คริส สมอลส์
คริส สมอลส์ | |
---|---|
สมอลส์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 | |
เกิด | คริสเตียน สมอลส์ ค.ศ. 1988/1989 (อายุ 35–36 ปี) แฮกเคนแซก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ |
อาชีพ | นักจัดตั้งสหภาพแรงงาน |
มีชื่อเสียงจาก | การดำเนินกิจกรรมสิทธิแรงงาน |
ผลงานเด่น | สหภาพแรงงานแอมะซอน |
บุตร | 3 |
คริสเตียน สมอลส์ (เกิด พ.ศ. 2531 หรือ 2532)[1] เป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงานชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักในบทบาทผู้นำการจัดตั้งของคนงานแอมะซอน (Amazon worker organization) ที่โบโรฮ์เกาะสแตเทน นครนิวยอร์ก เขาดำรงตำแหน่งประธานและเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานแอมะซอน (Amazon Labor Union ตัวย่อ ALU) นับแต่ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา
สมอลส์เติบโตในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และได้ประกอบอาชีพในสายแร็ปเปอร์ โดยได้ออกเดินสายกับมีก มิลล์ (Meek Mill) อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะล้มเลิกไปเพื่อเลี้ยงดูลูกของเขา โดยได้เข้าทำงานในอุตสาหกรรมบริการและคลังสินค้า และเข้าทำงานกับแอมะซอนใน พ.ศ. 2558
ในวันที่ 30 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 สมอลส์ได้จัดการประท้วงเดินออกจากงานที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทนที่เขาทำงานอยู่ กล่าวคือโกดังแอมะซอนหมายเลข JFK8 เนื่องจากมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ซึ่งเขากล่าวว่าไม่เพียงพอ ในวันเดียวกันเองเขาถูกเลิกจ้าง โดยเหตุผลของบริษัทอ้างว่าเป็นเพราะการละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของบริษัทระหว่างระยะเวลากักตัวที่กำหนดไว้แบบคงได้รับค่าจ้างอยู่ สมอลส์ได้สัมผัสเชื้อมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่ได้รับแจ้งหรือถูกให้กักตัวจนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคม หลังจากเมื่อระยะฟักตัวของโรคได้สิ้นสุดลงแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์บริษัทและเรียกร้องให้มีการสอบสวนการเลิกจ้าง สมอลส์และรัฐนิวยอร์กยังได้ฟ้องร้องบริษัทแอมะซอนอันเนื่องจากการเลิกจ้างที่ผิดกฎหมายครั้งนี้
หลังจากถูกเลิกจ้าง สมอลส์ได้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมคนทำงานขึ้นมา นามว่า The Congress of Essential Workers (สภาของคนทำงานจำเป็น) ซึ่งภายหลังในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพ ALU ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 คลังสินค้า JFK8 ได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบการก่อตั้งสหภาพโดยมีตัวแทนเป็นสหภาพ ALU ต่อมาเขาไได้รับขนามนามเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2565 โดยนิตยสารไทม์
ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา
