ข้ามไปเนื้อหา

คลองภักดีรำไพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองภักดีรำไพ
ประตูระบายน้ำบริเวณจุดเริ่มต้นคลองภักดีรำไพ ซึ่งแยกออกมากจากแม่น้ำจันทบุรี
ประเทศประเทศไทย
พิกัด12°33′53″N 102°07′24″E / 12.5647°N 102.1234°E / 12.5647; 102.1234
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว11.661 กิโลเมตร (7.246 ไมล์)
ประตูกั้นน้ำ11 แห่ง
ประวัติ
เจ้าของปัจจุบันกรมชลประทาน
วันที่อนุมัติ7 เมษายน พ.ศ. 2552
วันที่เปิดใช้19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ข้อมูลภูมิศาสตร์
จุดเริ่มต้นแม่น้ำจันทบุรี
จุดสิ้นสุดคลองอ่าง
พิกัดต้นทาง12°37′47″N 102°07′48″E / 12.6298°N 102.1301°E / 12.6298; 102.1301
พิกัดปลายทาง12°33′44″N 102°07′21″E / 12.5621°N 102.1225°E / 12.5621; 102.1225

คลองภักดีรำไพ เป็นคลองขุดสายหนึ่งในอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี คลองนี้เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาอุทกภัยในชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรี มีหน้าที่ระบายน้ำจากแม่น้ำดังกล่าวลงสู่อ่าวไทย

ประวัติ

[แก้]
ชุมชนริมแม่น้ำจันทบุรี ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัย

แต่เดิมตัวเมืองจันทบุรีเป็นเมืองอกแตกคือมีแม่น้ำจันทบุรีไหลผ่านกลางเมือง[1][2] กอปรกับเป็นหัวเมืองภาคตะวันที่ติดกับชายฝั่งทะเลมีฝนชุก ยามฤดูฝนก็จะเกิดอุทกภัยด้วยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีปัญหาน้ำเซาะตลิ่ง และแม่น้ำเองก็มีความโค้งมากทำให้น้ำระบายช้า หากเป็นหน้าแล้งก็น้ำไหลสู่ทะเลเสียหมดไม่สามารถกักเก็บได้[3][4] ครั้นในปี พ.ศ. 2542 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในตัวเมืองเนื่องจากฝนชุกนัก เกิดปริมาณน้ำหลาก 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำส่วนเกินได้ทะลักเข้าสู่ย่านชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 85,000 คน ความเสียหายราว 2,118.67 ล้านบาท และยังเกิดซ้ำในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 และเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549[5]

ป้ายของโครงการคลองภักดีรำไพ

ในปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานแนวพระราชดำริโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาประสานงานแบบบูรณาการเพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงน้ำหลากเพิ่มเติม จนกลายมาเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัยตัวเมืองจันทบุรีตามพระราชดำริ[1][6] รัฐมนตรีมีมติอนุมัติเปิดโครงการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปีงบประมาณ 2552-2557) วงเงิน 3,500 ล้านบาท[5]

ชื่อคลองได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรว่า คลองภักดีรำไพ (อักษรโรมัน: Bhakti Rambhai)[7] มีความหมายว่า “คลองที่แสดงความจงรักในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7”[5] ด้วยเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่เคยมาประทับในจังหวัดนี้

หลังเสร็จสิ้นการก่อสร้างคลองดังกล่าว ตัวเมืองจันทบุรีก็ไม่ประสบกับอุทกภัยอีก ทั้งยังมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งเพียงพอ[1] และถือเป็นโครงการในพระราชดำริลำดับสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระราชทานแด่จังหวัดจันทบุรี[3] ด้วยเหตุนี้หลังการสวรรคตของพระองค์ พสกนิกรชาวจันทบุรีจึงพร้อมใจจุดเทียนแสดงความอาลัยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ[8]

วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดคลองภักดีรำไพ ณ ประตูระบายน้ำปากคลองภักดีรำไพ เทศบาลเมืองจันทนิมิต จังหวัดจันทบุรี[9][10]

ลักษณะ

[แก้]

คลองภักดีรำไพเริ่มตั้งแต่แม่น้ำจันทบุรี[2] หน้าฝายยางทุ่งลาซาล เทศบาลเมืองจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี ตัดผ่านทุ่งสระบาปเชื่อมคลองอ่าง ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยที่บ้านหนองบัว เทศบาลตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี รวมความยาว 11.661 กิโลเมตร[3] ลักษณะเป็นคลองดินขุด มีสถานีสูบน้ำ มีคลองระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ 11 แห่ง[11] คลองสามารถกักน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร[12] สามารถระบายน้ำ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ป้องกันปัญหาอุทกภัย กักน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ประตูน้ำก็สามารถกันน้ำเค็มรุกเข้าไปในพื้นเกษตรกรรมได้อีกทางหนึ่ง พื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ นอกจากนี้บริเวณสองฝั่งคลองก็ได้ตัดถนนคอนกรีตไว้สำหรับสัญจรด้วย[2][3][4][5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ไตรรงค์ มีทับทิม (18 ตุลาคม 2559). "โครงการพระราชดำริ "คลองภักดีรำไพ"ป้องกันน้ำท่วมเมืองจันทบุรี". สยามรัฐออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-03. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 "รายงานพิเศษ โครงการพระราชดำริคลองภักดีรำไพ แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน". สำนักข่าวไทย. 29 มีนาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 จรัล บรรยงคเสนา (16 ตุลาคม 2559). "รายงานพิเศษ "คลองภักดีรำไพ" โครงการสุดท้าย ที่พระองค์ท่าน ทรงพระราชทานช่วยเหลือพสกนิกรชาวจันทบุรี". กรมประชาสัมพันธ์. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "'คลองภักดีรำไพ'แล้วเสร็จสมบูรณ์ แนวพระราชดำริแก้น้ำท่วมจันท์-เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 5 พันไร่". แนวหน้า. 23 พฤศจิกายน 2559. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (แผนระยะที่ 2) จังหวัดจันทบุรี". สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน. 30 พฤษภาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-09. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "ชาวชุมชนริมน้ำจันทบูรซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ". เวิร์กพอยต์นิวส์. 18 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "ชื่อพระราชทาน "คลองภักดีรำไพ" Bhakti Rambhai Canal". สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "จันทบุรีเตรียมความพร้อมสถานที่จัดแสดงความอาลัยในหลวง ร.๙". MGR Online. 31 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  9. "จ.จันทบุรี ประชุม เตรียมพร้อมรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงเปิดโครงการบรรเทาอุทกภัยจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ " คลองภักดีรำไพ" ในวันที่ 19 พ.ค. 60". สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. 27 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  10. เบญจมาภรณ์ พรเจีย (22 พฤษภาคม 2560). "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เสด็จฯ เปิดคลองภักดีรำไพ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี". จังหวัดจันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  11. "ประตูระบายน้ำคลองภักดีรำไพโครงการพระราชดำริชิ้นสุดท้าย ร.9". โพสต์ทูเดย์. 10 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "ย้ำประโยชน์มหาศาล คลองภักดีรำไพแก้น้ำท่วมเมืองจันท์-สร้างเส้นทางคมนาคม-ลดต้นทุนเกษตร". สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]