ข้ามไปเนื้อหา

ครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครุยวิทยาศาสตร/ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นเสื้อคลุมสีแดงสด ปลายแขนและสาบหน้าประดับผ้าไหมสีน้ำเงิน ไม่มีผ้าคล้องคอ ประกอบหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร หรือครุยวิทยฐานะแบบอังกฤษ (อังกฤษ: academic dress) เป็นเสื้อคลุมสำหรับประกอบวิทยฐานะและตำแหน่งทางบริหารมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร มีที่มาจากเสื้อคลุมของฆราวาสที่อาศัยในโบสถ์ช่วงยุคกลาง ครุยวิทยฐานะสหราชอาณาจักรมีลักษณะที่เด่นชัดคือ ตอนหน้าอกจะเปิดออกตลอดให้เห็นเครื่องแต่งกายที่อยู่ภายใน คล้ายกับครุยวิทยฐานะไทย ต่างจากครุยวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกาที่ตอนหน้าอกจะปิดทึบตลอด ครุยวิทยฐานะในแต่ละระดับและมหาวิทยาลัยจะต่างกันตรงที่ความยาวและรูปทรงของแขน ตลอดจนสีและวัสดุที่ใช้ทำ ครุยวิทยฐานะรูปทรงต่าง ๆ ถูกจัดจำแนกตามวิธีการจำแนกของนิโคลัส โกรฟ (Nicholas Groves) [1] ปัจจุบันมีสมาคมเบอร์กอน (Burgon Society) เป็นผู้รวบรวมและดูแลรักษาข้อบังคับในการจัดทำครุยวิทยฐานะทั้งของสหราชอาณาจักรเองและของประเทศอื่น ๆ[2][3][4]

ครุยวิทยฐานะ

[แก้]
ครุยครุศาสตรมหาบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเปิด

ครุยวิทยฐานะสหราชอาณาจักร มีลักษณะทั่วไปดังนี้[5]

เสื้อคลุม

[แก้]
  • ปริญญาตรีควบโท ปริญญาตรี และอนุปริญญา เป็นเสื้อคลุมยาวสีดำหรือสีเข้ม ตอนหน้าอกเปิดออกตลอด ที่สาบอกนิยมทำเป็นพับและอาจมีขลิบสีหรือสำรดตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด แขนยาวเสมอข้อมือ บางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน เป็นแขนปลายตัด คือตอนหลังของแขนยาวเสมอชายเสื้อ ตอนหน้าของแขนรวบทำเป็นจีบไว้ ที่สาบบ่า (yoke) และไหล่ของเสื้อทำเป็นจีบ บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีเส้นไหมกลมและปุ่มกลมประดับที่สาบบ่าอีกด้วย
  • ปริญญาโท เป็นเสื้อคลุมยาวสีดำหรือสีเข้มเช่นเดียวกับปริญญาตรี แต่แขนเสื้อยาวถึงชายเสื้อด้านล่าง มีรูเจาะตรงกลางสำหรับให้มือสอดออกมาได้ บางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยคิงสตัน ใช้เสื้อแขนยาวเช่นเดียวกับปริญญาตรี
  • ปริญญาเอก เป็นเสื้อคลุมสีสันสดใส นิยมใช้สีแดง แต่บางมหาวิทยาลัยอาจใช้สีอื่น เช่น ฟ้า (มหาวิทยาลัยบอร์นมัท มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน มหาวิทยาลัยเปิด ฯลฯ) หรือเขียว (มหาวิทยาลัยลีดส์) ตอนหน้าอกเปิดออกตลอด ที่สาบบ่าและไหล่ทำเป็นจีบ อาจมีปุ่มกลมและเส้นไหมกลมประดับที่สาบบ่าตามสมควร แขนเสื้อมีได้หลายแบบ เช่น แขนเสื้อยาวเสมอข้อมือโดยไม่พับขึ้นแบบปริญญาตรี (เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด) แขนเสื้อปลายตัดแต่ตอนหน้าพับขึ้น (ใช้กับปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาสามัญของมหาวิทยาลัยลีดส์ และมหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน) หรือแขนเสื้อแบบเดียวกับปริญญาโท (มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแมนเชสเตอร์ มหาวิทยาลัยเซอร์รีย์