[แก้]สมอลส์เกิดและเติบโตที่แฮกเคนแซก รัฐนิวเจอร์ซีย์ (Hackensack, New Jersey) โดยมีมารดาเลี้ยงเดี่ยวซึ่งทำงานเป็นนักจัดการที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง[2][3] สมัยวัยรุ่น เขาเริ่มเข้าทำงานที่ต่าง ๆ และเล่นบาสเกตบอล อเมริกันฟุตบอล และกีฬาลู่และลานที่ โรงเรียนมัธยมแฮกเคนแซก (Hackensack High School)[3][2][4][5] เขาคาดหวังว่าจะได้เข้าเล่นในสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ จนเมื่อเขาถูกชนแล้วหนีขณะที่ทำงานเป็นผู้ดูแลรถ[4]
สมอลส์ได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยชุมชน (community college) แห่งหนึ่ง[6][7] ที่รัฐฟลอริดา[8] แต่หลังจากเรียนได้หนึ่งภาคเรียนก็คิดถึงบ้าน จึงกลับนิวยอร์กเพื่อไปศึกษาวิศวกรรมเสียงที่สถาบันวิจัยเสียง (Institute of Audio Research) แต่เขาลาออกเพราะเขาคิดว่ามันเป็น "hot shit"[a] และเริ่มแต่งเพลงในฐานะแร็ปเปอร์[9] โดยได้ออกเดินสายกับมีก มิลล์ (Meek Mill) อยู่ครู่หนึ่ง ต่อมาเขาได้ล้มเลิกประกอบอาชีพนักดนตรีไปเพื่อเลี้ยงดูลูกของเขา โดยเข้าทำงานหลายที่ ซึ่งรวมถึงวอลมาร์ต โฮมดีโพ (Home Depot) และสนามกีฬาเมตไลฟ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 จนถึง 2558[2][5][10][3] เขาบอกว่าในปัจจุบันเพื่อนของเขาพูดถึงตัวเขาว่า "ฉันว่าเสียงของนายถูกกำหนดมาไว้สำหรับอย่างอื่น"[b][11][10] สมอลส์ยังได้ทำงานเป็นคนงานคลังสินค้าที่เฟดเอกซ์และทาร์เก็ต (Target Corporation) ด้วย[4][12]
แอมะซอน
[แก้]พ.ศ. 2558–2563
[แก้]สมอลส์ได้เข้าทำงานที่แอมะซอนใน พ.ศ. 2558 ในอาชีพคนหยิบสินค้า (processing) ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์[1][12][3] เขาถูกย้ายไปที่คลังสินค้าในรัฐคอนเนทิคัตเป็นเวลาสั้น ที่นั่นเขาถูกไล่ออกและได้รับเข้าทำงานอีกครั้งหลังยื่นอุทธรณ์ไป[3][12] เขาถูกย้ายไปที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทน (JFK8) ตอนที่เพิ่งเปิดใน พ.ศ. 2561 และทำงานที่นั่นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ สมอลส์กล่าวว่าเขาถูกย้ายไปเพราะมีสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่เขายื่นสมัครตำแหน่งการจัดการไปกว่า 49 ครั้งตลอดการทำงาน แต่ไม่เคยถูกเลือกให้เลื่อนตำแหน่งเลย ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนของการเลือกปฏิบัติบนฐานของเชื้อชาติอย่างเป็นระบบที่เขาสังเกตพบภายในบริษัท สมอลส์กล่าวว่าเขาเคยชอบทำงานที่บริษัทอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง[1][12] จนกระทั้งเขาเริ่มมองเห็นสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นปัญหา "ในระบบระดับลึก" ภายในบริษัท เขาอ้างว่าแอมะซอนมีปัญหากับมาตรการความปลอดภัย โดยอ้างอิงอัตราการบาดเจ็บ การเหยียดอายุ การเหยียดเพศ การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ดูแล แอมะซอนกล่าวว่า "เราไม่ทนต่อการเลือกปฏิบัติหรือการคุกคามในทุกรูปแบบ"[c] และว่าพวกเขากำลังพยายามลดอัตราการบาดเจ็บให้น้อยลง และว่าพวกเขานั้น "ต้องการให้ [ลูกจ้าง] มีสุขภาพที่ดีและปลอดภัย"[d][1]
