ราชบัณฑิตยสถาน. 2012. ISBN 978-616-7073-48-4.
  2. "United Nations Treaty Collection: Definitions". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]