เสื้่อคลุมที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ เรียกว่าครุยเต็มยศ (full-dress gown) หรือครุยสำหรับงานฉลอง (festal gown)[6] บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยครึ่งยศ (undress gown) เพิ่มเติมสำหรับบัณฑิตปริญญาเอก ซึ่งมักเป็นครุยปริญญาโทประดับผ้าคล้องคอของปริญญาเอก สำหรับไว้ใช้ในงานไม่เป็นทางการ

ผ้าคล้องคอ

[แก้]

ผ้าคล้องคอมีลักษณะดังนี้คือ ตอนหน้าเป็นแถบรูปบั้งสำหรับสวมลงใต้ผ้าผูกคอหรือกลัดไว้กับเสื้อ ตอนหลังทำเป็นทรงคล้ายถุงสำหรับคลุมศีรษะเมื่อมีฝนหรือหิมะตก บางแบบเป็นถุงผ้าชั้นเดียวพร้อมติ่ง (liripipe) บ้างก็เป็นถุงพร้อมแผ่นรองหลัง (cape) บ้างก็มีรูปทรงคล้ายลิ้นที่แลบออกมา ไม่กำหนดตายตัวแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัยหรือระดับการศึกษา[7]

หมวก

[แก้]

หมวกสำหรับทุกระดับปริญญา ใช้หมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (trencher หรือ mortarboard) ทำด้วยกำมะหยี่หรือวัสดุอื่นหุ้มด้วยกำมะหยี่ ตอนล่างเป็นกระบอกสำหรับสวมศีรษะ ตอนหลังของกระบอกจะแหลมและยาวกว่าตอนหน้าเพื่อให้รับกับรูปทรงของศีรษะจริง เมื่อนำไปตั้งบนพื้นจะล้มลง

หมวกสำหรับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยส่วนมากใช้หมวกทรงอ่อนแบบราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor bonnet) คือ เป็นหมวกรูปกลมมีปีกโดยรอบ ที่เอวหรือส่วนคอดระหว่างหมวกและปีกมีเส้นไหมกลมและพู่สีรัดไว้

บางมหาวิทยาลัย อาทิ วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน[8] ราชวิทยาลัยลอนดอน[9] ไม่กำหนดให้บัณฑิตสวมหมวก โดยวิทยาลัยอิมพีเรียลฯ กำหนดให้สวมหมวกเฉพาะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เท่านั้น บัณฑิตทั่วไปจะสวมหมวกเฉพาะเวลาถ่ายภาพนอกอาคาร ส่วนราชวิทยาลัยนั้นมีเหตุผลทางศาสนาและสังคม บัณฑิตมุสลิมหญิงและบัณฑิตที่สวมผ้าสะระบั่นมักจะไม่สะดวกหากต้องสวมหมวก

ครุยประจำตำแหน่ง

[แก้]
คริส แพทเทน (Chris Patten) ผู้ประสาทการมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ขณะสวมชุดครุยประจำตำแหน่ง

ในหลายมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางบริหารต่าง ๆ จะมีครุยประจำตำแหน่ง โดยนิยมใช้เสื้อแบบปริญญาโทแบบไม่มีผ้าคล้องคอสำหรับตำแหน่งสายปฏิบัติงาน สำหรับอธิการบดีและผู้ประสาทการ (chancellor)[n 1]จะใช้เสื้ออย่างวิจิตร ทำจากผ้าทอซ่อนลายสีดำ ประกอบด้วยหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดับลายทองที่ขอบล่างติดกับหน้าผาก โดยรวมแล้วลักษณะคล้ายครุยพิธีการของผู้พิพากษา ประธานรัฐสภา และรัฐมนตรียุติธรรม บางมหาวิทยาลัย เช่น เคมบริดจ์ อาจใช้เสื้อไม่มีแขนสีแดงแทนก็ได้[10]