สมอลส์ได้ติดต่อทั้งนักการเมืองท้องถิ่น บุคคลาการด้านสุขภาพ และแผนกบริหารทรัพยากรมนุษย์ของแอมะซอน หลังจากที่เพื่อนร่วมงานที่ป่วยหนักคนหนึ่งได้รับอนุญาตให้มาทำงานได้ทั้งที่มีอาการและกำลังรอผลตรวจโควิด-19 อยู่ เขากล่าวว่าแผนกทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย[12] สมอลส์และเดอร์ริก พาลเมอร์ (Derrick Palmer) คนงานที่ JFK8 อีกคนหนึ่ง ได้จัดการประท้วงเดินออกจากงาน (strike action) ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563[13] เพื่อประท้วงมาตรการความปลอดภัยรับมือการระบาดทั่วของโควิด-19ของแอมะซอน และเรียกร้องให้บริษัทปิดคลังสินค้า JFK8 ไว้ชั่วคราว[14][3] เขาคัดค้านการไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและการป้องกันส่วนตัวของบริษัท[1] และกล่าวหาว่าได้ล้มเหลวในการเปิดเผยการป่วยโรคโควิด-19 ของคนงานต่อพนักงาน สมอลส์สัมผัสกับกรณีที่ยืนยันแล้วในวันที่ 11 มีนาคม dischargeพ.ศ. 2563 แต่ไม่ได้รับแจ้งจนกระทั่งวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563[13] ซึ่งกระตุ้นให้เขาไปยื่นคำร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขรัฐนิวยอร์ก (New York State Department of Health)[15]
ในวันเดียวกันกับการประท้วง สมอลส์ถูกแอมะซอนไล่ออก เจย์ คาร์นีย์ (Jay Carney) รองประธาน (vice president) ฝ่ายนโยบายและสื่อมวลชนของบริษัท อดีตโฆษกทำเนียบขาว ได้กล่าวในทวิตเตอร์ว่าสมอลส์ได้ละเมิดนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมของบริษัท และเขาถูกให้กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันโดยยังได้รับค่าจ้างอยู่หลังจากสัมผัสกับผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตอนที่เขาจัดการประท้วงเดินออก แต่การกักตัวจบลงแล้วในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หากทางบริษัทได้เริ่มให้ทำในระยะฟักตัวของเชื้อที่สมอลส์ได้สัมผัส[1][13][15]
เลทิชา เจมส์ (Letitia James) อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก (Attorney General of New York) ได้กล่าวหาแอมะซอนว่าไล่ออกสมอลส์อย่างผิดกฎหมาย และต่อมาสั่งให้มีการไต่สวนในเรื่องนี้ หลังจากการสอบสวนเบื้องต้นได้เปิดเผยว่ามี "ภาวะชะงักงัน" (chilling effect) ที่เกิดจากการไล่ออก[1][16] การสอบสวนของเจมส์ได้พบว่าบริษัทได้เลิกจ้างสมอลส์โดยผิดกฎหมาย และได้ยื่นฟ้องให้มีคำสั่งห้าม (injunction) ซึ่งจะบังคับให้แอมะซอนต้องจ้างสมอลส์กลับเข้าทำงานต่อ[17]
นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก (Mayor of New York City) บิล ดิ บลาซิโอ (Bill de Blasio) และสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเบอร์นี แซนเดอร์ส ได้กล่าวถึงการเลิกจ้างครั้งนี้ว่า "น่าอับอาย"[15] ดิ บลาซิโอได้สั่งการให้กรรมการสิทธิมนุษยชนของเมืองเข้าสืบสวนการไล่สมอลส์ออก และเจมส์ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Board) เข้าสืบสวนการไล่ออกด้วย[15][18] สมาชิกวุฒิสภาเก้าคน ซึ่งรวมถึงเอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ได้ส่งจดหมายไปที่บริษัทและเรียกร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลิกจ้างสมอลส์ และการไล่ผู้เปิดโปงคนอื่นอีกสามคนออกด้วย[19] ผู้นำสหภาพแรงงานที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐได้ส่งจดหมายไปยังเจฟฟ์ เบโซส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอมะซอน โดยเรียกร้องให้ฟื้นสัญญาจ้างของสมอลส์[14] ทิม เบรย์ (Tim Bray) อดีตรองประธานฝ่ายแอมะซอนเว็บเซอร์วิสซิส (Amazon Web Services) ได้ลาออกเพราะการไล่ออกครั้งนี้ โดยอ้างอิงในบล็อกโพสต์ว่า "ผมแน่ใจว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญที่ทุก ๆ คนเป็นคนผิวสี เป็นผู้หญิง หรือทั้งสอง ใช่ไหม?"[e][20]
ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563 บันทึกของการประชุมรายวันกับเบโซสหลุดออกมายังนิตยสารไวซ์ ซึ่งกล่าวถึงสมอลส์ว่า "ไม่ฉลาดหรือพูดไม่ชัดเจน"[21] บันทึกนี้มาจากเดวิด ซาโพลสกี ที่ปรึกษาทั่วไปของแอมะซอน ซึ่งได้เสนอต่อไปว่าการทำให้สมอลส์เป็น "หน้าตาของขบวนการจัดตั้ง/สหภาพทั้งหมด"[f] เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดี และ "เสนอว่า" ทำไมความประพฤติของสมอลส์นั้น "ผิดศีลธรรม ยอมรับไม่ได้ และอาจจะผิดกฎหมาย"[g][14][15] สมอลส์กล่าวถึงความเห็นเหล่านั้นว่า "เหยียดเชื้อชาติอย่างแน่นอน" ซาโพลสกีได้ปฏิเสธว่าในตอนที่เขากล่าวข้อความเหล่านั้นเขาไม่รู้ว่าสมอลส์เป็นคนดำ[1] และได้เผยแพร่แถลงการณ์ออกมาว่าเขา "ผิดหวังและรู้สึกแย่" ที่คนงานแอมะซอนจะ "ทำตัวเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของ [คนงานแอมะซอน] คนอื่น ๆ"[h] อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้กล่าวว่า "ความพยายามของแอมะซอนที่จะใส่ร้ายป้ายสีคริส สมอลส์ คนงานโกดังของตัวเอง ว่า 'ไม่ฉลาดหรือพูดไม่ชัดเจน' เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่เหยียดเชื้อชาติและชนชั้น"[i][22] สมอลส์ได้กล่าวว่าบริษัทนั้นสนใจกับการลบประชาสัมพันธ์ที่ไม่ดีมากกว่าการปกป้องคนงานของตัวเองและครอบครัวของพวกเขา[15] แอมะซอนได้ใช้เงินไปมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อตอบสนองต่อความพยายามในการจัดตั้งสหภาพของคนงาน[23]
พ.ศ. 2563–ปัจจุบัน
[แก้]สภาของคนทำงานจำเป็น
[แก้]หลังจากถูกแอมะซอนเลิกจ้างใน พ.ศ. 2563 สมอลส์ได้ก่อตั้งสภาของคนทำงานจำเป็น (The Congress of Essential Workers; TCOEW) กลุ่มของนักกิจกรรมแรงงาน[11] ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สมอลส์และ TCOEW ได้ร่วมวางแผนการนัดหยุดงานวันเมย์เดย์ที่แอมะซอน ทาร์เก็ต วอลมาร์ต และบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ ในหลายแห่งทั่วประเทศ[11] ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ทางกลุ่มได้จัดการประท้วงวันไพรม์เดย์ (Amazon Prime) โดยมีผู้คนประมาณ 100 คนเดินขบวนจากอุทยานอนุสรณ์วิลล์ รอเจอส์ (Will Rogers Memorial Park) ไปยังคฤหาสน์ (mansion) มูลค่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐของเบโซสที่เบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างเพิ่ม 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง[24]
สหภาพแรงงานแอมะซอน
