ข้าวฟ่างหางหมา
ข้าวฟ่างหางหมา | |
---|---|
เมล็ดยังไม่แก่ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Commelinids |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Poaceae |
วงศ์ย่อย: | Panicoideae |
สกุล: | Setaria |
สปีชีส์: | S. italica |
ชื่อทวินาม | |
Setaria italica (L.) P. Beauvois | |
ชื่อพ้อง | |
Panicum italicum L. |
ข้าวฟ่างหางหมา (Foxtail millet) ชื่อวิทยาศาสตร์: Setaria italica เป็นพืชในวงศ์หญ้า เป็นหญ้าปีเดียว ขึ้นเป็นกอมีสีเหลืองม่วง กาบใบรูปหลอด ด้านบนเปิดออก ผิวเกลี้ยงหรือมีขนปกคลุมเล็กน้อย ลิ้นใบสั้นเป็นชายครุย เห็นแกนใบชัดเจน ดอกช่อ เมล็ดรูปไข่ มีกาบบนและล่างหุ้มแน่น มีหลายสีตั้งแต่เหลืองอ่อน ส้ม แดง น้ำตาล ดำ มีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์อยู่มาก โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มย่อย indica ปลูกในอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และเนปาล
- กลุ่มย่อย maxima ปลูกในตะวันออกไกล
- กลุ่มย่อย moharia ปลูกในยุโรป รัสเซีย และอัฟกานิสถาน
ข้าวฟ่างหางหมาเป็นธัญพืชที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติตั้งแต่ยุโรปจนถึงญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นธัญพืชที่สำคัญในจีน อินเดียและยุโรปทางตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเมล็ดมาปรุงอาหารแบบเดียวกับข้าว เมล็ดนำไปบดละเอียดได้แป้ง ใช้ทำขนมปังแบบไม่พองตัวได้ อาหารที่ทำจากข้าวฟ่างหางหมาในอินเดียเป็นอาหารที่ใช้ในพิธีกรรม ในจีนใช้เป็นอาหารของผู้สูงอายุและหญิงมีครรภ์ ใช้ผลิตน้ำส้มสายชูและไวน์ ในรัสเซียและพม่าใช้หมักเบียร์และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เมล็ดนำไปเพาะให้งอกใช้เป็นผัก ลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์
อ้างอิง
[แก้]- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10: ธัญพืช. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544.หน้า 178 – 180