ตัวอย่าง

[แก้]

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

[แก้]

ตามหนังสือประมวลข้อบังคับของมหาวิทยาลัย บทที่ 2[6] ระบุว่า เสื้อครุยวิทยฐานะอย่างเต็มยศ มีดังนี้

  • เทววิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Divinity honoris causa) เป็นเสื้อคลุมสีแดงชาดบุด้านในด้วยผ้าต่วนสีเทาเงิน แขนเสื้อเป็นแบบปลายตัด คือตอนหลังปลายแหลมยาวลงเสมอชายเสื้อตอนล่าง ตอนหน้าพับขึ้นเสมอศอก มีเส้นไหมกลมสีดำสองเส้นบิดเป็นเกลียวรั้งไว้กับกระดุมสีดำ[11]
  • นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Law honoris causa) เป็นเสื้อคลุมแบบเดียวกัน คือผ้าสีแดงชาด แต่ด้านในเป็นผ้าต่วนสีชมพูอ่อน ประกอบด้วยเส้นไหมและกระดุมสีแดง
  • แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่สีชมพูที่บุด้านในเข้มกว่า
  • วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่ด้านในเป็นสีชมพูเจือฟ้า
  • อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Doctor of Letter honoris causa) คล้ายนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต แต่ด้านในเป็นสีแดงชาดเดียวกับเสื้อ
  • ดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิต เป็นเสื้อคลุมสีขาวนวลทำด้วยผ้าทอซ่อนลาย
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต เป็นเสื้อทำด้วยผ้าสีดำ แขนยาวเสมอชายเสื้อ ปลายเย็บปิด เจาะช่องกลางให้มือสอดออกมาได้ คล้ายครุยศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แต่สาบหน้าทั้งสองข้างประดับผ้าสีแดงกว้าง 10 เซนติเมตร
  • ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต คล้ายปรัชญาดุษฎีบัณฑิต แต่เหนือช่องสอดแขนมีกระดุมสี่เม็ดเรียงกัน

ปริญญาทั้งหมดนี้อาจสวมผ้าคล้องคอทำด้วยวัสดุภายนอกและภายในแบบเดียวกับเสื้อก็ได้ โดยรวมแล้ว ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จะสวมชุดสีสันสดใส ส่วนดุษฎีบัณฑิตสามัญและบัณฑิตระดับอื่นจะสวมชุดสีดำ

ปริญญาโท เป็นเสื้อสีดำ แขนยาวเสมอข้อเท้าเจาะช่องตรงกลางให้มือสอดออกมา ที่สาบหน้าประดับสีตามปริญญา เช่น นิติศาสตรมหาบัณฑิต ใช้สีแดงอ่อน บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ใช้สีเขียวเข้ม วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ใช้สีชมพูเหลือบฟ้า ฯลฯ

ปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต เป็นเสื้อสีดำ แขนยาวไม่เกินกว่าเข่า ปลายตัดเฉียง ตอนหน้าของแขนรั้งไว้ด้วยเชือกและกระดุม ครุยลักษณะนี้มีใช้ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนด้วย ส่วนศิลปศาสตรบัณฑิต คล้ายแพทยศาสตรบัณฑิตแต่ตอนหน้าของแขนมีช่องเจาะยาวตั้งแต่ไหล่ลงมา