[แก้]ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 สมอลส์ได้ก่อตั้งสหภาพแรงงานแอมะซอน (ALU)[1] ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มนักกิจกรรมแรงงานของเขา TCOEW[25] เขากล่าวไว้ว่าการจัดตั้งสหภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงในการงานอาชีพ ค่าจ้างประทังชีพ การลาแบบมีค่าจ้าง และการลาป่วย สมอลส์กล่าวว่าผู้จัดตั้งสองคนซึ่งเป็นลูกจ้างปัจจุบันของแอมะซอนอาศัยอยู่ในรถของตัวเอง โฆษกของแอมะซอนคนหนึ่งได้กล่าวว่าสหภาพนั้นจะมาขัดขวางการต่อรองของลูกจ้าง[12] สมอลส์ยังกล่าวต่อว่าทางบริษัทมีการสอดส่องล่วงล้ำคนงานเพื่อเฝ้าสังเกตเวลาของพวกเขาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและกำหนดเวลาพักของพวกเขา ซึ่งเป็นแรงจูงใจหนึ่งให้จัดตั้งสหภาพ โดยกล่าวว่า "ใครอยากโดนสอดส่องทั้งวันบ้าง? นี่ไม่ใช่เรือนจำ นี่คืองาน"[j] แอมะซอนกล่าวว่าพวกเขา "ไม่กำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพที่ไม่มีเหตุผล"[k] แต่บริษัทได้จ่ายค่าปรับให้กับกระทรวงแรงงานและอุตสาหกรรมรัฐวอชิงตัน (Washington State Department of Labor and Industries; L&I) สำหรับ "ระบบการเฝ้าสังเกตและวินัย"[l] ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดปกติของระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal disorder) ในที่ทำงาน ทางบริษัทคัดค้านผลการวินิจฉัยของกระทรวง[26]
สมอลส์ตั้งกระโจมตามสถานีขนส่งสาธารณะใกล้กับโกดัง JFK8 เพื่อล่ารายชื่อสำหรับคะแนนเสียงให้อำนาจสหภาพ พร้อมป้ายซึ่งเขียนไว้ว่า "ลงชื่อใบให้อำนาจที่นี่"[m] เขากล่าวหาบริษัทว่าได้ทำการปราบสหภาพ (union busting) โดยการแปะป้ายต่อต้านสหภาพไว้ในสุขา การส่งข้อความต่อต้านสหภาพให้แก่คนงาน การสอดส่องคนงานที่ทำการจัดตั้ง และการจัดการประชุมภาคบังคับด้วย "ความเท็จ" ต่อต้านสหภาพ อาทิ การลงชื่อใบให้อำนาจคือ "การละทิ้งสิทธิในการพูดแทนตัวเอง"[n] สมอลส์ยังได้กล่าวหาอีกว่าแอมะซอนได้มีการเตือนคนงานของตนถึงค่าบำรุงสหภาพที่แพง และการก่อกวนและการข่มขู่ลูกจ้าง[1]
สมอลส์กล่าวว่าเขาได้ต่อกรกับแรงต่อต้านสหภาพด้วยการเปิดโปงต่อสาธารณะและการจัดหาถ้อยคำสนับสนุนสหภาพ อาทิ "คนงานซึ่งอยู่ในสหภาพโดยเฉลี่ยแล้วได้เงินมากกว่าคนงานไร้สหภาพอยู่ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี"[o] ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าค่าบำรุงสหภาพโดยเฉลี่ย[1]
ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 สหภาพแรงงานแอมะซอนได้ประกาศว่าพวกเขาได้รับรายชื่อมากพอที่จะยื่นคำร้องให้มีการลงคะแนนเสียงต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ[27] สมอลส์ได้ประกาศข่าวนี้ลงบนทวิตเตอร์ของเขา[28] การลงคะแนนเสียงเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการลงคะแนนเสียงสหภาพที่คลังสินค้าแอมะซอนอีกที่หนึ่งในเบสเซเมอร์ รัฐแอละแบมา (Bessemer, Alabama) ซึ่งนำโดยคนงานเจนนิเฟอร์ เบตส์ (Jennifer Bates)[29]
การลงคะแนนเสียงสหภาพที่หนุนโดยสหภาพแรงงานแอมะซอนอีกที่หนึ่งถูกประกาศออกมาในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่คลังสินค้าบนเกาะสแตเทนหมายเลข LDJ5[30] คนงานที่คลังสินค้าลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบกับการจดตั้งสหภาพในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[31]
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 คนงานที่โกดัง JFK8 ได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบการจัดตั้งสหภาพ 2,654 ต่อ 2,131 คะแนน[32] สมอลส์บอกกับฝูงชนว่า "เราได้ทำทุกอย่างที่ต้องทำเพื่อเชื่อมโยงกับคนงานเหล่านี้" และ "ผมหวังว่าตอนนี้ทุก ๆ คนจะหันมาสนใจเพราะหลายคนเคยลังเลกับพวกเรา"[p][33]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 สมอลส์ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว ไบเดนกล่าวกับเขาว่า "ผมชอบคุณ คุณเป็นตัวปัญหาในแบบของผม" และ "อย่าหยุดเลย"[q][34]
