ข้ามไปเนื้อหา

ขบวนการเกิ่นเวือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขบวนการเกิ่นเวือง (เวียดนาม: Phong trào Cần Vương) เป็นขบวนการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของฝรั่งเศสในเวียดนามโดยมีขุนนางที่สูญเสียอำนาจเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ การต่อต้านเริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศสยึดครองแคว้นโคชินจีนเมื่อ พ.ศ. 2405 จนกระทั่งอันนัมและตังเกี๋ยตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส การต่อต้านสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2431 แม้ว่าการดำเนินการของขบวนการนี้จะไม่สำเร็จแต่ก็เป็นแรงบันดาลใจของขบวนการเรียกร้องเอกราชของเวียดนามในยุคต่อมา

เมื่อฝรั่งเศสยึดครองโคชินจีนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปกครองของราชวงศ์เหงียนมาก ปฏิกิริยาของราชสำนักเป็นไปในการปราบปรามชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนการเจรจากับฝรั่งเศสเป็นไปในรูปแบบที่เวียดนามอยู่ในสภาพด้อยกว่า ประชาชนที่สิ้นหวังในราชสำนักได้มารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสและโจมตีชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์ การต่อต้านรุนแรงมากขึ้นใน พ.ศ. 2427 เมื่อมีการโจมตีกองกำลังฝรั่งเศสโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากราชสำนัก เมื่อจีนและฝรั่งเศสตกลงสงบศึกกันโดยจีนที่เคยช่วยเหลือเวียดนามรบกับฝรั่งเศสเมื่อสองปีก่อนถอนกำลังออกไป สำนัก ฝรั่งเศสจึงเริ่มปราบปรามชาวเวียดนามอย่างรุนแรง

ตน ทัต เทวี้ยต แกนนำคนสำคัญได้นำชาวเวียดนามโจมตีฝรั่งเศสภายใต้การสนับสนุนของจักรพรรดิห่าม หงี แต่ไม่สำเร็จจึงพาองค์จักรพรรดิหนีเข้าป่าเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 องค์จักรพรรดิมีพระบรมราชโองการที่เรียกว่า “เกิ่นเวือง” เรียกร้องให้ชาวเวียดนามสู้กับฝรั่งเศส การต่อต้านดำเนินไปได้ไม่นานนัก ตน ทัต เทวี้ยต หนีไปจีน ส่วนองค์จักรพรรดิถูกจับกุมได้เมื่อ พ.ศ. 2431 และถูกเนรเทศไปแอลจีเรีย ขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสจึงสิ้นสุดลง

อ้างอิง

[แก้]
  • สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 2 อักษร C-D. กทม. ราชบัณฑิตยสถาน. 2547 หน้า 61- 64