มหาวิทยาลัยที่ใช้ครุยดุษฎีบัณฑิตตามแบบของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยลีดส์ (เสื้อด้านนอกสีเขียวแก่ ด้านในสีเขียวอ่อน ตามรอยเย็บประดับแถบสีแดงชาด)[12] มหาวิทยาลัยแองเกลียรัสกิน (เสื้อสีน้ำเงิน สาบหน้าและด้านในสีเหลืองทอง)[13] มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน (เสื้อสีแดงด้านในสีขาบ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีแดงด้านในสีขาบ ตะเข็บเป็นแถบสีขาว)[14] และมหาวิทยาลัยบอร์นมัท (เสื้อสีน้ำเงิน สาบหน้าสีเหลืองทอง ผ้าคล้องคอขอบนอกสีขาว)

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

[แก้]

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกำหนดให้มีเสื้อประจำวิทยฐานะสำหรับนักศึกษาที่กำลังเรียน และนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรแล้วแยกกัน[15][16]

นักศึกษาที่กำลังเรียนจะใช้เสื้อคลุมสามแบบ คือ[17]

  • ครุยนักศึกษาสามัญ (commoners gown) เป็นเสื้อกั๊กเปิดอกไม่มีแขนทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำ หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ที่ไหล่ทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีดำห้อยยาวลงมา ชายเสื้อเสมอบั้นท้าย เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาตรีควบโท (undergraduate master students)
  • ครุยนักศึกษาทุน (scholars gown) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกมีแขนยาวถึงข้อมือ หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ด้านหลังของแขนยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย ทำด้วยวัสดุอย่างเดียวกับครุยนักศึกษาสามัญ เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและตรีควบโท ซึ่งได้รับทุนการศึกษา หรือมีผลการเรียนดี หรือทั้งสองอย่าง
  • ครุยนักศึกษาชั้นสูง (advanced students gown หรือ graduates gown) คล้ายกับครุยนักศึกษาสามัญ แต่ความยาวชายเสื้อเสมอเข่า เสื้อชนิดนี้ใช้สำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอก

นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะใช้เสื้อคลุมที่แตกต่างกันตามระดับการศึกษา[18] คือ

  • ปริญญาตรีและตรีควบโท เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีดำ ปลายแขนด้านหน้ายาวถึงข้อมือ ปลายแขนด้านหลังแหลมและยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย หลังและไหล่ทำเป็นขีบ สาบหน้าทั้งสองข้างพับเป็นครีบกว้าง 2.5 นิ้ว มีผ้าคล้องคอทรงเบอร์กอนหรือทรงชั้นเดียวบุสีตามปริญญา บางปริญญาอาจมีขนสัตว์หรือขนเทียมติดรอบขอบผ้าคล้องคอ
  • ปริญญาโท คล้ายกับปริญญาตรี แต่แขนเสื้อยาวถึงชาย เย็บปลายปิด มีช่องเจาะตรงกลางแขนสำหรับสอดมือ มีแถบลายถักประดับที่ชายเสื้อด้านข้างทั้งสองข้าง ด้านหลัง และฐานแขนเสื้อเป็นรูปห้าเหลี่ยม นอกจากนี้มีแถบลายถักประดับรอบสาบบ่า แขนท่อนบน และรอบช่องเจาะสอดมือ (ยกเว้น ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ซึ่งไม่มีแถบลายถัก แต่ปลายแขนตัดเป็นรูปวงเดือน ชี้ไปด้านหน้า) มีผ้าคล้องคอทรงเบอร์กอนหรือทรงชั้นเดียวตามแต่ปริญญาทื่ได้รับ โดยมากมักไม่มีขนสัตว์หรือขนเทียมติดรอบขอบ