สมอลส์และพาลเมอร์ได้รับขนามนามเป็นสองในหนึ่งร้อยบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดแห่งปี พ.ศ. 2565 โดยนิตยาสารไทม์[35]
กระบวนพิจารณาตามกฎหมาย
[แก้]คดีระหว่างสมอลส์กับบริษัทแอมะซอน
[แก้]ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 สมอลส์ได้ฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class action) ต่อแอมะซอนโดยกล่าวหาว่าบริษัทได้ละเมิดกฎหมายสหรัฐและรัฐด้วยการทำให้คนงานคลังสินค้าตกอยู่ในความเสี่ยงระหว่างการระบาดทั่วและการเลิกจ้างเขา หนึ่งในทนายความของสมอลส์ ไมเคิล ซัสมันน์ (Michael Sussmann) ได้อ้างถึงการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเป็นหนึ่งในมูลฟ้อง[36][37] ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีการอนุมัติคำขอให้ยกฟ้องที่แอมะซอนยื่น และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมอลส์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์[38]
คดีระหว่างรัฐนิวยอร์กกับบริษัทแอมะซอน
[แก้]ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เลทิชา เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก ได้ฟ้องคดีแอมะซอนโดยกล่าวหาว่ามีการจัดเตรียมความระมัดระวังความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอและการตอบโต้ต่อลูกจ้างที่ร้องทุกข์ ซึ่งรวมถึงสมอลส์[39][40] เจมส์พยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและการอบรบของแอมะซอน รวมทั้งการชดเชยทางการเงินให้แก่สมอลส์ และโอกาสให้เขากลับเข้าทำงานที่แอมะซอน[39][41]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]สมอลส์มีชีวิตสมรสมานานกว่าเจ็ดปี[8] และมีบุตรสามคน เป็นแฝดคู่หนึ่ง[4][14] เขามักสวมเสื้อผ้าสตรีทแวร์ (streetwear) ในรูปแบบวัฒนธรรมฮิปฮอป และกล่าวว่าคำวิจารณ์รูปลักษณ์ของเขานั้น "ดลใจให้ผมแต่งตัวในแบบที่ผมทำต่อไป เพราะผมอยากให้พวกคุณเข้าใจว่าผมดูเป็นอย่างไรนั้นไม่เกี่ยว" และ "ถึงแม้ว่าผมจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดี ผมก็จะเป็นแบบนี้แหละ ... ผมจะเดินเข้าทำเนียบขาวด้วยจอร์แดนหนึ่งคู่เพราะนี่คือคนในแบบที่ผมเป็น"[r][2]
สมอลส์มีความเคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์ ที่ ๆ เขาลงเกี่ยวกับ ALU และประเด็นการจัดตั้งแรงงานอื่น ๆ[28][42]
ดูเพิ่ม
[แก้]- แจซ บริแซ็ก (Jaz Brisack)
- แชร์ สการ์เลตต์ (Cher Scarlett)
- ลิซ ฟอง-โจนส์ (Liz Fong-Jones)
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แปลความหมายตรงตัวว่า อุจจาระร้อน
- ↑ แปลจาก "I guess your voice was meant for something else."
- ↑ แปลจาก "We do not tolerate discrimination or harassment in any form,"
- ↑ แปลจาก "want [employees] to be healthy and safe"
- ↑ แปลจาก "I'm sure it's a coincidence that every one of them is a person of color, a woman, or both, right?"
