คลองจระเข้สามพัน
คลองจระเข้สามพัน หรือ คลองจรเข้สามพัน อาจเรียกว่า แม่น้ำจระเข้สามพัน หรือ ลำจระเข้สามพัน เป็นลำน้ำธรรมชาติมีต้นน้ำส่วนหนึ่งมาจากภูเขาในเขตอำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และอีกส่วนหนึ่งมาจากแม่น้ำแม่กลอง ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอท่าม่วง และอำเภอพนมทวน เดิมราษฎรเรียกว่า แม่น้ำทวน หลังจากนั้นช่วงที่ไหลผ่านอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ราษฎรเรียกว่า "แม่น้ำจรเข้สามพัน" ได้ผ่านหน้าเมืองอู่ทองโบราณไปทางทิศตะวันออก แล้วรวมกับลำน้ำท่าว้า-ท่าคอย เป็นลำน้ำสองพี่น้อง ไหลลงแม่น้ำท่าจีน ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี[1]
พ.ศ. 2507 กรมชลประทานโดยเริ่มทำการก่อสร้างเขื่อนแม่กลอง หลังจากนั้นจึงก่อสร้างระบบส่งน้ำและรายบายน้ำ ช่วง พ.ศ. 2526–2528 จึงได้ปรับปรุงแม่น้ำทวนและแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นคลองระบายน้ำ ใช้ชื่อว่า คลองระบายใหญ่จรเข้สามพัน หรือ D Main Canal มีความยาว 76.136 กิโลเมตร ลักษณะเป็นคลองดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมูโดยเริ่ม ณ จุดที่คลองจรเข้สามพันไหลบรรจบกับคลองสองพี่น้อง ต่อมา พ.ศ. 2531 กรมชลประทานได้พัฒนาคลองผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองจากบริเวณหน้าเขื่อนแม่กลอง เพื่อเชื่อมกับคลองระบายใหญ่จรเข้สามพันบริเวณปลายคลอง (กม. 76+136) มีลักษณะเป็นคลองคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีความยาวจากแม่น้ำแม่กลองถึงจุดบรรจบกับคลองระบายใหญ่จรเข้สามพัน 5.543 กิโลเมตร[2]
ชื่อ "คลองจระเข้สามพัน" สันนิษฐานว่าคงมีจระเข้อยู่มาก[3] บ้างก็สันนิษฐานว่ามีจระเข้อยู่สามพันธุ์ คือ พันธุ์ที่หนึ่งมีเท้าเป็นผังผืดคล้ายตีนเป็ด พันธุ์ที่สอง หน้าแด่น คือมีรอยสีขาวเป็นจุดบนหน้าผาก และพันธุ์ที่สามมีก้อนกลมเหมือนก้อนหูดติดอยู่บนหัวเรียกว่าพันธุ์ ก้อนขี้หมา ภายหลังคงเพี้ยนจาก "พันธุ์" มาเป็น "พัน" และยังมีนิทานพื้นบ้านเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งอาศัยอยู่เรือนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำได้ซื้อลูกจระเข้จากชาวประมงที่ราคา 3,000 เบี้ย เมื่อเลี้ยงได้เติบใหญ่ ทั้งสามีภรรยาก็ถูกจระเข้ที่ตนเองเลี้ยงนี้คาบไปกิน[4]
บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งเกิดขึ้นช่วงก่อนเริ่มปรากฏวัฒนธรรมในพุทธศาสนายุคแรก เป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุครุ่งเรืองสมัยทวารวดี[5] ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11–12 บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมทวารวดี พบโบราณวัตถุกระจายตัวอยู่ริมฝั่งคลองนี้ ตั้งแต่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มาจนถึงเขตอำเภอดอนเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""จระเข้สามพัน" สายน้ำแห่งชีวิตเมืองโบราณอู่ทอง ปีนี้วิกฤติหนัก!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-02. สืบค้นเมื่อ 2022-10-02.
- ↑ "การศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำแม่ค่อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง (พ.ศ. 2562)" (PDF).
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. "จรเข้สามพัน ในแม่น้ำเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี". มติชน.
- ↑ "ตำนานที่มาของ..แม่น้ำจรเข้สามพัน.. อู่ทอง..สุพรรณบ้านเรา". สุพรรณบ้านเรา.
- ↑ เสาวพงษ์ ยมาพัฒน์. "อู่ทองในเครือข่ายการค้าโลกสมัยโบราณ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 26.
- ↑ "เล่าตำนานจระเข้สามพัน สายน้ำแห่งชีวิตลุ่มแม่น้ำทวน" (PDF).