ปริญญาเอก มีครุยวิทยฐานะสามชนิด คือ

  • ครุยเต็มยศ (full dress) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีแดงชาดความยาวครึ่งแข้งถึงข้อเท้า หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ปลายแขนยาวเสมอข้อมือทั้งด้านหน้าและหลัง (เทียบกับแขนตัดเฉียงของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) สาบหน้าพับเป็นครีบกว้าง 5 นิ้ว หุ้มด้วยผ้ามันสีตามปริญญา แขนท่อนล่างหุ้มด้วยผ้ามันสีตามปริญญา ไม่มีผ้าคล้องคอ
  • ครุยครึ่งยศ (undress) เป็นเสื้อคลุมเปิดอกสีดำอย่างปริญญาโท แต่มีแถบลายถักใต้ช่องเจาะสอดมือเพิ่มติมอีกหนึ่งแถว ประกอบด้วยผ้าคล้องคอทรงออกซฟอร์ด ด้านนอกสีแดงชาด ด้านในเป็นผ้ามันสีตามปริญญา
  • ครุยรองทรง (convocation habit) เป็นเสื้อคลุมสีแดงชาดไม่มีแขน ด้านหลังทำเป็นจีบ ด้านหน้าปิด มีกระดุมผ้าสีตามปริญญาสองดุม ใช้สวมทับครุยครึ่งยศโดยดึงแขนเสื้อของครุยครึ่งยศออกไปด้านนอก

ปริญญาเอกแต่ละชนิด จะใช้ครุยวิทยฐานะทรงเดียวกัน ต่างแต่สีของสาบหน้าและแขนท่อนล่าง ยกตัวอย่างเช่น

  • เทววิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีดำ
  • นิติศาสตร/แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีแดงชาด
  • อักษรศาสตร/วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สีเทา
  • ดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิต ตัวเสื้อเป็นผ้าทอสีขาวนวลซ่อนลายดอกแอปเปิล สาบหน้าและแขนตอนล่างเป็นสีแดงชาด
  • ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สีน้ำเงิน

เครื่องแต่งกายที่สวมภายในครุยวิทยฐานะ มหาวิทยาลัยกำหนดว่าต้องเป็นสับฟัสก์ (sub-fusc) คือ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว ผ้าผูกคอสีขาวหรือดำ ประกอบกระโปรงหรือกางเกง บางโอกาสอาจสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือหมวกทรงอ่อนสำหรับสตรี ยกเว้นปริญญนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และดุริยศิลปดุษฎีบัณฑิตที่สวมหมวกอ่อนทรงกลมแบบทิวดอร์ (Tudor bonnet)[3]

ในโอกาสส่วนมากของทางมหาวิทยาลัย[15] จะไม่กำหนดให้ดุษฎีบัณฑิตสวมผ้าคล้องคอ อย่างไรก็ตามดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดสามารถสวมผ้าคล้องคอกับครุยเต็มยศได้ หากต้องไปปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งอื่น

มหาวิทยาลัยที่ใช้ชุดครุยดุษฎีบัณฑิตตามแบบของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้แก่ มหาวิทยาลัยบริสตอล (เสื้อสีแดง แขนและสาบหน้าสีม่วง)[19] มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน (เสื้อสีแดงเลือดหมู แขนและสาบหน้าสีฟ้า)[20] มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (เสื้อสีแดง แขนและสาบหน้าสีม่วง รอยต่อประดับแถบสีเหลือง)[21] มหาวิทยาลัยเหล่านี้กำหนดให้ใช้หมวกทรงอ่อนแบบทิวดอร์สำหรับปริญญาเอกแทนที่จะเป็นหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่บัณฑิตก็สามารถสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ในโอกาสอันควร

มหาวิทยาลัยบรูเนลลอนดอน

[แก้]

เนื่องจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์มีระเบียบว่าด้วยครุยวิทยฐานะที่ซับซ้อนเข้าใจยาก จึงขอยกตัวอย่างครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยรุ่นหลังมาเพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้[14]