- ↑ แปลจาก "the face of the entire union/organizing movement"
- ↑ แปลจาก "immoral, unacceptable, and arguably illegal"
- ↑ แปลจาก "endanger the health and safety of other [Amazon workers]"
- ↑ แปลจาก "Amazon’s attempt to smear Chris Smalls, one of their own warehouse workers, as 'not smart or articulate' is a racist & classist PR campaign."
- ↑ แปลจาก "Who wants to be surveilled all day? It's not prison. It's work."
- ↑ แปลจาก "don't set unreasonable performance goals"
- ↑ แปลจาก "monitoring and discipline systems"
- ↑ แปลจาก "Sign Your Authorization Cards Here"
- ↑ แปลจาก "you give up the right to speak for yourself"
- ↑ แปลจาก "unionized workers make $11,000 more per year than non-union workers on average,"
- ↑ แปลจาก "We did whatever it took to connect with these workers" และ "I hope that everybody's paying attention now because a lot of people doubted us."
- ↑ แปลจาก "I like you, you're my kind of trouble" และ "let's not stop"
- ↑ "really motivates me to continue dressing the way I do because I want y’all to understand it’s not about how I look" และ "If I was to run for president, I would look just like this ... I'd walk in the White House with a pair of Jordans on because this is who I am as a person"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 Greenhouse, Steven (4 มิถุนายน 2021). "Amazon fired him – now he's trying to unionize 5,000 workers in New York". เดอะการ์เดียน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Cherelus, Gina (6 เมษายน 2022). "Taking On Amazon in Streetwear". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2022.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Alter, Charlotte (25 เมษายน 2022). "The Man Who Beat Amazon". ไทม์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2022.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 "The 2021 New York City 40 Under 40". City & State NY (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 5.0 5.1 Tobin, Michael; Soper, Spencer (24 มีนาคม 2022). "Amazon Fired and Disparaged Him. Then He Started a Labor Union". Bloomberg News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ Scheiber, Noam (28 เมษายน 2022). "The Revolt of the College-Educated Working Class". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2022.
- ↑ Milloy, Courtland (5 เมษายน 2022). "Perspective | The dangerous unselfishness of the Amazon labor union leaders". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022.
- ↑ 8.0 8.1 Pierce, Alie (21 กุมภาพันธ์ 2021). "Meet Chris Smalls – the New Jerseyan who stood up against the richest man in the world". WeekenderNJ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2022.
- ↑ Taylor, Vanessa (17 พฤษภาคม 2022). "Desus and Mero interviewed Chris Smalls about his war with "old man Jeff"". Mic (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2022.
- ↑ 10.0 10.1 Dastin, Jeffrey (1 เมษายน 2022). "Amazon union leader Smalls went from rapper to voice of protest". รอยเตอร์ส (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Feitelberg, Rosemary (11 พฤษภาคม 2020). "Amazon Whistleblower Chris Smalls to Launch Group for Essential Workers". WWD (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 Linebaugh, Kate (26 ตุลาคม 2021). "The Man Behind the Latest Push to Unionize Amazon". WSJ Podcasts (ภาษาอังกฤษ). เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Evelyn, Kenya (31 มีนาคม 2021). "Amazon fires New York worker who led strike over coronavirus concerns". เดอะการ์เดียน (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 Bellafante, Ginia (3 เมษายน 2020). "'We Didn't Sign Up for This': Amazon Workers on the Front Lines". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Carrie Wong, Julia (2 เมษายน 2020). "Amazon execs labeled fired worker 'not smart or articulate' in leaked PR notes". เดอะการ์เดียน (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Sollenberger, Roger (28 เมษายน 2020). "New York attorney general probes Amazon for possible labor and safety standard violations". Salon (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Hamilton, Isobel Asher (1 ธันวาคม 2021). "New York's AG is trying to force Amazon to re-hire a worker it fired after he led a protest over COVID-19 safety conditions". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Palmer, Annie (31 มีนาคม 2020). "Amazon fires warehouse worker who led Staten Island strike for more coronavirus protection". ซีเอ็นบีซี (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Conger, Kate (7 พฤษภาคม 2020). "Senators Want to Know if Amazon Retaliated Against Whistle-Blowers". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Lyons, Kim (4 พฤษภาคม 2020). "Amazon VP quits over whistleblower firings in scathing blog post". The Verge (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Blest, Paul (2 เมษายน 2020). "Leaked Amazon Memo Details Plan to Smear Fired Warehouse Organizer: 'He's Not Smart or Articulate'". Vice News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2022.
