ข้ามไปเนื้อหา

ข้อกำหนดทางเทคนิค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้อกำหนดทางเทคนิค (อังกฤษ: specification) คือเอกสารซึ่งกล่าวถึงความประสงค์ ความต้องการของผู้ออกแบบ เจ้าของงาน หรือเจ้าของโครงการ เพื่อสื่อสารไปยังบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องในงานต่าง ๆ เช่น งานก่อสร้าง งานผลิต งานพัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนด ขอบเขตงาน อธิบายคำจำกัดความ นิยามที่ใช้ในงานนั้น มาตรฐานที่ต้องการให้ใช้ ชนิด ขนาด และรายละเอียดของวัสดุ เครื่องจักร เครื่องมือ ตลอดจนถึงวิธีการก่อสร้างหรือวิธีการดำเนินงาน รวมถึงคุณภาพของฝีมือ แรงงาน ความละเอียดและถูกต้องในงานนั้น

ในงานก่อสร้าง

[แก้]

วัตถุประสงค์และความสำคัญของข้อกำหนดทางเทคนิค

[แก้]

วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดทางเทคนิคเพื่อ ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแสดงไว้ในแบบก่อสร้าง อาทิเช่น มาตรฐานต่าง ๆ คุณสมบัติของวัสดุ วิธีการก่อสร้างหรือปฏิบัติ วิธีการทดสอบ ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ ตลอดจนถึงวิธีการวัดปริมาณงานและการจ่ายเงิน ความสำคัญของข้อกำหนด คือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์และความต้องการของโครงการ การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจนำมาซึ่งอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

ประเภทของข้อกำหนดทางเทคนิค

[แก้]
  1. ประเภทของข้อกำหนดแบ่งตามลักษณะของข้อกำหนด ได้แก่
    • ข้อกำหนดมาตรฐาน (Standard specification)
    • ข้อกำหนดเฉพาะงาน (Special provision, Particular specification or Supplementary specification)
  2. ประเภทของข้อกำหนดแบ่งตามลักษณะรายละเอียดของเนื้อหา ได้แก่
    • ข้อกำหนดแบบละเอียด (Descriptive specification)
    • ข้อกำหนดแบบมุ่งผลสำเร็จของงาน (Performance specification)
    • ข้อกำหนดแบบอ้างอิง (Reference specification)
    • ข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต (Proprietary specification)
    • มาตรฐานอ้างอิง (Reference standard)

การเขียนข้อกำหนด

[แก้]

การเขียนข้อกำหนดจัดเป็นงานที่สำคัญ ผู้เขียนข้อกำหนด จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในงานนั้นอย่างยิ่ง อีกทั้งต้องรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน เขียนรายการชัดเจนและปฏิบัติได้ ฉะนั้น การเขียนข้อกำหนดใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับ 6 C ดังนี้

  • Correct ถูกต้อง เนื้อหาต้องตรงกับวัตถุประสงค์ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ใช้ภาษาได้ถูกต้องทั้งโครงสร้างประโยค สำนวน ลีลา เครื่องหมายวรรคตอน ตัวสะกด
  • Complete สมบูรณ์ มีเนื้อหาครบถ้วน
  • Clear ชัดเจน ไม่กำกวม อ่านเข้าใจง่าย ตรงตามที่ต้องการสื่อ บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ต้องตีความ
  • Concise กระชับ กะทัดรัด รัดกุม ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย
  • Coherence สัมพันธภาพ มีการเชื่อมโยงในข้อความ แต่ละประโยคต้องมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกัน
  • Convincing สมเหตุผล มีความเป็นไปได้

การจัดทำมาตรฐานข้อกำหนด

[แก้]

เมื่อเริ่มงานออกแบบโครงการ ควรจะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่าง วิศวกรสาขาต่างๆ สถาปนิก ผู้ประมาณราคาและคำนวณปริมาณงาน ผู้จัดเตรียมข้อกำหนด นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อร่วมกันจัดทำ เกณฑ์การออกแบบ (Design Criteria) เพื่อให้โครงการ มีประโยชน์ใช้งานสูงสุดและมีระยะเวลาก่อสร้างตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง สะดวกต่อการดูแลและบำรุงรักษา เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระยะเวลาก่อสร้าง และระยะเวลาใช้งาน ใช้วัสดุในท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อลดราคาค่าก่อสร้าง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสอดคล้องกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Mitigation Plan) ของโครงการ

รูปแบบของข้อกำหนดที่เสนอ หนึ่งบทจะครอบคลุมงานหนึ่งงาน และจะประกอบด้วยหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ เหมือนกันทุกบทเป็นส่วนใหญ่ คือ

  • หัวข้อ X.1 ทั่วไป จะประกอบด้วยหัวข้อย่อยตามความจำเป็น คือ
    • X.1.1 ขอบเขตของงาน
    • X.1.2 มาตรฐานที่ใช้กับงานในบทนี้
    • X.1.3 นิยาม งานบางงานจำเป็นที่จะต้องให้คำนิยามงานย่อยเพื่อบ่งชี้ความแตกต่างให้ชัดเจน
    • X.1.4 การเสนอเอกสารและตัวอย่างวัสดุ
  • หัวข้อ X.2 วัสดุ/เครื่องจักร/เครื่องมือ
  • หัวข้อ X.3 วิธีการก่อสร้าง/วิธีการดำเนินงาน
  • หัวข้อ X.4 การวัดปริมาณงานและการจ่ายเงิน