  • ประกาศนียบัตร เป็นเสื้อคลุมแขนปลายตัดเฉียงไม่มีเชือกรั้ง ทำด้วยผ้าสีขาบหลังและไหล่ทำเป็นจีบ ที่ขอบของสาบหน้าและสาบบ่าประดับแถบสีแดง
  • ปริญญาตรี เป็นเสื้อคลุมสีขาบเช่นเดียวกับประกาศนียบัตร แต่สาบหน้าเป็นพับ ที่ขอบมีแถบสีแดง ประกอบผ้าคล้องคอด้านนอกสีขาบขอบแดง ด้านในสีขาวและแดง
  • ปริญญาตรีควบโท คล้ายปริญญาตรี แต่ด้านในของผ้าคล้องคอสีแดงล้วน
  • ปริญญาโท เป็นเสื้อคลุมสีขาบแขนยาวถึงชายเสื้อ กลางแขนมีช่องสอดมือ ที่ขอบสาบหน้าและช่องสอดแขนมีแถบสีแดงประดับ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีขาบ ด้านในสีแดง
  • ปริญญาเอก เป็นเสื้อคลุมด้านนอกสีแดงด้านในและสาบหน้าสีขาบ แขนปลายตัด ตอนหน้ายกขึ้นรั้งด้วยเชือกสีขาว ที่รอยต่อระหว่างสีแดงและสีขาบมีแถบสีขาวเย็บประดับ ผ้าคล้องคอด้านนอกสีแดง ขอบบนสีขาว ขอบล่างสีน้ำเงิน ด้านในสีน้ำเงิน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในสหราชอาณาจักร ผู้ประสาทการหรือชานซเลอร์ คือประธานสูงสุดของมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำในพิธีการต่าง ๆ โดยมากมักเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ไม่มีอำนาจในทางบริหาร ส่วนนายกสภามหาวิทยาลัย มักตั้งจากคณาจารย์และมีอำนาจในฐานะที่ปรึกษาแก่อธิการบดี (vice chancellor) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดทางการบริหาร บางมหาวิทยาลัยอาจจัดให้มีอุปถัมภก (visitor) ซึ่งมักเป็นพระมหากษัตริย์เพิ่มเติมด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Burgon Society: The Design of Academical Dress เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (6 May 2007) Classification of Styles
  2. Burgon Society: Introduction เก็บถาวร 2013-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (2 Nov 2008)
  3. 3.0 3.1 "Shaw's Academical Dress of Great Britain and Ireland 3rd Revised ed. Edition". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2017.
  4. "Shaw's Academical Dress of Great Britain and Ireland - Volume II: Non-degree-awarding Bodies (Volume 2)". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 16 August 2017.
  5. Shaw (1995); pp. 4-7
  6. 6.0 6.1 "Statues and Ordinances of The University of Cambridge Chapter II" (PDF). 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  7. Burgon Annual 2003 (2004); pp. 18–23
  8. "IMPERIAL COLLEGE LONDON: ACADEMIC DRESS" (PDF).[ลิงก์เสีย]
  9. Michael Cottrell (2008-06-12). "The Australian: King's bans mortarboards as old hat". Theaustralian.news.com.au. สืบค้นเมื่อ 2010-04-28.
  10. Shaw (1966); pp. 94-95
  11. His Highness the Aga Khan at the University of Cambridge, where he was awarded an Honorary Doctorate of Divinity, England - June 12, 2009
  12. "Secretariat Coporate Service: Gown". University of Leeds.
  13. Example Anglia Ruskin graduation robes
  14. 14.0 14.1 "Gowns and Dress Code". Brunel University London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  15. 15.0 15.1 "Regulations relating to Academic Dress made by the Vice-Chancellor, as Authorised by Council". University of Oxford. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  16. "Academic Dress". University of Oxford.
  17. "Academic dress | University of Oxford". www.ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2021-01-02.
  18. "Academic Dress | University of Oxford". www.ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2021-01-02.
  19. "REGULATIONS FOR ACADEMIC AND OFFICIAL COSTUME" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  20. "University Calendar:Section IV : General Information and Regulations". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  21. "Schedule of General Regulations:XIII Academic Dress". University of Manchester. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-21. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.