- ↑ Spocchia, Gino (3 เมษายน 2020). "AOC blasts Amazon as 'racist' after leaked notes say senior execs planned to publicly shame black worker in meeting with Jeff Bezos". ดิอินดีเพ็นเดนต์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2022.
- ↑ Oladipo, Gloria (10 เมษายน 2022). "'A marathon, not a sprint': how Chris Smalls defied Amazon to form a union". เดอะการ์เดียน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2022.
- ↑ Blest, Paul (5 ตุลาคม 2020). "Amazon Workers Went to Jeff Bezos' $165 Million Mansion to Ask For a $2 Raise". ไวซ์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Rubio-Licht, Nat; Irwin, Veronica (8 กุมภาพันธ์ 2022). "Amazon's union fight: Here's what's happening now". Protocol (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Greene, Jay (2 ธันวาคม 2021). "Amazon's employee surveillance fuels unionization efforts: 'It's not prison, it's work'". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Lerman, Rachel (26 มกราคม 2022). "Amazon workers on Staten Island collect enough signatures to hold union vote". เดอะวอชิงตันโพสต์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 28.0 28.1 Menegus, Bryan (26 มกราคม 2022). "Amazon workers in Staten Island reach union vote threshold". Yahoo News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Hamilton, Isobel Asher (17 กุมภาพันธ์ 2022). "Amazon workers in Staten Island will vote on whether to form a union next month". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Wakabayashi, Daisuke (3 มีนาคม 2022). "A Second Amazon Site on Staten Island Will Have a Union Election". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 8 มีนาคม 2022.
- ↑ Weise, Karen; Scheiber, Noam; Marcos, Coral Murphy (2 พฤษภาคม 2022). "Amazon Union Loses Vote at Second Staten Island Warehouse". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2022.
- ↑ Kantor, Jodi; Weise, Karen (2 เมษายน 2022). "How Two Best Friends Beat Amazon". เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ Sherman, Natalie (2 เมษายน 2022). "Amazon workers win battle to form first US union". ข่าวบีบีซี (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2022.
- ↑ Kaplan, Juliana (11 พฤษภาคม 2022). "President Biden says Amazon union organizer Christian Smalls is his 'kind of trouble' and 'let's not stop'". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2022.
- ↑ Sanders, Bernie (23 พฤษภาคม 2022). "Derrick Palmer and Chris Smalls". ไทม์ (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2022.
- ↑ Fung, Brian (12 พฤศจิกายน 2020). "Fired Amazon worker sues over pandemic working conditions". ซีเอ็นเอ็น. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Dickey, Megan Rose (12 พฤศจิกายน 2020). "Amazon faces lawsuit alleging failure to provide PPE to workers during pandemic". Techcrunch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ "Smalls v. Amazon, Inc. (1:20-CV-05492)". UniCourt. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ 39.0 39.1 Weise, Karen (16 กุมภาพันธ์ 2021). "New York Sues Amazon, Saying It Inadequately Protected Workers From Covid-19". เดอะนิวยอร์กไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ "Attorney General James Files Lawsuit Against Amazon for Failing to Protect Workers During COVID-19 Pandemic". New York State Attorney General. 17 กุมภาพันธ์ 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ Del Rey, Jason (17 กุมภาพันธ์ 2021). "New York is suing Amazon over pandemic labor conditions". Recode. Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2022.
- ↑ Bain, Marc (29 เมษายน 2020). "As health concerns grow, Amazon and Target workers plan a strike". Quartz (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการของสหภาพแรงงานแอมะซอน เก็บถาวร 2022-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คริส สมอลส์ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์)