ข้าวฟ่าง
ข้าวฟ่าง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Monocots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Commelinids |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Poaceae |
สกุล: | Sorghum |
สปีชีส์: | S. bicolor |
ชื่อทวินาม | |
Sorghum bicolor (L.) Moench | |
ชื่อพ้อง[1] | |
รายการ
|
ข้าวฟ่าง, ข้าวฟ่างหางช้าง หรือ ข้าวฟ่างสมุทรโคดม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sorghum bicolor) เป็นพืชปลูกในสกุลข้าวฟ่างและมีชื่อสามัญว่า sorghum เป็นพืชในวงศ์หญ้า อายุปีเดียว ต้นเดี่ยวหรือแตกกอที่โคน มีรากพิเศษเป็นรากฝอย ต้นตั้ง แห้งหรือฉ่ำน้ำ จืดหรือหวาน ส่วนกลางลำต้นมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีช่วงว่างในส่วนพิธ ใบเรียงสลับ กาบล้อมลำต้นโดยส่วนของกาบซ้อนเหลื่อมกัน มีไขนวลปกคลุม ลิ้นใบสั้น มีขนปกคลุมตามขอบด้านบน มีปากใบทั้งสองด้าน ดอกช่อ ผลแบบธัญพืชกลมหรือปลายมน แหลม ใช้เป็นอาหารทั้งมนุษย์และสัตว์ และใช้เป็นพืชเชื้อเพลิง ข้าวฟ่างหวานเป็นสายพันธุ์ที่ใช้ปลูกเพื่อผลิตน้ำตาลและเอทานอล ต้นสูงกว่าพันธุ์กินเมล็ด[2][3]
พันธุ์
[แก้]ข้าวฟ่างเป็นพืชที่มีความหลากหลายมาก แบ่งเป็น 5 กลุ่มพันธุ์คือ
- กลุ่มพันธุ์ bicolor ช่อดอกแผ่ออก ก้านช่อดอกย่อยยาว ปลูกในเอเชียและแอฟริกา บางชนิดลำต้นมีรสหวาน ใช้ผลิตน้ำหวานและกากน้ำตาลได้ พันธุ์ที่เมล็ดมีรสขมใช้แต่งรสชาติเบียร์ได้แต่ใช้น้อย
- กลุ่มพันธุ์ caudatom เมล็ดคล้ายหลังเต่า แบน 1 ด้าน โค้ง 3 ด้าน ก้านช่อดอกย่อยสั้นกว่าเมล็ดมาก พันธุ์นี้ปลูกในชาด ซูดาน ไนจีเรียและยูกันดา
- กลุ่มพันธุ์ durra ช่อดอกแน่น ช่อดอกย่อยไม่มีก้าน ลักษณะแบน ก้านช่อย่อยอันล่างเป็นรอยพับ เมล็ดมักจะกลม ปลูกมากในทะเลทรายซะฮารา แอฟริกาตะวันตกและตะวันออก รวมทั้งในอินเดีย
- กลุ่มพันธุ์ guiveea ช่อดอกขนาดใหญ่ ช่อแผ่กว้าง เมื่อแก่ก้านช่อดอกจะห้อยลง เมล็ดแบน บิดอยู่ระหว่างกาบช่อย่อยเมื่อแก่ นิยมปลูกในแอฟริกา ในสมัยก่อนนิยมใช้เป็นอาหารระหว่างการเดินเรือ
- กลุ่มพันธุ์ kafir ช่อดอกค่อนข้างแน่น ทรงกระบอก ช่อดอกรูปรี ไม่มีก้านช่อดอกย่อย เป็นอาหารหลักในแทนซาเนียและใบแอฟริกา
การใช้ประโยชน์
[แก้]คาดว่าข้าวฟ่างมีถิ่นกำเนิดในเอธิโอเปีย จากนั้นแพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าหรือการเดินเรือ เป็นพืชอาหารที่สำคัญในแอฟริกาและเอเชีย และเป็นพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญในสหรัฐและออสเตรเลีย ปรุงได้ทั้งโดยการค่วและต้ม ใช้ทำโจ๊ก อบขนมปัง หรือผลิตเบียร์ โดยใช้เมล็ดข้าวฟ่างไปเพาะให้งอก ในจีนใช้เมล็ดข้าวฟ่างผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำส้มสายชู ต้นข้าวฟ่างใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิงและอาหารสัตว์ ลำต้นของข้าวฟ่างหวานใช้เป็นอาหารสัตว์และผลิตน้ำตาล
เมล็ดข้าวฟ่างมีแทนนินซึ่งทำให้โปรตีนในข้าวฟ่างย่อยได้น้อย โปรตีนในข้าวฟ่างส่วนใหญ่เป็นโพร์ลามีนที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร โปรตีนที่มีประโยชน์มีเพียง 8-9% ขาดกรดอะมิโน 3 ชนิดคือ ไลซีน เมทไทโอนีน และทรีโอนีน ลำต้นของข้าวฟ่างมีสารกลุ่มคูร์รินซึ่งจะสลายตัวได้เป็นกรดไฮโดรไซยานิก ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ สารนี้มีมากในใบอ่อนและหน่อ และต้นที่พบปัญหาแล้งจัด ต้นที่อายุมากขึ้น กรดไฮโดรไซยานิกจะลดลง เมื่อเป็นหญ้าแห้งหรือหญ้าหมัก สารนี้จะสลายตัวไป
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Plant List".
- ↑ "Grassland Index: Sorghum bicolor (L.) Moench". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-19. สืบค้นเมื่อ 2014-02-13.
- ↑ "Sweet Sorghum". Sweet Sorghum Ethanol Producers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-28. สืบค้นเมื่อ 13 November 2012.
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10: ธัญพืช. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 183 - 185