คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถัดไป | คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ |
---|---|
ก่อตั้ง | 19 กันยายน พ.ศ. 2549 |
ยุติ | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 |
ประเภท | คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง |
สํานักงานใหญ่ | กองบัญชาการกองทัพบก |
หัวหน้า | พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน |
บุคลากรหลัก |
|
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ย่อ: คปค.) เป็นคณะบุคคลประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ซึ่งก่อรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 มีที่ตั้ง ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ที่มาของ คปค.
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงานสถานการณ์เมื่อเวลา 00.19 น. ของวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพลเอก สนธิ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอันมีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ พลเอก สนธิ และคณะ จึงก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และทำหน้าที่เป็น คปค.
สมาชิก
[แก้]- พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานที่ปรึกษา คปค.
- พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้า คปค.
- พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 1
- พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 2
- พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น รองหัวหน้า คปค. คนที่ 3
- พลเอก วินัย ภัทธิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น เลขาธิการ คปค.
การจัดส่วนงาน และการแบ่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบ
[แก้]กองบัญชาการ คปค. ประกอบด้วยส่วนงาน 4 ส่วน คือ
- คปค. มีหัวหน้า คปค. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ดังนี้
- บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน และให้เป็นไปตามนโยบายที่ คปค. กำหนด
- อำนวยการ ควบคุม กำกับดูแล บริหารงานของกระทรวง ทบวง กรม ในความรับผิดชอบให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด
- สำนักเลขาธิการ มีเลขาธิการ คปค. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบงานธุรการ และกลั่นกรองบรรดาแถลงการณ์ คำสั่ง หรือประกาศ หรือเอกสารอื่นใดที่ประกาศให้ทราบทั่วไป ก่อนนำเสนอหัวหน้า คปค.
- คณะที่ปรึกษา มีประธานที่ปรึกษา คปค. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาต่อ คปค. ในนโยบายความมั่นคงด้านต่าง ๆ ตามที่ คปค. ร้องขอ หรือที่ริเริ่มขึ้นเอง
- ฝ่ายกิจการพิเศษ มีเลขาธิการฝ่ายกิจการพิเศษเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่อำนวยการและประสานงานให้เป็นไปตามคำสั่งของ คปค.
สำนักโฆษก
[แก้]มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องแก่สื่อมวลชนและประชาชน มีสมาชิก 9 คนดังต่อไปนี้
- พลโท พลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นโฆษก คปค.
- พลตรี ทวีป เนตรนิยม เจ้ากรมสารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองโฆษก คปค.
- พันเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นรองโฆษก คปค. (ฝ่ายปฏิบัติการ)
- พันเอก อัคร ทิพโรจน์ เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.
- พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.
- พันโท ศนิโรจน์ ธรรมยศ เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.
- นาวาโท สุรสันต์ คงสิริ (ร.น.) เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.
- เรือโทหญิง วรศุลี ทองดี (ร.น.) เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.
- ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ เป็นสมาชิกคณะทำงานโฆษก คปค.
- พันเอก ชาญชัย ร่มเย็น เป็นสมาชิกคณะทำงานโฆษก คปค.
คณะโฆษกทางโทรทัศน์
[แก้]มีหน้าที่อ่านแถลงการณ์ คำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของ คปค. ออกอากาศเป็น รายการพิเศษทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่าย มีรายนามดังต่อไปนี้
- พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค ที่ปรึกษา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- สิทธิชาติ บุญมานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
- ทวินันท์ คงคราญ หัวหน้าประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- กันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- ศศินา วิมุตตานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
- มนัส ตั้งสุข ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- ชาญชัย กายสิทธิ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
- พันตรีหญิง ดวงกมล เทวพิทักษ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- ศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
- ปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย
[แก้]- มีดังนี้[1]
- มีชัย ฤชุพันธุ์
- วิษณุ เครืองาม
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
- ไพศาล พืชมงคล ผู้ร่างแถลงการณ์ ประกาศ และคำสั่ง คปค. ฉบับแรก ๆ และ พระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คปค.
- บรรเจิด สิงคะเนติ
ชื่อภาษาอังกฤษ
[แก้]เดิม คปค. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy" (ย่อ: CDRM) ต่อมาได้ตัดคำว่า "under Constitutional Monarchy" ออก เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คปค. เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชื่อภาษาอังกฤษจึงเป็น "Council for Democratic Reform" (ย่อ: CDR)[2]
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
[แก้]หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คปค. แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การจัดส่วนงาน และ การแบ่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2006-10-02.
- ↑ Council for Democratic Reform
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2006-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของ คปค.
ก่อนหน้า | คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) (23 กุมภาพันธ์ 2534 – 21 เมษายน 2535) |
คปค. (19 กันยายน – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549) |
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) (1 ตุลาคม 2549 – 7 กุมภาพันธ์ 2551) |